สงครามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
สงครามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในยุทธการที่อิสซัส ภาพจากงานโมเสกอเล็กซานเดอร์ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ เนเปิลส์ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา สันนิบาตโครินธ์ |
จักรวรรดิอะคีเมนิด เปารพ ชาวเธรซ ชาวอิลลีเรีย นครรัฐกรีก ซอกเดีย ชาวยูซี อาณาจักรในอินเดีย | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
อเล็กซานเดอร์มหาราช พาร์มีเนียน แอนติพาเตอร์ ทอเลมี เฮฟีสเทียน |
พระเจ้าดาไรอัสที่ 3 เบสซัส สปิทามีนีส เมเดตีส พระเจ้าโปรส |
สงครามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นสงครามระหว่างพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งราชอาณาจักรมาเกโดนีอากับผู้ปกครองหลายคนในภูมิภาคกรีซจนถึงอินเดีย สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากอเล็กซานเดอร์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าพีลิปโปสที่ 2 พระราชบิดา พระองค์เริ่มทำสงครามกับชาวเธรซและอิลลีเรียทางตอนเหนือ ก่อนจะข้ามช่องแคบเฮลเลสปอนต์เพื่อโจมตีจักรวรรดิอะคีเมนิด โดยพิชิตอานาโตเลีย, ซีเรีย, ฟินิเชีย, ยูเดียและอียิปต์ ในปี 331 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ตีทัพพระเจ้าดาไรอัสที่ 3 จนแตกพ่ายในยุทธการที่กอกามีลา เป็นการเปิดทางสู่เมืองหลวงแพร์ซโพลิสซึ่งถูกปล้นและเผา[1]
อเล็กซานเดอร์เดินทัพต่อไปยังแบคเตรีย ยึดซอกเดียนร็อก ก่อนจะข้ามเทือกเขาฮินดูกูชและแม่น้ำสินธุเพื่อเข้าสู่อินเดีย พระองค์เอาชนะทัพพระเจ้าโปรสในยุทธการที่ไฮดาสเปสในปี 326 ก่อนคริสตกาล แต่ทหารที่อ่อนล้าและหวาดกลัวต่อทัพมหึมาของจักรวรรดินันทะที่อยู่ใกล้เคียงปฏิเสธที่จะรุกต่อ[2] อเล็กซานเดอร์จึงสร้างแท่นบูชา 12 แห่งที่ริมฝั่งแม่น้ำฮิฟาซิสเพื่อระลึกถึงการขยายพระราชอำนาจของพระองค์[3] ก่อนจะยกทัพกลับโดยแต่งตั้งเซแทร็ปไว้ปกครอง เมื่ออเล็กซานเดอร์กลับมาถึงบาบิโลน พระองค์มีแผนจะบุกคาบสมุทรอาหรับ แต่สวรรคตเสียก่อนในปี 323 ก่อนคริสตกาล[4]
ปีต่อมาหลังอเล็กซานเดอร์สวรรคต เกิดสงครามไดแอโดไคซึ่งเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างนายพลของพระองค์ หลังยุทธการที่อิปซัสในปี 301 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรของอเล็กซานเดอร์ก็ถูกแบ่งแยก โดยทอเลมีครองอียิปต์ เซลิวคัสครองดินแดนฝั่งเอเชียจนถึงตะวันออกของอานาโตเลีย ไลซีมาคัสครองเธรซและตะวันตกของอานาโตเลีย ส่วนคาสแซนเดอร์ครองกรีซและมาซิดอน[5] สงครามดังกล่าวยังเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยเฮลเลนิสต์ ซึ่งวัฒนธรรมกรีกเจริญและเผยแพร่ไปไกลถึงขีดสุด[6]
อ้างอิง
- ↑ "Alexander the Great & the Burning of Persepolis". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ October 4, 2018.
- ↑ ย้อนรอยจักรวรรดิมหาอำนาจ, แอนดรูว์ เทย์เลอร์, หน้า 46, พ.ศ. 2553, เนชั่นแนล จีโอกราฟิก กรุงเทพฯ
- ↑ "The Empire and Expeditions of Alexander the Great". World Digital Library. 1833. สืบค้นเมื่อ 2013-07-26.
- ↑ "Alexander The Great". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ October 4, 2018.
- ↑ "The Battle of Ipsus". Livius.org. สืบค้นเมื่อ October 4, 2018.
- ↑ "Wars of the Diadochi". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ October 4, 2018.