ราชาแห่งสี่มุม

รูปนูนพระเจ้านารัม-ซินแห่งแอกแคด ผู้สถาปนาตำแหน่ง "ราชาแห่งสี่มุมโลก"[1] ปัจจุบันรูปนูนนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีอิสตันบูล
"สี่มุมโลก" ตามคติแอกแคด

ราชาแห่งสี่มุมโลก (ซูเมอร์: lugal-an-ub-da-limmu-ba,[2] แอกแคด: šarru kibrat 'arbaim,[3] šar kibrāti arba'i,[4] หรือ šar kibrāt erbetti[5]) หรือ ราชาแห่งจตุรภาคของโลก ราชาแห่งสี่มุมสวรรค์ ราชาแห่งสี่มุมของจักรวาล[6] หรือมักเรียกเพียง ราชาแห่งสี่มุม[4][7] เป็นพระอิสริยยศอันทรงเกียรติที่ผู้ปกครองในเมโสโปเตเมียโบราณใช้อ้างสิทธิ์ คำว่า "สี่มุมโลก" ในมุมมองชาวแอกแคดหมายถึงภูมิภาคใกล้เคียงเมโสโปเตเมีย 4 แห่งที่เชื่อว่าเป็นสุดขอบโลกที่รู้จัก ณ ขณะนั้น ได้แก่ ซูบาร์ตู (อัสซีเรีย) ทางทิศเหนือ มาร์ตู (ซีเรียปัจจุบัน) ทางทิศตะวันตก เอลาม (ตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านปัจจุบัน) ทางทิศตะวันออก และซูเมอร์ทางทิศใต้[8] ราชาแห่งสี่มุมโลกจึงเทียบเท่า "ราชาแห่งทั่วโลกที่รู้จัก" กล่าวคือเป็นการอ้างสิทธิ์ปกครองเหนือทุกสิ่งและทั่วโลก

ผู้ปกครองคนแรกที่ใช้พระอิสริยยศราชาแห่งสี่มุมโลกคือ พระเจ้านารัม-ซินแห่งจักรวรรดิแอกแคด (ครองราชย์ประมาณ 2254–2218 ปีก่อนคริสตกาล)[6] และสืบต่อมาโดยผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิซูเมอร์ใหม่ก่อนจะเลิกใช้ ตำแหน่งนี้ได้รับการฟื้นฟูในสมัยอัสซีเรียและเฟื่องฟูช่วงจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ ผู้ปกครองคนสุดท้ายที่ใช้พระอิสริยยศนี้คือ พระเจ้าไซรัสมหาราชหลังตีบาบิโลนสำเร็จใน 539 ปีก่อนคริสตกาล[9][10]

มีความเป็นไปได้ (อย่างน้อยในหมู่ผู้ปกครองอัสซีเรีย) ที่ตำแหน่งราชาแห่งสี่มุมโลกไม่ได้สืบทอดตามปกติ เนื่องจากมีเพียงผู้ปกครองสมัยอัสซีเรียใหม่บางคนที่ดำรงพระอิสริยยศนี้ และบางคนได้รับหลังครองราชย์หลายปี เชื่อว่าผู้ปกครองอาจได้รับพระอิสริยยศนี้หลังพิชิตครบสี่ทิศตามเข็มทิศ[5] พระอิสริยยศคล้ายกันคือ ราชาแห่งจักรวาล (šar kiššatim) ซึ่งมีที่มาจากแอกแคดเช่นกัน และผู้ปกครองได้รับพระอิสริยยศนี้หลังประสบความสำเร็จในทำสงครามเจ็ดครั้ง

อ้างอิง

  1. Levin 2002, p. 362.
  2. Maeda 1981, p. 4.
  3. Levin 2002, p. 360.
  4. 4.0 4.1 Roaf & Zgoll 2001, p. 284.
  5. 5.0 5.1 Karlsson 2013, p. 135.
  6. 6.0 6.1 Raaflaub & Talbert 2010, p. 153.
  7. Bachvarova 2012, p. 102.
  8. The Four Quarters of the World.
  9. Cyrus Cylinder Translation.
  10. New Cyrus Cylinder Translation.