กอแทมซิตี
กอแทมซิตี | |
---|---|
ที่ตั้งของแบทแมน | |
ปรากฏครั้งแรก | แบทแมน #4 (ธันวาคม 1940) |
สร้างสรรค์โดย | บิลล์ ฟิงเกอร์ (นักเขียน) บ็อบ เคน (นักวาด) |
ชนิด | ซูเปอร์ฮีโร |
ข้อมูลเบื้องต้น | |
ประเภท | เมือง |
สถานที่สำคัญ | เอซเคมิคัลส์ อาร์แคมอะไซลัม เรือนจำแบล็กเกต กรมตำรวจกอแทมซิตี ไอซ์เบิร์กเลานจ์ เวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ คฤหาสน์เวย์น |
ตัวละครสำคัญ | |
สำนักพิมพ์ | ดีซีคอมิกส์ |
กอแทมซิตี (อังกฤษ: Gotham City) เป็นเมืองสมมติที่ปรากฏในหนังสือการ์ตูนอเมริกันของดีซีคอมิกส์ เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นเมืองที่อยู่ของแบทแมน โดยปรากฏครั้งแรกในแบทแมน ฉบับที่ 4 (ธันวาคม 1940)
กอแทมซิตีเคยถูกเขียนถึงว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ที่นิวเจอร์ซีย์ในสหรัฐอเมริกา[1][2][3][4][5][6] โดยลักษณะและบรรยากาศของเมืองนั้นได้รับอิทธิพลจากนครนิวยอร์กเป็นหลัก[7]
ในขณะที่สถานที่ที่เป็นแรงบันดาลใจหรือใช้ในการถ่ายทำสำหรับกอแทมซิตีในภาพยนตร์และละครชุดทางโทรทัศน์ฉบับคนแสดงของแบทแมนนั้นประกอบไปด้วยชิคาโก,[8][9] พิตต์สเบิร์ก, ลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก, นวร์ก, ลอนดอนและกลาสโกว์[10][11][12][13][14][15]
ที่มาของชื่อ
บิลล์ ฟิงเกอร์ ซึ่งเป็นนักเขียนกล่าวว่าเขาเคยตั้งชื่อให้กอแทมซิตีว่า ซิวิกซิตี, แคพิทัลซิตี และโคสต์ซิตี แต่เมื่อเขาเจอชื่อ 'กอแทมจิเวเลอรส์' ในสมุดโทรศัพท์ของนิวยอร์ก จึงได้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่ากอแทมซิตี[16][17]
"กอแทม" เคยเป็นชื่อเล่นของนครนิวยอร์กซึ่งเริ่มได้รับความนิยมครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 โดยวอชิงตัน เออร์วิงเป็นผู้ตั้งชื่อครั้งแรกในวารสารซัลมากันดิ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 1807[18] ซึ่งเป็นนิตยสารที่เขียนล้อเลียนวัฒนธรรมและการเมืองของนิวยอร์ก โดยเออร์วิงนำชื่อมาจากหมู่บ้านกอแทมในนอตทิงแฮมเชอร์ ประเทศอังกฤษ[19][20]
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งในนิวเจอร์ซีย์
ลักษณะเมืองของกอแทมซิตีถูกแต่งให้มีความแตกต่างกันไปตลอดหลายทศวรรษ เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในจักรวาลดีซี แต่ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนั้นตามธรรมเนียมถูกระบุว่าตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ในอะเมซิงเวิลด์ออฟดีซีคอมิกส์ ฉบับที่ 14 มาร์ก กรูนวอลด์ ซึ่งเป็นผู้เขียนได้กล่าวถึงประวัติของจัสติสลีกและระบุว่ากอแทมซิตีตั้งอยู่ในนิวเจอร์ซีย์[1]
ในคอมิกสตริปเรื่องเดอะเวิลด์สเกรเทสต์ซูเปอร์ฮีโรส์ (13 สิงหาคม 1978) มีแผนที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากอแทมซิตีตั้งอยู่ในนิวเจอร์ซีย์และเมโทรโพลิสตั้งอยู่ในเดลาแวร์[21] และในเวิลด์สไฟเนสต์คอมิกส์ ฉบับที่ 259 (พฤศจิกายน 1979) ได้ยืนยันเช่นกันว่ากอแทมซิตีอยู่ในนิวเจอร์ซีย์[22] นอกจากนี้ในเดอะนิวแอดเวนเจอร์สออฟซูเปอร์บอย ฉบับที่ 22 (ตุลาคม 1981) และเดอะแอตลาสออฟเดอะดีซียูนิเวิร์ส ปี 1990 ทั้งสองเล่มได้แสดงแผนที่ซึ่งกอแทมซิตีอยู่ในนิวเจอร์ซีย์และเมโทรโพลิสอยู่ในเดลาแวร์[6][23]
ในดีเทกทีฟคอมิกส์ ฉบับที่ 503 (มิถุนายน 1983) มีข้อมูลหลายอย่างที่สื่อให้เห็นว่ากอแทมซิตีอยู่ในนิวเจอร์ซีย์ โดยมีการอธิบายว่าชายฝั่งเจอร์ซีย์ห่างจากกอแทมไปทางตอนเหนือ 20 ไมล์ และในฉบับเดียวกันโรบินและแบทเกิร์ลได้ขับรถจาก "ลานบินลับนิวเจอร์ซีย์" ไปยังกอแทมซิตีและขับต่อไปยัง "ทางหลวงฮัดสันเคาน์ตี" ซึ่งอ้างอิงถึงฮัดสันเคาน์ตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ในชีวิตจริง
นอกจากนี้ในแบทแมน: ชาโดว์ออฟเดอะแบท ฉบับรายปี ฉบับที่ 1 ได้ระบุว่ากอแทมซิตีอยู่ในนิวเจอร์ซีย์เช่นกัน โดยใบขับขี่ของ ซาล อี จอร์แดน ในคอมิกส์ฉบับนี้ระบุว่าที่อยู่ของเขาคือ "72 ถนนแฟกซ์คอล กอแทมซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ 12345"[5] แม้ว่าแท้จริงแล้วรหัสไปรษณีย์ดังกล่าวจะเป็นของเมืองสเกอเนกทาดีในนิวยอร์ก
ภาพยนตร์ทีมพลีชีพ มหาวายร้าย ที่ฉายในปี 2016 ได้เปิดเผยว่าในจักรวาลขยายดีซี กอแทมซิตีตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์เช่นกัน[24][25]
ความสัมพันธ์กับเมโทรโพลิส
กอแทมซิตีถือเป็นบ้านของแบทแมนเช่นเดียวกับเมโทรโพลิสซึ่งเป็นบ้านของซูเปอร์แมน และฮีโรทั้งสองคนก็ทำงานร่วมกันในสองเมือง ในคอมิกส์นั้นระยะทางที่แน่นอนของเมืองทั้งสองถูกเล่าให้มีระยะที่แตกต่างกันในแต่ละฉบับ แต่ก็เป็นระยะที่สามารถขับรถถึงกันได้ บางครั้งทั้งสองเมืองนี้ถูกเล่าว่าเป็นเมืองคู่แฝดกันซึ่งอยู่คนละฝั่งของอ่าวเดลาแวร์ โดยเมโทรโพลิสอยู่ในเดลาแวร์และกอแทมซิตีอยู่ในนิวเจอร์ซีย์[2][4]
นิวยอร์กได้ชื่อเล่นว่าเมโทรโพลิส เพื่อบรรยายถึงเมืองในเวลากลางวันตรงข้ามกับกอแทม ซึ่งใช้บรรยายถึงนิวยอร์กในช่วงเวลากลางคืน[26] ระหว่างยุคสัมฤทธิ์ของคอมิกส์ สะพานเมโทร-แนโรส์ถูกแต่งให้เป็นเส้นทางหลักของเมืองคู่แฝดอย่างเมโทรโพลิสและกอแทมซิตี[27][28] ซึ่งในเรื่องได้ระบุว่าสะพานนี้เป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก[29]
แผนที่ที่ปรากฏในเดอะนิวแอดเวนเจอร์สออฟซูเปอร์บอย ฉบับที่ 22 (ตุลาคม 1981) แสดงให้เห็นว่าสมอลล์วิลล์อยู่ในระยะที่สามารถขับรถจากเมโทรโพลิสและกอแทมซิตีได้ แต่หลังจากนั้นสมอลล์วิลล์ได้ถูกย้ายตำแหน่งไปยังแคนซัสอันเป็นผลจากเหตุการณ์ไครซิสออนอินฟินิตเอิร์ท [30] นอกจากนี้แผนที่ของสหรัฐที่ปรากฏในเดอะซีเคร็ตไฟลส์แอนด์ออริจินส์ไกด์ทูเดอะดีซียูนิเวิร์ส ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2000) ยังแสดงให้เห็นว่าเมโทรโพลิส, กอแทมซิตีและบลัดเฮเวนอยู่ในพื้นที่ไทรสเตต[31]
ในจักรวาลขยายดีซี ภาพยนตร์แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม ที่ฉายในปี 2016 แสดงให้เห็นว่ากอแทมซิตีตั้งอยู่คนละฝั่งอ่าวกับเมโทรโพลิส[32]
ประวัติ
กัปตันยุน โลเกร์ควิสต์ ซึ่งเป็นทหารรับจ้างชาวนอร์เวย์ได้ก่อตั้งกอแทมซิตีขึ้นในปี 1635 และหลังจากนั้นเมืองได้ถูกชาวบริติชยึดครองไป ซึ่งเรื่องราวนี้อ้างอิงจากประวัติศาสตร์จริงในการก่อตั้งนิวยอร์กโดยชาวดัตช์ (ในชื่อนิวอัมสเตอร์ดัม) ก่อนถูกยึดครองโดยชาวบริติช[33] และระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกา กอแทมซิตีเป็นที่ตั้งของการต่อสู้ครั้งใหญ่ (อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงคือยุทธการที่เกาะลอง) โดยข้อมูลเหล่านี้ปรากฏในสวอมป์ทิง ฉบับที่ 85 ของริก ไวตช์
หนังสือการ์ตูนชุดแบทแมน: เกตส์ออฟกอแทม ในปี 2011 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกอแทมซิตีโดยอลัน เวย์น (บรรพบุรุษของบรูซ เวย์น), ทีโอดอร์ คอบเบิลพอต (บรรพบุรุษของออสวอลด์ คอบเบิลพอต) และเอ็ดเวิร์ด เอลเลียต (บรรพบุรุษของโทมัส เอลเลียต) ถือว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งกอแทม พวกเขาได้สร้างสะพานสามแห่งซึ่งเรียกว่า"เกตส์ออฟกอแทม" โดยแต่ละแห่งมีนามสกุลของแต่ละคน ช่วงหนึ่งเอ็ดเวิร์ด เอลเลียตเริ่มอิจฉาความนิยมและความมั่งคั่งของครอบครัวเวย์นมากขึ้นเรื่อย ๆ ความอิจฉานี้ได้ส่งต่อไปถึงโทมัส เอลเลียต (หรือฉายาฮัช) ซึ่งเป็นลูกของเหลนของเขา[34]
ต้นกำเนิดที่ลึกลับของกอแทมได้ถูกเจาะลึกมากขึ้นในเนื้อเรื่อง "ดาร์กไนต์, ดาร์กซิตี" ซึ่งแต่งโดยปีเตอร์ มิลลิแกนในปี 1990[35] ได้เปิดเผยว่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐบางคนมีส่วนร่วมกับการอัญเชิญแบท-ดีมอนซึ่งถูกกักขังอยู่ใต้เมืองกอแทมเก่า อำนาจแห่งความมืดของมันได้แพร่กระจายไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาของกอแทมซิตี แนวทางเนื้อเรื่องที่คล้ายกันนี้ได้ถูกเล่าในชาโดว์แพกท์ ฉบับที่ 5 ซึ่งแต่งโดยบิลล์ วิลลิงแฮมซึ่งได้เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งลึกลับในกอแทม โดยเปิดเผยถึงสิ่งมีชีวิตที่หลับใหลเป็นเวลา 40,000 ปีข้างใต้แผ่นดินซึ่งเป็นที่ตั้งของกอแทมซิตี สเตรกาซึ่งเป็นคนรับใช้ของสิ่งมีชีวิตนั้นได้กล่าวว่าตัวตนที่มืดมนและถูกสาปของเมืองนั้นมีผลมาจากสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชื่อ "ดอกเตอร์กอแทม"
ในกอแทมอันเดอร์กราวด์ ฉบับที่ 2 ซึ่งแต่งโดยแฟรงก์ เทียรีนั้น โทเบียส เวลได้อ้างว่าในศตวรรษที่ 19 เมืองถูกควบคุมโดยแก๊งที่เป็นคู่แข่งกันห้ากลุ่ม จนกระทั่ง "บุคคลภายใต้หน้ากาก" คนแรกปรากฏตัวและได้ตั้งแก๊งของตัวเองขึ้นมาแต่ไม่พบข้อมูลแน่ชัดว่าคนเหล่านั้นเป็นศาลเตี้ยหรืออาชญากรที่ใส่ชุดแต่งกาย
นอกจากนี้ยังมีเนื้อเรื่องต่าง ๆ ที่เพิ่มเติมเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของกอแทมซึ่งส่งผลกระทบไปถึงผู้คนและสภาพบ้านเมืองอีกด้วย บางครั้งผลกระทบของเหตุการณ์ครั้งใหญ่อาจกลายเป็นเนื้อเรื่องยาวที่ต่อเนื่องกัน เช่นเหตุการณ์เมื่อราส์ อัล กูลได้ปล่อยไวรัสที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอที่ชื่อว่า "เคลนช์" ระหว่างเนื้อเรื่อง "คอนเทเจียน" เมื่อถึงบทสรุปของเนื้อเรื่องขณะที่เมืองกำลังฟื้นตัวก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริกเตอร์ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลกลางตัดกอแทมออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในเนื้อเรื่อง "โนแมนส์แลนด์" ประชาชนที่เหลืออยู่ในเมืองถูกบังคับให้เข้าสงครามแก๊งเพื่อเอาตัวรอดโดยอาจอยู่ในฐานะผู้เข้าร่วมหรือจ่ายเงินเพื่อรับความคุ้มครองจากกลุ่มต่าง ๆ ท้ายที่สุดกอแทมได้ถูกบูรณะและกลับเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาโดยเป็นผลจากนโยบายของเล็กซ์ ลูเธอร์ที่ทำขึ้นเพื่อหาเสียงให้เขาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา[36]
วัฒนธรรม
เดนนิส โอนีลซึ่งเป็นนักเขียนและบรรณาธิการของแบทแมน กล่าวว่ากอแทมซิตีของแบทแมนเปรียบเสมือน "แมนฮัตตันด้านล่างถนนที่ 14 เวลาเที่ยงคืนสิบเอ็ดนาที ในคืนที่หนาวที่สุดในเดือนพฤศจิกายน"[37] ขณะที่นีล อดัมส์นักวาดแบทแมน เชื่อมาอย่างยาวนานว่าชิคาโกเป็นต้นแบบของกอแทมโดยกล่าวว่าชิคาโกมีตรอกซอกซอย (ซึ่งแทบไม่มีอยู่ในนิวยอร์ก) และซอยแคบ ๆ นั้นเป็นที่ที่แบทแมนใช้สู้กับคนร้าย[38] ในขณะที่คำกล่าวที่ว่าเมโทรโพลิสคือนิวยอร์กในตอนกลางวันนั้นมีที่มาจากผู้สร้างคอมิกส์อย่างแฟรงก์ มิลเลอร์และจอห์น เบิร์น[7]
ในการออกแบบเรื่องแบทแมน: ดิแอะนิเมเต็ดซีรีส์ ผู้สร้างอย่างบรูซ ทิมและเอริก เรดอมสกีได้ยึดถือแนวคิดความเหนือกาลเวลาจากภาพยนตร์ของทิม เบอร์ตันโดยการผสมผสานลักษณะของยุคสมัยเช่น ข้อความคั่นเรื่องรูปแบบขาวดำ, เรือเหาะตำรวจ (แม้สิ่งนี้จะไม่ปรากฏในภาพยนตร์แต่ทิมระบุว่าสิ่งนี้เข้ากับรูปแบบของเรื่อง) และโทนสีวินเทจแบบฟิล์มนัวร์[39] หลังจากนั้นเรือเหาะตำรวจจึงได้เข้าไปอยู่ในคอมิกส์แบทแมนและกลายเป็นองค์ประกอบของกอแทมซิตี[40]
เกี่ยวกับพัฒนาการของกอแทมตลอดหลายปี พอล เลวิตซ์ซึ่งเป็นบรรณาธิการของแบทแมนและอดีตประธานดีซีคอมิกส์ ได้กล่าวว่า "นักเขียนแต่ละคนได้เติมแต่งความคิดลงไป เป็นความสนุกของคอมิกส์กับการสร้างเมืองใหม่ในแต่ละครั้ง"[41]
สถาปัตยกรรม
ในแบทแมน: กอทิก อาสนวิหารกอแทมมีบทบาทสำคัญในเรื่อง เนื่องจากสร้างขึ้นโดยมิสเตอร์วิสเปอร์ซึ่งเป็นศัตรูในเรื่อง
จากเนื้อเรื่องในปี 1992 ผู้คลั่งไคล้สถาปัตยกรรมของพิงก์นีย์ได้ระเบิดสิ่งก่อสร้างหลายแห่งในกอแทมเพื่อเปิดเผยให้เห็นโครงสร้างของพิงก์นีย์ที่ถูกซ่อนไว้ จุดประสงค์เบื้องหลังของการแต่งเนื้อเรื่องนี้เพื่อเปลี่ยนดีไซน์ของเมืองให้เข้ากับภาพยนตร์แบทแมนในปี 1989 ซึ่งออกแบบโดยแอนทอน เฟิสต์[43][44][45]
ในแบทแมน บีกินส์ มีการใช้ CGI เพื่อเสริมให้กับชิคาโกซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ ขณะที่แบทแมน อัศวินรัตติกาลแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมของชิคาโกโดยตรงเช่น ท่าน้ำเนวี อย่างไรก็ตามในแบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด ได้เปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำจากชิคาโกไปเป็นพิตต์สเบิร์ก, ลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก, นวร์ก, นิวเจอร์ซีย์, ลอนดอนและกลาสโกว์[10][11][12][13][14][15]
บุคคลสำคัญ
ช่วงตลอดหลายปีในการดำเนินเรื่องของดีซีคอมิกส์ แบทแมนขอความช่วยเหลือจากหลายตัวละคร โดยแบทแมนมีคู่หูคือโรบินซึ่งมีตัวละครที่ใช้ฉายานี้หลายคนได้แก่ ดิ๊ก เกรย์สัน, เจสัน ทอดด์, ทิม เดรก และเดเมียน เวย์น นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นเช่น แคตวูแมน, แบทเกิร์ล, ฮันเทรส
ตัวละครอื่นของดีซีที่ถูกเล่าว่าอาศัยอยู่ในกอแทมเช่น ทหารรับจ้างอย่างทอมมี โมนาแฮน[46] หรือเจสัน บลัดนักมารวิทยาผู้มีชื่อเสียง และในการดำเนินเรื่องในยุคสมัยใหม่ของจักรวาลดีซี แบทแมนไม่ใช่ฮีโรคนแรกในกอแทม โดยแอลัน สก็อตต์ซึ่งเป็นกรีนแลนเทิร์นในยุคทองได้อาศัยอยู่ที่กอแทมในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากนั้นมีการเล่าว่าเขาได้ดำเนินกิจการกอแทมบรอดแคสติงคอร์ปอเรชัน[47] นอกจากนี้สเปกเตอร์คนดั้งเดิมจากยุคทองและเพอร์ซิวัล พ็อปป์ คู่หูของเขาก็อาศัยอยู่ในกอแทมซิตี[48] เช่นเดียวกับแบล็กคะแนรี,[49] สตาร์แมน,[50] และเกรย์โกสต์[51]
ในออลสตาร์เวสเทิร์น ฉบับรีบูท ปี 2011 ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นในกอแทมสไตล์ตะวันตกยุคเก่า โจนาห์ เฮกซ์และอมาเดอุส อาร์แคมเป็นหนึ่งในชาวเมืองกอแทมในฉบับนี้[52]
นอกจากประชากรที่เป็นซูเปอร์ฮีโรแล้ว ชาวเมืองคนอื่นยังมีบทเด่นในเนื้อเรื่องรองของดีเทกทีฟคอมิกส์ ซึ่งมีชื่อว่าเทลส์ออฟกอแทมซิตี[53] และในลิมิเต็ดซีรีส์จำนวนสองเล่มที่ชื่อว่ากอแทมไนตส์ นอกจากนี้กรมตำรวจกอแทมซิตีนั้นมีบทบาทสำคัญในกอแทมเซ็นทรัล ในมินิซีรีส์อย่างกอร์ดอนส์ลอว์,บูลล็อกส์ลอว์ และแบทแมน: จีซีพีดี
ในสื่ออื่น
สื่อโทรทัศน์
จากละครชุดแบทแมน ฉบับคนแสดงในปี 1960 นั้นไม่ได้ระบุถึงตำแหน่งที่ชัดเจนของกอแทม ถึงแม้จะมีหลายอย่างที่สือถึงนครนิวยอร์กก็ตาม เช่น แผนที่เมืองและตำแหน่งของเมืองซึ่งอยู่ข้ามฝั่งแม่น้ำเวสต์จากเมืองเกิร์นซีย์ในนิวเกิร์นซีย์ โดยตัวละครในเรื่องอย่างนายกเทศมนตรีลินซีดและผู้ว่าการสโตนเฟลโลว์นั้นสื่อถึงนายกเทศมนตรีจอห์น ลินด์เซย์และผู้ว่าการเนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ในชีวิตจริงโดยตรง นอกจากนี้ในภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างแบทแมน แสดงให้เห็นว่าแบทแมนบินผ่านชานเมืองลอสแอนเจลิส, ฮอลลีวูดฮิลส์ และศาลาว่าการเมืองลอสแอนเจลิส
ในละครชุดคนแสดงเรื่องกอแทม ทีมสร้างสรรค์มีข้อกำหนดที่สำคัญคือต้องถ่ายทำที่นิวยอร์ก[54] ตามข้อมูลจากแดนนี แคนนอนซึ่งเป็นผู้อำนวยการผลิตนั้นบรรยากาศในเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากรูปลักษณ์ของนิวยอร์กจากภาพยนตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ของซิดนีย์ ลูเมตและวิลเลียม ฟรีดกิน นอกจากนี้ในเรื่องยังแสดงให้เห็นถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่มีรหัสพื้นที่ 212[55]
ในแบทวูแมน ละครชุดในปี 2019 ซึ่งเนื้อเรื่องเกิดขึ้นในกอแทมนั้นได้ถ่ายทำที่ชิคาโก[56]
จักรวาลดีซีแอะนิเมเต็ด
ในแบทแมน: ดิแอะนิเมเต็ดซีรีส์ , เดอะนิวแบทแมนแอดเวนเจอร์ส และแบทแมนบียอนด์ มีการปรากฏอยู่ของกอแทมซิตีอย่างเด่นชัด และมีการปรากฏของกอแทมอีกเล็กน้อยในซูเปอร์แมน: ดิแอะนิเมเต็ดซีรีส์ , จัสติสลีก , จัสติสลีกอันลิมิเต็ด และสแตติกช็อก ขณะที่พอล ดีนีซึ่งเป็นผู้เขียนบทและผู้กำกับเปรียบลักษณะกอแทมซิตีไว้ว่าเหมือนงานนิทรรศการโลกปี 1939 ที่ผ่านไป 60 ปี[54] จากแบทแมน: ดิแอะนิเมเต็ดซีรีส์ ในตอน "โจ๊กเกอร์สเฟเวอร์" ปรากฏใบขับขี่ที่ระบุที่อยู่ว่า "กอแทม เอสเตตส์, นิวยอร์ก" และในตอน "อวาตาร์" เมื่อบรูซ เวย์นออกจากอังกฤษมีแผนที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากอแทมอยู่ติดกับเกาะลองและแม่น้ำฮัดสัน ในตอน "ฮาร์ลีควินเนด" กล่าวว่ากอแทมซิตีมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน
แอร์โรว์เวิร์ส
กอแทมซิตีปรากฏครั้งแรกในแอร์โรว์เวิร์สในช่วงเนื้อเรื่อง "เอลส์เวิลด์" ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องครอสโอเวอร์ และเป็นการแนะนำตัวละครแบทวูแมนอีกด้วย แม้จะมีการกล่าวถึงมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ก็ตาม[57]
ในเดอะแฟลช วีรบุรุษเหนือแสง ตอน "มาราทอน" แผนที่แสดงให้เห็นว่ากอแทมซิตีตั้งอยู่ในชิคาโก รัฐอิลลินอย
ภาพยนตร์
แบทแมนปี 1989
ทิม เบอร์ตันซึ่งเป็นผู้กำกับแบทแมน (1989) ต้องการสร้างกอแทมให้เป็นอีกรูปแบบอันเหนือกาลเวลาของนิวยอร์กและเปรียบเทียบกับขุมนรกที่แผ่ขยายไปตามทางเท้าและเติบโตขึ้น[54] รูปลักษณ์ของกอแทมถูกดูแลโดยผู้ออกแบบงานสร้างอย่างแอนทอน เฟิร์สซึ่งได้รางวัลออสการ์จากการดูแลงานศิลป์ในเรื่องนี้[58] เฟิร์สกล่าวว่าในเรื่องนี้มีพื้นฐานจากแง่ที่เลวร้ายในหลาย ๆ ด้านของนิวยอร์กและได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายในคริสต์ทศวรรษ 1940 ของช่างภาพอันเดรียส เฟนินเจอร์ นอกจากนี้ไนเจล เฟ็ลปส์ ช่างเขียนแบบของเฟิร์สได้เขียนภาพวาดถ่านเพื่อใช้ในการออกแบบอาคารทั้งภายนอกและภายในของเรื่องนี้[59] หลังจากการเสียชีวิตของเฟิร์ส เบอร์ตันได้เลือกให้โบ เวลช์มาดูแลการออกแบบงานสร้างให้กับแบทแมน รีเทิร์นส เบอร์ตันต้องการให้เวลช์เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ให้กับกอแทมโดยกล่าวว่าแบทแมนภาคแรกไม่รู้สึกยิ่งใหญ่สำหรับเขาและดูไม่มีพลังเหมือนกับเมืองเก่าของอเมริกา[60] เวลช์ต้องการขยายแนวคิดพื้นฐานมาใช้ในภาคต่อแต่จะเปลี่ยนจากแนวคิดทีเป็นอิทธิพลจากฝั่งยุโรปมาใช้องค์ประกอบของอลังการศิลป์/งานนิทรรศการโลกจากอเมริกามากขึ้น[58][61] เมื่อพูดถึงแรงบันดาลใจในการตีความเกี่ยวกับกอแทม เขากล่าวว่าสถาปัตยกรรมฟาสซิสต์ที่ใช้ในงานนิทรรศการโลกนั้นทำให้เขานึกถึงระบบราชการและเผด็จการที่กดขี่ เขาจึงได้ดูภาพและงานศิลปะเกี่ยวกับไรช์ที่สามจำนวนมากจากงานนั้น[60] เพื่อให้เมืองมืดยิ่งขึ้น เขาจึงออกแบบให้ตึกสูงถูกสร้างอย่างหนาแน่นอึดอัดจนบดบังแสงที่ส่องลงมา[60][62]
เมื่อโจเอล ชูมาเกอร์ ได้กำกับภาพยนตร์ชุดแบทแมนต่อจากทิม เบอร์ตัน เขาได้บาร์บารา ลิงมาทำงานในส่วนออกแบบการผลิตให้กับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องของเขาคือแบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์[63]และแบทแมน & โรบิน[64][65][66] กอแทมซิตีในมุมมองของบาร์บารานั้นคือการปลุกสถาปัตยกรรมเอกซเพรสชันนิซึมและสถาปัตยกรรมเค้าโครงขึ้นมา โดยดีไซน์แบบอนาคตนิยมนั้นนักวิจารณ์จากวอชิงตันโพสต์ได้กล่าวว่าทำให้ระลึกถึงภาพยนตร์เบลดรันเนอร์[67] และบาร์บาราได้บรรยายไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อบิกเกอร์, โบลเดอร์, ไบรเตอร์: เดอะโปรดักชันดีไซน์ออฟแบทแมน & โรบิน ว่าการออกแบบเมืองเป็นการผสมกันระหว่างแมนแฮตตันในคริสต์ทศวรรษ 1930 กับนีโอโตเกียวจากอากิระ บาร์บาราอ้างถึงโตเกียวที่เต็มไปด้วยแสงนีออนและยุคเครื่องจักรว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อเธอ[68] ในแบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ แบทแมนได้ไล่ล่าทูเฟซจนไปหยุดที่เลดีกอแทมซึ่งเป็นรูปปั้นที่อ้างอิงมาจากเทพีเสรีภาพ และในแบทแมน & โรบิน ขณะที่มิสเตอร์ฟรีซพยายามจะแช่แข็งเมืองกอแทม หน้าจอบนเลเซอร์ยักษ์ของเขาแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งบริเวณชายฝั่งนิวอิงแลนด์ โดยอาจอยู่ทางเหนือไปถึงรัฐเมน
ไตรภาคอัศวินรัตติกาล
คริสโตเฟอร์ โนแลนซึ่งเป็นผู้กำกับระบุว่าชิคาโกเป็นแรงบันดาลใจให้กับรูปลักษณ์ของกอแทม โดยทั้งแบทแมน บีกินส์และแบทแมน อัศวินรัตติกาลได้ถ่ายทำที่นั่นเป็นหลัก[38] อย่างไรก็ตามกอแทมของโนแลนถูกกำหนดให้อยู่ในนิวเจอร์ซีย์เพื่อให้เกียรติตามตำแหน่งที่ตั้งในคอมิกส์[69]
ในแบทแมน บีกินส์โนแลนต้องการให้กอแทมเป็นเมืองใหญ่ที่ทันสมัยและสะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมและยุคสมัยที่หลากหลาย รวมทั้งชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การสร้างเมืองกอแทมขึ้นมานั้นจะใช้ภาพลักษณ์ของนครนิวยอร์กมารวมกับองค์ประกอบจากชิคาโก, ทางด่วนยกระดับและโมโนเรลของโตเกียว[9] และเมืองกำแพงเกาลูนในฮ่องกง ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบสลัมในภาพยนตร์ที่ชื่อว่าเดอะแนร์โรว์ส[8][9]
ในแบทแมน อัศวินรัตติกาลอิทธิพลจากชิคาโกและนิวยอร์กปรากฏให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ขณะถ่ายทำที่ชิคาโกผู้จัดการสถานที่อย่างเจมส์ แม็กอัลลิสเตอร์ระบุว่า "มันจะดูเหมือนกับที่คุณเคยเห็นในคอมิกส์" "จะมีหลายโบโรที่แตกต่างกันและมีแม่น้ำเชื่อมถึงกัน ผมคิดว่ามันยากที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นเพราะกอแทมมีพื้นฐานมาจากนิวยอร์ก"[38]
จักรวาลขยายดีซี
ในจักรวาลขยายดีซี กอแทมซิตีตั้งอยู่ในกอแทมเคาน์ตี, นิวเจอร์ซีย์ โดยเอกสารในเรื่องแบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรมกล่าวว่าเมืองตั้งอยู่ในกอแทมเคาน์ตีและแฟ้มข้อมูลของอะแมนดา วอลเลอร์เกี่ยวกับเดดช็อตและฮาร์ลีย์ ควินน์จากทีมพลีชีพ มหาวายร้ายได้เปิดเผยว่ากอแทมซิตีอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์[24][25] แซ็ก สไนเดอร์ยืนยันว่าเมโทรโพลิสและกอแทมซิตีมีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์[70] โดยสำนักข่าวเดอะบอสตันโกลบได้เปรียบเทียบความใกล้ชิดกันของสองเมืองนี้ว่าเหมือนกับเจอร์ซีซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์และแมนแฮตตัน รัฐนิวยอร์ก[71]
เพื่อที่จะสร้างกอแทมในแบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม ทีมสร้างสรรค์ได้ตัดสินใจเลือกองค์ประกอบจากเมืองต่าง ๆ มารวบรวมและสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อประยุกต์สถาปัตยกรรมและโครงสร้างให้เข้ากับกอแทม โดยทีมงานได้นำภาพหลายพันภาพมาประมวลผลเพื่อสร้างส่วนต่าง ๆ ของเมือง[72]
ในทีมนกผู้ล่าซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในกอแทม การถ่ายทำทั้งหมดเกิดขึ้นที่ลอสแอนเจลิส โดยเดิมทีนั้นจะถ่ายทำกันที่แอตแลนตาและซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย แต่เนื่องจากพวกเขาได้รับการลดหย่อนภาษีในแคลิฟอร์เนียจึงได้เปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำ[73]
โจ๊กเกอร์ (2562)
ท็อดด์ ฟิลลิปส์ซึ่งเป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของเรื่องได้นึกภาพกอแทมว่าเป็นแบบยุคเฟื่องฟูก่อนคริสต์ทศวรรษ 1980 ของนิวยอร์กหรือเปรียบกับเมืองศูนย์กลางทางตะวันออกเฉียงเหนือ และเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของเมืองกับมาร์ก ฟรายด์เบิร์กซึ่งเป็นผู้ออกแบบงานสร้าง เขาได้กล่าวว่ากอแทมในฉบับนี้ได้หล่อหลอมตัวละครอาร์เธอร์ เฟล็ก ทำให้รับรู้ถึงความรุนแรงในเมืองแต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้[74]
เดอะ แบทแมน
ภาพยนตร์เดอะ แบทแมนของแมตต์ รีฟส์ได้เล่าเจาะลึกถึงมุมที่ไม่เคยเห็นของอาชญากรในกอแทมซืตีผ่านการเล่าเรื่องแบบฟิล์มนัวร์และเน้นที่ประเด็นการทุจริตที่ลุกลามในหน่วยงานและกรมตำรวจของเมือง[75] โดยเรื่องนี้ใช้ลอนดอน, กลาสโกว์,[76] ลิเวอร์พูล[77]และชิคาโกเป็นสถานที่ถ่ายทำสำหรับฉากกอแทมซิตี[78][79] ถึงแม้จะถ่ายทำในหลายสถานที่แต่แมตต์ รีฟส์นั้นได้จำลองแบบกอแทมมาจากนครนิวยอร์ก[80] และในภาพยนตร์ยังปรากฏตึกสูงที่คล้ายกับตึกเอ็มไพร์สเตตอยู่ในกอแทมซิตีโดยมีป้ายที่เขียนว่า "กอแทมเอ็มไพร์" นอกจากนี้ยังมีสี่แยกการค้าที่พลุกพล่านซึ่งเรียกว่า "กอแทมสแควร์" ปรากฏในหลายฉากซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไทม์สแควร์
วิดีโอเกม
กอแทมซิตีปรากฏอยู่ในหลายวิดีโอเกมรวมไปถึง แบทแมน บีกินส์, ดีซียูนิเวิร์สออนไลน์และมอร์ทัลคอมแบตเวอร์ซัสดีซียูนิเวิร์ส และยังปรากฏในอินจัสติส: ก็อดส์อมองอัส ซึ่งผู้เล่นสามารถต่อสู้ทั้งข้างนอกและข้างในคฤหาสน์เวย์น, ชั้นบนของตึกและข้างในตรอกได้ นอกจากนี้เกมอื่น ๆ ที่มีเมืองอยู่คือ เลโก้ไดเมนชัน และแฟรนไชส์เกมชุดอาร์แคมของร็อกสเตดี
แบทแมน: อาร์แคม
ในแบทแมน: อาร์แคมอะไซลัม เริ่มเกมในฉากที่แบทแมนขับรถนำตัวโจ๊กเกอร์ไปยังอาร์แคมอะไซลัม โดยโจ๊กเกอร์ได้ขู่ว่าจะวางระเบิดทั่วกอแทม และในแบทแมน: อาร์แคมซิตี สลัมในกอแทมซิตีเก่าได้ถูกแปลงเป็นเมืองอาร์แคมโดยมีกำแพงคุกล้อมรอบซึ่งในส่วนนี้จะมีสถานที่สำคัญที่ถูกเล่าตลอดทั้งเรื่องได้แก่ ไอซ์เบิร์กเลานจ์ของเพนกวิน, โรงงานเอซเคมิคัลส์, โรงงานถลุงเหล็กไซโอนิส, อาคารเก่าของกรมตำรวจกอแทมซิตีและโรงภาพยนตร์โมนาร์ชซึ่งเป็นสถานที่ที่ครอบครัวเวย์นถูกฆาตกรรม ในแบทแมน: อาร์แคมออริจินส์จะเป็นเมืองที่อยู่ในยุคก่อนหน้ากว่าเกมอื่น ๆ ในชุดอาร์แคม นอกจากเกาะทางเหนือแล้ว ภาคนี้ยังให้ผู้เล่นได้สำรวจเกาะใหม่ทางใต้ที่เชื่อมกับเกาะเดิมด้วยสะพานไพโอเนียร์ส ขณะที่ในแบทแมน: อาร์แคมไนท์ เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เซ็นทรัลกอแทมซิตีซึ่งใหญ่กว่ากอแทมเก่าห้าเท่า โดยในฉบับนวนิยายของแบทแมน: อาร์แคมไนท์ ได้เปิดเผยว่าตรอกไครม์ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเวย์นเวย์
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 Amazing World of DC Comics #14, March 1977. DC Comics.
- ↑ 2.0 2.1 World's Finest Comics #259, October–November 1979. DC Comics.
- ↑ Detective Comics #503 June 1983. DC Comics.
- ↑ 4.0 4.1 Atlas of the DC Universe, 1990. DC Comics.
- ↑ 5.0 5.1 Batman: Shadow of the Bat Annual #1, June 1993. DC Comics.
- ↑ 6.0 6.1 Montgomery, Paul (May 18, 2011). "The Secret Geography of the DC Universe: A Really Big Map"
- ↑ 7.0 7.1 Bopik, Barry (March 29, 2008). "Metropolis is New York by day; Gotham City is New York by night". สืบค้นเมื่อ March 28, 2013.
- ↑ 8.0 8.1 "Film locations for Batman Begins". Movie-locations.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 23, 2019. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Otto, Jeff (June 5, 2006). "Interview: Christopher Nolan". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 31, 2012. สืบค้นเมื่อ November 6, 2006.
- ↑ 10.0 10.1 J.S., Brent (June 12, 2011). "Juicy Plot Details Revealed as The Dark Knight Rises Moves to Pittsburgh". Reelz Channel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 11, 2011. สืบค้นเมื่อ June 15, 2011.
- ↑ 11.0 11.1 Vancheri, Barbara (August 21, 2011). "Fans glimpse final round of 'Dark Knight' filming". Pittsburgh Post-Gazette. สืบค้นเมื่อ August 23, 2011.
- ↑ 12.0 12.1 Wigler, Josh (February 15, 2012). "'Dark Knight Rises' Meets... Donald Trump?". MTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 30, 2011. สืบค้นเมื่อ February 15, 2012.
- ↑ 13.0 13.1 "Gridlock in Gotham: 'Dark Knight' filming in Newark likely to cause massive traffic delays this week", The Star-Ledger, November 2, 2011, สืบค้นเมื่อ November 5, 2011
- ↑ 14.0 14.1 "'The Dark Knight Rises' to film in Newark", New York Post, November 3, 2011, สืบค้นเมื่อ November 5, 2011
- ↑ 15.0 15.1 Di Ionno, Mark (November 5, 2011). "Di Ionno: Trying to unmask Newark's secret identity as a Batman film location". The Star-Ledger.
- ↑ Safire, William (July 30, 1995). "ON LANGUAGE; Jersey's Vanishing 'New'". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 7, 2008.
- ↑ Steranko, Jim (1970). The Steranko History of Comics. Reading, PA: Supergraphics. p. 44. ISBN 978-0-517-50188-7.
- ↑ Burrows, Edwin G. and Mike Wallace. Gotham: A History of New York City to 1898. (Oxford University Press, 1999), 417.
- ↑ "Gotham". World Wide Words. February 6, 1999. สืบค้นเมื่อ July 13, 2011.
- ↑ Lowbridge, Caroline (January 1, 2014). "The real Gotham: The village behind the Batman stories". BBC News. สืบค้นเมื่อ June 20, 2015.
- ↑ The World's Greatest Super Heroes, August 13, 1978. DC Comics.
- ↑ World's Finest Comics #259, October–November 1979
- ↑ The New Adventures of Superboy #14, October 1981. DC Comics.
- ↑ 24.0 24.1 "Review: 'Suicide Squad'". Asbury Park Press. August 5, 2016.
- ↑ 25.0 25.1 ""Suicide Squad": The Biggest Revelations From The Latest DC Film". CBR.com. August 7, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-05.
- ↑ Blakinger, Keri (March 8, 2016). "From Gotham to Metropolis: A look at NYC's best nicknames". Daily News. New York. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 9, 2016. สืบค้นเมื่อ March 1, 2021.
- ↑ DC Comics Presents #18, February 1980
- ↑ The New Adventures of Superboy #22, October 1981
- ↑ Action Comics #451, September 1975. DC Comics.
- ↑ Superman: The Man of Steel #1, October 1986. DC Comics.
- ↑ Secret Files & Origins Guide to the DC Universe 2000 #1 (March 2000)
- ↑ "'Batman v Superman': Are Metropolis and Gotham City that close?". Screenertv.com. March 25, 2016.
- ↑ Atlas of the DC Universe. Mayfair Games.
- ↑ 'Batman: Gates to Gotham, May 2011. DC Comics.
- ↑ Burgas, Greg (April 13, 2010). "Dark Knight, Dark City". Comic Book Resources. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2022-11-05.
- ↑ Detective Comics #740, January 2000. DC Comics.
- ↑ O'Neil, Dennis. Afterword. Batman: Knightfall, A Novel. New York: Bantam Books. 1994. 344.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 "Dark Knight's kind of town: Gotham City". Today. Associated Press. July 20, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-11-05.
- ↑ Bruce Timm and Eric Radomski, audio commentary for "On Leather Wings", Batman: The Animated Series, Warner Bros, Volume One box set DVD.
- ↑ Batman (vol. 2) #2, December 2011. DC Comics.
- ↑ Bros, Warner (2008-07-20). "Dark Knight's kind of town: Gotham City". TODAY.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-18. สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
- ↑ Travel (February 27, 2008). "Helsinki: a cruiser's guide". Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 11, 2022. สืบค้นเมื่อ May 14, 2013.
- ↑ Grant, Alan (w), Breyfogle, Norm (a). "The Destroyer Part One: A Tale of Two Cities" Batman 474 (February 1992), DC Comics
- ↑ Grant, Alan (w), Sprouse, Chris, Anton Furst (p), Patterson, Bruce (i). "The Destroyer Part Two: Solomon" Legends of the Dark Knight 27 (February 1992), DC Comics
- ↑ Grant, Alan (w), Aparo, Jim (p), DeCarlo, Mike (i). "The Destroyer Part Three" Detective Comics #641 (February 1992), DC Comics
- ↑ Ennis, Garth (w). John McCrea (a). "A Rage in Arkham". Hitman. April 1996. DC Comics.
- ↑ Detective Comics #784–786. DC Comics.
- ↑ More Fun Comics #94. DC Comics.
- ↑ Secret Origins #50. DC Comics.
- ↑ Adventure Comics #89. DC Comics.
- ↑ Sensation Comics #25. DC Comics.
- ↑ Palmiotti, Jimmy; Gray, Justin (w); Moritat (a). All Star Western Vol. 1: Guns and Gotham (November 6, 2012). DC Comics. (Reprints issues 1–6).
- ↑ Detective Comics #488–490, 492, 494, 495, 504, 507. DC Comics.
- ↑ 54.0 54.1 54.2 "Gotham: The Evolution of Batman's Hometown". Den of Geek (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-05-04. สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
- ↑ "Gotham: The Legend Reborn Preview Special: Behind The Shadows (Part 3)" เก็บถาวร กันยายน 3, 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Fox Broadcasting Company. Retrieved August 30, 2014.
- ↑ Swartz, Tracy (March 25, 2019). "'Batwoman' TV pilot filming scenes in Chicago this week". Chicago Tribune. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2019. สืบค้นเมื่อ April 7, 2019.
- ↑ Goldberg, Lesley (May 17, 2018). "Batwoman to Make in 'Arrow'-verse Debut in Next Crossover". Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ May 17, 2018.
- ↑ 58.0 58.1 Daly, Steve (June 19, 1992). "Sets Appeal: Designing 'Batman Returns'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2008. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
- ↑ Hanson, Matt (2005). Building Sci-fi Moviescapes: The Science Behind the Fiction (ภาษาอังกฤษ). Gulf Professional Publishing. ISBN 978-0-240-80772-0.
- ↑ 60.0 60.1 60.2 Luis, Eric (2019-10-30). "The Many Inspirations For Every Onscreen Portrayal Of Gotham City". Ranker (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
- ↑ McCarthy, Todd (June 14, 1992). "Review: "Batman Returns"". Variety. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
Lensed seemingly entirely indoors or on covered sets, pic is a magnificently atmospheric elaboration on German expressionism. Its look has been freshly imagined by production designer Bo Welch, based on the Oscar-winning concepts of the late Anton Furst in the first installment. Welch's Gotham City looms ominously over all individuals, and every set-from Penguin's aquarium-like lair and Shreck's lavish offices to Bruce Wayne's vaguely "Citizen Kane"-like mansion and simple back alleys-is brilliantly executed to maximum evocative effect
- ↑ Daly, Steve (June 19, 1992). "Sets Appeal: Designing 'Batman Returns'". Ew.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2008. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
- ↑ Grobar, Matt (November 7, 2019). "How 'Once Upon A Time In Hollywood' Production Designer Barbara Ling Brought Quentin Tarantino's Favorite Restaurants Back Into The '60s — Production Value Video Series". Deadline Hollywood (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 10, 2021. สืบค้นเมื่อ February 10, 2020.
- ↑ "Film locations for Batman & Robin". Movie-locations.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2010. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
- ↑ "Batman & Robin – Gotham City". Angelfire.com. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
- ↑ "Barbara Ling's no-holds-barred production design makes Gotham look more surreal than ever". Shoestring.org. สืบค้นเมื่อ December 25, 2010.
- ↑ Howe, Desson. "'Batman Forever': Robin Debuts". The Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 19, 2009. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
Departing from former "Batman" director Tim Burton's gothic approach to New York, Schumacher and production designer Barbara Ling compulsively layer the background with a] futuristic city design that seems to aim for "Blade Runner" by way of "Teenage Mutant Ninja Turtles
- ↑ Barbara Ling, Bigger, Bolder, Brighter: The Production Design of Batman & Robin. 2005. Warner Home Video
- ↑ "These Are the Cities Standing in for Gotham in 'The Batman'". Distractify. March 4, 2022. สืบค้นเมื่อ March 6, 2022.
- ↑ "Zack Snyder Turned Gotham City and Metropolis into the Bay Area". Wired. July 11, 2015.
- ↑ Burr, Ty (March 24, 2016). "'Batman v Superman' is dark and chaotic"". Boston Globe (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2016. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
- ↑ "Batman V Superman Concept Art: Early Doomsday & Gotham City Designs". ScreenRant (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-02-13. สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
- ↑ Kilday, Gregg (July 23, 2018). "Harley Quinn Spinoff Film 'Birds of Prey' Among Latest California Tax Credit Recipients". The Hollywood Reporter (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2022. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
- ↑ "The Design of 'Joker' Just Might Make You Sympathize With the Villain". www.backstage.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-09-25. สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
- ↑ "'The Batman' Director Matt Reeves Wants to Put You Off-Kilter". Cnet. March 6, 2022. สืบค้นเมื่อ March 6, 2022.
- ↑ Oller, Jacob (February 21, 2020). "'The Batman' Suits Up for the Graveyard Shift in Bat-Cycle Set Photos". Syfy Wire. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 21, 2020. สืบค้นเมื่อ February 21, 2020.
- ↑ Flaherty, Jess (March 11, 2020). "Liverpool turns into Gotham city as 'The Batman' filming preparation gets underway". Liverpool Echo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 13, 2020. สืบค้นเมื่อ March 13, 2020.
- ↑ Roche, Matthew (October 20, 2020). "Exclusive Photos – The Batman filming in Chicago Loop". Reel Chicago. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 18, 2022. สืบค้นเมื่อ January 24, 2022.
- ↑ Davis, Brandon (October 19, 2020). "The Batman Set Shows Dark, Gritty Gotham With Easter Eggs in Exclusive Set Video". ComicBook.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 25, 2020. สืบค้นเมื่อ January 24, 2022.
- ↑ "'The Batman' Review: A Tortured Robert Pattinson Goes Even Darker Than 'The Dark Knight'". Variety. February 28, 2022. สืบค้นเมื่อ March 6, 2022.