ภาษาเกาหลี
ภาษาเกาหลี | |
---|---|
한국어 (เกาหลีใต้) 조선말 (เกาหลีเหนือ) | |
ออกเสียง | เสียงอ่านภาษาเกาหลี: /ha(ː)n.ɡu.ɡʌ/ (เกาหลีใต้) เสียงอ่านภาษาเกาหลี: /tso.sɔn.mal/ (เกาหลีเหนือ) |
ประเทศที่มีการพูด | ประเทศเกาหลี |
ชาติพันธุ์ | ชาวเกาหลี |
จำนวนผู้พูด | 80.4 ล้านคน (2020)[1] |
ตระกูลภาษา | เกาหลี
|
รูปแบบก่อนหน้า | เกาหลีดั้งเดิม
|
รูปแบบมาตรฐาน | Pyojuneo (เกาหลีใต้)
Munhwa'ŏ (เกาหลีเหนือ)
|
ภาษาถิ่น | สำเนียงเกาหลี |
ระบบการเขียน | ฮันกึล / โชซ็อนกึล (อักษรเกาหลี) อักษรผสม โรมาจา อักษรเบรลล์เกาหลี อดีต: ฮันจา (อักษรจีน) |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ |
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน | จีน (จังหวัดปกครองตนเองชนชาติเกาหลี หยันเปียนและอำเภอปกครองตนเองชนชาติเกาหลี ฉางไป๋) |
ผู้วางระเบียบ |
|
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | ko |
ISO 639-2 | kor |
ISO 639-3 | kor |
นักภาษาศาสตร์ | kor |
Linguasphere | 45-AAA-a |
ประเทศที่มีประชากรที่พูดภาษาเกาหลีเป็นภาษาแม่ (ชุมชนผู้อพยพอยู่ในสีเขียว) | |
ภาษาเกาหลี (한국어 หรือ 조선말, ดูในส่วนชื่อ) เป็นภาษาที่ส่วนใหญ่พูดในประเทศเกาหลีใต้และประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งใช้เป็นภาษาราชการ และมีคนชนเผ่าเกาหลีที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนพูดโดยทั่วไป (ในจังหวัดปกครองตนเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียน มณฑลจี๋หลิน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ) ทั่วโลกมีคนพูดภาษาเกาหลี 78 ล้านคน รวมถึงกลุ่มคนในอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐ แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีผู้พูดในฟิลิปปินส์ด้วย การจัดตระกูลของภาษาเกาหลีไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่คนส่วนมากมักจะถือเป็นภาษาเอกเทศ นักภาษาศาสตร์บางคนได้จัดกลุ่มให้อยู่ในตระกูลภาษาอัลไตอิกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากภาษาเกาหลีมีวจีวิภาคแบบภาษาคำติดต่อ ส่วนวากยสัมพันธ์หรือโครงสร้างประโยคนั้น เป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา (SOV)
อักษรเกาหลี เรียกว่าอักษรฮันกึล ใช้แทนเสียงของแต่ละพยางค์ นอกจากนี้ใช้ยังตัวอักขระแบบจีนเรียกว่าอักษรฮันจา ในการเขียนด้วย ในขณะที่คำศัพท์ที่ใช้กันส่วนใหญ่เป็นคำภาษาเกาหลีแท้ โดยที่มีคำศัพท์มากกว่า 50% มาจากภาษาจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม
เกี่ยวกับชื่อ
คำว่า เกาหลี มาจากภาษาจีน โดยอักษรจีนคือ 高麗 (พินอิน: Gāo lí) ซึ่งหมายถึงประเทศโครยอ ซึ่งเป็นชื่อเก่าและปัจจุบันชาวเกาหลีมิได้ใช้ชื่อนี้แล้ว ในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีความแตกต่างกัน ในเกาหลีเหนือ ชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่มักเรียกว่า โชซ็อนมัล (조선말) หรือหากเป็นทางการขึ้นจะเรียกว่า โชซอนอ (조선어)
ในเกาหลีใต้ ประชาชนส่วนใหญ่เรียกภาษาของตนว่า ฮันกุงมัล (한국말) หรือ ฮันกูกอ (한국어) หรือ กูกอ (국어; "ภาษาประจำชาติ") บางครั้งอาจเรียกในแบบภาษาพื้นเมืองหรือภาษาถิ่นว่า อูรีมัล (แปลว่า "ภาษาของเรา"; มาจากคำว่า 우리말 (เขียนติดกันในเกาหลีใต้) หรือ 우리 말 (เขียนแยกกันในเกาหลีเหนือ))
สำเนียงท้องถิ่น
ภาษาเกาหลีมีสำเนียงท้องถิ่นมากมาย ภาษาทางการที่ใช้ในเกาหลีใต้คือสำเนียงท้องถิ่นที่ใช้ในพื้นที่บริเวณโซล และภาษาทางการที่ใช้ในเกาหลีเหนือคือสำเนียงท้องถิ่นที่ใช้บริเวณกรุงเปียงยาง สำเนียงท้องถิ่นโดยทั่วไปจะมีความคล้ายคลึงกัน ยกเว้นสำเนียงท้องถิ่นบนเกาะเชจูที่มีความแตกต่างค่อนข้างมาก ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างสำเนียงท้องถิ่นแต่ละแห่งคือ การเน้นเสียง สำเนียงท้องถิ่นของโซลจะเน้นเสียงน้อยมาก และไม่ค่อยมีความสูงต่ำในการเปล่งเสียง ในทางกลับกัน สำเนียงท้องถิ่นของ คย็องซัง มีความสูงต่ำของการออกเสียงอย่างมากจนคล้ายกับภาษาทางยุโรป อย่างไรก็ตามเราสามารถจำแนกสำเนียงท้องถิ่นของภาษาเกาหลีออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ได้ดังตาราง โดยพิจารณาจากขอบเขตของภูเขาและทะเล
สำเนียงทางการ | บริเวณที่ใช้ |
---|---|
โซล (표준어) |
ภาษามาตรฐานในเกาหลีใต้ มีพื้นฐานมาจากสำเนียงตอนกลาง นอกจากนี้ยังนิยมใช้กันในหมู่เยาวชนเกาหลีและเนื้อหาออนไลน์ |
เปียงยาง (문화어) |
ภาษามาตรฐานในเกาหลีเหนือ มีพื้นฐานมาจากสำเนียงพย็องอัน |
สำเนียงท้องถิ่น | บริเวณที่ใช้ |
ฮัมกย็อง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) (함경) |
ราซ็อน พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคฮัมกย็อง รยังกัง (เกาหลีเหนือ), มณฑลจี๋หลิน (จีน) |
พย็องอัน (ตะวันตกเฉียงเหนือ) (평안) |
ภูมิภาคพย็องอัน เปียงยาง ชากัง ฮวังแฮ ตอนเหนือของจังหวัดฮัมกย็องเหนือ (เกาหลีเหนือ), มณฑลเหลียวหนิง (จีน) |
ตอนกลาง (중부) |
โซล อินช็อน คย็องกี แทจ็อน ชุงช็อง (เกาหลีใต้) ยอซอ (จังหวัดคังว็อนฝั่งตะวันตกของเทือกเขาแทแบ็ก) |
ชายฝั่งตะวันออก (영동) |
ภูมิภาคย็องดง (จังหวัดคังว็อนฝั่งตะวันออกของเทือกเขาแทแบ็ก) |
คย็องซัง (ตะวันออกเฉียงใต้) (경상) |
ปูซาน แทกู อุลซัน คย็องซัง (เกาหลีใต้) |
ช็อลลา (ตะวันตกเฉียงใต้) (전라) |
ควังจู ช็อลลา (เกาหลีใต้) |
เชจู (제주) |
เกาะเชจู (เกาหลีใต้) |
อักษรเกาหลี
- ดูบทความหลักที่ อักษรฮันกึล
อักษรเกาหลี หรือ ฮันกึล โดยผิวเผินแล้ว อักษรฮันกึลคล้ายกับอักษรรูปภาพเหมือนอักษรจีน แต่จริง ๆ แล้ว อักษรฮันกึลอยู่ในระบบอักษรแทนเสียง (ตัวพยัญชนะเป็นอักษรรูปภาพเลียนแบบอวัยวะการออกเสียงในขณะที่ออกเสียงนั้นๆ สระเป็นอักษรรูปภาพใช้แนวคิดเชิงปรัชญา เกี่ยวกับ ท้องฟ้า พื้นดิน และมนุษย์) คือประกอบด้วยพยัญชนะและสระ ซึ่งมีทั้งหมด 24 ตัว ประกอบด้วย
- พยัญชนะ 14 ตัว คือ ㄱ (คีย็อก), ㄴ (นีอึน), ㄷ (ทีกึด), ㄹ (รีอึล), ㅁ (มีอึม), ㅂ (พีอึบ), ㅅ (ชีอด), ㅇ (อีอึง), ㅈ (ชีอึด), ㅊ (ชีอึด), ㅋ (คีอึก), ㅌ (ทีอึด), ㅍ (พีอึบ) และ ㅎ (ฮีอึด)
- สระ 10 ตัว คือ ㅏ (อา), ㅑ (ยา), ㅓ (ออ), ㅕ (ยอ), ㅗ (โอ), ㅛ (โย), ㅜ (อู), ㅠ (ยู), ㅡ (อือ) และ ㅣ (อี)
พยัญชนะและสระดังกล่าวเรียกว่า พยัญชนะเดี่ยว และสระเดี่ยว ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เรียกว่าพยัญชนะซ้ำ และสระประสมด้วย คือ
- พยัญชนะซ้ำ 5 ตัว ได้แก่ ㄲ (ซังกีย็อก), ㄸ (ซังดีกึด), ㅃ (ซังบีอึบ), ㅆ (ซังชีอด) และ ㅉ (ซังจีอึด)
- สระประสม 11 ตัว ได้แก่ ㅐ (แอ), ㅒ (แย), ㅔ (เอ), ㅖ (เย), ㅚ (เว), ㅟ (วี), ㅘ (วา), ㅙ (แว), ㅝ (วอ), ㅞ (เว) และ ㅢ (อึย)
อักษรเกาหลีมีลำดับการเขียนคล้ายอักษรจีน คือ ลากจากบนลงล่าง และจากซ้ายไปขวา นอกจากนี้การเขียนพยางค์หนึ่ง ๆ จะเริ่มเขียนจากพยัญชนะต้น ไปสระ และตัวสะกดตามลำดับ
เลขเกาหลี
จำนวน | แบบเกาหลี | แบบจีน | |||
---|---|---|---|---|---|
ฮันกึล | คำอ่านไทย | ฮันกึล | ฮันจา | คำอ่านไทย | |
0 | — | — | 영, 령, 공 | 零, 空 | ย็อง, รย็อง, คง |
1 | 하나 | ฮานา | 일 | 一 | อิล |
2 | 둘 | ทุล | 이 | 二 | อี |
3 | 셋 | เซ็ด | 삼 | 三 | ซัม |
4 | 넷 | เน็ด | 사 | 四 | ซา |
5 | 다섯 | ทาซ็อด | 오 | 五 | โอ |
6 | 여섯 | ยอซ็อด | 육, 륙 | 六 | ยุก, รยุก |
7 | 일곱 | อิลกบ | 칠 | 七 | ชิล |
8 | 여덟 | ยอด็อล | 팔 | 八 | พัล |
9 | 아홉 | อาฮบ | 구 | 九 | คู |
10 | 열 | ย็อล | 십 | 十 | ชิบ |
20 | 스물 | ซือมุล | 이십 | 二十 | อีชิบ |
30 | 서른 | ซอรึน | 삼십 | 三十 | ซัมชิบ |
40 | 마흔 | มาฮึน | 사십 | 四十 | ซาชิบ |
50 | 쉰 | ชวิน | 오십 | 五十 | โอชิบ |
60 | 예순 | เยซุน | 육십, 륙십 | 六十 | ยุกชิบ, รยุกชิบ |
70 | 일흔 | อิลฮึน | 칠십 | 七十 | ชิลชิบ |
80 | 여든 | ยอดึน | 팔십 | 八十 | พัลชิบ |
90 | 아흔 | อาฮึน | 구십 | 九十 | คูชิบ |
100 | — | — | 백 | 百 | แพ็ก |
1,000 | — | — | 천 | 千 | ช็อน |
10,000 | — | — | 만 | 萬 | มัน |
100,000,000 | — | — | 억 | 億 | อ็อก |
สัทศาสตร์
ข้อมูลการเทียบเสียงต่อไปนี้เป็นเพียงการเทียบเสียงเบื้องต้น ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องมากนัก พยัญชนะทุกตัวในภาษาเกาหลีมีเสียงแตกต่างกัน แต่พบว่าบางครั้งการได้ยินของคนไทยไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้เหมือนคนเกาหลี เช่น คำว่า 자 (ja; ชา) กับ 차 (cha; ชา) เป็นต้น
พยัญชนะ
ฐานริมฝีปาก | ฐานปุ่มเหงือก | ฐานหลังปุ่มเหงือก | ฐานเพดานอ่อน | ฐานเส้นเสียง | ||
---|---|---|---|---|---|---|
เสียงกักและ เสียงกึ่งเสียดแทรก |
สิถิลเบา | ㅂ /p/, /b/ b ป~บ | ㄷ /t/, /d/ d ท~ต~ด | ㅈ /t͡ɕ/, /d͡ʑ/ j จ~จ͡ย | ㄱ /k/, /g/ g ก~ก͡ง | |
สิถิลหนัก | ㅃ /p͈/ pp ป* | ㄸ /t͈/ tt ต* | ㅉ /t͡ɕ͈/~/tʃ/ jj จ* | ㄲ /k͈/ kk ก* | ||
ธนิต | ㅍ /pʰ/, /bʱ/ p พ | ㅌ /tʰ/, /dʱ/ t ท | ㅊ /t͡ɕʰ/, /d͡ʑʱ/ ch ช | ㅋ /kʰ/, /gʱ/ k ค | ||
เสียงเสียดแทรก | เบา | ㅅ /sʰ/ หรือ /zʱ/ s ซ หรือ ช (เมื่อผสมกับสระ ㅣ) | ㅎ /h/ h ฮ | |||
หนัก | ㅆ /s͈/ หรือ /ɕ͈/ ss ซ* | |||||
เสียงนาสิก | ㅁ /m/ m ม | ㄴ /n/ n น | ㅇ /ŋ/ ng ง (ตัวสะกด) | |||
เสียงข้างลิ้น | **/w/ w ว | ㄹ /l/ l ล | **/j/ y ย |
- * หมายถึง พยัญชนะเสียงหนัก
- ** หมายถึง เสียงพยัญชนะที่มากับรูปสระ
- สำหรับ ㅇ เมื่อเป็นพยัญชนะต้นแต่มีคำอื่นมาก่อน จะนำพยัญชนะสะกดของคำก่อนหน้ามาเป็นเสียงพยัญชนะต้น ดูที่ การอ่านโยงเสียง
ตัวอย่างคำศัพท์
หน่วยเสียง | ตัวอย่าง | ทับศัพท์ | คำอ่านไทย โดยประมาณ |
คำแปล |
---|---|---|---|---|
ㅂ /p/ | 발 [pal] | bal | พัล | เท้า |
ㅃ /p͈/ | 빨다 [p͈alda] | ppalda | ปัลดา | ซักผ้า |
ㅍ /pʰ/ | 팔 [pʰal] | pal | พัล | แขน |
ㅁ /m/ | 말 [mal] | mal | มัล | ม้า |
ㄷ /t/ | 달 [tal] | dal | ทัล | ดวงจันทร์ |
ㄸ /t͈/ | 딸 [t͈al] | ttal | ตัล | ลูกสาว |
ㅌ /tʰ/ | 타다 [tʰada] | tada | ทาดา | ขี่, โดยสาร |
ㄴ /n/ | 날 [nal] | nal | นัล | วัน |
ㅈ /t͡ɕ/ | 잘 [t͡ɕal] | jal | ชัล | บ่อน้ำ, ดี |
ㅉ /t͡ɕ͈/ | 짜다 [t͡ɕ͈ada] | jjada | จาดา | คั้น |
ㅊ /t͡ɕʰ/ | 차다 [t͡ɕʰada] | chada | ชาดา | เตะ |
ㄱ /k/ | 가다 [kada] | gada | คาดา | ไป |
ㄲ /k͈/ | 깔다 [k͈alda] | kkalda | กัลดา | กระจาย |
ㅋ /kʰ/ | 칼 [kʰal] | kal | คัล | มีด |
ㅇ /ŋ/ | 방 [paŋ] | bang | พัง | ห้อง |
ㅅ /s/ | 살 [sal] | sal | ซัล | เนื้อหนัง |
ㅆ /s͈/ | 쌀 [s͈al] | ssal | ซัล | ข้าวสาร |
ㄹ /l/ | 바람 [paɾam] | baram | พารัม | ลม |
ㅎ /h/ | 하다 [hada] | hada | ฮาดา | กระทำ |
สระ
ฐาน | +อี | ||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ฐาน | ㅏ /a/ a อา | ㅓ /ʌ/ eo ออ (ปากเหยียด) | ㅗ /o/ o โอ | ㅜ /u/ u อู | ㅡ /ɯ/ eu อือ | ㅣ /i/ i อี | ㅐ /ɛ/ ae แอ | ㅔ /e/ e เอ | ㅚ /ø/ oe เว (เอว์) | ㅟ /y/ wi วี (อวี) | ㅢ /ɰi/ ui อึย |
ย+ | ㅑ /ja/ ya ยา | ㅕ /jʌ/ yeo ยอ (ปากเหยียด) | ㅛ /jo/ yo โย | ㅠ /ju/ yu ยู | ㅒ /jɛ/ yae แย | ㅖ /je/ ye เย | |||||
ว+ | ㅘ /wa/ wa วา | ㅝ /wʌ/ wo วอ (ปากเหยียด) | ㅙ /wɛ/ wae แว | ㅞ /we/ we เว |
- /ʌ/ (eo) ออกเสียง "ออ" ปากเหยียด บางตำราก็ใช้ /ə/ "เออ"
- /ø/ (oe) ออกเสียง "เอ" ปากห่อ
สระเกาหลีไม่เหมือนภาษาไทยซึ่งมีเสียงสั้นเสียงยาวแยกกัน เช่น อิ กับ อี จะรวมเป็นสระเดียว คือ ㅣ (/i/) แต่จะเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาวนั้นขึ้นอยู่กับการเน้นเสียง แม้คำที่เขียนเหมือนกันแต่อ่านด้วยเสียงที่ต่างกัน ความหมายก็อาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
รูปสระ | สระเสียงสั้น | สระเสียงยาว | ||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
IPA | เสียงไทย โดยประมาณ |
คำเกาหลี | IPA | ทับศัพท์ | ความหมาย | IPA | เสียงไทย โดยประมาณ |
คำเกาหลี | IPA | ทับศัพท์ | ความหมาย | |
ㅣ | /i/ | อิ | 시장 | [ɕiˈʥaŋ] | sijang | ความหิว | /iː/ | อี | 시장 | [ˈɕiːʥaŋ] | sijang | ตลาด |
ㅔ | /e/ | เอะ | 베개 | [peˈɡɛ] | begae | หมอน | /eː/ | เอ | 베다 | [ˈpeːda] | beda | ตัด หนุน |
ㅐ | /ɛ/ | แอะ | 태양 | [tʰɛˈjaŋ] | taeyang | ดวงอาทิตย์ | /ɛː/ | แอ | 태도 | [ˈtʰɛːdo] | taedo | ท่าทาง ทัศนคติ |
ㅏ | /a/ | อะ | 말 | [ˈmal] | mal | ม้า | /aː/ | อา | 말 | [ˈmaːl] | mal | คำ การพูด ภาษา |
ㅗ | /o/ | โอะ | 보리 | [poˈɾi] | bori | ข้าวบาร์เลย์ | /oː/ | โอ | 보수 | [ˈpoːsu] | bosu | การตอบแทน ค่าตอบแทน การอนุรักษ์ การซ่อมแซม |
ㅜ | /u/ | อุ | 구리 | [kuˈɾi] | guri | ทองแดง | /uː/ | อู | 수박 | [ˈsuːbak] | subak | แตงโม |
ㅓ | /ʌ/ | เอาะ | 벌 | [ˈpʌl] | beol | ชุด (ลักษณนาม) การลงโทษ |
/ʌː/ | เออ | 벌 | [ˈpʌːl] | beol | ผึ้ง |
ㅡ | /ɯ/ | อึ | 어른 | [ˈəːɾɯn] | eoreun | ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส |
/ɯː/ | อือ | 음식 | [ˈɯːmɕik] | eumsik | อาหาร |
ㅚ | /ø/ [we] | เวะ | 교회 | [ˈkjoːɦø̞] ~ [kjoː.βwe̞] | gyohoe | โบสถ์ | /øː/ [weː] | เว | 외투 | [ø̞ː.tʰu] ~ [we̞ː.tʰu] | oetu | อาหาร |
ㅟ | /y/ [ɥi] | วิ | 쥐 | [t͡ɕy] ~ [t͡ɕɥi] | jwi | หนู ตะคริว |
/yː/ [ɥiː] | วี | 귀신 | [ˈkyːʑin] ~ [ˈkɥiːʑin] | gwisin | ผี วิญญาณ |
- ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ออกเสียง /ʌː/ "ออ" (เสียงยาว) เป็น /əː/ "เออ"
ตัวสะกด
แม้พยัญชนะเกาหลีจะมีหลายตัว และแต่ละตัวเสียงแตกต่างกัน แต่เมื่อนำมาใช้เป็นตัวสะกดแล้ว จะมีทั้งหมด 7 มาตราเท่านั้น ดังตาราง จะเห็นว่าคล้ายคลึงกับภาษาไทย โดยที่ต่างออกไปคือ เสียง [ㄹ] (ล) เมื่อนำไปเป็นตัวสะกดแล้วจะไม่ใช่เสียง [น] เช่นในภาษาไทย นอกจากนี้อาจพบตัวสะกดแบบที่มีพยัญชนะสะกดสองตัว เช่น 여덟, 앉다 ฯลฯ ตัวสะกดลักษณะนี้จะเลือกออกเสียงเฉพาะตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น และอีกตัวจะไม่ออกเสียง เช่น 여덟 อ่านว่า /ยอ-ด็อล/ ไม่ใช่ /ยอ-ด็อบ/ การที่จะทราบว่าตัวสะกดคู่จะออกเสียงพยัญชนะตัวใด แสดงดังตาราง อย่างไรก็ตามมีตัวสะกดคู่บางส่วนที่ออกเสียงไม่แน่นอนขึ้นกับคำ คือ ㄺ และ ㄼ
ตัวสะกด | พยัญชนะ | ตัวอย่างคำ | เสียงอ่านโดยประมาณ |
---|---|---|---|
กง | ㅇ | 성 | ซ็อง |
กน | ㄴ, ㄵ, ㄶ | 원 | ว็อน |
กม | ㅁ, ㄻ | 남 | นัม |
กก | ㄱ, ㄲ, ㅋ, ㄳ | 밖 | พัก |
กด | ㄷ, ㅅ, ㅆ, ㅈ, ㅊ, ㅌ, ㅎ | 이것 | อีก็อด |
กบ | ㅂ, ㅍ, ㅄ, ㄿ | 십 없다 |
ชิบ อ็อบตา |
กล | ㄹ, ㄽ, ㄾ, ㅀ | 팔 | พัล |
ไม่แน่นอน | ㄺ, ㄼ | 여덟 | ยอด็อล |
การอ่านโยงเสียง
ในพยางค์หนึ่งๆ กรณีที่พยัญชนะต้นเป็นตัวอีอึง (ㅇ) เสียงของมันอาจไม่ใช่เสียง "อ" แต่จะเป็นเสียงของตัวสะกดในพยางค์ก่อนหน้าแทน เช่น
- 직업 อ่านว่า /지겁/ (ชี-กอบ) ไม่ใช่ /직-업/ (ชิก-ออบ)
- 당신은 อ่านว่า /당시는/ (ทัง-ชี-นึน) ไม่ใช่ /당-신-은/ (ทัง-ชิน-อึน)
ถ้าไม่มีคำใดมาก่อนจะออกเสียงคล้าย อ หรือถ้าคำก่อนหน้าไม่มีพยัญชนะสะกด จะออกเสียงเชื่อมสระเข้าด้วยกัน
กฎการอ่านแบบกลมกลืนเสียง*
ในพยางค์ใดที่ลงท้ายด้วยตัวสะกดและพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไปที่ติดกัน
เสียงของตัวสะกดจะเปลี่ยนเพื่อให้ออกเสียงได้สะดวกกลมกลืนและไม่ขัดกัน โดยจำแนกไว้เป็นกฎต่างๆดังต่อไปนี้
1. พยางค์ใดลงท้ายด้วยตัวสะกดในแม่ /ㄱ/, /ㄷ/, /ㅂ/ และพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไปเป็นเสียงนาสิก เสียงตัวสะกดจะเปลี่ยนเป็น /ㅇ/, /ㄴ/, /ㅁ/ ตามลำดับ เพื่อให้ออกเสียงได้สะดวกกลมกลืนและไม่ขัดกัน
ตัวอย่างเช่น
집는다 -> /짐는다/ เขียนว่า "ชิบนึนดา" แต่จะอ่านเป็น "ชิมนึนดา" เพื่อให้ออกเสียงได้สะดวกกลมกลืนและไม่ขัดกัน
받는다 -> /반는다/ เขียนว่า "พัดนึนดา" แต่จะอ่านเป็น "พันนึนดา" เพื่อให้ออกเสียงได้สะดวกกลมกลืนและไม่ขัดกัน
속는다 -> /송는다/ เขียนว่า "ซกนึนดา" แต่จะอ่านเป็น "ซงนึนดา" เพื่อให้ออกเสียงได้สะดวกกลมกลืนและไม่ขัดกัน
ที่คุ้นเคยกันดีได้แก่ ไวยากรณ์ลงท้ายประโยคอย่างสุภาพ "-습니다" ถึงแม้ว่าจะเขียนเป็น -ซึบนีดา แต่เพื่อให้เป็นไปตามเหตุผลดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เราก็จะอ่านว่า -ซึมนีดา
ตัวอย่างประโยคหรือวลีที่มักพบ
ประโยคภาษาเกาหลี | คำอ่านไทย | คำแปล |
---|---|---|
안녕하세요. | อัน-นย็อง-ฮา-เซ-โย | สวัสดี |
감사합니다./고맙습니다. | คัม-ซา-ฮัม-นี-ดา / โค-มับ-ซึม-นี-ดา | ขอบคุณ |
사랑해. | ซา-รัง-แฮ | รัก |
실례지만. | ชิล-รเย-จี-มัน | ขอโทษครับ |
안녕히 주무세요. | อัน-นย็อง-ฮี / ชู-มู-เซ-โย | ราตรีสวัสดิ์ |
만나서 반가워요. | มัน-นา-ซอ-พัน-กา-วอ-โย | ยินดีที่ได้รู้จัก |
죄송합니다. 저 먼저 갑니다 | ชเว-ซง-ฮัม-นี-ดา. ชอ-ม็อน-จอ-กัม-นี-ดา. | ขอโทษครับ ผมไปก่อนนะครับ |
ไวยากรณ์
การวางคำในประโยคภาษาเกาหลีมีลักษณะใกล้เคียงกับการเรียงในภาษาญี่ปุ่นและภาษาตุรกีรวมไปถึงภาษาในประเทศอินเดีย โดยเรียงลำดับคำในประโยคเป็น "ประธาน-กรรม-กริยา" ซึ่งแตกต่างกับประโยคในภาษาไทยที่เป็น "ประธาน-กริยา-กรรม" เช่นประโยค "ฉันกินข้าว" ในภาษาไทย จะเขียนลำดับเป็น "ฉันข้าวกิน" [나는 밥을 먹는다.] ในภาษาเกาหลี
ภาษาเกาหลีมีคำช่วยเพื่อบอกหน้าที่ของคำต่างๆ ในประโยค เช่น เป็นคำช่วยที่ใช้วางหลังสถานที่เพื่อระบุตำแหน่ง และ 가 หรือ 를 เป็นคำช่วยที่วางหลังคำเพื่อระบุว่าคำนั้นเป็นประธานของประโยค เป็นต้น นอกจากนี้ภาษาเกาหลียังมีการผันรูปกริยาหลายรูปแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงกาลเทศะ เช่น ระดับความสุภาพและความเป็นทางการของประโยค สภาพกาลของประโยคว่าเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน
การเทียบเสียง
ในภาษาเกาหลี ได้มีการกำหนดระบบในการถอดอักษรเกาหลีเป็นอักษรโรมันไว้ โดยเป็นที่นิยมมาก 2 ระบบ คือ ระบบกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี 2000 ระบบที่ใช้อย่างเป็นทางการในประเทศเกาหลีใต้ปัจจุบัน และ ระบบแมกคูน-ไรซ์ชาวเออร์ ใช้ในประเทศเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการในปัจจุบัน และเคยใช้ในเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการในช่วง พ.ศ. 2527-2543
อ้างอิง
- Sohn, H.-M. (1999). The Korean Language. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-36943-5.
- Song, J.J. (2005). The Korean Language: Structure, Use and Context. London: Routledge. ISBN 0-415-32802-0.
- ↑ ภาษาเกาหลี ที่ Ethnologue (17th ed., 2013)
หนังสืออ่านเพิ่ม
- Chang, Suk-jin (1996). Korean. Philadelphia: John Benjamins Publishing Company. ISBN 1556197284. (Volume 4 of the London Oriental and African Language Library).
- Hulbert, Homer B. (1905): A Comparative Grammar of the Korean Language and the Dravidian Dialects in India. Seoul.
- Lee, Ki-Moon Lee and S. Robert Ramsey. A History of the Korean Language (Cambridge University Press; 2011) 352 pages.
- Martin, Samuel E. (1966): Lexical Evidence Relating Japanese to Korean. Language 42/2: 185–251.
- Martin, Samuel E. (1990): Morphological clues to the relationship of Japanese and Korean. In: Philip Baldi (ed.): Linguistic Change and Reconstruction Methodology. Trends in Linguistics: Studies and Monographs 45: 483-509.
- Miller, Roy Andrew (1971): Japanese and the Other Altaic Languages. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 0-226-52719-0.
- Miller, Roy Andrew (1996): Languages and History: Japanese, Korean and Altaic. Oslo: Institute for Comparative Research in Human Culture. ISBN 974-8299-69-4.
- Ramstedt, G. J. (1928): Remarks on the Korean language. Mémoires de la Société Finno-Oigrienne 58.
- Rybatzki, Volker (2003): Middle Mongol. In: Juha Janhunen (ed.) (2003): The Mongolic languages. London: Routledge. ISBN 0-7007-1133-3: 47–82.
- Starostin, Sergei A.; Anna V. Dybo; Oleg A. Mudrak (2003): Etymological Dictionary of the Altaic Languages, 3 volumes. Leiden: Brill Academic Publishers. ISBN 90-04-13153-1.
- Sohn, H.-M. (1999): The Korean Language. Cambridge: Cambridge University Press.
- Sohn, Ho-Min (2006). Korean Language in Culture and Society. Boston: Twayne Publishers. ISBN 9780824826949.
- Song, J.-J. (2005): The Korean Language: Structure, Use and Context. London: Routledge.
- Trask, R. L. (1996): Historical linguistics. Hodder Arnold.
- Vovin, Alexander: Koreo-Japonica. University of Hawai'i Press.
- Whitman, John B. (1985): The Phonological Basis for the Comparison of Japanese and Korean. Unpublished Harvard University Ph.D. dissertation.
ดูเพิ่ม
- วิกิพีเดีย:คู่มือการเขียน/การทับศัพท์ภาษาเกาหลี
- การถอดอักษรเกาหลีเป็นอักษรโรมัน
- ภาษาเกาหลีไซนิจิ (ญี่ปุ่น: 在日朝鮮語; โรมาจิ: ไซนิจิโจวเซนโงะ) ภาษาเกาหลีที่ใช้พูดในกลุ่มชาวเกาหลีที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งมีความใกล้เคียงกับภาษาเกาหลีทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี แต่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาญี่ปุ่น
- ภาษาโครยอ-มาร์ (ซีริลลิก:Корё маль โกรยอมัล) ภาษาเกาหลีที่ใช้พูดโดยชาวโกรยอ-ซารัม (ซีริลลิก: Корё сарам, ฮันกึล: 고려사람) ผู้สืบเชื้อสายเกาหลีในเอเชียกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำมาจากเกาหลีเหนือเพื่อนำมาใช้แรงงาน โดยภาษานี้ได้อักษรซีริลลิกในการเขียน
- ภาษาเกาหลีถิ่นจีน (จีน:中國朝鮮) เป็นกลุ่มชาวจีนเชื้อสายเกาหลีที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลีที่มีเขตแดนต่อกับเกาหลีเหนือ ใช้สำเนียงใกล้เคียงกับเกาหลีเหนือ
แหล่งข้อมูลอื่น
- Linguistic and Philosophical Origins of the Korean Alphabet (Hangul)
- Sogang University free online Korean language and culture course
- Beginner's guide to Korean for English speakers เก็บถาวร 2019-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- U.S. Foreign Service Institute Korean basic course
- asianreadings.com, Korean readings with hover prompts
- Linguistic map of Korea
- dongsa.net, Korean verb conjugation tool
- Hanja Explorer, a tool to visualize and study Korean vocabulary
- ภาษาเกาหลี ที่เว็บไซต์ Curlie