อาสนวิหารแร็งส์
อาสนวิหารแร็งส์ | |
---|---|
อาสนวิหารแม่พระแห่งแร็งส์ | |
ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Reims | |
ส่วนหน้าของอาสนวิหาร มองทางตะวันออกเฉียงเหนือ | |
49°15′13″N 4°2′3″E / 49.25361°N 4.03417°E | |
ที่ตั้ง | Place du Cardinal Luçon, 51100 แร็งส์ ประเทศฝรั่งเศส |
ประเทศ | ฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ | |
สถานะ | อาสนวิหาร |
อุทิศแก่ | แม่พระแห่งแร็งส์ |
บุคคลที่เกี่ยวข้อง | พระเจ้าโคลวิสที่ 1 |
สถาปัตยกรรม | |
สถานะการใช้งาน | ใช้งาน |
สถาปนิก | Jean d'Orbais Jean-le-Loup Gaucher of Reims Bernard de Soissons |
ประเภทสถาปัตย์ | โบสถ์ |
รูปแบบสถาปัตย์ | High Gothic |
ปีสร้าง | 1211–1345 |
งานฐานราก | ค.ศ. 1211 |
แล้วเสร็จ | ค.ศ. 1275 |
โครงสร้าง | |
อาคารยาว | 149.17 m (489.4 ft) |
พื้นที่ใช้สอย | 6,650 m2 (71,600 sq ft) |
จำนวนหอคอย | 2 |
ความสูงหอคอย | 81 m (266 ft) |
ระฆัง | 2 (ที่หอตอนใต้) |
การปกครอง | |
อัครมุขมณฑล | แร็งส์ (ที่ตั้ง) |
นักบวช | |
อัครมุขนายก | Éric de Moulins-Beaufort |
Priest in charge | Jean-Pierre Laurent |
บางส่วน | อาสนวิหารแม่พระ, แอบบีแซ็ง-เรมีเก่า และวังโต เมืองแร็งส์ |
เกณฑ์พิจารณา | วัฒนธรรม: i, ii, vi |
อ้างอิง | 601-001 |
ขึ้นทะเบียน | 1991 (สมัยที่ 15th) |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | Cathédrale Notre-Dame |
ขึ้นเมื่อ | 1862, 1920[1] |
อาสนวิหารแร็งส์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Reims) หรือชื่อทางการว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งแร็งส์ (Cathédrale Notre-Dame de Reims) เป็นอาสนวิหารสำคัญของเมืองแร็งส์ จังหวัดมาร์น ประเทศฝรั่งเศส ที่เคยใช้ในพิธีสวมมงกุฎกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส อาสนวิหารที่เห็นในปัจจุบันสร้างบนฐานของวิหารเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ไปเมื่อ ค.ศ. 1211 โดยคาดการณ์ว่าวิหารเดิมนั้นมีอายุราวช่วงปี ค.ศ. 400 อาสนวิหารเป็นที่ตั้งของอัครมุขมณฑลแห่งแร็งส์
อาสนวิหารแร็งส์เป็นสถานที่ที่พระเจ้าโคลวิสที่ 1 ผู้ถือกันว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของฝรั่งเศสได้ทำพิธีรับศีลจุ่มจากนักบุญเรมี บาทหลวงของเมืองแร็งส์เมื่อค.ศ. 496
นับตั้งแต่มีกฎหมายแยกศาสนจักรกับอาณาจักรใน ค.ศ. 1905 อาสนวิหารนี้ถือครองโดยรัฐ โดยมีข้อตกลงกับคริสตจักรให้ใช้งานในโอกาสพิเศษ ทางรัฐฝรั่งเศสเป็นผู้จ่ายค่าบูรณะและค่าบำรุงรักษา[2] มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมอาสนวิหารนี้ประมาณหนึ่งล้านคนทุกปี[3] และได้รับสถานะแหล่งมรดกโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1991[2]
การก่อสร้าง
อาสนวิหารสร้างเสร็จเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ยกเว้นด้านหน้าซึ่งมาเสร็จเอาอีกศตวรรษหนึ่งต่อมา แต่ยังเป็นสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทางเดินกลางขยายให้ยาวขึ้นเพื่อให้มีเนื้อที่เพียงพอกับผู้ที่เข้าร่วมพิธีสวมมงกุฎ หอสูง 81 เมตรย่อจากแบบเดิมที่ออกแบบให้สูง 120 เมตร หอด้านใต้มีระฆังสองใบ ใบหนึ่งคาร์ดินาลแห่งลอแรนตั้งชื่อให้ว่า "ชาร์ล็อต" เมื่อปีค.ศ. 1570 ซึ่งหนักกว่า 10,000 กิโลกรัมหรือ 11 ตัน
เมื่อปี ค.ศ. 1875 รัฐสภาแห่งประเทศฝรั่งเศสอนุมัติเงินจำนวน 80,000 ปอนด์เพื่อปฏิสังขรณ์ด้านหน้าอาสนวิหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของอาสนวิหาร และนับว่าเป็นงานฝีมือชิ้นเอกจากยุคกลาง เมื่ออาสนวิหารโดนระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ได้ทำลายบริเวณสำคัญ ๆ ของอาสนวิหารไปมาก การบูรณปฏิสังขรณ์เริ่มอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1919 และมาเสร็จเมื่อในปี ค.ศ. 1938 โดยงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ แต่การบูรณะก็ยังทำต่อเนื่องกันมาโดยมิได้หยุดยั้งจนทุกวันนี้
ภายนอก
ประตูทางเข้าด้านหน้ามีสามบาน แต่ละบานเต็มไปด้วยรูปปั้นทั้งใหญ่และเล็กประดับ ประตูกลางอุทิศแด่พระแม่มารีย์ เหนือประตูแทนที่จะเป็นหน้าบันหินแกะสลัก กลับเป็นกระจกโรซาสกรอบประตูเป็นซุ้มโค้งที่ประกอบไปด้วยรูปปั้น เหนือระดับประตูเป็นระเบียงตรงกลาง และด้านล่างเหนือประตูจะมีหน้าต่างกุหลาบบานใหญ่อีกบานหนึ่ง ถัดขึ้นไปจากนั้นเป็นระเบียงรูปปั้นพระเจ้าแผ่นดิน (gallery of the kings) ซึ่งมีรูปปั้นพระเจ้าโคลวิสที่ 1 รับศึลจุ่มอยู่ตรงกลาง
ด้านหน้าทางแขนกางเขนด้านเหนือและใต้ตกแต่งด้วยรูปปั้น ทางด้านเหนือเป็นบาทหลวงของแร็งส์ การตัดสินครั้งสุดท้าย และรูป "พระเยซูผู้งดงาม" ทางด้านใต้เป็นหน้าต่างกุหลาบสมัยใหม่เรื่องศาสดาและสาวก 12 องค์ เมื่อปี ค.ศ. 1481 ไฟไหม้หลังคาวัดและทำลายหอคอยสี่หอที่สูงกว่าหลังคาจนราบลงมาแค่ระดับหลังคา เหนือบริเวณสงฆ์ขึ้นไปเป็นหอระฆังไม้หุ้มด้วยตะกั่วสูง 18 เมตรสร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 และซ่อมเมื่อปี ค.ศ. 1920
ภายใน
ทางเดินกลางของอาสนวิหารยาว 138.75 เมตร กว้าง 30 เมตร สูง 38 เมตร ทางเดินกลางขนาบด้ายทางเดินข้าง แขนกางเขนก็เป็นทางเดินหลายช่อง บริเวณสงฆ์เป็นทางเดินคู่ หลังมุขมีทางเดินรอบ และคูหาสวดมนต์กระจายออกไปทางด้านหลัง ภายในมีหน้าต่างประดับกระจกสีที่สร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 20 ประดับ
นอกจากนั้นทางอาสนวิหารยังมีพรมทอแขวนผนัง ชุดที่มีค่าที่สุดถวายให้แก่วัดโดยรอแบร์ เดอ เลอนงกูร์ ผู้เป็นอัครบาทหลวงในสมัยพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 เป็นเรื่องพระแม่มารี ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่วังโตซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของบาทหลวง ทางด้านเหนือแขนกางเขนมีออร์แกนในตู้แบบกอทิกวิจิตร (Flamboyant Gothic) นาฬิกาที่ตกแต่งด้วยกลไกที่สวยงาม และงานหน้าต่างประดับกระจกสีโดยมาร์ก ชากาล ศิลปินมีชื่อเสียงชาวรัสเซีย-ฝรั่งเศส ติดตั้งเมื่อ ค.ศ. 1974
อาสนวิหารแร็งส์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1862
อาสนวิหารแร็งส์ได้รับเลือกโดยองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1991
ระเบียงภาพ
-
ยอด Chevet เหนือบริเวณพิธีด้านตะวันออก
-
พระเยซูแกะนูนในภาพการตัดสิน
ครั้งสุดท้ายบนหน้าบัน -
แกะนูนของอับราฮัมอุ้มผู้ทำดีขึ้นสวรรค์ในการตัดสิน
ครั้งสุดท้ายบนหน้าบัน -
นักบุญเรมีทำพิธีศีลจุ่มให้
พระเจ้าโคลวิสที่ 1 -
อับราฮัมสละอิสอัคผู้เป็นลูก
-
ประติมากรรมกอทิกตกแต่ง
ด้านหน้าอาสนวิหาร - เทวดายิ้ม -
ทางเดินกลางมองไปทาง
ตะวันตกจะเห็นหน้าต่างกุหลาบสองบานซ้อนกัน -
หน้าต่างกุหลาบเหนือประตูทางเข้าด้านตะวันตก
มองจากด้านใน
อ้างอิง
- ↑ French Ministry of Culture: Cathédrale Notre-Dame.
- ↑ 2.0 2.1 Kurmann & Villes 2001, p. 23.
- ↑ Reims Cathedral page on culture.fr เก็บถาวร 2016-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
แหล่งข้อมูลอื่น
- (ในภาษาฝรั่งเศส) เว็บไซต์ทางการ
- อาสนวิหารแร็งส์ ที่ archINFORM