ราชาแห่งจักรวาล
ราชาแห่งจักรวาล (ซูเมอร์: lugal ki-sár-ra[1] or lugal kiš-ki,[2] แอกแคด: šarru kiššat māti,[1] šar-kiššati[1] or šar kiššatim[3]) หรือ ราชาแห่งสรรพสิ่ง ราชาทั้งปวง[2] ราชาของโลก[4] เป็นพระอิสริยยศอันทรงเกียรติที่ผู้ปกครองในเมโสโปเตเมียโบราณใช้อ้างสิทธิ์ในการปกครองโลก บางครั้งพระอิสริยยศนี้หมายถึงพระเป็นเจ้าตามธรรมเนียมยิว–คริสต์และศาสนาอับราฮัม
ที่มาของพระอิสริยยศนี้มาจาก "ราชาแห่งคิช" (ซูเมอร์: kiš,[5] แอกแคด: kiššatu[6]) ซึ่งเป็นตำแหน่งทรงเกียรติอยู่แล้ว คิชถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญเหนือกว่าเมืองในเมโสโปเตเมียอื่น ๆ เนื่องจากตำนานซูเมอร์กล่าวว่าคิชเป็นเมืองที่ผู้เป็นราชาเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์หลังเกิดน้ำท่วม[1] แนวคิด "ราชาแห่งคิช" เทียบเท่า "ราชาแห่งจักรวาล" ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยแอกแคด
ผู้ปกครองคนแรกที่ใช้พระอิสริยยศราชาแห่งจักรวาลคือ พระเจ้าซาร์กอนแห่งแอกแคด (ครองราชย์ประมาณ 2334–2284 ปีก่อนคริสตกาล) และสืบต่อมาโดยผู้ปกครองยุคหลังเพื่อแสดงว่าจักรวรรดิตนสืบทอดมาจากจักรวรรดิของพระเจ้าซาร์กอน[7] แอนติโอคัสที่ 1 แห่งจักรวรรดิซิลูซิด (ครองราชย์ 281–261 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายที่ใช้พระอิสริยยศนี้[8]
มีความเป็นไปได้ (อย่างน้อยในหมู่ผู้ปกครองอัสซีเรีย) ที่ตำแหน่งราชาแห่งจักรวาลไม่ได้สืบทอดตามปกติ เนื่องจากมีเพียงผู้ปกครองสมัยอัสซีเรียใหม่บางคนที่ดำรงพระอิสริยยศนี้ และบางคนได้รับหลังครองราชย์หลายปี สเตฟานี ดัลลีย์ นักอัสซีเรียวิทยาชาวบริติชเสนอในปี ค.ศ. 1998 ว่าผู้ปกครองอาจได้รับพระอิสริยยศนี้หลังประสบความสำเร็จในทำสงครามเจ็ดครั้ง และไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งนี้ได้หากปราศจากความสำเร็จ[9] พระอิสริยยศคล้ายกันคือ ราชาแห่งสี่มุม (šar kibrāt erbetti) ซึ่งมอบให้แก่ผู้ปกครองที่พิชิตสี่ทิศของโลก[10]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Levin 2002, p. 362.
- ↑ 2.0 2.1 Steinkeller 2013, p. 146.
- ↑ Roaf & Zgoll 2001, p. 284.
- ↑ Stevens 2014, p. 73.
- ↑ The Electronic Text Corpus of Sumerian Literature.
- ↑ Electronic Pennsylvania Sumerian Dictionary.
- ↑ Levin 2002, p. 365.
- ↑ Stevens, Kathryn (2014). "The Antiochus Cylinder, Babylonian Scholarship and Seleucid Imperial Ideology". The Journal of Hellenic Studies (ภาษาอังกฤษ). 134: 73. doi:10.1017/S0075426914000068. ISSN 0075-4269.
- ↑ Karlsson 2013, p. 201.
- ↑ Levin 2002, p. 360.