กฎหมายปกครอง

กฎหมายปกครอง (อังกฤษ: Administrative law; ฝรั่งเศส: droit administratif  ; เยอรมัน: Verwaltungsrecht) หมายถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายปกครอง การดำเนินกิจกรรมทางปกครอง รวมทั้งการควบคุมตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมทางปกครอง ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งระบุความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับประชาชนด้วย[1] กฎหมายที่ให้อำนาจทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจทางปกครอง กฎหมายปกครองมีลักษณะพิเศษคือผู้ที่ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองได้ต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่เท่านั้น จะมีข้อยกเว้นก็ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจทางปกครองนั้นไม่ใช่บุคคลที่กล่าวมาแล้ว แต่เบื้องต้นจะใช้อำนาจทางปกครองได้ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองได้เป็นกรณีไป เช่น บุคคลที่ได้รับสัญญาทางปกครองกับรัฐ และเมื่อมีกรณีพิพาทขึ้นจะต้องนำคดีเข้าสู่ศาลปกครอง ซึ่งคู่พิพาทจะต้องเป็นคู่กรณีดังต่อไปนี้ คือ หน่วยงานทางปกครอง หน่วยงานทางปกครองเจ้าหน้าที่ กับหน่วยงานทางปกครองกับเอกชน เจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่กับเอกชน และผู้ที่จะฟ้องต่อศาลปกครองได้ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองมาตรา 42วรรคหนึ่ง กฎหมายที่กำหนดถึงรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นกันลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวคือกฎหมายรัฐธรรนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการปกครองประเทศ แต่กฎหมายปกครองนั้นเป็นกฎหมายดำเนินการปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนี้จะกล่าวถึงการจัดระเบียบแห่งองค์การทางปกครอง เช่น การจัดแบ่งออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น ระหว่างองค์การเหล่านี้ซึ่งมีต่อกันและกันและเป็นเกี่ยวพันระหว่างองค์กรเหล่านี้กับราษฎร กฎหมายปกครองถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่กฎหมายมหาชน

หลักกฎหมายปกครอง

หลักความชอบด้วยกฎหมาย (Legality)

หลักความได้สัดส่วน (Proportionality)

หลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (Protection of public interest)

หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้ใจ (Protection of bona fide reliance)

หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยอำเภอใจ (Non-discrimination)

ฝ่ายปกครอง (Administrative agency)

ฝ่ายปกครองในเชิงรูปแบบ (Formal administrative agency)

ฝ่ายปกครองในเชิงเนื้อหา (Substantive administrative agency)

การกระทำทางปกครอง (Administrative act)

คำสั่งทางปกครอง (Administrative order)

กฎ (By-law)

สัญญาทางปกครอง (Administrative contract)

คำสั่งอื่น (Other order)

การปฏิบัติการทางปกครอง

กฎหมายที่สำคัญ (Main administrative-law statute)

  1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เก็บถาวร 2020-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Administrative Procedure Act B.E. 2539 (1996) เก็บถาวร 2020-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)
  2. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เก็บถาวร 2020-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Liability of Wrongful Act of Officials Act B.E. 2539 (1996))
  3. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บถาวร 2020-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Act on Establishment of Administrative Courts and Administrative Court Procedure B.E. 2542 (1999) เก็บถาวร 2021-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)

คำอธิบายกฎหมายปกครอง

กฎหมายปกครอง

 กฎหมายปกครอง เป็น กฎหมายมหาชน กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน ในฐานนะที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ปกครองมีอำนาจเหนือเอกชน หรือระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง

กฎหมายปกครอง จึงเป็น กฎหมายมหาชน ที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารของรัฐ การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองในการจัดบริการสารธารณะ และวางหลักความเกี่ยวพันในทางปกครองระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน และฝ่ายปกครองด้วยกันเอง รวมทั้งกำหนดสถานะและการกระทำทางปกครอง

ในระบบการปกครองประเทศแบ่งองค์กรที่ใช้อำนาจเป็น 3 ฝ่าย

1. ฝ่ายนิติบัญญัติ

2.  ฝ่ายบริหาร

3. ฝ่ายตุลาการ

ฝ่ายปกครองเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายบริหาร

งานของฝ่ายบริหารแยกเป็น 2 ส่วน คือ

1. งานทางการเมือง มีพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านทางคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐบาล ทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการใช้ ข้อบังคับกฎหมายต่างๆ

2. งานทางปกครอง เป็นส่วนที่เรียกว่า ราชการประจำ มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ฝ่ายบริหารในส่วนที่เป็นการเมืองกำหนดขึ้น คือ

- ราชการส่วนกลาง คือ กระทรวง ทบวง กรม

- ราชการส่วนภูมิภาค คือ จังหวัด อำเภอ

- ราชการส่วนท้องถิ่น มี 2 รูปแบบ

1. รูปแบบทั่วไป คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล

2. รูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร พัทยา

- รัฐวิสาหกิจ

- องค์กรอิสระ เป็นองค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรที่อิสระจากการควบคุมของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล)โดยตรง เนื่องจากภารกิจของหน่วยงาน เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย

- คณะกรรมการต่างๆ

แนวคิดพื้นฐานของกฎหมายปกครอง คือ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

1. รัฐโดยองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของคนหมู่มากในสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ

2. ในกรณีที่ประโยชน์ส่วนตัวของเอกชนสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ รัฐก็ใช้นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนได้

3. ในกรณีที่ประโยชน์ส่วนตัวของเอกชนไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะจะต้องให้ประโยชน์สาธารณะอยู่เหนือประโยชน์ส่วนตัวของเอกชน

4. ถ้าเอกชนไม่ยินยอมที่จะสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็จะต้องให้รัฐโดยองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจบังคับเอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะได้

กิจกรรมของฝ่ายปกครอง แบ่งเป็น

1. การกระทำทางแพ่ง คือ สัญญาทางแพ่ง เช่นองค์กรของรัฐซื้อคอมพิวเตอร์

2. การกระทำทางปกครอง คือ ผลิตผลของการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายขององค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง

การกระทำทางปกครอง แบ่งเป็น

1. นิติกรรมทางปกครอง

2. ปฏิบัติการทางปกครอง

นิติกรรมทางปกครอง

1. นิติกรรมฝ่ายเดียว คือ กฎ  คำสั่งทางปกครอง

2. นิติกรรมหลายฝ่าย คือ สัญญาทางปกครอง

ลักษณะของนิติกรรมทางปกครอง

1. เป็นการกระทำขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง ที่กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ เพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคล

2. เจตนาที่แสดงออกมานั้น ต้องมุ่งหมายที่จะให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น เช่น ถ้าหน่วยงานราชการมีหนังสือ เตือน ให้คุณมาต่อใบอนุญาต แบบนี้ไม่เป็นนิติกรรมทางปกครอง เพราะไม่ได้มุ่งให้เกิดผลทางกฎหมาย คุณจะต่อหรือไม่ต่อก็เรื่องของคุณ

3. ผลทางกฎหมายที่มุ่งหมายให้เกิดขึ้น คือ การสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมีอำนาจ หรือสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำ หรืองดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ถ้าอธิบดีกรมการปกครองอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน 2535 ออกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลให้เป็นปลัดอำเภอ เท่านี้ก็เกิดนิติสัมพันธ์แล้ว ระหว่างอธิบดีกรมการปกครองกับบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดอำเภอ ถือว่าเป็นการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน หรือ ถ้าคู่กรณีเดิมปลัดอำเภอทำความผิดร้ายแรง อธิบดีกรมการปกครองไล่ออก ผลทางกฎหมาย คือ ระงับสิ้นสุดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ถึงแม้จะเป็นการระงับ แต่ผลทางกฎหมายก็เกิดขึ้น คือ สิทธิและหน้าที่ของอีกฝ่ายสิ้นสุดลง

4. นิติสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอม ถ้าเมื่อไหร่ที่มีการแสดงเจตนาทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อนั้นจะไม่ใช่นิติกรรมทางปกครอง แต่จะแปรสภาพเป็น สัญญาทางปกครอง เช่น ก.ไปยื่นคำขอพกอาวุธปืน ในทางปกครองถือว่าการยื่นคำขอไม่ใช่คำเสนอ และเมื่อฝ่ายปกครองอนุญาตก็ไม่ใช่คำสนอง การที่มีขั้นตอนยื่นคำขอเข้าไปก่อน เรียกว่า เงื่อนไขความสมบูรณ์ของนิติกรรมทางปกครอง เป็นเงื่อนไขว่าถ้าไม่ทำตามขั้นตอนเช่นนี้นิติกรรมทางปกครองก็ไม่สมบูรณ์เมื่อขาดลักษณะใดลักษณะหนึ่งของนิติกรรมทางปกครองก็จะกลายเป็นปฏิบัติการทางปกครอง

ประเภทของนิติกรรมทางปกครอง

กฎ เป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เช่นพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ

คำสั่งทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว ที่มีผลบังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

เงื่อนไขความสมบูรณ์ของนิติกรรมทางปกครอง

1. อำนาจ เจ้าหน้าที่ที่ทำนิติกรรมต้องมีอำนาจ เป็นอำนาจที่กฎหมายให้มา

2. แบบและขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญของการทำนิติกรรมทางปกครอง เพราะถ้าไม่ใช่สาระสำคัญก็จะไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ของนิติกรรมทางปกครอง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 3618/2535

3. วัตถุประสงค์ นิติกรรมทางปกครองต้องมีวัตถุประสงค์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การกระทำของฝ่ายปกครองก็ต้องไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ที่กฎหมายเฉพาะกำหนดถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. ไม่บกพร่องเรื่องเจตนา จะต้องไม่เกิดจากการถูกฉ้อฉล ไม่สำคัญผิดหรือไม่ถูกข่มขู่ เช่น ผู้ขอสัมปทานร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ หัวหน้าหลงเชื่อก็สั่งการไป ก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ

5. เงื่อนไขอื่นๆ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น พระราชบัญญัติสถานบริการ มาตรา 21 วรรค 2 ว่าการสั่งพักใบอนุญาตสั่งได้ครั้งละ 30 วัน เพราะฉะนั้นจะสั่งพักใบอนุญาตในระยะเวลาที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้

กิจการที่ฝ่ายปกครองที่เป็นการกระทำทางปกครอง มี 2 ด้าน

1. กิจการในทางควบคุม เป็นการวางกฎเกณฑ์และบังคับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เพื่อความมั่นคง เพื่อการจัดการเรียบร้อย เป็นการที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจฝ่ายเดียวที่จะกำหนดให้ฝ่ายเอกชนต้องปฏิบัติตาม และบังคับให้ฝ่ายเอกชนที่ฝ่าฝืนต้องปฏิบัติตาม เช่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มีอำนาจออกระเบียบ ห้ามสร้างอาคารสูงเท่านั้นเท่านี้ เมื่อมีการฝ่าฝืนเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีอำนาจก็บังคับ โดยเข้ารื้อถอนอาคาร การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ออกระเบียบ เป็นนิติกรรมทางปกครองประเภทกฎ เพราะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป การที่เจ้าพนักงานไปรื้ออาคารที่สร้างฝ่าฝืนเป็นการปฏิบัติการทางปกครอง

2. กิจการในทางบริการ เช่น

- กิจกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน เช่น การป้องกันประเทศ

- กิจการเพื่อความสงบเรียบร้อย เช่น การสาธารณสุข การศึกษา

- กิจการเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน โทรศัพท์ สัญญาจ้างก่อสร้างถนน วางท่อประปา เป็นสาธารณูปโภคอย่างหนึ่ง และเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์

สัญญาทางปกครอง

คำนิยาม ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

 

สัญญาทางปกครองมีลักษณะ ดังนี้

1. คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นฝ่ายรัฐซึ่งอาจจะเป็นองค์กรหรือบุคคลที่กระทำแทนรัฐอาจทำสัญญาได้ 2 ลักษณะ จะเป็นสัญญาทางปกครอง หรือจะเป็นสัญญาทางแพ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐ เช่น กระทรวงกลาโหมขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินที่จังหวัดนครนายกเพื่อจัดสร้างโรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหมใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจาให้ค่าขนย้ายกับผู้บุกรุกแล้วตกลงค่าขนย้ายกัน จะเห็นได้ว่ากระทรวงกลาโหมไม่ได้เข้าทำสัญญาโดยใช้อำนาจรัฐ แต่ลดตัวลงมาเท่ากับเอกชนเจรจาต่อรองกัน เพื่อให้เขาขนย้ายออกไปโดยจ่ายเงิน สัญญานี้เป็นสัญญาทางแพ่งไม่ใช่สัญญาทางทางปกครอง (คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ 12/45)

แต่สัญญาซื้อที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อนำมาสร้างถนนหรือใช้ในกิจการอื่นของรัฐ แม้ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายแต่ต้องดำเนินกระบวนการทางปกครองมาก่อน คือจะต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเวนคืน มีการสำรวจที่ดิน มีคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น แล้วแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนทราบว่าพอใจหรือไม่ จะพอใจหรือไม่พอใจก็ทำสัญญาซื้อขายเพื่อให้กรรมสิทธิ์โอนจะเห็นว่ารัฐใช้อำนาจเหนือ คือกำหนดราคาข้างเดียว ไม่มีการเจรจาต่อรอง ถ้าไม่ขายก็ออกพระราชบัญญัติเวนคืนเอาที่ดินได้อยู่ดี ดังนี้เป็นสัญญาทางปกครองเพราะรัฐใช้อำนาจเหนือ (คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ 22-23/47)

2. ลักษณะของสัญญา ซึ่งมีตัวอย่างตามตัวบทดังนี้

สัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาที่รัฐให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐ โดยเอกชนเก็บเงินหรือผลประโยชน์และจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐ ซึ่งรัฐใช้อำนาจเหนือ โดยรัฐกำหนดและเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้เอง

สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ เป็นการบริการสาธารณะที่รัฐต้องทำ แต่รัฐให้เอกชนมารับไปทำแทน เช่น ให้เก็บขยะ ซึ่งการเก็บขยะเป็นการบริการสาธารณะที่รัฐต้องทำ แต่สัญญาจ้างบริษัทมาทำความสะอาดในสถานที่ราชการ เช่น ศาลยุติธรรมจ้างเอกชนมาทำความสะอาดบริเวณศาล งานปัดกวาดเช็ดถูไม่ใช่สาระสำคัญของภารกิจศาลยุติธรรม ไม่ใช่การบริการสาธารณะ จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่ง  สัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เช่น สัญญาจ้างเอกชนวางท่อประปา สัญญาก่อสร้างถนน เป็นสัญญาทางปกครอง  สัญญาให้แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ที่จะหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้คือรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม การที่รัฐจะมอบให้เอกชนแสวงหาประโยชน์ได้ โดยเอกชนให้ค่าตอบแทนแก่รัฐ เป็นสัญญาทางปกครอง

สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาจ้างก่อสร้างถนน เป็นสัญญาทางปกครอง ส่วนสัญญาประกันการก่อสร้างโดยธนาคารเข้ามาประกันว่าจะต้องก่อสร้างให้เสร็จเป็นสัญญาอุปกรณ์ สัญญาอุปกรณ์เป็นสัญญาทางแพ่ง แต่คณะกรรมการชี้ขาดฯ ให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครองตามที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดไว้

1. การกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางปกครอง คู่กรณี

2. การดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครอง เจ้าหน้าที่

3. การออกคำสั่งทางปกครอง รูปแบบและผลของคำสั่งทางปกครอง

4. การทบทวนคำสั่งทางปกครอง

- เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

- การอุทธรณ์

- การขอให้พิจารณาใหม่

5. การบังคับทางปกครอง

การพิจารณาทางปกครอง หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง การพิจารณาจะต้องเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ และสิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำต้องเป็นคำสั่งทางปกครอง

เจ้าหน้าที่ หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไว้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยชอบ เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาขน เพื่อให้การควบคุมและการคุ้มครองเกิดการสมดุล หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แยกได้ดังนี้

1. ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง จะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในเรื่องนั้นตามมาตรา 12 เช่น ถ้าออกโฉนดที่ดิน จะไปขอที่กรมสรรพากรไม่ได้ จะต้องไปขอที่กรมที่ดินที่มีอำนาจและหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน

2. เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาคำสั่งทางปกครอง จะต้องมีความเป็นกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่ตนพิจารณา ตามมาตรา 13 – 16 เช่น นาย ก. เป็นผู้พิจารณาทุนการศึกษา โดยมีคนเข้ามาของทุน 2 คน คนหนึ่งเป็นลูกของนาย ก. อีกคนเป็นบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกสามารถคัดค้านเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้พิจารณา คือเปลี่ยนแปลงตัวนาย ก. ออกไป ให้คนอื่นเข้ามาพิจารณาทุนการศึกษาแทน

3. กระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งปกครอง ต้องยึดหลักความเรียบง่าย รวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิและหน้าที่ ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบ ตามมาตรา 33 ประกอบมาตรา 27 เช่น เราต้องการปลูกสร้างอาคาร ก็ไปยื่นคำขอปลูกสร้างอาคาร แล้วเอกสารที่เตรียมไปไม่ถูกต้องสมบูรณ์ หรือดำเนินการไปไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องบอกว่าทำอย่างไรแก้ไขตรงไหน ซึ่งมาตราที่กำหนดไว้คือ มาตรา 33 ประกอบมาตรา 27

4. ในการพิจารณาทางปกครอง เจ้าหน้าที่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสมในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับคำขอหรือพยานหลักฐานของคู่กรณี โดยเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง หลักการนี้เป็นหลักการพิจารณาแบบไต่สวน ตามมาตรา 28 ประกอบมาตรา 29

5. ต้องรับฟังผู้ถูกกระทบสิทธิในกรณีที่คำสั่งทางปกครองกระทบสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30

6. คู่กรณีมีสิทธิขอดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการชี้แจง หรือป้องกันสิทธิของตน แต่เจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธได้ในกรณีที่ต้องรักษาได้เป็นความลับ ตามมาตรา 31 , 32

7. เจ้าหน้าที่ต้องให้เหตุผลในการทำคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 37

8. เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ ตามมาตรา 40 คือ มาตรา 40 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องระบุวิธีการยื่นอุทธรณ์ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ไว้ในคำสั่งทางปกครอง หากเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนไม่แจ้งหรือแจ้งไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไข ให้เริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากไม่มีการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ใหม่ ผู้รับคำสั่งทางปกครองก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครอง

ตัวอย่าง นาย ก. ได้ขอเปิดโรงงาน แล้วไปยื่นคำขอโดยบอกว่ารอบพื้นที่โรงงานจะขอเปิดไม่มีใครอยู่ ถ้าเจ้าหน้าที่เชื่อตามที่นาย ก. พูด โดยไม่มาดูเองก็ไม่ใช่ระบบการไต่สวน ถ้าเกิดรอบๆ โรงงานของนาย ก. เป็นชุนชนล่ะ กฎหมายจึงให้สิทธิแก่เจ้าหน้าที่ว่า นอกจากจะดูจากพยานหลักฐานของคู่กรณีที่ยื่นมาแล้ว ยังสามารถไปสืบเสาะข้อเท็จจริงเองได้ ตามมาตรา 28 , 29 แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไปดูมาแล้วบอกว่า ที่ตั้งของโรงงานมันไม่เหมาะ แถวนั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนเดี๋ยวมีการปล่อยน้ำเสียลงไป ชุนชนจะเดือนร้อนเพราะส่งกลิ่นเหม็น กฎหมายก็ให้สิทธิแก่คู่กรณี (นาย ก.) ไปหาพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมได้ แต่ก็ให้สิทธิคู่กรณีโต้แย้งแสดงหลักฐานเพิ่มเติมได้ ตามมาตรา 30 แต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นใน 6 อนุมาตรา เจ้าหน้าที่ไม่ต้องให้โอกาสคู่กรณีแสดงหลักฐานเพิ่มเติม

คู่กรณี หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง

คู่กรณี แยกได้ 3 ปะเภท

1. ผู้ยื่นคำขอ หรือ ผู้คัดค้านคำขอ เช่น นาย ก. ไปขอออกโฉนด แล้วนาย ข. ก็มาคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน นาย ก. เป็นผู้ยื่นคำขอ ส่วนนาย ข. เป็นผู้คัดค้านคำขอ

2. ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง คือ ข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัย

3. ผู้ที่เข้ามาในกระบวนพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นถูกกระทบกระเทือนจากคำสั่งทางปกครอง เช่น นาย ก. ยื่นขออนุญาตก่อสร้างโรงงาน แต่ว่าที่ดินของนาย ก. ที่จะสร้างโรงงานไปติดกับที่ดินนาย ข. นาย ข. เกรงว่าถ้านาย ก. ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงงาน ที่ดินนาย ข. อาจจะได้รับผลกระทบจากเสียง น้ำเสีย เช่นนี้ นาย ข. คือผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนจากคำสั่งทางปกครอง

สิทธิของคู่กรณี

1. สิทธิคัดค้าน ความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 13

2. สิทธิในการมีที่ปรึกษา (มาตรา 23) หรือ ผู้ทำการแทน (มาตรา 24)

3. สิทธิที่จะได้รับคำแนะนำและแจ้งสิทธิและหน้าที่ต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 27 เพราะฉะนั้นหากมีข้อบกพร่องที่เกิดจากความไม่รู้ เจ้าหน้าที่ต้องแนะนำให้ทราบเพื่อให้คู่กรณีได้แก้ไข

4. สิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาอย่างสมบูรณ์ ตามมาตรา 28 , 29

5. สิทธิที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำคำสั่งทางปกครองที่ถูกกระทบสิทธิ และมีสิทธิโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้า ตามมาตรา 30

6. สิทธิในการขอดูเอกสารพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 31 และมาตรา 32

7. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเร็ว มาตรา 33

8. สิทธิที่จะได้ทราบเหตุผลของการวินิจฉัยสั่งการ เพื่อความชัดเจนและเพื่อประโยชน์ในการโต้แย้งคำสั่ง ตามมาตรา 37 แต่มีข้อยกเว้นคำสั่งทางปกครองบางประเภทที่ไม่ต้องให้เหตุผลคือ

(1) คำสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ

(2) การเลื่อนขั้นเงินเดือน

(3) คำสั่งพักราชการ

9. สิทธิที่จะได้รับแจ้ง วิธีการอุทธรณ์ และระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ ตามมาตรา 40

คำสั่งทางปกครอง

คำสั่งทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว ที่มีผลบังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การรับรองและการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

ลักษณะของคำสั่งทางปกครอง

1. คำสั่งทางปกครอง จะต้องเป็น “ การใช้อำนาจตามกฎหมาย ” เพราะฉะนั้นการกระทำใดๆ ก็ตามที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้สิทธิสัญญากระทำการกับคู่สัญญา อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

2. ต้องเป็นการใช้อำนาจของ “ เจ้าหน้าที่ ” เท่านั้น ( ตามคำนิยาม ม.5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 )

3. มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งผลนั้นเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4. มีผลกระทบต่อบุคคลใดโดยเฉพาะ

กฎ เป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ

ลักษณะของกฎ

1. บุคคลที่ถูกบังคับให้กระทำการ ถูกห้ามมิให้กระทำการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทำการ ต้องเป็นบุคคลที่ถูกนิยามไว้เป็น ประเภท คือต้องนิยามไว้ว่าเป็นคนกลุ่มไหน เป็นคนประเภทไหน ซึ่งถึงแม้ว่าถูกนิยามไว้เป็นประเภทแล้ว ก็ยังเป็นคนจำนวนมากไม่รู้จำนวนที่แน่นอน เพราะบังคับใช้เป็นการทั่วไป เช่น เป็นผู้เยาว์ บังคับแก่บุคคลที่มีสัญชาติไทย

2. กรณี (การกระทำ) ที่บุคคลดังกล่าวถูกบังคับให้กระทำการ ห้ามมิให้กระทำงาน หรือได้รับอนุญาตให้กระทำการ ต้องถูกกำหนดไว้เป็นนามธรรม เช่น ห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่บนรถประจำทาง เป็นการกำหนดกรณีเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ารถประจำทางเบอร์อะไร ทะเบียนเท่าไหร่ หมายถึงทุกคัน

สรุป คำสั่งทางปกครอง คือ ข้อความที่บังคับให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออนุญาตให้การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งขาดลักษณะข้อใดข้อหนึ่งของกฎ แต่ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งทางปกครองหรือกฎก็ล้วนแต่เป็นนิติกรรมทางปกครองทั้งสิ้น เช่น ผู้ว่า กทม. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในส่วนใดของอาคารเลขที่ 1234 เช่นนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง แม้ว่าจะไม่ได้เจาะจงที่ตัวบุคคล แต่ก็เจาะจงที่อาคารเลขที่ 1234

สาเหตุ ที่จะต้องแยกส่วนคำสั่งทางปกครองและกฎให้ได้ เพราะกฎจะไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คือ ถ้าจะเอากฎเข้าสู่กระบวนการของวิธีพิจารณาทางปกครอง ก็ไม่ต้องอุทธรณ์ ไปที่ศาลปกครองได้เลย แต่ถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองจะต้องผ่านคำสั่งก่อน ถ้าไม่พอใจจึงจะนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง

แบบของคำสั่งทางปกครอง และการมีผลของคำสั่งทางปกครอง

คำสั่งทางปกครองมี 3 รูปแบบ

1. การออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจา มาตรา 34 ประกอบมาตรา 35 ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน โดยไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลตามมาตรา 34 แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรผู้รับคำสั่งทางปกครอง สามารถร้องขอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งด้วยวาจายืนยันคำสั่งโดยทำเป็นหนังสือได้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำสั่งตามมาตรา 35  คำสั่งทางปกครองด้วยวาจามีผลทันทีเมื่อได้รับแจ้ง เช่น ตำรวจจราจรส่งให้หยุดรถเพื่อตรวจควันดำ เป็นคำสั่งด้วยวาจามีผลทันทีที่สั่ง

2. คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ มาตรา 36 กำหนดให้ระบุวัน เดือน ปี ที่ออกคำสั่งชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ทำคำสั่งพร้อมลายเซ็น และเจ้าหน้าที่ต้องให้เหตุผลประกอบโดยมีข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญตามมาตรา 37 (2) (3) ดังนั้น คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือจะสมบูรณ์ต้องใช้มาตรา 36 ประกอบมาตรา 37 แต่จะมีข้อยกเว้นว่าบางทีก็ไม่ต้องให้เหตุผลก็ได้ เช่น ไปขอทำใบอนุญาตขับขี่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ออกให้ เช่นนี้ไม่ต้องให้เหตุผลที่ออกใบอนุญาต เพราะว่าคำสั่งทางปกครองตรงตามคำขอ และไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่นตามมาตรา 37 วรรค 3 (1)

คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือมีผลทางกฎหมาย แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวิธีการแจ้งเพราะคำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือสามารถแจ้งได้หลายวิธี

2.1 ผู้รับแจ้งได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่โดยตรง ก็มีผลทันทีเมื่อได้รับหนังสือ ตามมาตรา 69 วรรค 2

2.2 เป็นการแจ้งโดยวิธีให้บุคคลนำไปส่ง คล้ายๆ กับการปิดหมายในทางแพ่ง คือนำไปวางที่ภูมิลำเนาแล้วปิดไว้โดยเจ้าพนักงานเป็นผู้รับรอง ตามมาตรา 70

2.3 เป็นการแจ้งโดยไปรษณีย์ตอบรับ ตามมาตรา 71

- ไปรษณีย์ตอบรับที่ส่งภายในประเทศ มีผลเมื่อครบกำหนด 7 วันนับแต่วันที่สั่ง

- ไปรษณีย์ตอบรับที่ส่งไปยังต่างประเทศ ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อครบกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ส่ง

2.4 การแจ้งกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ตามมาตรา 72 การแจ้งโดยวิธีนี้มีองค์ประกอบ 2 ข้อ

(1) ต้องมีจำนวนคู่กรณี 50 คนขึ้นไป

(2) ทันทีที่เขาเข้ามาเป็นคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องบอกไว้ว่าจะแจ้งโดยวิธีการปิดประกาศ ซึ่งให้มีผลนับจากวันที่ปิด ประกาศไปแล้ว 15 วัน

2.5 การแจ้งโดยประกาศในหนังสือพิมพ์ มีองค์ประกอบ 3 กรณี ตามมาตรา 73

(1) ไม่รู้ตัวผู้รับ

(2) รู้ตัวแต่ไม่รู้ว่าภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน

(3) รู้ตัวผู้รับและภูมิลำเนาของผู้รับ แต่มีผู้รับเกิน 100 คน ซึ่งมีผล 15 วันนับแต่วันแจ้ง

2.6 การแจ้งโดยวิธีส่งแฟกซ์หรือทางเครื่องโทรสาร การแจ้งทางโทรศัพท์ให้ใช้ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

3. คำสั่งทางปกครองโดยวิธีอื่น พิจารณาง่ายๆ คือไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือหรือด้วยวาจา เช่น สัญญาณมือของตำรวจจราจร สัญญาณธงของเจ้าหน้าที่การรถไฟ สัญญาณไฟกระพริบของประภาคาร มีผลทันทีเมื่อได้รับแจ้ง

การสิ้นผลของคำสั่งทางปกครอง

1. สิ้นผลด้วยการเพิกถอน อาจเพิกถอนโดยตัวเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งเอง เพิกถอนโดยผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งทางปกครอง หรือเพิกถอนโดยศาลปกครอง

2. สิ้นผลด้วยเงื่อนเวลา เช่นในใบอนุญาตแต่ละประเภทจะกำหนดไว้ว่าอนุญาตกี่ปี ถ้ายังไม่ครบตามที่กำหนดก็ยังมีผลอยู่ แต่ถ้าครบกำหนดแล้วใบอนุญาตก็สิ้นผล คำสั่งทางปกครองก็สิ้นสุด

3. สิ้นผลด้วยเหตุอื่น คือ สิ้นผลโดยคำพิพากษาของศาล

การทบทวนคำสั่งทางปกครอง

การทบทวนคำสั่งทางปกครอง แบ่งได้ 3 กรณี

1. การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง

2. การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

3. การขอให้พิจารณาใหม่

การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ การโต้แย้ง คัดค้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยในคำสั่งทางปกครอง การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งทางปกครองออกมาแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยก็ต้องอุทธรณ์ จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งทางปกครองออกมาแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยก็ต้องอุทธรณ์หรือเพิกถอน หรือจะขอให้พิจารณาใหม่ เมื่อไม่เห็นด้วยก็จึงนำคดีไปสู่ศาลปกครอง

การอุทธรณ์ มี 6 หัวข้อ ดังนี้

1. ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ คู่กรณีตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คู่กรณี สามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้หมดไม่ว่าจะเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาด้วยวิธีไหน ไม่ว่าจะเป็นผู้ยื่นคำขอ ผู้คัดค้านคำขอ ผู้ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งปกครอง

2. อุทธรณ์กับใคร ตามมาตรา 44 เป็นหลักของการอุทธรณ์ กำหนดไว้ว่าการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครอง ให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งต่างจากการเพิกถอนและการขอให้พิจารณาใหม่

3. กำหนดเวลาอุทธรณ์ มาตรา 44 ถ้าไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้จะต้องอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

4. รูปแบบของการอุทธรณ์ มาตรา 44 วรรค 2 กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือและจะต้องมีเนื้อหาสาระที่เป็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่จะเอามาอ้างว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยตรงไหน ไม่เห็นด้วยในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือไม่เห็นด้วยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จะต้องเขียนไว้ให้ชัดเจนในคำอุทธรณ์ต้องมีครบถ้วน

5. การพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 45

มาตรา 46 คือ การพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างไรบ้าง กระบวนการต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ทำก็คือ เจ้าหน้าที่ที่รับคำอุทธรณ์จะต้องพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาข้อกฎหมาย ต้องพิจารณาความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครองทันทีที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำอุทธรณ์

มาตรา 45 เป็นการกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณา ภายใน 30 วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ คือ ภายใน 30 วันกระบวนการอุทธรณ์ต้องจบแล้ว ต้องรู้แล้วว่าภายใน 30 วันนี้ผลมันเป็นอย่างไร เพิกถอนหรือไม่ เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนอย่างไรภายใน 30 วัน

6. ผลของการพิจารณาอุทธรณ์ มาตรา 46 ตอนท้าย อาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้กว้าง ตรงที่ว่าไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระหรือลดภาระ สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขตามคำอุทธรณ์ เป็นอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยแท้ไม่ผูกพันตามคำขอ ถ้าผู้อุทธรณ์ยังไม่พอใจก็ต้องฟ้องศาลปกครอง

ข้อสังเกต การฟ้องต่อศาลปกครอง ก็คือ เจ้าหน้าที่ที่พิจารณาอุทธรณ์จะต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าฟ้องยังไง ฟ้องภายในเวลาเท่าไหร่ แต่โดยหลักแล้วต้องฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลอุทธรณ์

การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง คือ การทบทวนคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง

การเพิกถอนต่างกับการอุทธรณ์ ตรงที่การเพิกถอนเป็นดุลยพินิจ เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีคนขอเข้าไป แต่การอุทธรณ์จะต้องมีคำขอเข้าไป

หลักเกณฑ์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

1. ผู้มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 49 วรรค 1 มี 2 คน

- เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครอง

- ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งทางปกครอง

2. ระยะเวลาในการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

จะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาของการอุทธรณ์ไปแล้วหรือแม้แต่ว่าคดีจะไปสู่ศาลปกครองแล้วก็เพิกถอนได้

ผลของการเพิกถอนคำสั่งปกครอง

 คำสั่งทางปกครองมีการเพิกถอนไปแล้ว คู่กรณีที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทน เช่น ถ้ามีคำสั่งให้ปิดสถานประกอบการ 30 วัน ซึ่งความจริงแล้วเจ้าของสถานประกอบการไม่มีความผิด ไม่ได้ทำอะไรขัดต่อกฎหมาย ใน 30 วันที่ปิดกิจการเกิดความเสียหายขึ้น ขาดรายได้จาการประกอบกิจการ เจ้าของสถานประกอบการสามารถเรียกค่าทดแทนได้ ตามมาตรา 52

                ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เพิกถอนคำสั่งทางปกครองแล้ว และผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รับความเสียหาย แล้วเจ้าหน้าที่ไม่จ่ายค่าเสียหาย ผู้รับผลกระทบสามารถไปเรียกร้องจากหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่ได้ภายใน 180 วัน

การขอให้พิจารณาใหม่

            การขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 54 เป็นกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครอง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองขอให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองเรื่องเดียวกันนั้นใหม่ และออกคำสั่งทางปกครองใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าไม่สามารถยื่นคำขอคำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไม่ได้แล้ว เนื่องจากล่วงเลยระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  ซึ่งการขอให้พิจารณาใหม่ เป็นการขอให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองรื้อฟื้นเรื่องขึ้นมาใหม่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

ระยะเวลาในการขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 54 วรรคท้าย

            การยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ต้องกระทำภายใน 90 วัน นับแต่ที่ได้รู้ถึงเหตุที่อาจขอให้พิจารณาใหม่ได้

             การขอให้พิจารณาใหม่ เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาใหม่ได้จะต้องมีผู้ยื่นคำขอเข้าไปเหมือนกับการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง

การบังคับทางปกครอง มาตรา 55 – มาตรา 68

            การบังคับทางปกครองมีเพื่อต้องการให้คำสั่งทางปกครองที่ออกไปเกิดผลในทางกฎหมาย และการใช้มาตรการบังคับทางปกครองจะต้องสมเหตุสมผล และชัดเจนแน่นอน

มาตรการบังคับทางปกครอง แยกได้ 2 ประเภท

ประเภทที่ 1 ตามมาตรา 57 เป็นคำสั่งให้ผู้ใดชำระเงิน เช่น ตำรวจจราจรตรวจควันดำแล้วให้จ่ายค่าปรับ การโบกรถให้หยุดเป็นคำสั่งทางปกครอง พอตรวจแล้วให้ปรับเป็นการปรับตามมาตรา 57 เป็นมาตรการบังคับทางปกครองที่ให้ชำระเงิน

ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 58 คือคำสั่งทางปกครองที่ให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ เช่น คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร คำสั่งให้ปิดโรงงาน เป็นคำสั่งให้กระทำการ คำสั่งห้ามไม่ให้ขายของหน้าโรงพยาบาล เป็นคำสั่งละเว้นกระทำการ

คำสั่งทางปกครองที่ให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ เจ้าหน้าที่มีมาตรการบังคับอยู่ 2 อย่าง

1. เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแทน เช่น เจ้าหน้าที่สั่งให้รื้อแล้วไม่รื้อ เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาดำเนินการรื้อถอนอาคารเอง เป็นอำนาจตามมาตรา 58 (1)

2. เป็นการชำระค่าปรับทางปกครอง ต้องเป็นจำนวนที่สมควรแก่เหตุ แต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อวัน

ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องออกคำสั่งทางปกครองให้กระทำหรือละเว้นกระทำ คือ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับการโดยเร่งด่วน เพื่อ

1. ป้องกันมิให้มีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

2. มิให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ

แต่ต้องกระทำโดยสมควรแก่เหตุและภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน

มาตรา 59 กำหนดว่า ก่อนเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการบังคับใดๆ เจ้าหน้าที่จะต้องมีหนังสือเตือน และในหนังสือเตือนจะต้องระบุมาตรการที่จะให้กระทำได้ไว้ชัดเจน และต้องระบุค่าใช้จ่าย และระบุถึงด้วยว่าจะให้ใครไปกระทำการแทน มาตรา 59 ระบุว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องกระทำ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ

ระยะเวลาและอายุความ มาตรา 64

1. การนับระยะเวลาของคำสั่งทางปกครอง หรือเรื่องทางปกครองทั้งหมด ให้เริ่มต้นนับในวันรุ่งขึ้นไม่ใช่นับในวันที่มีคำสั่งทางปกครอง

2. ถ้าเป็นกรณีที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องกระทำ แม้ว่าวันสุดท้ายเป็นวันหยุดก็ให้นับรวมไปด้วย

3. ถ้าการนับระยะเวลาเป็นกรณีที่ต้องบังคับแก่ประชาชน ถ้าครบกำหนดระยะเวลาวันสุดท้ายเป็นวันหยุด ก็ไม่นับ ให้นับวันทำการวันแรกเป็นวันสุดท้าย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

 คดีปกครอง คือ คดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองออกกฎหรือคำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

ลักษณะสำคัญของคดีปกครอง

1. คดีปกครองเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน

2. คดีปกครองนั้นจะต้องเป็นคดีพิพาทที่เกิดขึ้นจากการกระทำ 3 ประการดังต่อไปนี้ ของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ

(1) การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง

                        (2) การที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ทางปกครองตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ แล้วต้องปฏิบัติหน้าที่นั้นล่าช้าเกินสมควร

                        (3) สัญญาทางปกครอง

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

1. คดีตามมาตรา 9 วรรค 1 (1) การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มี 8 ลักษณะ

(1) กระทำโดยไม่มีอำนาจ คือ หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้อง กระทำการออกคำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด โดยทีไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจไว้

(2) กระทำนอกเหนืออำนาจ เป็นเรื่องของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมายแต่กระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้

(3) กระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกกฎหรือออกคำสั่ง ซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับที่ให้อำนาจไว้

                        (4) กระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น เช่น กฎหมายกำหนดรูปแบบและขั้นตอนของการออกคำสั่งไว้และวางหลักไว้ว่า ผู้ออกคำสั่งจะต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่ง ถ้าคำสั่งไม่มีเหตุผลประกอบเป็นการผิดแบบไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด

                        (5) กระทำโดยไม่สุจริต เป็นการใช้อำนาจบิดเบือนโดยมีเจตนา หรือวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือของผู้อื่น ไม่ได้กระทำการนั้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์ของกฎมาย

                        (6) การกระทำที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำโดยขาดหลักความเสมอภาค โดยใช้เกณฑ์ ทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความคิดทางการเมือง มาเป็นตัวตัดสิน เป็นต้น

                         (7) เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร

                         (8) การใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อำนาจดุลยพินิจ คือ การที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการรักษาประโยชน์สาธารณะ โดยมีเหตุผลอันสมควรแล้ว ล้วนเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบแล้ว

2. คดีที่ฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วแต่กรณีละเลยต่อหน้าที่ทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้

หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นภายในเวลาที่ศาลกำหนด ตามมาตรา 9 วรรค 1 (2) เช่น ประชาชนร้องเรียนเจ้าหน้าที่เนื่องจากบริษัทกำจัดขยะทำการกลบฝังหรือทำลายขยะไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ส่งกลิ่นเหม็น ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ละเลยไม่ดำเนินการสั่งให้บริษัทระงับการกระทำดังกล่าว ถือเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรค 1 (2) คำสั่งศาลปกครองสูงสุด 106/44

3. เป็นกรณีการละเมิดและความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเยียวยาความเสียหาย โดยสั่งให้ใช้เงินส่งมอบทรัพย์สิน หรือกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ มีเงื่อนไข 2 ประการ                   

(1) ต้องเป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ออกคำสั่ง มักใช้ใบอนุญาตโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

           (2) เมื่อเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ต้องประกอบด้วย 4 ข้อ

1. การใช้อำนาจตามกฎหมาย

2. การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น

3. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่ละเลยไม่พิจารณาคำขออนุญาตเปิดกิจการโรงงาน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย

4. การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ต้องดูว่าเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เป็นกรณีที่คู่ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงิน ค่าเสียหาย ฐานผิดสัญญาและส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อสัญญา

5. เป็นคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วแต่กรณี ฟ้องเอกชนต่อศาล และขอให้ศาลบังคับให้เอกชนทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีบุคคลก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นรุกล้ำเข้าในน่านน้ำ ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือในทะเล หรือชายหาดของทะเล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เจ้าท่ามีอำนาจออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้นออกไปให้พ้นทางน้ำ ถ้าผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า กรมเจ้าท่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปจัดการรื้อถอนอาคารนั้นด้วยตนเอง แต่กรมเจ้าท่าต้องไปฟ้องศาลขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้ผู้รับคำสั่งรื้อถอนอาคารนั้น

6. เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เช่น ข้อพิพาทตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทตามสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจเหนือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงต้องไปขอที่ศาลปกครอง

คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรค 2

1. การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร

2. การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

3. คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ

- ศาลเยาวชนและครอบครัว - ศาลแรงงาน

- ศาลภาษีอากร

- ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

- ศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง

1. เงื่อนไขเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดี และความสามารถของผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 42

ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจาก

(1) การกระทำหรือการงดเว้นกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(2) มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

(3) กรณีอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9

(4) กรณีการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีบังคับตามมาตรา 72

2. เงื่อนไขเกี่ยวกับคำขอในคำฟ้องให้ศาลมีคำบังคับ เพื่อแก้ไขความเดือนร้อนเสียหาย ตามมาตรา 72

(1) ขอสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง หรือสั่งห้ามกระทำทั้งหมด หรือบางส่วน

(2) ขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด

(3) ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน หรือใช้ส่งมอบทรัพย์สิน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เช่น ให้ชำระค่าจ้างหรือเงินอื่นใดตามสัญญาทางปกครอง

(4) สั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลสั่งว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทย และให้ถือปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้มีสัญชาติไทย

(5) สั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นการกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น เจ้าท่าสั่งให้รื้อถอนเรือนที่ปักเสาลงในน้ำ เมื่อเจ้าของเรือนไม่รื้อถอนก็ต้องฟ้องต่อศาล ให้ศาลสั่งให้รื้อถอนเรือน

3. เงื่อนไขเกี่ยวกับการเยียวยา แก้ไขความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี

4. เงื่อนไขเกี่ยวกับคำฟ้องและเอกสารที่ยื่นต่อศาล ( เป็นเรื่องของเสมียน)

5. เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟ้องคดี

คดีปกครองระยะเวลาในการฟ้องคดีสั้นมาก มีระยะเวลาอยู่ 3 กรณี

1. การฟ้องคดีปกครองทั่วไป ตามมาตรา 49 ถ้าเป็นคดีปกครองทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำสั่งทางปกครอง เรื่องกฎ จะต้องฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี

2. การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการการฟ้องคดี แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่เหตุแห่งการฟ้องคดีมันเกิดขึ้น ตามมาตรา 51

3. การฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล การฟ้องคดีในกรณีไม่มีอายุความฟ้องเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา 52

มาตรา 52 วรรค 2 เป็นลักษณะพิเศษของศาลปกครอง คือ การฟ้องคดีที่พ้นระยะเวลาไปแล้ว ศาลอาจใช้ดุลยพินิจรับไว้พิจารณาได้

            6. เงื่อนไขเกี่ยวกับข้อห้ามในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง มี 4 กรณี ศาลปกครองจะไม่รับฟ้องไว้พิจารณา

1. ฟ้องซ้ำ

            2. ฟ้องซ้อน

            3. ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

            4. การห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่ทำละเมินในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ม.5 แห่งความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แยกได้ 2 กรณี

1. เจ้าหน้าที่ได้กระทำการละเมิดเนื่องจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ แยกได้ ดังนี้

1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

- ราษฎรได้รับความเสียหาย จะฟ้องเจ้าหน้าที่ทำละเมิดไม่ได้ จะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสังกัดอยู่โดยตรง ตาม ม.5 ซึ่งเมื่อหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่นั้นได้รับกระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐ มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ได้จงใจหรือว่ากระทำการประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิด ตาม ม.8

- หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งเจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่หรือไม่ก็ตาม การเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ม. 10 ได้บัญญัติให้นำ ม.8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือ จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดได้ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ถ้าไม่ได้จงใจหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดา จะเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

2.) การฟ้องคดี

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(3) ได้กำหนดว่าคดที่พิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดเนื่องจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะได้กระทำต่อผู้เสียหายหรือหน่วยงานของรัฐ ก็จะต้องฟ้องคดีที่ศาลปกครองโดยอาศัย ม.9 (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

2. เจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดที่มิใช่ในการปฏิบัติหน้าที่

1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

- ราษฎรที่ได้รับความเสียหาย สามารถฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดได้โดยตรงจะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัวเนื่องจากากรทำละเมิด ตาม ม.6

- หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่หรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ม.10 บัญญัติไว้ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

2) การฟ้องคดี เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่อยู่ในบังคับของ ม.9 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงต้องนำคดีไปฟ้องที่ศาลยุติธรรม

  1. ชาญชัย แสวงศักดิ์, คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ครั้งที่ ๒๘, วิญญูชน ๒๕๖๒)
  2. นันทวัฒน์ บรมานันท์, กฎหมายปกครอง (พิมพ์ครั้งที่ ๕, วิญญูชน ๒๕๖๐)
  3. วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ ๑, นิติราษฎร์ ๒๕๕๔)

เว็บไซต์ (Websites)

  1. เว็บไซต์ศาลปกครอง(Office of Administrative Courts: English version)
  2. สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา เก็บถาวร 2020-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (The Office of State of Council)


อ้างอิง (Endnote)

ตัวอย่างการอ้างอิง

  1. วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ ๑, สำนักพิมพ์นิติราษฎร์ ๒๕๕๕) ๑๙.