จังหวัดสงขลา
จังหวัดสงขลา | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Songkhla |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง: เขตเทศบาลนครหาดใหญ่, ทัศนียภาพเขตเทศบาลนครสงขลาจากเขาตังกวน, สนามกีฬาติณสูลานนท์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา, อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง, ศาลหลักเมืองสงขลา | |
คำขวัญ: | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดสงขลาเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | โชตินรินทร์ เกิดสม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 7,394 ตร.กม. (2,855 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 26 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 1,431,959 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 10 |
• ความหนาแน่น | 193.66 คน/ตร.กม. (501.6 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 15 |
รหัส ISO 3166 | TH-90 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | ซิงกอรา สิงขร บ่อยาง |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | สะเดาเทียม |
• ดอกไม้ | สะเดาเทียม[4] |
• สัตว์น้ำ | ปลาตะกรับ |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดสงขลา ถนนราชดำเนิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000 |
• โทรศัพท์ | 0 7431 2016, 0 7431 3206 |
เว็บไซต์ | http://www.songkhla.go.th |
สงขลา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ (รองจากนครศรีธรรมราช) และมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ (รองจากสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) มีจังหวัดที่อยู่ติดกันได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล และยังมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐไทรบุรีและรัฐปะลิสของประเทศมาเลเซีย
ที่มาของชื่อ
สงขลามีตำนานและเรื่องเล่าหลายเรื่องทั้งที่เป็นบันทึกและจากคำบอกเล่าถึงชื่อของเมืองสงขลาหลายประการด้วยกัน ซึ่งพอจะแจกแจงตามเอกสารที่มาได้ดังนี้
ชื่อเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง และในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่า มาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในนามของเมือง "ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา" แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" [5] โดยได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" หรือ "สิงขร" แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า "เมืองสิงหลา" ส่วนคนไทยเรียกว่า "เมืองสทิง" เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลา ก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซ็งคอรา" เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ "ซิงกอรา" (Singora) จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเองก็ได้เรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า "สงขลา" ดังปัจจุบัน
นอกเหนือจากนี้ เอกสารชิ้นนี้ยังอธิบายต่อถึงความเป็นไปได้อีกสาเหตุหนึ่งว่า คำว่าสงขลาน่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงขร" ที่แปลว่าภูเขา เนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขา และเจ้าเมืองคนแรกยังได้รับพระราชทานนามว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งสอดคล้องกับเมืองที่อยู่แถบภูเขา สอดคล้องกับสุภาวดี เชื้อพราหมณ์ ที่ได้บันทึกว่าสงขลาเพี้ยนมาจากภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลี เนื่องจากชาวอินเดียล่องเรืออ้อมแหลมมลายูมาสู่ฝั่งตะวันออก เมื่อมองจากทะเลเข้าสู่ฝั่งสงขลาแลเห็นภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ จึงเรียกว่า สิงขระ หรือ สิงขร ซึ่งคำไทยสิงขร หมายถึง ภูเขา ต่อมาชาวตะวันตกจึงเรียกตาม และเพี้ยนเป็นคำว่า ซิงโกรา หรือ ซิงกอรา เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
เหตุผลสุดท้ายที่เอกสารในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อสิงหนคร (สิง-หะ-นะ-คอน) แต่แขกชาวมลายูพูดเร็วและออกเสียงเพี้ยนกลายเป็น สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา[6] [7]
ในส่วนเอกสารของชาวตะวันตกที่กล่าวถึงสงขลาในช่วงเวลาต้น ๆ ซึ่งสามารถค้นย้อนหลังไปได้ถึงสามร้อยปีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยปรากฏชื่อเมืองสงขลาในแผนที่ของประเทศสยามที่ทำโดยนายเชอวาลีเย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2228 [8]
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5-6 การปรากฏตัวของเมืองท่า และแหล่งโบราณคดีที่แสดงว่า มีผู้คนจากต่างแดนเข้ามาปะทะสัมพันธ์ น่าจะมีเหตุผลจาก การแสวงหาโชคลาภและโภคทรัพย์ของผู้คนทางตะวันตกดั่งเช่น กรีซและโรมัน จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาของการค้นพบเส้นทางการค้าทางทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ คู่ขนานและเชื่อมโครงข่ายกับเส้นทางการค้าทางบก
ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 ได้เกิดอุปสรรคทางภูมิศาสตร์และความปลอดภัย ในการใช้เส้นทางบกระหว่างดินแดนทางตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะพวกโรมันและรัฐในกลุ่มเอเชียกลาง จึงหันมาใช้เส้นทางทะเลแทน เพื่อใช้ค้าขายติดต่อกับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน โดยการเดินทางเชื่อมระหว่างสองทวีปในระยะแรก ๆ นี้ ไม่ใช่เป็นการเดินทางแบบรวดเดียวถึงกันตลอด แต่ต้องมีจุดหยุดพักเป็นระยะ ๆ โดยอาศัยเมืองท่า และสถานีพักสินค้า เพื่อถ่ายสินค้า เพิ่มเติมน้ำจืดและอาหาร รวมไปถึงการซ่อมแซมเรือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง [9]
ทั้งนี้หากย้อนกลับมาพิจารณาจากทำเลที่ตั้งของภาคใต้ของประเทศไทย ที่เป็นคาบสมุทรตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยะธรรม คือ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบอาหรับเปอร์เซีย และประเทศแถบชวา-มลายู จะพบว่า ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเล รวมถึงเป็นดินแดนที่พ่อค้าชาวแขกมัวร์ ใช้เส้นทางนี้เดินทางค้าขายทางเรือ โดยอาศัยลมสินค้าในสมัยโบราณที่จำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีการต่อเรือ รวมถึงการเดินเรือซึ่งในสมัยนั้น ต้องอาศัยทิศทางและกำลังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางจากอินเดียไปยังจีน และอาศัยลมมรสุมจากตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินทางจากจีนไปยังอินเดีย และบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรไปถึงเส้นห้าองศาเหนือ เป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขตจุดเริ่มต้นของลมสินค้า ลมจะสงบนิ่ง (ไร้กระแสลม เรียกว่าโดลดรัม Doldrums) เมื่อลมเบาบางจนทำให้เรือสินค้าเคลื่อนที่ไม่ได้ ที่เรียกว่า "ตกโลก"[10] ก็เป็นการบังคับให้พ่อค้าต้องแวะตามเมืองท่าชายฝั่งภาคใต้ของไทย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรเพื่อจอดซ่อมแซมเรือ เติมน้ำจืดและอาหาร รวมถึงขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรกลางทางในรอบปี โดยการขนถ่าย แลกเปลี่ยนสินค้านี่เอง ทำให้เมืองท่าต่าง ๆ ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในสมัยที่มีการเดินเรือทะเล มีความเจริญรุดหน้า จากการค้าขายเป็นอันมาก นอกจากนั้น สินค้าที่สำคัญที่ผลักดันให้ชาวตะวันตกต้องแสวงหาและเดินทางมายังเมืองท่าในคาบสมุทรมลายูคือ เครื่องเทศ เช่น ว่าน กระวาน ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย พริกไทย กานพลู อบเชย ดีปลี จันทน์เทศ ทำให้เส้นทางการเดินเรือดังกล่าว ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางเครื่องเทศ [11]
ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-24 โดยมีศูนย์กลางการปกครอง หรือขยาย สถานที่ตั้งเมือง 3 แห่งโดยสามารถลำดับจากพัฒนาการ ได้แก่ ปกครองทันสมัย2569
- เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23)
- เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
- เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง
สมัยเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง
เป็นยุคที่น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 โดยพิจารณาจากเจดีย์บนยอดเขาน้อยที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า พุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยปรากฏชื่อในเอกสารต่าง ๆ ของพ่อค้าชาวตะวันตกว่า Singora บ้าง Singor บ้าง น่าจะมีชื่อเมือง สิงขร สิงคะ แปลว่าจอม ที่สูงสุดยอดเขา และภาษาไทยว่า "สิงขร" เป็นความหมายที่สอดคล้องกับที่ตั้งเมืองสงขลา โดยช่วงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงนี้อยู่ภายใต้การปกครองของ เจ้าเมืองและ ปฐมพลเมืองชาวมุสลิม ซึ่งได้อพยพและนำพลพรรคชาวแขกชวา หนีภัยจากโจรสลัดที่คุกคามอย่างหนัก ในแถบหมู่เกาะชวาล่องเรือมาขึ้นฝั่งบริเวณฝั่งหัวเขาแดง โดยปรากฏในเอกสารชาวต่างชาติที่มาค้าขาย เป็นต้นว่าในสำเนาจดหมายของนายแมร์ เทนเฮาท์แมน จากอยุธยา มีไปจนถึงนายเฮนดริก แจนเซน นายพานิชย์คนที่ 1 ชาวดัตช์ ที่ปัตตานีในปี พ.ศ. 2156 ออกชื่อเจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้นว่า "โมกุล" [12] แต่ในบันทึกบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2165 เรียกชื่อเจ้าเมืองว่า "ดาโต๊ะโกมอลล์" [13] จึงพอสรุปได้ว่า ผู้สร้างเมืองฝั่งหัวเขาแดงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นมุสลิมที่ชาวอังกฤษในสมัยอยุทธยาเรียกว่า "โมกุล" และ ชาวดัตช์ เรียกว่า "โมกอล" โดย ดาโต๊ะโมกุล ได้ตั้งเมืองสงขลาบริเวณหัวเขาแดง เขาค่ายม่วงและ เขาน้อย ซึ่งน่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2153 - 2154 [14] ซึ่งตรงกับสมัยพระเอกาทศรถ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรงของสุลต่านสุไลมาน ได้เล่าว่า ประมาณ พ.ศ. 2145 +2026ดาโต๊ะโมกอลซึ่งเคยปกครองเมืองสาเลย์ ที่เป็นเมืองลูก ของจาการ์ตา บนเกาะชวา (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) ได้อพยพครอบครัว และบริวารหนีภัย การล่าเมืองขึ้น (ซึ่งใช้ปืนใหญ่จากเรือปืนยิงขึ้นฝั่งที่เรียกว่า Gunship policy) ลงเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่บริเวณบ้านหัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา เข้าใจว่าตระกูลนี้คงเคยเป็นตระกูลปกครองบ้านเมืองมาก่อน เมื่อเจอทำเลเหมาะสมหัวเขาแดง ท่านดะโต๊ะ โมกอล ก็ได้นำบริวารขึ้นบก แล้วช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง และ ดัดแปลงบริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลาให้เป็นท่าจอดเรือขนาดใหญ่ ที่สามารถรับเรือสำเภา หรือ เรือกำปั่นที่ประกอบธุรกิจการค้าทางทะเล แวะเข้าจอดเทียบท่าได้ จนเมืองหัวเขาแดงในสมัยนั้น กลายเป็นเมืองท่าเรือระหว่างประเทศไป กิติศัพย์นี้โด่งดังไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148 - 2153)+2026) จึงได้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ดะโต๊ะ โมกอล เป็นข้าหลวงใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยาม ประจำเมืองพัทลุงอยู่ที่หัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา [15]2365
สุลต่านผู้ครองเมืองสงขลาได้ปกครองเมืองแบบรัฐสุลต่าน ของราชวงศ์ ออโตมาน ซึ่งการปกครองแบบนี้แพร่หลายเข้ามายังเกาะสุมาตรา เกาะชวา และรัฐสุลต่านต่าง ๆ ทางปลายแหลมมาลายู โดยสุลต่านผู้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงได้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนี่ จึงดำรงค์ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ส่วนบุตรชาย สามคนคือ มุสตาฟา ฮุสเซน และ ฮัสซัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงทาง กองทัพเรือ ผู้บัญชาการป้อม และ ตำแหน่งการปกครองอื่น ๆ ในระบอบการปกครองแบบสุลต่าน [16] ทายาทผู้สืบเชื้อสายสุลต่าลสุลัยมานมีอยู่ด้วยกันหลายสกุล โดยมี "ณ พัทลุง" เป็นมหาสาขาใหญ่
การค้าแรกเริ่มกับฮอลันดา
ในระยะแรกของการตั้งเมืองสงขลา เจ้าเมืองได้ยอมรับในการตกเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา โดยสุรต่านผู้ครองเมือง ได้จัดส่งเครื่องราชบรรณาการซึ่งประกอบด้วยดอกไม้เงิน และดอกไม้ทอง แก่กรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าเมืองสงขลาได้กำหนดทิศทางของการพัฒนาเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงเป็นลักษณะเมืองท่า ทำกิจการในแลกเปลี่ยนสินค้าในระดับนานาชาติ โดยเมืองท่านี้ได้ทำการค้าขายกับ ฮอลันดา โปรตุเกตุ อังกฤษ จีน อินเดีย และ ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศคู่ค้าประเทศแรก ๆ ที่สามารถมีสัมพันธภาพที่ดีต่อ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้า มายังสงขลาคือ ฮอลันดา โดยเฉพาะระหว่างปี พ.ศ. 2171 - 2201 เป็นสมัยที่ฮอลันดา มีความมั่งคั่งจาก การผูกขาดเครื่องเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยฮอลันดาสามารถกำจัดคู่แข่งทางการค้าอื่น ๆ เช่น โปรตุเกตุ อังกฤษ และ พ่อค้ามุสลิม ให้ห่างจากเส้นทางการค้า มีผลทำให้ให้ฮอลันดามีความมั่งคั่ง และ มีอำนาจขึ้นในยุโรป และ ตะวันออกไกล ครั้นถึงปี พ.ศ. 2184 ชาวดัตช์สามารถยึดเมืองมะละกาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญได้จากโปรตุเกส จึงใช้มะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับจีน และญี่ปุ่นโดยตรง [17] โดยมีบันทึกหลาย ๆ ฉบับ ได้กล่าวถึงการค้าขายบริเวณเมืองท่าสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ดังนี้
- จดหมายของนายคอร์เนลิส ฟอน นิวรุท จากห้างดัตช์ ที่กรุงศรีอยุทธยา ไปถึงหอการค้าเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลันดา เมื่อ พ.ศ. 2160 กล่าวถึงเมืองสงขลาไว้ว่า "ขณะนี้พ่อค้าสำคัญ ๆ ได้สัญญาว่าจะแวะเมืองสิงขระ (สงขลาฝั่งหัวเขาแดง)"[18]
- จดหมายของ จูร์แคง ชาวอังกฤษได้รายงานไปที่ห้างอังกฤษ บนเกาะชวาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2164 ได้กล่าวถึงการค้าขายที่เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงไว้ว่า "พวกดัชใช้เรือขนาดเล็กที่เรียกว่า แวงเกอร์ โดยมีเรือขนาดเล็กนี้มีอยู่ประมาณ 4-5 ลำ ประจำที่สิงขระ เพื่อกว้านซื้อพริกไทยจากพ่อค้าชาวพื้นเมืองที่เข้ามาขายให้"[19]
- บันทึกของ โยเกสต์ สเกาเตน ผู้จัดการห้างฮอลันดา ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง หนังสือแต่งเมื่อ พ.ศ. 2179 ดังคำแปลในประชุมพงศาวดาร ภาค 76 กล่าวว่า "พวกเราชาวฮอลันดาได้เข้ามาอยู่ในอาณาจักรสยามได้ 30 ปีแล้ว และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระมหากัตริย์ตลอดมา การค้าขายของเราถึงจะไม่ได้รับกำไรมากมายจนเกินไป แต่กระนั้นพวกเรายังได้รับไมตรีจิต มิตรภาพจากพระมหากษัตริย์ มากกว่าชนชาติยุโรปอื่นได้รับ"[20] ซึ่งสอดคล้องกับการพบสุสานของชาวฮอลันดาอยู่ ณ บริเวณสุสานวิลันดา ในบริเวณพื้นที่เมืองเก่าสงขลาฝั่งหัวเขาแดง
เนื่องจากการที่เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงเป็นเมืองคู่ค้าที่สำคัญ กับฮอลันดา ทำให้เมืองสงขลาได้รับการคุ้มครอง และการสนับสุนด้านต่าง ๆ จากฮอลันดาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งทำให้เมืองสงขลา โดย สุลต่านสุไลมาน ฉวยโอกาส แข็งเมืองในช่วงกบฏกรุงศรีอยุธยาใน รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งผลจากการแข็งเมืองนี้เองทำให้ สุลต่านสุไลมานประกาศตัวเป็น พระเจ้าสงขลาที่ 1 และ ดำเนินการค้าโดยตรงกับนานาประเทศโดยเฉพาะ ประเทศฮอลันดา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า ฮอลันดาได้ทำการค้าเพื่อเอาใจ และสัมพันธ์ด้านประโยชน์ทางการค้า ทั้งกรุงศรีอยุธยาและสงขลา ไปในคราเดียวกัน ดั่งปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าปราสาททอง แห่งอยุธยาได้เคย ขอให้ฮอลันดาช่วยปราบกบฏเมืองสงขลา แต่ฮอลันดากลับไม่ได้ตั้งใจช่วยอย่างจริงจังตามที่ได้แสดงเจตนาไว้ ซ้ำยังให้ความช่วยเหลือเมืองสงขลาด้วยในคราเดียวกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง กับฮอลันดา ยิ่งทวีความแน่นแฟ้นขึ้นตามลำดับ โดยไม่มีบทบาทของกรุงศรีอยุธยามาแทรกแซง จนฮอลันดาสนใจจะเปิดสถานีการค้ากับเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง
ตามบันทึกของ ซามูเอล พอทท์ส ซึ่งไปสำรวจภาวะตลาดในเอเซียเมื่อปี พ.ศ. 2221 ได้บรรยายว่าเจ้าเมืองสงขลาต้อนรับเป็นอย่างดีที่วังของเมือง แสดงความเป็นกันเอง พร้อมทั้งตั้งข้อเสนอหลายอย่างที่เป็นการจูงใจให้เข้าไปค้าขาย เช่น จะไม่เก็บอากรบ้าน จะหาบ้านและที่อยู่ให้ [21] โดยปรากฏหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้จากจากแผนที่ซึ่งทำโดยชาวฝรั่งเศส ได้ระบุว่า มีหมู่บ้านของชาวฮอลันดาปรากฏอยู่ในแผนที่ นอกเหนือจากการปรากฏหลักฐานของสุสานชาวดัตช์ อยู่ใก้ลที่ฝังศพ สุลต่านสุไลมานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง โดยมีหลุมศพเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ประมาณ 22 หลุม [22] ซึ่งชาวบ้านได้เรียกที่ฝังศพนี้ว่า "วิลันดา" ซึ่ง หนึ่งในยี่สิบสอง หลุมนี้อาจเป็นตัว ซามูเอล พอทท์ส หรือ พรรคพวกเองก็เป็นได้ [23]
ความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษที่นำมาสู่เมืองแห่ง 20 ป้อมปืน
ความเป็นคู่แข่งทางการค้าระหว่างฮอลันดา กับอังกฤษได้นำมาสู่การคานอำนาจของหัวเมืองต่าง ๆ ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา เช่น ขณะที่สงขลามีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองที่ดีต่อฮอลันดา นั้นอังกฤษก็ได้เริ่มมุ่งความสนใจทางการค้ากับเมืองปัตตานีที่เป็นเมืองท่าอยู่ทางตอนใต้ของสงขลา และพยายามที่จะขยับขยายการค้ามาสู่สงขลา ดังบันทึกฉบับหนึ่งที่เขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษ กล่าวถึงการค้าที่เมืองสิงขระว่า "จะไม่เป็นการผิดหวัง หากคิดจะสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นที่ สิงขระ (Singora) ข้าพเจ้าคิดว่าเรา อาจจะใช้สิงขระ เป็นที่สำหรับตระเวณหาสินค้าจากบริเวณใกล้เคียง เพื่อจัดส่งให้แก่ห้างของเราที่กรุงสยาม โคชินไชน่า (พื้นที่ทางตอนใต้ของเวียดนาม) บอเนียว และญี่ปุ่นได้อย่างดี"[24] โดยจากการค้าขายกับต่างชาตินี่เองทำให้เมืองสิงขระที่นำโดย "ดาโต๊ะโมกอล" ได้พัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการค้าขายระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความปลอดภัย และรักษาเมืองจากการปล้นสะดมจากโจรสลัดซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากในขณะนั้น การพัฒนาเมืองจึงได้รวมไปถึงการสร้างป้อมปืนใหญ่บริเวณบนเขา และที่ราบในชัยภูมิต่าง ๆ ถึง 20 ป้อมปืน รวมไปถึงการสร้างประตูเมืองและคูดินรอบเมือง โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและอาวุธจากพ่อค้าชาวอังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษมาตั้งห้างที่สงขลา ทั้งนี้ตรงกับหลักฐานตามที่นาย ลามาร์ ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกแผนผังเมืองไว้เมื่อ พ.ศ. 2230 ประกอบด้วยประตูเมืองและป้อมปืน 17 ป้อม [25]
จากการที่สงขลาแข็งเมือง ทำให้พ่อค้าชาวอังกฤษเห็นช่องทางในการลดค่าภาษีที่จะต้องส่งให้แก่กรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ให้ของกำนัล แก่เจ้าเมือง สิงขระ เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำการค้าขายในแถบนี้ได้แล้วดังบันทึกอันหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษว่า "การตั้งคลังสินค้าขึ้นที่นี่ยังจะช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับห้างอีกด้วย เพราะที่นี่ไม่เก็บอากรขนอนเลย เพียงแต่เสียของกำนัลให้แก่ดาโต๊ะโมกอลล์ (เจ้าเมืองสงขลา) ก็อาจนำเงินสินค้าผ่านไปได้"[26] โดยผลจากการประกาศแข็งเมือง และ ตั้งตนเป็นพระเจ้าสงขลาที่ 1 ของสุลต่านสุไลมัน (บุตรของดาโต๊ะโมกอล) จึงเสมือนการเปิดโอกาสให้เมืองสงขลาในระยะนี้เจริญถึงจุดสูงสุด ถึงขั้นมีการผลิตเงินตราขึ้นใช้เอง โดยมี คำว่า "สงขลา" เป็นภาษาไทยบนเหรียญ ภาษายาวีสองคำ อ่านว่า นะครี-ซิงเกอร์ แปลว่านครสงขลา และมีภาษาจีนอีก ห้าคำ [27] เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานในช่วงเวลาการผลิตเหรียญแต่สันนิษฐานจากภาษา แขก ที่ปรากฏบนเหรียญ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เจ้าเมืองแขกปกครองสงขลาอยู่เกือบ 40 ปี ทำให้สามารถคาดการณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของเมืองสงขลาในขณะนั้นได้
ดังนั้นหลังจากปี พ.ศ. 2185 สุลต่านสุไลมานก็ตั้งตนเป็นเอกราช สถาปนาตนเองเป็นเจ้าเมืองสงขลา ดำเนินการค้ากับ ฮอลันดา อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ โดยตรงไม่ผ่านการส่งอากรสู่อยุธยาทำให้ พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์ของอยุธยาในขณะนั้น ต้องส่งกองทหารมาปราบหลายครั้งตลอดรัชการของพระองค์ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากสงขลาแห่งนี้ ได้ตั้งเมืองอยู่ในชัยภูมิที่ดี และมีการก่อสร้างกำแพงเมือง คันคู ตลอดจนป้อมปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันเมืองทั้งทางน้ำและทางบกมากกว่ายี่สิบป้อม (บางเล่มก็ระบุว่า 17 ป้อม) ดังหลักฐานจากข้อเขียนของ วัน วลิต (Van Vliet) ผู้แทนบริษัท Dutch East India CO, Ltd. ประจำกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยเดินทางมาเยือนเมืองสุลต่านที่หัวเขาแดง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2185 ได้เขียนรายงานไว้ว่า พระเจ้าปราสาททอง ได้เคยส่งกองเรือจากกรุงศรีอยุธยามาร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสงขลา) ทำการโจมตีเมืองสงขลาถึงสองครั้งในช่วงเวลาเพียงสองปี แต่ต้องประสพความพ่ายแพ้ไปทั้งสองครั้ง [28]
ต่อมา เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงได้ถูกกองทัพ ทั้งทางบก และ ทางทะเล ตีแตกในปี พ.ศ. 2223 ถัดมาในรัชการสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายเหตุของมองซิเออ เวเรต์ ชาวฝรั่งเศสที่มาค้าขายในอยุธยาใน พ.ศ. 2230 ว่า "พระเจ้ากรุงสยามได้ส่งกองทัพเรือซึ่งมีเรือรบมาเป็นอันมาก ให้มาตีเมืองสงขลาเป็นอย่างมาก และ ได้ใช้แผนล่อลวงผู้รักษาป้อมแห่งหนึ่งให้มีใจออกห่างจากนายตน จากนั้นทหารกรุงศรีอยุธยาจึงได้ลอบเข้าไปทางประตูดังกล่าวเปิดประตูให้ทหารเข้ามาทำลาย และ เผาเมือง โดยเพลิงได้ลุกลามจนไหม้ เมืองตลอดจนวังของเจ้าพระยาสงขลาหมดสิ้นอีกทั้ง ทหารกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพเข้าไปในเมืองทำลาย ป้อม ประตู หอรบ และบ้านเมืองจนเหลือแต่แผ่นดิน เพราะเกรงว่าจะมีคนคิดกบฏขึ้นมาอีก" [29]
ส่วนอีกบันทึกหนึ่งได้เล่าไว้ว่า กองเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ร่วมกับกองทัพจากนครศรีธรรมราช ได้ยกทัพเรือมาดอบล้อมเมืองสุลต่านที่หัวเขาแดง โดยมีพระยารามเดโช เป็นแม่ทัพใหญ่ ครั้นแล้วกองทัพทั้งสอง ฝ่ายก็ได้เริ่มทำยุธนาการกันทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีลูกเรือชาวดัตช์ที่มารักษาการณ์ อยู่ที่สถานีการค้าของบริษัท Dutch East India Co.Ltd. ที่หัวเขาแดง เข้าช่วยฝ่ายสุลต่านเมืองเขาแดง เข้ารบกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏที่ฝังศพของทหารอาสาชาวดัตช์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของกุโบร์ที่ฝังศพของสุลต่านสุลัยมาน โดยในบันทึกได้บรรยายรายละเอียดว่าในคืนวันหนึ่งขณะที่ปืนใหญ่จากเรือรบของนครศรีธรรมราช กำลังกระหน่ำยิงเมืองหัวเขาแดงทหารซึ่งอยู่ที่ป้อมเมืองสงขลาของสุลต่านมุสตาฟา (บุตร สุลต่านสุไลมาน) จำนวนสองคนได้ทรยศจุดคบไฟโยนลงจากบนภูเขาใส่บ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ซึ่งส่วนมากจะมุงด้วยหลังคาใบจาก จึงเกิดไฟไหม้ขึ้น ทำให้เกิดโกลาหลอลม่านกันขึ้น จนกระทั่งกองทัพกรุงศรีอยุธยา และ เมืองนครศรีธรรมราชสามารถยกพลขึ้นบกได้หลายจุด เช้าวันรุ่งขึ้น มุสตาฟา ฮุสเซน และฮัสซัน น้องชาย เข้าพบและยอมจำนนแก่แม่ทัพใหญ่ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ผลที่สุดจึงปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระบรมราชโองการ ให้ยุบเลิกเมือง สุลต่าน ที่หัวเขาแดง ล้วกวาดต้อนกองกำลัง และ บริวารทั้งหมดออกจากพื้นที่ แล้วลงเรืออพยพแบ่งเป็นสองพวกคือ คนที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไป ให้อพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่หมู่บ้านสงขลา เมืองไชยา (ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากสงขลาห้าร้อยกิโลเมตรทางตอนเหนือ) ส่วนคนหนุ่มคนสาว รวมทั้งลูกเจ้าเมืองทั้งสาม ของสุรต่านสุไลมาน ให้อพยพเข้าไปอยู่ในกรุงศรีอยุธยา [30] หลังจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงถูกทำลายแล้วทางกรุงศรีอยุธยามีนโยบายจะยกเมืองสงขลาให้ฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับ ดังหลักฐานจากหนังสือสัญญาที่ฟอนคอนทำไว้ที่เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ระบุไว้ว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยกเมืองสงขลา และ เมืองขึ้นของสงขลา พระราชทานให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และ พระราชทานพระราชานุญาตให้พระจ้ากรุงฝรั่งเศสสร้างป้อม หรือจัดทำอะไรในเมืองสงขลาได้แล้วแต่พระทัย" [31] แต่ข้อนี้ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิเศษข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเมืองสงขลาในขณะนั้นอยู่ในสภาพเสียหายอย่างหนักเพราะถูกทำลายจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงก็ยังมีการสร้างกำแพงหรือขอบเขตของเมืองด้วยไม้ [32] แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก้ได้โยกย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งแหลมสนซึ่งอยู่ทางฟากเขาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งชุมชนนี้ต่อมาได้พัฒนาเป็นเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน [33])
สมัยเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
ภายหลัง เมื่อเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาทำลายจนหมดสิ้น เมื่อ พ.ศ. 2223 ประชาชนชาวสงขลาฝั่งหัวเขาแดงที่เหลืออยู่ ได้ย้ายชุมชนไปสร้างเมืองใหม่ ณ เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ ที่รู้จักกันในชื่อว่าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน โดยเมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ได้รับการวางแผนในการสร้างเมืองตั้งแต่ต้น ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกสร้างเนื่องจากการย้ายเมืองภายหลังจากสงคราม ดังนั้นลักษณะของเมืองจึงเป็นเมืองที่ถูกสร้างกันอย่างง่าย ๆ บนพื้นที่เชิงเขาติดทะเล ถัดจากตำแหน่งเมืองสงขลาเดิมที่ถูกทำลายลงไปอีกด้านหนึ่งของฝากเขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ทำให้เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ในภายหลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอุปโภค และปัญหาการมีพื้นที่ในทางราบไม่เพียงพอกับการขยายและเติบโตของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อมา ลักษณะการสร้างบ้านเรือนของสงขลาฝั่งแหลมสน ส่วนใหญ่บ้านเรือนจะทำด้วยวัสดุไม่ถาวร เช่น ไม้ และใบจาก ในลักษณะเรือนเครื่องสับ จึงทำให้หลงเหลือร่องรอย และหลักฐานไม่มากนัก เนื่องจากประชากรในการสร้างเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญชน ประกอบกับขนาด และอาณาเขต รวมไปถึงอำนาจการปกครองของเมืองสงขลาได้ลดฐานะเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ ของเมืองบริวาร ของเมืองพัทลุง [34] ดังนั้นเจ้าเมืองสงขลาคนแรกจึงถูกแต่งตั้งโดยพระยาจักรี และพระยาพิชัยราชา เป็นเพียงแค่การคัดเลือกชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ "โยม" มาดำรงตำแหน่งเป็นพระสงขลา เจ้าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และ ในคราวเดียวกันนั่นเอง ยังมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ "นายเหยี่ยง แซ่เฮา" ซึ่งอพยพ มาจาก เมือง เจียงจิ้งหู มลฑลฟูเจี้ยน ได้เสนอบัญชีทรัพย์สินและบริวารของตน เพื่อแลกกับสัมปทานผูกขาดธุรกิจรังนกบนเกาะสี่เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา เจ้าพระยาทั้งสองจึงพิจารณาแต่งตั้งให้ นายเหยี่ยง แซ่เฮา เป็นหลวงอินทคีรีสมบัติ นายอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า [35]
พระสงขลาได้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน อยู่จนถึงปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ดำริว่า พระสงขลา (โยม) หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติราชการ จึงให้หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยียง แซ่เฮา) ซึ่งเป็นนายอากรรังนก เกาะสี่เกาะห้า เลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลา คนถัดมาซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองสงขลา มาถึง 8 รุ่น ในการปกครองสงขลาในช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาของการทำหน้าที่ปกป้องอาณาเขต และรับใช้ราชการปกครองแทนเมืองหลวง ซึ่งตรงกับกรุงรัตนโกสินทร์ ปกครองโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 ปัญหาหลักของการปกครองสงขลาคือการส่งกำลังไปร่วมกำกับและควบคุมหัวเมืองแขกต่าง ๆ ให้อยู่ในความสงบ โดยมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรบหลายครั้ง ทำให้เจ้าเมืองสงขลาในรุ่นต่าง ๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ และ ความภัคดีทางการรบ โดยในสมัยสงขลา ครั้งนี้มีเมือง แขก ปัตตานี ได้ถูกแยกออกเป็น เจ็ดหัวเมืองย่อย ได้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสงขลา ซึ่งต่อมาชื่อเมืองต่าง ๆ ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนน ในครั้งตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งบ่อยาง เมืองทั้งเจ็ดมีรายชื่อดังนี้ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ และ เมืองสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ใต้การกำกับดูแลของสงขลา ในช่วงปี พ.ศ. 2379 คือเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 และตรงกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เนื่องจากเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนเป็นเมืองที่ถูกสร้างอย่างง่าย ๆ เพื่อรองรับการหนีภัยในช่วงเมืองแตก ทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดข้องในการพัฒนาเมืองหลายประการตามมา ส่งผลต่อการพิจารณาย้ายเมืองในเวลาต่อมาไม่นานนัก
เจ้าเมืองสายสกุล ณ สงขลาที่ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ดังนี้
- ลำดับที่ 1. พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. 2318 - 2327
- ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ (บุญหุ้ย) พ.ศ. 2327 - 2355
- ลำดับที่ 3. พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. 2355 - 2360
สมัยเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง
จากการขยายตัวของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภค ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่บริเวณสงขลาฝั่งแหลมสน เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเมืองรวมถึง อาจเป็นอุปสรรคของการขยายตัวเป็นเมืองท่าในอนาคต ซึ่งจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ น่าจะเป็นข้อได้เปรียบ แต่เนื่องจากมีพื้นที่ในแนวราบไม่เพียงพอ จึงทำให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง (สถานที่ปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ได้เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมืองยาว 1200 เมตร และ ประตูเมือง สิบประตู ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ชัยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. 2385 และเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง" ก่อนที่พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง) จะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2408
ถัดจากนั้น พระยาคีรี ลำดับต่อมา ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาต่อ และ ได้ดำเนินการพัฒนาสงขลาในลักษณะเมืองกันชนระหว่างเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองมุสลิมที่อยู่ทางตอนใต้ของสงขลา และ เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนิกชน โดยเมืองสงขลาได้อยู่ภายใต้การปกครองของสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งมี นายเหยียง แซ่เฮา เป็นต้นสกุล รวมเจ้าเมืองสายสกุล ณ สงขลาที่ปกครองเมืองสงขลา บ่อยาง ดังนี้
- ลำดับที่ 1. พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. 2360 – 2390 ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลา บ่อยาง
- ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. 2390 – 2408
- ลำดับที่ 3. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. 2408 – 2427
- ลำดับที่ 4. พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. 2427 – 2431
- ลำดับที่ 5. พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) พ.ศ. 2431 – 2439
ในสมัยที่เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นเจ้าเมืองสงขลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จราชดำเนินมายังเมืองสงขลา และได้พระราชทานเงินบางส่วนเพื่อสร้างเจดีย์ บนยอดเขาตังกวน [36] ระหว่างปี พ.ศ. 2437-2439 เมืองสงขลาได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยตั้งมลฑลนครศีธรรมราช ประกอบด้วยนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองแขกอีกเจ็ดเมือง โดยมี พระวิจิตร (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่ว่าการอยู่ที่เมืองสงขลาบ่อยาง และลดบทบาทเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคการปกครองแบบเจ้าเมืองไปด้วย ทั้งนี้เจ้าเมืองคนสุดท้ายในสายสกุล ณ สงขลา ที่ปกครองเมืองสงขลามามากกว่าแปดรุ่น ต่อมาประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนการปกครองอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยกเลิกระบบเดิมทั้งหมด และยกระดับสงขลาขึ้นเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย[37]
รายชื่อเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
ลำดับ | ภาพ | รายชื่อ | เริ่มต้น | สิ้นสุด |
---|---|---|---|---|
อาณาจักรศรีวิชัย>>อาณาจักรสทิงปุระ | ||||
1 | ||||
อาณาจักรซิงกอร่า - รัฐสุลตานสงขลา (เมืองสงขลา-หัวเขาแดง) | ||||
2 | พระเจ้าสงขลา ที่ 1 (ดาโต๊ะ โมกอล) | |||
3 | พระเจ้าสงขลา ที่ 2 (สุลต่านสุลัยมาน ชาห์) (ขึ้นต่ออยุธยา) | |||
4 | สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสงขลา ที่ 1 (สุลต่านสุลัยมาน ชาห์) (ตั้งตนเป็นอิสระ) | พ.ศ. 2173 | พ.ศ. 2211 | |
5 | สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสงขลา ที่ 2 (สุลต่านมุสตอฟา) | |||
เมืองสงขลา - แหลมสน | ||||
6 | พระสงขลา (วิเถียน) | |||
7 | พระสงขลา (โยม) | |||
8 | พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา 吳讓) หรือ อู๋หยาง (吳陽) | พ.ศ. 2318 | พ.ศ. 2327 | |
9 | เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย 吳文輝) | พ.ศ. 2327 | พ.ศ. 2355 | |
10 | พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง 吳志從) | พ.ศ. 2355 | พ.ศ. 2360 | |
เมืองสงขลา - บ่อยาง | ||||
11 | พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง 吳志生) | พ.ศ. 2360 | พ.ศ. 2390 | |
12 | เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง 吳志仁) | พ.ศ. 2390 | พ.ศ. 2408 | |
13 | เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น 吳錦) | พ.ศ. 2408 | พ.ศ. 2427 | |
14 | พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม 吳寵) | พ.ศ. 2427 | พ.ศ. 2431 | |
15 | พระยาวิเชียรคีรี (ชม 吳登箴) | พ.ศ. 2431 | พ.ศ. 2439 | |
เมืองสงขลา - จังหวัดสงขลา (ผู้ว่าราชการจังหวัด) | ||||
1 | พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) | พ.ศ. 2439 | พ.ศ. 2444 | |
2 | พระยาศรีธรรมศุภราช (เจริญ จารุจินดา) | พ.ศ. 2445 | พ.ศ. 2446 | |
3 | พระยาศรีธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ) | พ.ศ. 2446 | พ.ศ. 2448 | |
4 | พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (ชม โชติกะพุกกณะ) | พ.ศ. 2448 | พ.ศ. 2458 | |
5 | พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต๋า บุนนาค) | พ.ศ. 2458 | พ.ศ. 2469 | |
6 | พระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) | พ.ศ. 2469 | พ.ศ. 2470 | |
7 | พระเพชรคีรี (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) | พ.ศ. 2470 | พ.ศ. 2476 | |
8 | พระสาครบุรานุรักษ์ (ปริก สุวรรณานท์) | พ.ศ. 2477 | พ.ศ. 2479 | |
9 | พันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) | พ.ศ. 2479 | พ.ศ. 2480 | |
10 | พระยาอุดรธานี (จิตร จิตตะยโศธร) | พ.ศ. 2480 | พ.ศ. 2481 | |
11 | พระยารามราชภักดี (หม่อมหลวงสวัสดิ์ อิศรางกูร) | พ.ศ. 2481 | พ.ศ. 2482 | |
12 | หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) | 1 มีนาคม 2482 | 28 กันยายน 2484 | |
13 | หลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) | 1 ตุลาคม 2484 | 5 มกราคม 2485 | |
14 | พันเอก พูล สวัสดิพิศาล | 6 มกราคม 2485 | 22 มิถุนายน 2485 | |
15 | เรือเอก ขุนชาญใช้จักร (ชาญ ชาญใช้จักร) | 25 มิถุนายน 2485 | 7 กันยายน 2486 | |
16 | พันตำรวจเอก ขุนนครรัฐเขตต์ (สุนทร ตามไท) | 15 ตุลาคม 2486 | 31 พฤษภาคม 2489 | |
17 | หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร์ เจริญไชย) | 1 มิถุนายน 2489 | 6 ตุลาคม 2489 | |
18 | หลวงอรรถวิภาคไพศาลย์ (กระจ่าง อรรถวิภาคไพศาลย์) | 7 ตุลาคม 2489 | 26 เมษายน 2494 | |
19 | นายประเสริฐ กาญจนดุล | 30 พฤศจิกายน 2494 | 30 มิถุนายน 2495 | |
20 | นายพ่วง สุวรรณรัฐ | 1 กรกฎาคม 2495 | 21 มกราคม 2501 | |
21 | นายผาด นาคพิน | 26 กุมภาพันธ์ 2501 | 16 พฤษภาคม 2501 | |
22 | นายประพันธ์ ณ พัทลุง | 20 พฤษภาคม 2501 | 16 พฤษภาคม 2503 | |
23 | นายแสวง รุจิรัต | 14 กรกฎาคม 2503 | 30 กันยายน 2507 | |
24 | หม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ | 1 ตุลาคม 2507 | 30 กันยายน 2515 | |
25 | นายจรัส สิทธิพงศ์ | 1 ตุลาคม 2515 | 30 กันยายน 2519 | |
26 | นายฉลอง วัชรากร | 1 ตุลาคม 2519 | 30 กันยายน 2520 | |
27 | นายคล้าย จิตพิทักษ์ | 1 ตุลาคม 2520 | 30 กันยายน 2521 | |
28 | นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา | 1 ตุลาคม 2521 | 19 เมษายน 2524 | |
29 | นายเอนก โรจนไพบูลย์ | 1 เมษายน 2524 | 31 มีนาคม 2530 | |
30 | นายชิต นิลพานิช | 1 เมษายน 2530 | 30 กันยายน 2532 | |
31 | นายนิพนธ์ บุญญภัทโร | 1 ตุลาคม 2532 | 30 กันยายน 2534 | |
32 | ร้อยตรี ปกครอง จินดาพล | 1 ตุลาคม 2534 | 30 กันยายน 2535 | |
33 | นายวีระชัย แนวบุญเนียร | 1 ตุลาคม 2535 | 30 กันยายน 2536 | |
34 | นายยุวัฒน์ วุฒิเมธี | 1 ตุลาคม 2536 | 30 กันยายน 2538 | |
35 | นายบัญญัติ จันทน์เสนะ | 1 ตุลาคม 2538 | 30 กันยายน 2543 | |
36 | นายสวัสดิ์ แกล้วทนงค์ | 1 ตุลาคม 2543 | 30 กันยายน 2544 | |
37 | นายอำนวย รองเงิน | 1 ตุลาคม 2544 | 30 กันยายน 2546 | |
38 | นายสมพร ใช้บางยาง | 1 ตุลาคม 2546 | 29 ตุลาคม 2549 | |
39 | นายสนธิ เตชานันท์ | 13 พฤศจิกายน 2549 | 30 กันยายน 2552 | |
40 | นายวิญญู ทองสกุล | 1 ตุลาคม 2552 | 27 พฤศจิกายน 2554 | |
41 | นายกฤษฎา บุญราช | 28 พฤศจิกายน 2554 | 6 กรกฎาคม 2557 | |
42 | นายธำรงค์ เจริญกุล | 7 กรกฎาคม 2557 | 30 กันยายน 2558 | |
43 | นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม | 1 ตุลาคม 2558 | 30 กันยายน 2560 | |
44 | นายดลเดช พัฒนรัฐ | 1 ตุลาคม 2560 | 30 กันยายน 2561 | |
45 | นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ | 1 ตุลาคม 2561 | 30 กันยายน 2562 | |
46 | นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา | 1 ตุลาคม 2562 | 30 กันยายน 2564 | |
47 | นายเจษฎา จิตรัตน์ | 1 ตุลาคม 2564 | 30 กันยายน 2566 | |
48 | นายสมนึก พรหมเขียว | 1 ตุลาคม 2566 | 30 กันยายน 2567 | |
49 | นายโชตินรินทร์ เกิดสม | 17 พฤศจิกายน 2567 | ปัจจุบัน |
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดสงขลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ โดยมีจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกัน ดังนี้
- ด้านเหนือ ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง
- ด้านใต้ ติดกับจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี รัฐเคดาห์ และรัฐปะลิสของประเทศมาเลเซีย
- ด้านตะวันออก ติดกับอ่าวไทย
- ด้านตะวันตก ติดกับจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล
ตราและสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: สะเดาเทียม (Azadirachta excelsa)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: สะเดาเทียม[4]
คำขวัญ
คำขวัญประจำจังหวัดของจังหวัดสงขลาในปัจจุบันคือ "นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้" ซึ่งเปลี่ยนมาจากคำขวัญเมื่อจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติ คือ "นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า เฟื่องฟ้าสุดสวย ร่ำรวยธุรกิจแดนใต้" และคำขวัญท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยออกแคมเปญ Visit Thailand คือ "นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานติณ ถิ่นธุรกิจแดนใต้"
การปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
แบ่งการปกครองแบ่งออกเป็น 16 อำเภอ 127 ตำบล 987 หมู่บ้าน ได้แก่
แผนที่ | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ที่ | ชื่ออำเภอ | อักษรโรมัน | จำนวนตำบล | จำนวนประชากร | |||||||
1. | เมืองสงขลา | Mueang Songkhla | 6 | 162,894 | |||||||
2. | สทิงพระ | Sathing Phra | 11 | 47,758 | |||||||
3. | จะนะ | Chana | 14 | 108,245 | |||||||
4. | นาทวี | Na Thawi | 10 | 69,546 | |||||||
5. | เทพา | Thepha | 7 | 78,782 | |||||||
6. | สะบ้าย้อย | Saba Yoi | 9 | 80,365 | |||||||
7. | ระโนด | Ranot | 12 | 63,961 | |||||||
8. | กระแสสินธุ์ | Krasae Sin | 4 | 14,934 | |||||||
9. | รัตภูมิ | Rattaphum | 5 | 75,709 | |||||||
10. | สะเดา | Sadao | 9 | 124,115 | |||||||
11. | หาดใหญ่ | Hat Yai | 13 | 404,004 | |||||||
12. | นาหม่อม | Na Mom | 4 | 22,973 | |||||||
13. | ควนเนียง | Khuan Niang | 4 | 34,427 | |||||||
14. | บางกล่ำ | Bang Klam | 4 | 32,646 | |||||||
15. | สิงหนคร | Singhanakhon | 11 | 84,104 | |||||||
16. | คลองหอยโข่ง | Khlong Hoi Khong | 4 | 27,073 |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
จังหวัดสงขลา มีการแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
เทศบาลนคร
มีเทศบาลนคร 2 แห่ง คือ
เทศบาลเมือง
มีเทศบาลเมือง 11 แห่ง คือ
เทศบาลตำบล
- มีเทศบาลตำบล 32 แห่ง ได้แก่
รายชื่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ลำดับ | รายชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1 | พ.ศ. 2540 | พ.ศ. 2543 | ||
2 | นายวรวิทย์ ขาวทอง | พ.ศ. 2543 | พ.ศ. 2547 | |
3 | นายนวพล บุญญามณี | 14 มีนาคม พ.ศ. 2547 | 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 | นายก อบจ. จากการเลือกตั้งครั้งแรก |
27 เมษายน พ.ศ. 2551 | 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 | ได้รับใบเหลือง[39] | ||
4 | นายอุทิศ ชูช่วย | 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556 | ลาออกก่อนครบวาระ[40] |
5 | นายนิพนธ์ บุญญามณี | 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562 | ลาออก เพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย[41] |
6 | นายไพเจน มากสุวรรณ์ | 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 | ปัจจุบัน |
โครงสร้างพื้นฐาน
การขนส่ง
ระยะทางจากตัวจังหวัดไปอำเภอต่าง ๆ
- อำเภอสิงหนคร 21 กิโลเมตร
- อำเภอนาหม่อม 31 กิโลเมตร
- อำเภอหาดใหญ่ 32 กิโลเมตร
- อำเภอจะนะ 37 กิโลเมตร
- อำเภอบางกล่ำ 38 กิโลเมตร
- อำเภอคลองหอยโข่ง 48 กิโลเมตร
- อำเภอสทิงพระ 50 กิโลเมตร
- อำเภอควนเนียง 50 กิโลเมตร
- อำเภอนาทวี 57 กิโลเมตร
- อำเภอรัตภูมิ 60 กิโลเมตร
- อำเภอสะเดา 70 กิโลเมตร
- อำเภอเทพา 71 กิโลเมตร
- อำเภอกระแสสินธุ์ 76 กิโลเมตร
- อำเภอระโนด 90 กิโลเมตร
- อำเภอสะบ้าย้อย 95 กิโลเมตร
การศึกษา
โรงเรียน
- โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ จังหวัดสงขลา
- วิทยาลัยการอาชีพหลวงประธานราษฎร์นิกร จังหวัดสงขลา
- โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา (ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)
- โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา (ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี)
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ จังหวัดสงขลา (ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร) (เดิม: โรงเรียนมัธยม จักรีวัชร)
- โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกัลยา
- โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
- โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ๒
- โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์
- โรงเรียนแสงทองวิทยา
- โรงเรียนธิดานุเคราะห์
- โรงเรียนม. วิทยานุสรณ์
- โรงเรียนสะเดา "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์"
- โรงเรียนนาทวีวิทยาคม
- โรงเรียนอนุบาลสงขลา
- โรงเรียนวิเชียรชม
- โรงเรียนแสงทองวิทยา
- โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์
- โรงเรียนแจ้งวิทยา
- โรงเรียนมหาวชิราวุธ
สถาบันอุดมศึกษา
- อำเภอเมืองสงขลา
- มหาวิทยาลัยทักษิณ
- สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
- วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ
- วิทยาลัยการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
- วิทยาลัยดนตรีวิทยาชีพ มหาวิทยาลัยทักษิณ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาสงขลา
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา
- มหาวิทยาลัยทักษิณ
- อำเภอหาดใหญ่
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดสงขลา
- มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
- วิทยาลัยเทคโนโลยีหาดใหญ่อำนวยวิทย์
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสงขลา
- วิทยาลัยเทคโนโลยีอุดมศึกษาพณิชยการ
- อำเภอรัตภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สงขลา
- อำเภอเทพา
- อำเภอสะเดา
สาธารณสุข
- โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลนครินทร์
- โรงพยาบาลสงขลา (โรงพยาบาลศูนย์) (ความร่วมมือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์)
- โรงพยาบาลหาดใหญ่ (โรงพยาบาลศูนย์)
- โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์
- โรงพยาบาลเมืองสงขลา
- โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่
- โรงพยาบาลศิครินทร์[ลิงก์เสีย] หาดใหญ่
- โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี
- โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี
- โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง)
สถานที่ท่องเที่ยว
แหลมสมิหลา
แหลมสมิหลาอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา ห่างจากตลาดสดเทศบาลประมาณ 3 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาดและทิวต้นสนที่ร่มรื่น มีร้านขายอาหารอยู่มาก การเดินทางจากหาดใหญ่ใช้รถประจำทางสายหาดใหญ่-สงขลา แต่หากอยู่ในตัวเมืองสงขลาก็มีรถสองแถว บริการจากตัวเมืองไปยังชายหาด
แหลมสนอ่อน
แหลมสนอ่อน ติดกับแหลมสมิหลาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ด้านทิศตะวันตกของแหลมสนอ่อนเป็นทะเลสาบสงขลา บริเวณรอบ ๆ แหลมสนอ่อนมีถนน สามารถชมทิวทัศน์ได้ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังมีสวนสนซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนและนั่งพักรับประทานอาหาร บริเวณพื้นที่แหลมสนอ่อน มีชุมชนตั้งอยู่ เรียกว่า ชุมชนแหลมสนอ่อน
เขาตังกวน
อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาน้อย มีบันไดทางขึ้นอยู่ใกล้วัดแหลมทราย (สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต) บนยอดเขามีเจดีย์และตำหนักซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาตังกวนแล้ว สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาได้
เก้าเส้ง
อยู่ทางทิศใต้ของหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร มีถนนแยกจากถนนไทรบุรี ตรงสามแยกสำโรง (โรงพยาบาลประสาท) เป็นหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งของสงขลา มีโขดหินเกะกะอยู่ริมทะเล และมีอยู่ก้อนหนึ่งตั้งเด่นอยู่เหนือโขดหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า "หัวนายแรง"
เมืองว่า "หัวนายแรง" ว่า "ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ
พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราช ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า "เขาเก้าแสน" เรียกเพี้ยนไปเป็น "เก้าเส้ง" ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า "หัวนายแรง" ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาน ของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้"
เกาะหนู-เกาะแมว
เกาะหนู-เกาะแมวเป็นเกาะใกล้ชายฝั่งขนาดเล็ก อยู่นอกแหลมสมิหลา มีหินเหมาะสำหรับตกปลา มีรูปปั้นหนูและแมวด้วย
ทะเลสาบสงขลา
ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแห่งเดียวในประเทศไทย มีความยาวจากปากน้ำไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนกว้างไม่แน่นอน บางตอนแคบ บางตอนกว้างมาก ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 20-25 กิโลเมตร ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบน้ำจืด แต่จะกร่อยในช่วงที่ติดกับทะเล ตรงปากอ่าวในทะเลสาบมีเกาะอยู่หลายเกาะ ที่สำคัญได้แก่ เกาะใหญ่ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะแก้ว เกาะหมาก เกาะราย และเกาะยอ นักท่องเที่ยวสามารถหาเรือท่องเที่ยวในทะเลสาบได้บริเวณท่าเรืออยู่หลังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข หรือบริเวณตลาดสด จะมีเรือหางยาวรับส่งตลอดวัน
สวนสัตว์สงขลา
เป็นสวนสัตว์เปิดริมถนนสงขลา-นาทวี ตำบลเขารูปช้าง มีเนื้อที่ 911 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าของไทยคืนสู่ธรรมชาติ พื้นที่เป็นภูเขาเล็ก ๆ หลายลูก มีถนนลาดยางโดยรอบและแยกชนิดสัตว์ไว้เป็นหมวดหมู่ มีสัตว์มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศและต่างประเทศ เช่น อูฐ นกชนิดต่าง ๆ วัวแดง เสือ จระเข้ ฯลฯ นอกเหนือจากสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ อันควรค่าแก่การศึกษา สวนสัตว์สงขลายังมีจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวไม่ต้องพลาดคือ จุดชมทิวทัศน์ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองสงขลาได้ และบริเวณนั้นมีร้านอาหารไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว
วัดมัชฌิมาวาส
วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลางหรือวัดยายศรีจันทร์) อยู่ที่ถนนไทรบุรี เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา มีอายุมากกว่า 400 ปี สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ กล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า "วัดกลาง" และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมัชฌิมาวาส" โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2431 ต่อวันที่ 17 สิงหาคม พุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีชื่อทางราชการว่า "วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร" ในวัดมีโบราณสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ "ภัทรศิลป" เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดจนถึงปี พ.ศ. 2496
ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง อาทิ บานประตูไม้เดิมของจวน เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 24 ทำด้วยไม้จำหลักเขียนสีและประดับมุกฝีมือช่างชาวจีนชั้นครู แสดงออกถึงคตินิยมในธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี ศาสนาตามแบบจีนที่วิจิตรงดงามยังความสมบูรณ์อยู่มาก โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียงและกาญจนบุรี
เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุวัดชัยมงคล
อยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟสงขลา มีเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งได้มาจากศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. 2435 ปัจจุบันเป็นวัดหลวง มีอุโบสถและศาลาการเปรียญที่สวยงาม
พิพิธภัณฑ์พะทำมะรง
ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะ ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา "พะทำมะรง" เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดีปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป
บ้านศรัทธา
เป็นบ้านที่ชาวสงขลาพร้อมใจกันสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญทางประวัติศาสตร์มอบให้กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ต่อมาท่านได้มอบบ้านศรัทธานี้คืนให้กับชาวสงขลาเมื่อปี พ.ศ. 2539 พร้อมกันนี้ชาวจังหวัดสงขลาได้จัดสร้างอาคารหอสมุดกาญจนาภิเษกขึ้น ตรงเชิงเขาใกล้กับบ้านศรัทธาและเปิดเป็นที่ศึกษาค้นคว้า บ้านศรัทธาตั้งอยู่บนเนินเขา ใกล้กับบ้านศรัทธา และเปิดเป็นที่ศึกษาค้นคว้าและท่องเที่ยว บ้านศรัทธานี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงศรัทธาที่ชาวสงขลามีต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา-สถาบันทักษิณคดีศึกษา
ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา บริเวณใกล้เชิงสะพานติณฯ ตอนเหนือ และอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4146 มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ 1 งาน 39.9 ตารางวา พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา และอีกส่วนหนึ่งอยู่บนยอดเขา และเมื่อขึ้นไปอยู่บนสุดของพื้นที่ จะสามารถมองเห็นทะเลสาบส่วนที่ล้อมเกาะทั้ง 3 ด้าน เป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก
สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ไว้เป็นที่น่าสนใจ เช่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจิตรกรรมฝาผนัง เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ตลอดจนผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่าง ๆ สถาบันทักษิณคดีศึกษาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วนคือ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา อุทยานวัฒนธรรม ศูนย์วิทยบริการด้านวัฒนธรรม งานส่งเสริมและเผยแพร่ และหมู่บ้านวัฒนธรรมสาธิต
เกาะยอ
เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบสงขลา เดินทางโดยข้ามสะพานติณสูลานนท์ไปตามเส้นทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ทางไปอำเภอสิงหนคร เกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม บนเกาะยอมีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยอคือ จำปาดะ ลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือจะรับประทานสดก็ได้ และผ้าทอเกาะยอ เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอม เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย นอกจากนั้นเกาะยอยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาอีกด้วย
สถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสงขลา ตั้งอยู่บริเวณ ปลายแหลมสนอ่อน เป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศทางน้ำและพันธุ์สัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีเนื้อที่รวม ประมาณ 7.5 ไร่ ตัวอาคารมีเนื้อที่ 2 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนน้ำจืด เป็นการจำลองน้ำตกที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ และการแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด ส่วนน้ำกร่อย เป็นการจำลองระบบนิเวศของน้ำ เช่น ป่าชายเลน พืช และสัตว์ที่อาศัยบริเวณป่าชายเลน ส่วนทะเล มีสัตว์ทะเลและพันธุ์ปลาหลากหลายชนิด
ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ
เป็นโครงการที่เทศบาลนครสงขลาสรรค์สร้างขึ้นเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณชายหาดสมิหลาให้เป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวและชาวสงขลา โดยนำเอาคติความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคที่เชื่อว่า พญานาค ป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ชาวใต้จึงนับถือพญานาคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นับเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นของชาวสงขลา
ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดสงขลา มีลักษณะแบบลอยตัว สามารถมองเห็นได้รอบด้าน เนื้อวัตถุเป็นโลหะทองเหลืองรมสนิมเขียว ออกแบบโดยอาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์ (รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณคนปัจจุบัน) มีการสร้างขึ้นเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง หัวพญานาค ตั้งอยู่บริเวณสวนสองทะเล ปลายแหลมสนอ่อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัว 1.20 เมตร ความสูงจากฐานลำตัวจนถึงปลายยอดสุดประมาณ 9 เมตร พ่นน้ำลงสู่ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ส่วนที่สอง สะดือพญานาค ตั้งอยู่บริเวณลานชมดาวสนามสระบัว แหลมสมิหลา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัว 1.20 เมตร ความยาว 5.00 เมตร ความสูง 2.50 เมตร ลักษณะลำตัวโค้งครึ่งวงกลม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลอดใต้สะดือพญานาคให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ส่วนที่สาม หางพญานาค ตั้งอยู่บริเวณชายหาดสมิหลา ริมถนนสะเดา (หลังสนามกอล์ฟ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร ความยาว 4.00 เมตร ความสูง 4.50 เมตร ปัจจุบันประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยือนจังหวัดสงขลา
สะพานติณสูลานนท์
สะพานติณสูลานนท์ (สะพานติณหรือสะพานป๋า) ตั้งชื่อเป็นเกียรติแด่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงที่เชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 สายสงขลา-ระโนด โดยสะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา แบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่งอำเภอเมืองสงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจายกับเกาะยอตอนใต้ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน 1,140 เมตร ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งทั้งสิ้น 1,800 เมตร สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2529 สะพานแห่งนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ที่จะต้องเดินทางแวะชมควบคู่ไปกับการมาท่องเที่ยวและรับประทานอาหารที่เกาะยอ
สถานที่สำคัญในจังหวัดสงขลา
- วัดพะโคะ
- วัดบ่อยาง ต.บ่อยาง เมืองสงขลา
- วัดมัชฌิมาวาส
- วัดเกาะถ้ำ
- วัดตีนเมรุศรีสุดาราม
- วัดชัยมงคล พระอารามหลวง
- วัดโคกสมานคุณ
- วัดมหัตตมังคลาราม (วัดหาดใหญ่ใน)
- วัดหงส์ประดิษฐาราม
- วัดถ้ำเขารูปช้าง
- ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา
- ศาลเจ้าส่ำเล่งเตียนกวนแตกุ้น (ศาลเจ้าพ่อกวนอู)
- วัดฉื่อฉาง
- แหลมสมิหลา
- หาดชลาทัศน์
- สวนสองทะเล
- เขาตังกวน
- อุทยานนกน้ำคูขุด
- ถ้ำคูหา ศานสถานที่เก่าแก่ที่สุดในสงขลา
- ตำหนักเขาน้อย
- เขาเก้าเส้ง (หัวนายแรง)
- สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
- สุสานสุลต่านสุไลมาน
- เจดีย์องค์ขาว-องค์ดำ บนยอดเขาแดง
- ป้อมปืนปากน้ำแหลมทราย
- กำแพง-คูเมือง เมืองเก่าสิงขระนคร
- ป้อมปืนเมืองสิงขระนคร
- น้ำตกโตนงาช้าง
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง
- ศาสเจ้าพ่อคอหงส์
- อนุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบธ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) มอ.
- อนุสาวรีย์ ร.5
- อนุสาวรีย์หลวงเสนาณรงค์
- ตัวเมืองหาดใหญ่
- สวนสาธารณะพรุค้างคาว
- สนามกีฬาหลักเมืองภาคใต้
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ มอ.หาดใหญ่
- สวนน้ำสงขลา
- ตลาดกิมหยง
- อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
- ถ้ำนางพญาเลือดขาว
- ด่านพรมแดนสะเดา (บ้านด่านนอก:สะเดา:ไทย-รัฐเคดาห์(ไทรบุรี))
- ด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ (ปาดังเบซาร์ (สะเดา:ไทย)-ปาดังเบซาร์(เปอร์ลิส(ปะลิศ))
- ย่านการค้าชายแดนสะเดา
- พุทธอุทยานเขาเล่
- ด่านพรมแดนบ้านประกอบ (นาทวี:ไทย-เคดาห์)
ชาวจังหวัดสงขลาที่มีชื่อเสียง
- สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระภิกษุสงฆ์/จุฬาราชมนตรี
- หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
- สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร รูปปัจจุบัน
- พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวทีเถร) หรือท่านเจ้าคุณภัทร อดีตเจ้าคณะจังหวัดสงขลา-สตูล อดีตเจ้าอาวาส วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (จังหวัดสงขลา)
- พระธรรมวิโรจนเถร (พลับ ฐิติโก) อดีตประธานคณะกรรมการจังหวัดสงขลา อดีตเจ้าอาวาส วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (จังหวัดสงขลา) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระราชาคณะ ชั้นสามัญยก วิปัสนาธุระ รูปแรกภาคใต้
- อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18
ข้าราชการ
- พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 และประธานสภาผู้แทนราษฎร
- เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) อดีตประธานศาลฎีกา ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานองคมนตรี ประธานคนแรกของบริษัทไทยประกันชีวิต และเป็นเจ้าพระยาคนสุดท้ายของประเทศไทย
- พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาองค์สุดท้าย
- หลวงสิทธิปราการ (ปลอด เกษตรสุนทร) นายอำเภอสทิงพระ กรมการเมืองสงขลา
- พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) นายอำเภอเหนือคนสุดท้าย และนายอำเภอหาดใหญ่คนแรก
- ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนคร คหบดีผู้ดึงทางรถไฟเข้ามาหาดใหญ่
- กิมหยง แซ่ชี คหบดีชาวจีนผู้บริจาคที่ดินสร้างโรงเรียนศรีนครมูลนิธิ โรงเรียนจีนที่มีชื่อเสียงในพื้นที่และบริจาคที่ดินตามสถานที่ต่าง ๆ ในหาดใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของ ตลาดซีกิมหยงและ ตลาดกิมหยง ตลาดสินค้าหาดใหญ่ ในปัจจุบัน
- ขุนคลองรีนรากร (หนู เกษตรสุนทร) คหบดีผู้ดูแลการค้าข้าวลุ่มน้ำสทิงพระ
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม นักการเมือง นักกฎหมาย รองนายกรัฐมนตรี อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน
- ขรรค์ชัย กัมพลานนท์ นายอำเภอ
- พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- เคียง บุญเพิ่ม อดีตรองประธานศาลฎีกา
- พลตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา ตำรวจ
- พล.ต.ต.ไพโรจน์ เกษตรสุนทร อดีตผู้บัญชาการตำรวจทางหลวง อนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ คู่สมรส ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร สมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม
นักการเมือง
- พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คนที่ 16 ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษคนแรกของประเทศไทยต่อจากรัฐบุรุษอาวุโส คือ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์
- นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- นิกร จำนง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- อำนวย สุวรรณคีรี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
- สุภาพ คลี่ขจาย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นักวิชาการ
- ศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต เครืองาม อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์
- ศาสตราจารย์ ดร.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการยกย่องผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของพืชในวงศ์ขิงข่าของโลก ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติสำหรับค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเปราะต้น วงศ์ขิงข่า "Caulokaempferia sirirugsae Ngamriab" ชื่อภาษาไทยว่า "เปราะต้นศิริรักษ์"
- ศาตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2558 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศิลปิน/นักแสดง/นักกีฬา
- มกุฏ อรฤดี นักเขียน กวีซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) ปี 2555 บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
- กั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
- ฉิ้น อรมุต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
- ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติและราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม
- ยก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง โนรา
- สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
- สุทธิชัย หยุ่น ผู้ประกาศข่าว
- วีระกานต์ มุสิกพงศ์ นักการเมือง
- เทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสคนแรก
- ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ประกาศข่าว
- จิรธิติกานต์ เหมสุวรรณ์ (ชิ) นักทรอมโบม (Trombone) ชื่อดังระดับเอเชีย แชมป์ทรอมโบทแจ็สระดับโลก และแชมป์ประเทศไทย 3 สมัย โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง
- สนธยา ชิตมณี เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปี 1
- มนตรี ศรียงค์ (กวีหมี่เป็ดแดง) นักประพันธ์รางวัลซีไรต์
- ธรรศภาคย์ ชี (บี้ เคพีเอ็น)นักร้อง นักแสดง นายแบบ
- บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกร
- จงกล มิสา ผู้ประกาศข่าว
- วรัทยา ว่องชยาภรณ์ นักแสดง
- เบญทราย หุ่นน้อย นักแสดง พิธีกร นักร้อง และนางแบบ
- เพชรดา เทียมเพ็ชร นักแสดง
- ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ นักแสดง
- โอสถี ซุ่นมงคล นักร้อง
- ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล นักแสดง
- ชนะพล สัตยา นักแสดง
- วิทิต แลต นักแสดง
- แสง ธรรมดา ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต
- วินทร์ เลียววาริณ นักเขียน
- คฑาวุธ ทองไทย นักร้อง
- วรนันท์ จันทรัศมี นักแสดง เจ้าของธุรกิจ
- สุธีวัน ทวีสิน (ใบเตย อาร์สยาม) นักร้อง นักแสดง
- กมลวรรณ ศตรัตพะยูน รองมิสทีนไทยแลนด์อันดับ 1 ปี 2011
- ธชย ประทุมวรรณ นักร้อง
- ภัทรวดี ปิ่นทอง นักแสดงตลก
- นุ้ย สุวีณา อาร์ สยาม นักร้องเพลงลูกทุ่ง
- วัชระ สุขชุม สมิหลา เจ (เจนนี่ ปาหนัน) ดารานักแสดงและหรือพิธีกร
- บรรณรักษ์ อินทศร (อู๋ พันทาง อาร์สยาม) นักร้อง นักแต่งเพลง
- วรพล จินตโกศล (บลิว) นักแสดง - ได้รับรางวัลชนะเลิศ Smart Boy 2015 ในการประกวด Thai Super Model Contest 2015
- ศศิ สินทวี (ศศิ) นางงาม - มิสเอิร์ธไทยแลนด์ 2014 และผู้ชนะมิสอินเตอร์เนชันแนลไทยแลนด์ 2015
- รติยาภรณ์ ชูแก้ว (ลูกปัด) นางงาม - มิสอินเตอร์เนชันแนลไทยแลนด์ 2017
- เฌอปราง อารีย์กุล - หัวหน้ากลุ่มไอดอลหญิง วง BNK48
- ปฏิภาณ ติระพันธ์อำไพ (เจมส์) นายแบบ - มิสเตอร์ทัวรึซึ่มเวิลด์ไทยแลนด์ 2017 และ Top8 Mister Tourism World 2017
- บุษยา รังสี นักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์
- ธนชัย อุชชิน นักร้องวงโมเดิร์นด็อก
- อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี นักร้องวงไททศมิตร และนักแสดง
- ปุญญาดา ผาณิตพจมาน (มี่) เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว 2022
นักกีฬา
- เด่นเก้าแสน เก้าวิชิต นักมวย
- นภาพล พยัคฆ์อนันต์ นักมวย
- สุริยา สิงห์มุ้ย นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- อดิศร จอมสุริยะ (เดล) นักกีฬายูโดประจำจังหวัดสงขลา นายแบบ
อ้างอิง
- ↑ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร. สำนักงานจังหวัดสงขลา. "ข้อมูลทั่วไป: สัญลักษณ์จังหวัด/คำขวัญจังหวัด." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.songkhla.go.th/songkhla52/data/logo.html เก็บถาวร 2009-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 21 เมษายน 2553.
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 19 มีนาคม 2565.
- ↑ 4.0 4.1 http://www.songkhla.go.th/files/com_news_operation/2017-09_a02ac8d01839c28.pdf
- ↑ คณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. โครงการจัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์และปรับสภาพแวดล้อมเมืองเก่าสงขลา. กรุงเทพฯ, 2536, บทที่ 2, หน้า 2-3.
- ↑ "การศึกษาความเป็นไปได้ โครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าจังหวัดสงขลา." บ. ซี เอ็ม ซี ยูนิเวอร์แซล จำกัด, 2548, บทที่ 2 หน้า 17.
- ↑ สุภาวดี เชื้อพรหามณ์. ตึกแถววิทยานิพนธ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546, หน้า 12.
- ↑ เอนก นาวิกมูล. สมุดภาพสงขลามหาวชิราวุธ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2536, หน้า 57.
- ↑ สุทธิวงศ์.โครงสร้างฯ 2544: 43
- ↑ ประเสริฐ, สภาพอากาศฯม2536, 14-15 .สุทธิวงศ์, สายใยฯ ใน Plural peninsular proceeding, 2004, 71
- ↑ สุทธิวงศ์.โครงสร้างฯ 2544:41-42
- ↑ นันทนา สุตตุล 2513:63,+ 2566ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545 : 55
- ↑ ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ. 2512:176, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545+2566 : 55
- ↑ สกรรจ์ จันทรัตน์ และ สงบส่งเมือง, 2532:29, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545+2566 : 136591255
- ↑ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง บทบาทของสุรต่านฯ, สงขลาศึกษา, 2535, 157+259
- ↑ อำพัน ณ พัทลุง 2531: 102 +236 103,+2369 ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, 2544: 65 - 66
- ↑ ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา, หจก. ภาพพิมพ์, 2544 : 1673
- ↑ นันทนา สุตกุล. 2513: 81, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545 :23656
- ↑ ไพโรจน์ เกษมแม่นกิจ. 2512: 38, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545 : 56
- ↑ สังข์ พัฒโนทัย, 2516: 197, ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, 2544: 73
- ↑ ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา, หจก. ภาพพิมพ์, 2 544: 73 - 74
- ↑ ยงยุทธ ชูแว่น, 2529: 38, ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, 2544 :74
- ↑ ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน, 2530: 58, ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา, หจก. ภาพพิมพ์, 2544: 74
- ↑ ไพโรจน์ เกษมแม่นกิจ. 2512: 176 - 177, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 56
- ↑ La marre 1687, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 56
- ↑ ไพโรจน์ เกษมแม่นกิจ. 2512: 176 - 177, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 56
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภานุพันธุวงค์วรเดช, 2504: 77, ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร, 2544: 64
- ↑ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง บทบาทของสุรต่านฯ, สงขลาศึกษา, 2535, 158
- ↑ ศึกษาภัณฑ์พานิช, ประชุมพงศวดาร เล่ม 25:308, รศ. ทวีสักดิ์ ล้อมลิ้ม, ความสัมพันธ์ฯ, สงขลาศึกษา, 2534: 109
- ↑ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง บทบาทของสุรต่านฯ, สงขลาศึกษา, 2535, 159 - 160
- ↑ หอสมุดแห่งชาติ, 2507: 141, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 59
- ↑ Lamare. 1682: 36, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 59
- ↑ ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 59
- ↑ หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ. 2481: 26, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 60
- ↑ วิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ. 2506 :36 - 37, ฝ่ายประมวลเอกสารและ จดหมายเหตุ. 2545: 60
- ↑ สงบ ส่งเมือง, พ.ศ. 2521: 67-70, ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2545: 64
- ↑ ฝ่ายประมวลเอกสาร และจดหมายเหตุ. 2545: 64 - 66
- ↑ "ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัด". www.songkhla.go.th.
- ↑ ""นวพล" โดนใบเหลืองมีสิทธิ์ตกเก้าอี้ "อุทิศ-วรวิทย์" จ่อลงชิงนายก อบจ.สงขลา แทน". mgronline.com. 2009-06-11.
- ↑ ""อุทิศ" จูงมือทีมบริหาร อบจ.สงขลา ชิงลาออกยกทีม พร้อมประกาศลงชิงตำแหน่งอีกสมัย". mgronline.com. 2013-06-07.
- ↑ ได้เป็นรัฐมนตรีแน่นอน! “นิพนธ์” ลาออก นายก อบจ. สงขลา
ดูเพิ่ม
- หาดใหญ่
- ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา
- สุลต่าน ตวนกู สุลัยมาน ชาห์
- พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม)
- สโมสรฟุตบอลสงขลา
- รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดสงขลา
- ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2007-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
7°13′N 100°34′E / 7.21°N 100.56°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดสงขลา
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย