โมเด็ม

โมเด็ม (อังกฤษ: modem ย่อมาจากคำว่า modulate and demodulate) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่กล้ำสัญญาณ หรือปรับเปลี่ยนลักษณะสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่างของรูปสัญญาณคลื่นพาห์(สัญญาณที่เป็นตัวขนส่งความถี่สูง)ด้วยสัญญาณข้อมูลที่จะถูกส่งผ่าน เช่น กระแสบิตดิจิทัล(อังกฤษ: digital bit stream)หรือสัญญาณเสียงอนาล็อก การกล้ำสัญญาณรูปคลื่นไซน์จะแปลงสัญญาณข้อความ baseband เป็นสัญญาณ passband และแปลงกลับในทิศทางตรงข้าม จุดประสงค์ของโมเด็มคือการสร้างสัญญาณที่ง่ายต่อการส่งข้อมูล และง่ายต่อการประมวลผล

อุปกรณ์หลายชนิดสามารถถือว่าเป็นโมเด็มได้ แต่โมเด็มประเภทที่แพร่หลายที่สุดคือโมเด็มที่แปลงสัญญาณแอนะล็อกให้เป็นสัญญาณดิจิทัลและสัญญาณดิจิทัลให้เป็นสัญญาณแอนะล็อก ซึ่งใช้ในการสื่อสารโทรคมนาคมหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่นเปลี่ยนสัญญาณดิจิทัลจากคอมพิวเตอร์แม่ข่ายให้เป็นสัญญาณเสียงที่ส่งผ่านในสายโทรศัพท์แบบดั้งเดิม และทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงกลับมาเป็นข้อมูลดิจิทัลในอีกด้านหนึ่งของผู้รับสัญญาณลูกข่ายหรือส่งจากลูกข่ายกลับไปยังแม่ข่าย

ปัจจุบันมีโมเด็มชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น เคเบิลโมเด็ม, ADSL โมเด็ม, โมเด็มที่ใช้รับสัญญาณไมโครเวฟ เป็นต้น

มาตรฐานของโมเด็ม

โมเด็มโทรศัพท์ในช่วงแรกถูกพัฒนาโดยบริษัทหลายแห่ง และไม่มีมาตรฐานในการทำงานด้วยกัน ในภายหลังได้มีการสร้างมาตรฐานการส่งข้อมูลของโมเด็มขึ้น ซึ่งพัฒนาอัตราการส่งข้อมูลให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ[1]


มาตรฐาน ความเร็วสูงสุด (bit/s) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. หมายเหตุ
Smartmodem 300 2524 พัฒนาโดย Hayes Communications
v.32 9,600 2527 -
v.32bis 14,400 2534 -
v.32ter 19,200 ไม่ระบุ พัฒนาโดย AT&T
v.34 28,800 2537 -
v.34bis[1] 33,600 2539 -
v.90[1] 56,000 2541 ความเร็วสูงสุดของสายโทรศัพท์
v.92 56,000 2543 เป็นโมเด็มแบบ Dial-Up รุ่นสุดท้ายที่มีการพัฒนา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสายโทรศัพท์[1]


อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 อรรณพ ขันธิกุล,ติดตั้งและใช้งาน Hi Speed Internet , สำนักพิมพ์ Infopress, 2549, หน้า 33