โจชัว หว่อง

โจชัว หว่อง
黃之鋒
เลขาธิการเดมะซิสโท
เริ่มดำรงตำแหน่ง
10 เมษายน พ.ศ. 2559
รองโจว ถิง (Agnes Chow)
Kwok Hei-yiu
Chan Kok-hin
ผู้นำหลัว กวั้นชง (Nathan Law)
หลิน หล่างย่าน (Ivan Lam)
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
หฺวัง จือเฟิง

13 ตุลาคม พ.ศ. 2539 (28 ปี)
ฮ่องกงของบริเตน
พรรคการเมืองเดมะซิสโท
การศึกษามหาวิทยาลัยเปิดแห่งฮ่องกง
ศิษย์เก่าวิทยาลัยรวมคริสเตียน (เกาลูนตะวันออก)
อาชีพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง, นักการเมือง
เป็นที่รู้จักจากOutspoken advocacy for democratic reform in Hong Kong
เว็บไซต์wongchifung.wordpress.com

หฺวัง จือเฟิง (จีน: 黃之鋒; พินอิน: Huáng Zhīfēng; เกิด 13 ตุลาคม พ.ศ. 2539)[1] หรือสำเนียงกวางตุ้งว่า หว่อง จี๊ฟ้ง (เยฺว่พิน: Wong4 Ji1 Fung1) หรือ โจชัว หว่อง (อักษรโรมัน: Joshua Wong) เป็นนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองชาวฮ่องกง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเดโมซิสโตซึ่งหนุนประชาธิปไตย และเดิมเป็นผู้นำการประชุมและผู้ก่อตั้งกลุ่มสกอลาริซึมของนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักเรียนนักศึกษา[1][2] เขาเริ่มเป็นที่รู้จักของนานาชาติในช่วงการประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2557 และการที่เขามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติร่ม ทำให้นิตยสาร ไทม์ นับเขาเป็นหนึ่งในวัยรุ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่ง พ.ศ. 2557 ทั้งเสนอชื่อเขาเป็นบุคคลแห่งปีของไทม์ประจำ พ.ศ. 2557 ด้วย[3] นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2558 นิตยสาร ฟอร์จูน เรียกขานเขาว่า เป็นหนึ่งใน "ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก"[4][5] และเขายังได้รับเสนอชื่อให้ได้รางวัลโนเบลสันติภาพใน พ.ศ. 2560

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 เขาและเพื่อนนักกิจกรรมเชิงรุกสายประชาธิปไตยถูกจำคุกเพราะมีส่วนร่วมในการยึดจัตุรัสพลเมือง (Civic Square) ในการประท้วงเมื่อ พ.ศ. 2557 ครั้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 เขาถูกจำคุกในอีกคดีหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้คืนพื้นที่วั่งเจี่ยว (Mong Kok) ในการประท้วงเดียวกัน

ประวัติ

โจชัว หว่อง เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ในครอบครัวชนชั้นกลางโปรแตสแตนท์ที่เคร่งศาสนา พ่อแม่ของเขาส่งเขาให้เรียนในโรงเรียนคริสเตียน ต่อมาเขาได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงเมโทโพลิแทน (Hong Kong Metropolitan University) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา

นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

โจชัว หว่อง ในการประท้วงต่อต้านนโยบายการศึกษาแห่งชาติใน พ.ศ. 2555 อันเป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กฮ่องกงรักแผ่นดินจีนมากขึ้น

การประท้วงต่อต้านรถไฟความเร็วสูงเมื่อ พ.ศ. 2553 คือจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา[6] หลังจากนั้นโจชัว หว่อง ก็ได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมมากขึ้น พ.ศ. 2554 หว่องพร้อมด้วยอีวาน แลม เพื่อนของเขา ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มสกอลาริซึมเพื่อต่อต้านนโยบายจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการปรับแก้โครงสร้างทางการศึกษาของฮ่องกง ให้เด็กฮ่องกงคิดว่าตัวเองเป็นคนจีนทั้งที่ไม่ใช่ และพยายามให้คนฮ่องกงเรียนรู้วัฒนธรรมของคนจีน กลุ่มขบวนการนักวิชาการของโจชัว หว่อง ขยายตัวขึ้น และการต่อต้านนโยบายทางการศึกษาของจีนนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปฮ่องกงให้เป็นประชาธิปไตยครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2557[6]

โจชัว หว่อง ขณะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในช่วงการปฏิวัติร่ม
โจชัว หว่อง ขณะปราศรัยระหว่างการปฏิวัติร่ม

ใน พ.ศ. 2557 ขบวนการนักวิชาการภายใต้การนำของโจชัว หว่อง ได้เป็นแกนนำสำคัญให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น โดยเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงปฏิรูปตัวเองให้มีความเป็นประชาธิปไตยขึ้น โดยทางกลุ่มต้องการให้การเลือกผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงมาจากการเลือกตั้งทั่วไปจากประชาชนฮ่องกง ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนที่จีนแผ่นดินใหญ่เลือกมา แต่ว่าการเรียกร้องของกลุ่มไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลฮ่องกงหรือรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ โจชัว หว่อง จึงระดมคนให้ลุกขึ้นประท้วง

ในระหว่างการประท้วง โจชัว หว่อง ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐ[7] และผู้ภักดีต่อรัฐบาลจีนบางส่วนกล่าวหาหว่องได้รับเงินจากอเมริกาในการปลุกปั่นชาวฮ่องกงให้ขัดขืนต่อรัฐบาลจีน โดยหว่องได้โพสต์ในโลกออนไลน์ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสำนักข่าวที่เต้าข่าวขึ้นมาเองทั้งหมด พร้อมบอกด้วยว่าตอนนี้เขาถูกขึ้นบัญชีดำของทางรัฐบาลจีนเรียบร้อยแล้ว ในฐานะของภัยความมั่นคงต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในเดือนกันยายน กระแสการเรียกร้องและการประท้วงรุนแรงขึ้น ผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจและพวกตำรวจของจีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจใช้กำลังในการสลายการชุมนุมอย่าไร้มนุษยธรรม ในช่วงนั้นโจชัว หว่อง ได้ถูกจับกุมแต่ก็ถูกปล่อยตัวออกมาหลังจากถูกกุมขังไว้ในช่วงเวลาเกือบสองวัน ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาถูกคุมขังนี้นั้นเขาได้กล่าวว่า พวกตำรวจนั้นได้ทำร้ายร่างกายเขา และได้ดูถูกเหยียดหยามให้เขาอับอายทั้งในด้านร่างกายและจิตใจตลอดเวลาที่ถูกจับ

หลังจากคลื่นการเรียกร้องใน พ.ศ. 2557 ลดบทบาทลง โจชัว หว่อง ก็เผชิญกับการถูกตั้งข้อหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันมาจากการจัดการชุมนุมเมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งสำนักข่าวสายจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง Wen Wei Po กล่าวหาว่าเขามีส่วนพัวพันกับทางอเมริกา โดยกล่าวหาว่าก่อนการชุมนุมโจชัวได้มีการเข้าพบกงสุลใหญ่อเมริกาประจำฮ่องกง สตีเฟน ยัง (Stephen M. Young) รวมทั้งยังกล่าวหาต่ออีกว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดของโจชัวมี CIA เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งแน่นอนว่าโจชัวปฏิเสธทั้งหมดและบอกว่า “มันเป็นเรื่องเหลวแหลก”[8]

ต่อมาใน พ.ศ. 2558 โจชัว หว่อง ถูกสั่งห้ามเข้ามาเลเซีย ด้วยรัฐบาลมองว่าเป็นภัยต่อชาวจีนและความสัมพันธ์ของชาวจีนกับชาวมาเลย์ในประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. 2559 โจชัวหว่องก็ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมปาฐกถาหัวข้อ "การเมืองของคนรุ่นใหม่" ในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้ 12 ชั่วโมง แล้วถูกส่งกลับฮ่องกง[9] โดยทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นผลมาจากการกดดันของทางรัฐบางจีนที่ไม่พยายามคุมไม่ให้โจชัว หว่อง เดินทางออกนอกประเทศฮ่องกง

นักการเมือง

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 โจชัว หว่อง กลายเป็นที่สนใจในหน้าสื่อและโซเชียลมีเดียอีกครั้ง[10] เมื่อเขากับพลพรรคกลุ่มนักวิชาการ ได้ประกาศตั้งพรรคเดโมซิสโตขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายต้นตอของปัญหาทั้งหมดในฮ่องกงอันมาจากอิทธิพลของจีนที่แทรกแทรงเข้ามาให้หมดไปจากฮ่องกง โดยใช้กลไกวิธีทางรัฐสภา ซึ่งพรรคเดโมซิสโตของโจชัว หว่อง นั้น มีจุดมุ่งหมายต้องการให้ฮ่องกงนั้นแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน หลังจากปี 2047 อันเป็นปีที่ครบกำหนดตามข้อตกลงที่ทำไว้กับอังกฤษ ว่าด้วยเวลา 50 ปี ที่ฮ่องกงจะใช้การปกครองตามหลักการหนึ่งประเทศสองระบบ ซึ่งโจชัว หว่อง ได้รณรงค์และเตรียมนำพรรคเดโมซิสโตเข้าไปในสภาผ่านการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง พ.ศ. 2559 แม้ว่าในตอนนั้นโจชัว หว่อง จะไม่สามารถเข้าไปในสภาได้ด้วยข้อจำกัดด้านอายุ (โจชัว หว่อง เพิ่งจะมีอายุได้ 19 ปีเท่านั้นตอนเป็นแกนนำตั้งพรรคเดโมซิสโต) แต่ก็ประสบความสำเร็จในการส่งสมาชิกเข้าไปในสภาได้ 1 คน

อย่างไรก็ตามทางการฮ่องกงได้จับกุมหว่องและสมาชิกพรรคเดโมซิสโตครั้งใหญ่ในช่วง พ.ศ. 2560 อันมาจากเหตุการณ์การปฏิวัติร่มเมื่อช่วง พ.ศ. 2557 ส่งผลทำให้หว่องถูกจับและถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[11] ทว่าในช่วงที่เขาถูกคุมขังอยู่นั้น เขาก็ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพ จากการใช้สันติวิธีในการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อสู้กับอำนาจนิยมจากการประท้วงในฮ่องกงนั่นเอง

โจชัว หว่อง ต้องเข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำตลอดในช่วง พ.ศ. 2560–2562 อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ได้ลดความมุ่งมั่นทางการเมืองลงและยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อปี ในช่วง พ.ศ. 2562 เขาก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสภาเขต (District Councillor election) อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของฮ่องกงก็ได้ตัดสิทธิเขาจากการลงรับสมัคร โดยให้เหตุผลว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่อาจให้คนที่สนับสนุนการประกาศเอกราชของฮ่องกงลงรับเลือกตั้งได้[12] และอีกครั้งในปี 2020 ที่เขาลงสมัครเป็นแคนดิเดตผู้บริหารเขตฮ่องกงคนใหม่ แต่ก็ถูกคัดค้านด้วยเหตุผลเดียวกัน

หลังจากนั้นเขาก็ต้องกลับเข้าไปสู่เรือนจำอีกครั้งจากคดีความอันเป็นผลมาจากการชุมนุมมากมายที่เกิดขึ้นทั้งจากช่วงการปฏิวัติร่มและการประท้วงใน พ.ศ. 2563

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Lai, Alexis (30 July 2012). "'National education' raises furor in Hong Kong". Hong Kong: CNN. สืบค้นเมื่อ 16 August 2014.
  2. Hsieh, Steven (8 October 2012). "Hong Kong Students Fight for the Integrity of their Education". The Nation. Hong Kong. สืบค้นเมื่อ 16 August 2014.
  3. "Hong Kong Student Leader Joshua Wong Charged With Obstruction". Time. 27 November 2014. สืบค้นเมื่อ 2 December 2014.
  4. Yik Fei, Lam . World's Greatest Leaders: 10: Joshua Wong. Fortune.
  5. AFP. H.K.'s Joshua Wong among 'world's greatest leaders': Fortune. 27 March 2015. Daily Mail.
  6. 6.0 6.1 Chan, Yannie (15 May 2014). "Joshua Wong". HK Magazine. Hong Kong. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2014. สืบค้นเมื่อ 16 August 2014.
  7. Branigan, Tania (1 October 2014). "Joshua Wong: the teenager who is the public face of the Hong Kong protests". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2017. สืบค้นเมื่อ 4 February 2018.
  8. 29 June 2015. Joshua Wong dismisses Xinhua article on alleged CIA links เก็บถาวร 21 สิงหาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. EJInsight
  9. ไทยรัฐออนไลน์ (2559-10-05). "โจชัว หว่อง กลับถึงฮ่องกง เผยถูก ตม.ไทยตัดขาดจากโลกภายนอก 12 ชม". ไทยรัฐ. กรุงเทพฯ: วัชรพล. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
  10. Jason Y. Ng. "Baptism of fire for Joshua Wong and his nascent political party" South China Morning Post. เก็บถาวร 5 พฤษภาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 29 de abril de 2016.
  11. Siu, Jasmine (17 August 2017). "Joshua Wong and other jailed Hong Kong student leaders see political careers halted". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2017. สืบค้นเมื่อ 17 August 2017.
  12. ประชาไท (2562-10-31). "'โจชัว หว่อง ' ถูกตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้งสภาเขต อ้าง พยายามแยกฮ่องกงเป็นอิสระ". ประชาไทล. กรุงเทพฯ.