พระวินัยปิฎก

คัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกเถรวาท
๔๕ เล่ม

    พระวินัยปิฎก    
   
                                       
คัมภีร์
สุตตวิภังค์
คัมภีร์
ขันธกะ
คัมภีร์
ปริวาร
               
   
    พระสุตตันตปิฎก    
   
                                                      
คัมภีร์
ทีฆนิกาย
คัมภีร์
มัชฌิมนิกาย
คัมภีร์
สังยุตตนิกาย
                     
   
   
                                                                     
คัมภีร์
อังคุตตรนิกาย
คัมภีร์
ขุททกนิกาย
                           
   
    พระอภิธรรมปิฎก    
   
                                                           
สงฺ วิภงฺ ธา
ปุ.
กถา ยมก ปัฏฐานปกรณ์
                       
   
         

พระวินัยปิฎก (บาลี: Vinaya Piṭaka, วินยปิฏก) เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก ซึ่งประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุและภิกษุณี รวมทั้งเหตุการณ์และมูลเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัยในแต่ละข้อ

พระวินัยปิฎกนั้นนอกจากจะแสดงถึงมูลเหตุและข้อพุทธบัญญัติต่าง ๆ ทั้งข้อห้าม และข้ออนุญาตสำหรับภิกษุและภิกษุณีแล้ว ยังมีเนื้อหาสะท้อนประวัติศาสตร์ของอินเดียในสมัยพุทธกาลอีกด้วย

เนื้อหา[1]

พระวินัยปิฎก 8 เล่ม

  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยตะสิกขาบท (สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ 19 ข้อแรก)
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2 ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ (เป็นอันครบสิกขาบท 227 หรือ ศีล 227)
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 3 ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุณี
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 มี 4 ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 มี 6 ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนังเภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาท และสามัคคี
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 6 จุลวรรค ภาค 1 มี 4 ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธีและการระงับอธิกรณ์
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 มี 8 ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยเรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงด สวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 1
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 8 ปริวาร คัมภีร์ถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย

การจัดแบ่งหมวดหมู่[1]

การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎกเป็น 3 หมวด ตามแบบฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์ประเทศอังกฤษ[2]:-

  1. สุตตวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุ และภิกษุณีรวมเข้าด้วยกัน (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์)
  2. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ทั้ง 22 บทตอน (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวรรค และจุลวรรค)
  3. ปริวาร ว่าด้วยการถามตอบความรู้เกี่ยวกับพระวินัย

การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎกเป็น 5 หมวด แบบที่ 1:-

  1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ เนื้อหาว่าด้วย สิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ 227 ข้อ ของภิกษุ
  2. ภิกขุนีวิภังค์ เนื้อหาว่าด้วยสิกขาบท 311 ข้อ ของภิกษุณี
  3. มหาวรรค แบ่งได้เป็น 10 หมวดย่อย หรือ 10 ขันธกะ กำเนิดภิกษุสงฆ์ และกิจการเกี่ยวแก่ภิกษุสงฆ์ ได้แก่ มหาขันธกะ, อุโบสถขันธกะ, วัสสูปนายิกาขันธกะ, ปวารณาขันธกะ, จัมมขันธกะ, เภสัชชขันธกะ, กฐินขันธกะ, จีวรขันธกะ, จัมเปยยขันธกะ และโกสัมพิขันธกะ
  4. จุลวรรค แบ่งเป็น 12 หมวดย่อย หรือ 12 ขันธกะ เกี่ยวกับระเบียบความเป็นอยู่ของภิกษุ ภิกษุณี และเรื่องสังคายนา ได้แก่ กรรมขันธกะ, ปริวาสิกขันธกะ, สมุจจยขันธกะ, สมถขันธกะ, ขุททกวัตถุขันธกะ, เสนาสนขันธกะ, สังฆเภทขันธกะ, วัตตขันธกะ, ปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ, ภิกขุนีขันธกะ, ปัญจสติกขันธกะ และสัตตสติกขันธกะ
  5. ปริวาร เป็นข้อปลีกย่อยต่างๆ และคู่มือถามตอบซักซ้อมเกี่ยวกับพระวินัย

การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎกเป็น 5 หมวด แบบที่ 2 (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา มะ จุ ปะ):-

  1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิก 4 ถึงอนิยตะ 2 (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวิภังค์ภาค 1)
  2. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวิภังค์ภาค 2 และภิกขุนีวิภังค์)
  3. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น 10 ขันธกะ หรือ 10 ตอน
  4. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย 12 ขันธกะ
  5. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "พระวินัยปิฎก". 84000.org.
  2. ปุญญานุภาพ, สุชีพ. “ภาค ๔ ความย่อแห่งพระไตรปิฎก.”, (ล่างสุดของหน้า), พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร, ฉบับรวมเป็นเล่มเดียวจบ พิมพ์ครั้งที่ 17/2550, น. 138