ทฤษฎีจิต

ทฤษฎีจิต (อังกฤษ: Theory of mind, มักจะย่อว่า "ToM") เป็นความสามารถในการจัดเอาสภาพจิต เช่นความเชื่อ ความตั้งใจ ความต้องการ การเล่นบทบาท (role-playing) ความรู้ ว่าเป็นของตนหรือของผู้อื่น และในการเข้าใจว่า คนอื่น ๆ มีความเชื่อ ความต้องการ และความตั้งใจเป็นต้น ที่ต่างกับของตน[1] ความบกพร่องของสมรรถภาพนี้จะเกิดกับคนไข้โรคออทิซึม (autism spectrum disorder) โรคจิตเภท โรคสมาธิสั้น[2] และในบุคคลที่เกิดพิษต่อประสาท (neurotoxicity) จากการเสพสุรา[3] แม้จะมีแนวคิดทางปรัชญาที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ แต่ทฤษฎีจิตก็เป็นประเด็นการศึกษาต่างหากกับปรัชญาจิต (philosophy of mind)

นิยาม

ทฤษฎีจิตเรียกว่าเป็น "ทฤษฎี" เพราะว่า จิตไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง[1] การสมมุติว่าคนอื่นมีจิต เรียกว่า "ทฤษฎีจิต " ก็เพราะว่า แม้ว่าเราจะรู้โดยรู้เอง (intuition) ว่า ตัวเราเองมีจิต โดยผ่านกระบวนการพินิจภายใน (introspection) แต่ไม่มีใครที่สามารถเข้าถึงสภาพจิตใจของคนอื่นได้โดยตรง เราจึงต้องสมมุติว่าคนอื่นมีจิตเหมือนกับเรา โดยอาศัยเหตุต่าง ๆ คือ พฤติกรรมที่มีร่วมกันในสังคม[4] การใช้ภาษา[5] และความเข้าใจถึงอารมณ์และการกระทำของผู้อื่น[6] การมีทฤษฎีจิตทำให้เราสามารถยกความคิด ความต้องการ ความต้องใจ ว่าเป็นของผู้อื่น สามารถพยากรณ์และอธิบายการกระทำของผู้อื่น และสามารถเข้าใจถึงความตั้งใจของคนอื่นได้ นิยามดั้งเดิมก็คือ ทฤษฎีจิตทำให้เราสามารถเข้าใจว่า สภาพจิตอาจเป็นเหตุพฤติกรรมของผู้อื่น และดังนั้น จึงทำให้เราสามารถพยากรณ์และอธิบายพฤติกรรมของผู้อื่นได้[1] ความสามารถในการยกสภาพจิตว่าเป็นของผู้อื่น และในการเข้าใจว่าสภาพจิตนั้นเป็นเหตุของพฤติกรรม เป็นตัวชี้บ่งโดยส่วนหนึ่งว่า เราต้องเข้าใจว่าจิตเป็น "ตัวสร้างตัวแทนทางใจ" (generator of representations)[7][8][9] การมีทฤษฎีจิตที่ไม่สมบูรณ์ อาจจะเป็นอาการของความเสียหายทางประชาน หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาการ

ทฤษฎีจิตดูเหมือนจะเป็นความสามารถตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นความสามารถที่ต้องอาศัยประสบการณ์ทางสังคมและประสบการณ์อื่น ๆ ที่ต้องพัฒนาเป็นช่วงเวลาหลายปีก่อนที่จะสมบูรณ์ แต่ละบุคคลอาจจะมีทฤษฎีจิตที่มีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน ส่วนแนวคิดเรื่องการเห็นใจผู้อื่น (Empathy) เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เป็นการรู้จำและเข้าใจสภาพจิตของคนอื่น รวมทั้งความเชื่อ ความต้องการ และโดยเฉพาะอารมณ์ ซึ่งบางครั้งเรียกว่าเป็นความสามารถที่จะ "เอาใจเราไปใส่ใจเขา" งานทดลองทางพฤติกรรมวิทยาในสัตว์เมื่อปี ค.ศ. 2007 ดูเหมือนจะบอกว่า แม้แต่สัตว์ฟันแทะ (เช่นหนู) ก็อาจจะมีความเห็นใจผู้อื่นและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี[10] ส่วนทฤษฎีทางประชานอย่างหนึ่งคือ "Neo-Piagetian theories of cognitive development" ซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางประชานที่ต่อยอดแก้ไขทฤษฎีของฌ็อง ปียาแฌ กำหนดว่า ทฤษฎีจิตเป็นผลพลอยได้ของความสามารถทางประชาน ที่จะบันทึก ตรวจสอบ และแสดงการทำงานของตน[11]

การตรวจสอบโดยหลักฐาน

ความบกพร่อง

ความบกพร่องของ ToM หมายถึงความยากลำบากในการมองจากมุมมองของผู้อื่น ซึ่งบางครั้งเรียกว่า mind-blindness (การบอดจิต)[12] ผู้มีความบกพร่องอาจจะมีปัญหาในการเข้าใจความตั้งใจของคนอื่น ในการเข้าใจว่าพฤติกรรมของตนมีผลต่อผู้อื่นอย่างไร และในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น[13] ความบกพร่องของ ToM พบแล้วในคนไข้โรคออทิซึม (autism spectrum disorder) โรคจิตเภท โรคสมาธิสั้น[2] ในบุคคลที่เกิดพิษต่อประสาท (neurotoxicity) จากการเสพสุรา[3] ในบุคคลที่นอนไม่พอ และในบุคคลที่กำลังประสบความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ

ออทิซึม

ในปี ค.ศ. 1985 มีงานวิจัยที่แสดงว่า เด็กที่มีโรคออทิซึมไม่ใช้ทฤษฎีจิต[4] ซึ่งแสดงว่า เด็กโรคออทิซึมมีปัญหาในการทำงานที่ต้องเข้าใจความเชื่อของคนอื่น ปัญหาเหล่านี้ก็ยังมีอยู่แม้เมื่อเทียบกับเด็กปกติที่มีความสามารถในการสื่อสารเท่า ๆ กัน[14] และตั้งแต่นั้น การไม่ใช้ทฤษฎีจิตก็ได้มาเป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่งของโรคออทิซึม

คนไข้ที่วินิจฉัยว่ามีโรคออทิซึม มีปัญหาอย่างรุนแรงในการเข้าใจสภาพจิตใจของคนอื่น และดูเหมือนจะขาดสมรรถภาพต่าง ๆ ของทฤษฎีจิต[4] นักวิจัยในประเด็นนี้ได้พยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีจิตและโรคออทิซึม พวกหนึ่งสมมุติว่า ทฤษฎีจิตมีบทบาทในการเข้าใจจิตของผู้อื่น และในการเล่นสมมุติของเด็ก ๆ[15] ตามนักวิชาการพวกนี้ ทฤษฎีจิตเป็นสมรรถภาพในการสร้างตัวแทนทางจิตเกี่ยวกับความคิด ความเชื่อ และความต้องการ ไม่ว่าจะในเรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติ ซึ่งสามารถอธิบายว่า ทำไมเด็กโรคออทิซึมจึงมีความบกพร่องอย่างรุนแรงทั้งในทฤษฎีจิตและในการเล่นสมมุติ

แต่ว่า ก็มีนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่ใช้คำอธิบายโดยอารมณ์ความรู้สึกทางสังคม[16] คือเสนอว่า คนไข้โรคออทิซึมมีความบกพร่องของทฤษฎีจิตที่มีผลมาจากความบิดเบือนในการเข้าใจและการตอบสนองต่ออารมณ์ เขาเสนอว่า มนุษย์ที่มีพัฒนาการปกติจะไม่เหมือนกับคนไข้โรคออทิซึม คือจะเกิดมาพร้อมกับทักษะต่าง ๆ ทางสังคม ที่ทำให้สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้อื่นเมื่อถึงวัยที่สมควรได้ ส่วนนักวิชาการท่านอื่นเน้นว่า โรคออทิซึมเป็นความล่าช้าทางพัฒนาการเฉพาะอย่าง ดังนั้นเด็กที่มีปัญหาจะมีความบกพร่องต่าง ๆ กัน เพราะว่า มีปัญหาต่าง ๆ กันในช่วงพัฒนาการที่ต่าง ๆ กัน เช่น การมีปัญหาตั้งแต่ต้น ๆ สามารถทำพฤติกรรมแบบ joint-attention ให้เสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเกิดทฤษฎีจิตแบบสมบูรณ์[4]

มีการเสนอว่า ToM มีความเป็นไปเป็นลำดับ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การมีหรือไม่มีดังที่คิดกันมาตั้งแต่เดิม ๆ[15] แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่แสดงว่า คนไข้โรคออทิซึมบางพวกไม่สามารถเข้าใจเรื่องจิตใจของคนอื่น ๆ[4] แต่ก็ปรากฏหลักฐานเมื่อปี ค.ศ. 2006 ที่ชี้ว่า มีวิธีการบริหารบางอย่างที่ช่วยเตือนสติเพื่อให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม[17] นอกจากนั้นแล้ว มีงานวิจัยที่แสดงว่า เด็กที่มีโรคออทิซึมทำคะแนนในการทดสอบทฤษฎีจิต ได้ต่ำกว่าเด็กที่มีกลุ่มอาการแอสเปอร์เจอร์[18]

พิษสุรา

ความมีความเสียหายในเรื่องทฤษฎีจิต และความบกพร่องของประชานทางสังคมประเภทอื่น ๆ เป็นเรื่องสามัญในบุคคลที่มีโรคพิษสุรา (alcoholism) เพราะความเป็นพิษต่อระบบประสาท (neurotoxicity) โดยเฉพาะในส่วนคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex)[3]

กลไกทางสมอง

สัตว์อื่นนอกจากมนุษย์

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบอย่างหนึ่งก็คือว่า มีสัตว์อื่นหรือไม่นอกจากมนุษย์ที่มีความสามารถตามกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่ทำให้มีทฤษฎีจิตแบบเดียวกับเด็กมนุษย์[1] นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะหาข้อยุติเพราะเหตุปัญหาการอนุมานจากพฤติกรรมสัตว์ว่ามีความคิดบางอย่าง มีความคิดว่าตน (self concept) หรือมีความสำนึกตน (self-awareness) บ้างหรือไม่ ความยากลำบากเกี่ยวกับการศึกษา ToM ในสัตว์ก็คือไม่มีข้อมูลจากการสังเกตการณ์ตามธรรมชาติเพียงพอ ที่จะให้ความเข้าใจว่า ความกดดันทางวิวัฒนาการอะไรเป็นเหตุให้เกิดการพัฒนาทฤษฎีจิตในสปีชีส์นั้น ๆ

แต่งานวิจัยในสัตว์ก็ยังมีความสำคัญต่อสาขาวิชานี้ เพราะว่า อาจจะช่วยแสดงว่าพฤติกรรมที่ไม่ใช้วาจาอะไรที่สามารถชี้องค์ประกอบของทฤษฎีจิต และช่วยชี้ขั้นตอนในกระบวนการวิวัฒนาการของทฤษฎีจิต ที่นักวิชาการเป็นจำนวนมากอ้างว่าเป็นประชานทางสังคมที่มีเฉพาะในมนุษย์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะศึกษาทฤษฎีจิตที่มีในมนุษย์ในสัตว์ และที่จะศึกษาสภาพจิตใจของสัตว์ที่เราไม่มีความเข้าใจเรื่องสภาพจิตที่ดี นักวิจัยก็ยังสามารถเล็งความสนใจไปที่องค์ประกอบง่าย ๆ ของความสามารถซับซ้อนที่มีในมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยหลายท่านได้ตรวจสอบความเข้าใจของสัตว์เกี่ยวกับความตั้งใจ การมอง มุมมอง หรือความรู้ (คือความเข้าใจว่าสัตว์อื่นได้เห็นอะไร)

มีงานวิจัยที่ตรวจสอบความเข้าใจเกี่ยวกับความตั้งใจในลิงอุรังอุตัง ลิงชิมแปนซี และเด็กมนุษย์ที่พบว่า สัตว์ทั้งสามสปีชีส์ล้วนแต่เข้าใจความแตกต่างกันระหว่างเหตุการณ์ที่ทำโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ความยากลำบากอย่างหนึ่งในงานวิจัยประเภทนี้ก็คือว่า ปรากฏการณ์ที่สังเกตได้สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพียงการเรียนรู้แบบสิ่งเร้า-ปฏิกิริยา (stimulus-response learning) แบบง่าย ๆ ซึ่งเป็นความยากลำบากที่เหมือนกับสถานการณ์ตามธรรมชาติจริง ๆ ของสัตว์ที่มีทฤษฎีจิต (เช่นมนุษย์) ที่จะต้องอนุมานว่า สัตว์อื่น (เช่นคนอื่น) มีสภาพจิตอะไรบางอย่างภายในจริง ๆ หรือไม่ โดยเพียงอาศัยการสังเกตพฤติกรรมภายนอกเพียงเท่านั้น (คือไม่ใช่เป็นเพียงพฤติกรรมที่เป็นการเรียนรู้แบบสิ่งเร้า-ปฏิกิริยา) ในเร็ว ๆ นี้ งานวิจัยเกี่ยวกับทฤษฎีจิตในสัตว์มักจะเป็นไปในลิงและลิงใหญ่ เพราะว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาวิวัฒนาการของประชานทางสังคม (social cognition) ในมนุษย์ แต่ก็มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ใช้นกหัวโตวงศ์ย่อย Charadriinae[19] และสุนัข[20] เป็นสัตว์ทดลอง และได้แสดงหลักฐานเบื้องต้นของความเข้าใจการใส่ใจของสัตว์อื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของทฤษฎีจิตอย่างหนึ่ง

แต่ว่าก็มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับการตีความหลักฐานต่าง ๆ ว่า เป็นการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน ว่าสัตว์อื่นมีทฤษฎีจิต[21] มีตัวอย่างที่เห็นได้คือ ในปี ค.ศ. 1990 มีงานวิจัย[22] ที่แสดงผู้ทำการทดลองสองคนให้ลิงชิมแปนซีเห็นเพื่อที่จะขออาหาร คนหนึ่งจะเห็นว่าอาหารซ่อนอยู่ที่ไหน อีกคนหนึ่งจะไม่เห็นเพราะเหตุต่าง ๆ (เช่นมีถังหรือถุงครอบศีรษะ มีอะไรปิดตาอยู่ หรือว่าหันไปทางอื่น) ดังนั้นจะไม่รู้ว่าอาหารอยู่ที่ไหนและจะได้แต่เดาเท่านั้น นักวิจัยพบว่า ลิงไม่สามารถแยกแยะผู้ที่รู้ว่าอาหารอยู่ที่ไหนเพื่อที่จะขอให้ถูกคน แต่อีกงานวิจัยหนึ่งในปี ค.ศ. 2001[23] พบว่า ลิงชิมแปนซีที่เป็นรองสามารถใช้ความรู้ของลิงชิมแปนซีคู่แข่งที่เป็นใหญ่ในการกำหนดว่า ที่เก็บอาหารไหนที่ลิงที่เป็นใหญ่ได้เข้าไปตรวจสอบ และก็มีนักวิจัยอื่น ๆ ที่ไม่สงสัยเลยว่า ลิงโบโนโบ (ลิงชิมแปนซีประเภทหนึ่ง) มี ToM โดยอ้างการสื่อสารกับลิงโบโนโบที่มีชื่อเสียงตัวหนึ่งชื่อว่า Kanzi เป็นหลักฐาน[24]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Premack, D. G.; Woodruff, G. (1978). "Does the chimpanzee have a theory of mind?". Behavioral and Brain Sciences. 1 (4): 515–526. doi:10.1017/S0140525X00076512.
  2. 2.0 2.1 Korkmaz, Baris (2011). "Theory of Mind and Neurodevelopmental Disorders of Childhood:". Pediatric Research. 69 (5 Part 2): 101R–108R. doi:10.1203/PDR.0b013e318212c177. ISSN 0031-3998.
  3. 3.0 3.1 3.2 Uekermann, Jennifer; Daum, Irene (2008). "Social cognition in alcoholism: a link to prefrontal cortex dysfunction?". Addiction. 103 (5): 726–735. doi:10.1111/j.1360-0443.2008.02157.x. ISSN 0965-2140.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Baron-Cohen, S. (1991). Precursors to a theory of mind: Understanding attention in others. อ้างอิงใน Whiten, A, บ.ก. (1991). Natural theories of mind: Evolution, development, and simulation of everyday mindreading. Cambridge, MA: Basil Blackwell. pp. 233-251. ISBN 9780631171942.
  5. Bruner, JS (1981). Intention in the structure of action and interaction. อ้างอิงโดย Lipsitt, LP; Rovee-Collier, CK (บ.ก.). Advances in infancy research Vol. 1. Norwood, NJ: Ablex Publishing Corporation. pp. 41–56.{cite book}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  6. Gordon, RM (1996). 'Radical' simulationism. อ้างอิงโดย Carruthers, P; Smith, PK (บ.ก.). Theories of theories of mind. Cambridge: Cambridge University Press.{cite book}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  7. ตัวแทนทางใจ (mental representation) เป็นสัญลักษณ์ทางประชานภายในจิตใจ ที่เป็นตัวแทนความจริงของโลกภายนอก หรือว่าเป็นกระบวนการทางจิตใจที่ใช้สัญลักษณ์เช่นนี้ หรือที่มีนิยามแบบรูปนัยว่า "ระบบที่เป็นรูปนัย ใช้สร้างความชัดแจ้งให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือประเภทของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พร้อมกับการกำหนดว่าระบบนี้ทำเช่นนั้นได้อย่างไร"
  8. Courtin, C. (2000). "The impact of sign language on the cognitive development of deaf children: The case of theories of mind". Cognition. 77: 25–31.
  9. Courtin, C.; Melot, A.-M. (2005). "Metacognitive development of deaf children: Lessons from the appearance-reality and false belief tasks". Journal of Deaf Studies and Deaf Education. 5 (3): 266–276. doi:10.1093/deafed/5.3.266. PMID 15454505.
  10. de Waal, Franz BM (2007-06-24). "Commiserating Mice". Scientific American.{cite journal}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  11. Demetriou, A; Mouyi, A; Spanoudis, G. (2010). "The development of mental processing". และ Nesselroade, J. R. (2010). "Methods in the study of life-span human development: Issues and answers" อ้างอิงโดย Overton, WF; Lerner, RM, บ.ก. (2010). the Handbook of life-span development (Volume 1) Cognition, Biology, and methods across the life-span. Hoboken, NJ: Wiley. pp. 36–55.{cite book}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  12. Moore, S. (2002). Asperger Syndrome and the Elementary School Experience. Shawnee Mission, KS: Autism Asperger Publishing Company.
  13. Baker, J (2003). Social Skills Training: for children and adolescents with Asperger Syndrome and Social-Communication Problems. Shawnee Mission, KS: Autism Asperger Publishing Company.
  14. Happe, FG (1995). "The role of age and verbal ability in the theory of mind task performance of subjects with autism". Child Development. 66 (3): 843–55. doi:10.2307/1131954. PMID 7789204.
  15. 15.0 15.1 Leslie, A. M. (1991). Theory of mind impairment in autism. อ้างอิงโดย Whiten, A, บ.ก. (1993-01). Natural theories of mind: Evolution, development, and simulation of everyday mindreading. Cambridge, MA: Basil Blackwell. pp. 233-251. {cite book}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  16. Hobson, RP (1995). Autism and the development of mind. Hillsdale, NJ: Lawrence Erlbaum Associates Ltd.
  17. Dapretto, M.; และคณะ (2006). "Understanding emotions in others: mirror neuron dysfunction in children with autism spectrum disorders". Nature Neuroscience. 9 (1): 28–30. doi:10.1038/nn1611. PMID 16327784.
  18. Tine, Michele; Lucariello, Joan (2012). "Unique Theory of Mind Differentiation in Children with Autism and Asperger Syndrome". Autism Research and Treatment. 2012 (Article ID 505393): 1. doi:10.1155/2012/505393.{cite journal}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  19. Ristau, C. (1991). "Chapter 6: Aspects of the cognitive ethology of an injury-feigning bird, the piping plovers". ใน Ristau, C. A. (บ.ก.). Cognitive ethology: The minds of other animals. Hillsdale, New Jersey: Lawrence Erlbaum. pp. 91–126.
  20. Horowitz, A (2009). "Attention to attention in domestic dog (Canis familiaris) dyadic play". Animal Cognition. 12: 107–118.
  21. Povinelli, D.J.; Vonk, Jennifer. "Chimpanzee minds: suspiciously human?". {cite journal}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  22. Povinelli, D.J.; Nelson, K.E.; Boysen, S.T. (1990). "Inferences about guessing and knowing by chimpanzees (Pan troglodytes)". Journal of Comparative Psychology. 104 (3): 203–210. doi:10.1037/0735-7036.104.3.203. PMID 2225758.
  23. Hare, B.; Call, J.; Tomasello, M. (2001). "Do chimpanzees know what conspecifics know and do not know?". Animal Behavior. 61: 139–151. doi:10.1006/anbe.2000.1518.
  24. Hamilton, Jon (2006-07-08). "A Voluble Visit with Two Talking Apes". NPR. สืบค้นเมื่อ 2012-03-21.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Excerpts taken from: Davis, E. (2007) Mental Verbs in Nicaraguan Sign Language and the Role of Language in Theory of Mind. Undergraduate senior thesis, Barnard College, Columbia University.
เว็บไซต์