รัฐประหาร 18 ฟรุกตีดอร์

รัฐประหาร 18 ฟรุกตีดอร์
ส่วนหนึ่งของ การปฏิวัติฝรั่งเศส

นายพล ชาร์ล-ปีแยร์ โอเฌอโร นำกำลังเข้ายึดพระราชวังตุยเลอรีเพื่อจับกุมชาร์ล ปีเชอกรูว์ และบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่า วางแผนล้มล้างสาธารณรัฐ
วันที่4 กันยายน ค.ศ. 1797
สถานที่
ผล

ชัยชนะของฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ

  • การจบบทบาทของฝ่ายเสียงข้างมากที่นิยมกษัตริย๋ในองค์นิติบัญญัติ
  • การปราบปรามกลุ่มเกลิบเดอกลีชี
  • การจำคุกและเนรเทศบุคคลหลายคนที่นิยมกษัตริย์
คู่สงคราม
คณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส ฝ่ายนิยมราชวงศ์ในสภาห้าร้อยและสภาผู้อาวุโส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

ฝ่ายการเมือง:
ฌ็อง-ฟร็องซัว เรอแบล
หลุยส์ มารี เดอ ลา เรแวลีแยร์-เลโป
ปอล บารัส


ฝ่ายทหาร:
ชาร์ล-ปีแยร์ โอเฌอโร
ลาซาร์ อ็อช
ฟร็องซัว-มารี มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี
ชาร์ล ปีเชอกรูว์
ฟร็องซัว บาร์เบ-มาร์บัว[1]
กำลัง
ทหาร 30,000 คน[1]
ความสูญเสีย
  • ถูกเนรเทศไปกาแยน 65 คน
  • ถูกจำคุก 18 คน
  • หนีรอด 3 คน

รัฐประหารในวันที่ 18 ฟรุกตีดอร์ ปี 5 (ฝรั่งเศส: coup d'État du 18 fructidor an V) ตรงกับวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1797 ในปฏิทินสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นการยึดอำนาจการปกครองในสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ผู้ก่อการ คือ สมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น โดยได้การสนับสนุนจากกองทัพฝรั่งเศส[2] รัฐประหารครั้งนี้มีสาเหตุมาจากผลการเลือกตั้งเมื่อหลายเดือนก่อนหน้า ซึ่งทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่นิยมราชวงศ์ได้รับตำแหน่งส่วนใหญ่ในองค์กรนิติบัญญัติ นำไปสู่ความหวาดกลัวว่า จะเกิดการรื้อฟื้นราชวงศ์บูร์บงและการหวนคืนสู่ระบอบเก่า[3] ปอล บารัส (Paul Barras), ฌ็อง-ฟร็องซัว เรอแบล (Jean-François Reubell) และหลุยส์ มารี เดอ ลา เรแวลีแยร์-เลโป (Louis Marie de La Révellière-Lépeaux) สมาชิกคณะดีแร็กตัวร์สามในห้าคน พร้อมด้วยการสนับสนุนจากชาร์ล มอริส เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord) รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ[4] เป็นผู้ดำเนินการรัฐประหาร มีผลเป็นการยกเลิกการเลือกครั้งที่ผ่านมาและขับผู้นิยมกษัตริย์ออกจากสภานิติบัญญัติ[5]

ภูมิหลัง

ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1795 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่นิยมราชวงศ์ได้ตำแหน่งถึง 87 ตำแหน่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งประกอบด้วยสภาห้าร้อย (Conseil des Cinq-Cents) กับสภาผู้อาวุโส (Conseil des Anciens) จากฝ่ายนิยมสาธารณรัฐไปเป็นฝ่ายนิยมราชวงศ์[1] หลังจากนั้นไม่นาน เสียงข้างมากกลุ่มใหม่นี้ก็ยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนักบวชผู้ไม่กระทำสัตย์ปฏิญาณตามธรรมนูญทางแพ่งสำหรับคณะสงฆ์ (Constitution civile du clergé) และที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มเอมีเกร (emigré) ทั้งยังเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาลฌากอแบ็ง[1]

ภายใต้สภาวะที่ฝ่ายนิยมราชวงศ์มีเสียงข้างมากเช่นนี้ ฟร็องซัว-มารี มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี (François-Marie, marquis de Barthélemy) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า นิยมกษัตริย์ ก็ได้รับเลือกจากองค์กรนิติบัญญัติให้เข้าเป็นสมาชิกคณะดีแร็กตัวร์แทนที่เอเตียน-ฟร็องซัว เลอตูร์เนอร์ (Étienne-François Letourneur) ที่พ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ฟร็องซัว บาร์เบ-มาร์บัว (François Barbé-Marbois) ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้อาวุโส[1] และฌ็อง-ชาร์ล ปีเชอกรูว์ (Jean-Charles Pichegru) ซึ่งมีความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้เห็นใจในระบอบกษัตริย์และการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาห้าร้อย[2]

การยึดอำนาจ

คณะดีแร็กตัวร์หลังยึดอำนาจ

หลังจากที่นายพล นาปอเลอง บอนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ส่งเอกสารเกี่ยวกับแผนการกบฏของปีเชอกรูว์ให้แก่คณะดีแร็กตัวร์ คณะดีแร็กตัวร์จึงเห็นว่า องค์กรนิติบัญญัติทั้งหมดกำลังวางแผนล้มล้างสาธารณรัฐ จึงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยในเช้าตรู่วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1797 มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วปารีส และมีการออกกฤษฎีกาว่า ผู้ใดสนับสนุนการนิยมกษัตริย์ หรือการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ ฉบับ ค.ศ. 1793 ต้องถูกยิงทิ้งทันทีโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน และเพื่อสนับสนุนการยึดอำนาจของคณะดีแร็กตัวร์ในครั้งนี้ นายพล ลาซาร์ อ็อช (Lazare Hoche) ผู้บัญชาการกองทหารบกแห่งซ็องบร์และเมิซ (Armée de Sambre-et-Meuse) นำกำลังเข้ามาในปารีส และบอนาปาร์ตก็ส่งทหารในสังกัดของชาร์ล-ปีแยร์ โอเฌอโร (Charles-Pierre Augereau) เข้ามาเช่นกัน[3] จากนั้น มีการจับกุมฝ่ายนิยมราชวงศ์[2] เช่น ปีเชอกรูว์, มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี และดอมีนิก-แว็งซ็อง ราแมล-นอกาแร (Dominique-Vincent Ramel-Nogaret) ส่วนลาซาร์ การ์โน (Lazare Carnot) หนีรอดไปได้แต่ถูกจับในภายหลัง มีการเนรเทศผู้ถูกจับกุม 65 คน ซึ่งรวมปีเชอกรูว์, มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี และการ์โน ไปยังกาแยน (Cayenne) อนึ่ง นักบวชราว 1,320 รูปก็ถูกเนรเทศด้วยข้อหาว่า "สมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านสาธารณรัฐ"[1] นอกจากนี้ มีประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้งในจังหวัดทั้ง 49 แห่งของฝรั่งเศส ส่วนตำแหน่งประธานสภาทั้ง 2 ขององค์กรนิติบัญญัตินั้น มีการตั้งฟีลิป อ็องตวน กงต์แมร์แล็ง (Philippe Antoine, comte Merlin) กับนีกอลา-หลุยส์ ฟร็องซัว เดอ เนอชาโต (François de Neufchâteau) เข้าแทน[4]

เหตุการณ์ภายหลัง

หลังจากนั้น 2 ปี มีรัฐประหาร 30 แพรรียาล ปี 7 (coup d'État du 30 prairial an VII) ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1799 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 7 (Constitution de l'an VIII) ในวันที่ 24 ธันวาคม ปีเดียวกัน เป็นอันยุติยุคสมัยแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นผลให้นายพล นาปอเลอง บอนาปาร์ต ได้เข้าสู่อำนาจ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "coup d'État du 18 fructidor an V". Larousse (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 11 June 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 Doyle, William (2002). The Oxford History of the French Revolution. Oxford: Oxford University Press. p. 330. ISBN 978-0-19-925298-5.
  3. 3.0 3.1 Manière, Fabienne. "4 septembre 1797 - Coup d'État de Fructidor". Horodote (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 11 June 2021.
  4. 4.0 4.1 Bernard, pp. 193–194.
  5. Hall Stewart, John (1951). A Documentary Survey of the French Revolution (adapted). New York: Macmillan.