สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 Benedict XVI | |
---|---|
บิชอปแห่งกรุงโรม | |
สมณนาม | Papa Emeritus Benedictus XVI (ละติน) |
เริ่มวาระ | 19 เมษายน ค.ศ. 2005 |
สิ้นสุดวาระ | 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 |
องค์ก่อน | สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 |
องค์ถัดไป | สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระนามเดิม | โยเซฟ อาโลอิส รัทซิงเงอร์ |
ประสูติ | 16 เมษายน ค.ศ. 1927 บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี |
สิ้นพระชนม์ | 31 ธันวาคม ค.ศ. 2022 นครรัฐวาติกัน[1] | (95 ปี)
ข้อมูลอื่น | |
บวชเมื่อ | 29 มิถุนายน ค.ศ. 1951 |
พระอภิไธย |
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (ละติน: Benedictus XVI, อังกฤษ: Benedict XVI) อดีตประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นชาวเยอรมัน มีพระนามเดิมว่า โยเซฟ รัทซิงเงอร์ (เยอรมัน: Joseph Ratzinger) (เกิดเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2470 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565[2])
วัยเด็ก
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเป็นบุตรของโยเซฟ และมาเรีย รัทซิงเงอร์ ประสูติในหมู่บ้านมาร์เคลท์ อัม อินน์ (Marktl am Inn) ในรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ไม่ไกลจากชายแดนประเทศออสเตรีย ทรงมีพี่น้อง 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิงชื่อมาเรีย (เช่นเดียวกับพระชนนีของพระองค์) อีกคนหนึ่งเป็นพี่ชายคนโต ชื่อ เกออร์ก รัทซิงเงอร์ (บวชเป็นบาทหลวงเช่นเดียวกับพระองค์) พระองค์ได้เข้าไปศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นบาทหลวงในเซมินารี ในเมือง Traunstein เมื่อปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น พระองค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ (เด็กชายทุกคนในปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ต้องเข้าร่วม) เมื่อกองทัพเยอรมันต้องการกำลังทหาร พระองค์ก็ถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นพลปืนต่อต้านอากาศยาน ซึ่งพระองค์มีหน้าที่ดูแลเครื่องบินและต่อมาทรงย้ายไปประจำที่ศูนย์สื่อสารทางโทรศัพท์ ต่อมาในปี 1944 (พ.ศ. 2487) พระองค์และเพื่อนร่วมชั้นก็ออกจากกองต่อต้านอากาศยาน แต่กลับถูกเกณฑ์อีกครั้งเพื่อไปประจำที่ชายแดนซึ่งติดต่อกับประเทศฮังการี พระองค์มีหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ป้องกันกองทัพรถถังโซเวียต ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น พระองค์ก็ออกจากกองทัพและมุ่งหน้ากลับบ้าน สามสัปดาห์ผ่านไปพระองค์ก็ได้รับหมายเรียกให้รับการฝึกเป็นทหารราบ แต่ทรงไม่เคยต้องออกไปยังแนวหน้า
ในเดือนเมษายน 1945 (พ.ศ. 2488) (ก่อนหน้านาซีจะยอมแพ้ไม่นาน) พระองค์ก็หนีทัพและกลับไปยังหมู่บ้านของพระองค์ แต่ภายหลังสงคราม พระองค์ถูกจับในฐานะเชลยเนื่องจากทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสรุปว่าพระองค์เป็นทหาร พระองค์ต้องไปเข้าค่ายกักกันเชลยศึก พระองค์ออกจากค่ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2488 พระองค์ได้เริ่มเดินด้วยเท้าเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตรเพื่อกลับหมู่บ้าน แต่ได้รับการช่วยเหลือจากรถส่งนมที่พาพระองค์ไปส่งที่เมืองเธราน์ชไตน์ (Traunstein) เมื่อพระองค์กลับถึงบ้าน ก็ได้พบกับพี่ชายซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากค่ายเชลยศึกในประเทศอิตาลีเช่นเดียวกัน
การศึกษา
ในปี 1945 (พ.ศ. 2488) หลังจากที่พระองค์กลับถึงบ้าน พระองค์ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่เซมินารีแห่งหนึ่งในเมืองไฟรซิงก์ (Freising) หลังจากนั้นก็ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยลุดวิก-มักซีมีเลียน (Ludwig-Maximilian) ในเมืองมิวนิก ในที่สุด เมื่อปี 1951 (พ.ศ. 2494) พระองค์ก็ได้บวชเป็นบาทหลวงโดยมีพระคาร์ดินัลมีคาเอล ฟอน เฟาล์ฮาเบอร์ อาร์ชบิอปแห่งมิวนิกในขณะนั้นเป็นผู้โปรดศีลอนุกรม ระหว่างนั้นพระองค์ยังทรงเขียนวิทยานิพนธ์ขึ้น 2 ฉบับ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป (เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2496) และนักบุญโบนาเวนตูรา (เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2500) ในปี 1958 (พ.ศ. 2501) พระองค์ก็ได้เป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยไฟรซิงก์
งานทางศาสนา
ต่อมาพระองค์เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2506 เมื่อพระองค์ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยมึนสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) พระองค์ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาเทววิทยา ณ มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (Tübingen) ระหว่างนี้เองที่พระองค์ได้เห็นขบวนการมากมายที่อาจทำให้คำสอนของคาทอลิกผิดเพื้ยนไป เช่นขบวนการเรียกร้องสิทธิของพวกรักร่วมเพศ ปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) พระองค์ก็กลับไปยังรัฐบาวาเรีย บ้านเกิดของพระองค์เพื่อไปสอนที่มหาวิทยาลัยเรเกนสบูร์ก (Regensburg)
ในปี 1972 (พ.ศ. 2515) พระองค์ได้ร่วมกับฮันส์ เอิร์ส วอน บาลธาซาร์, อองริ เดอ ลูบัค และวอลเตอร์ แกสแปร์ ก่อตั้งวารสารทางศาสนาขึ้นมาชื่อว่าคอมมูนิโอ (Communio, ปัจจุบันวารสารนี้ตีพิมพ์ใน 17 ภาษา และเป็นหนึ่งวารสารคาทอลิกที่สำคัญที่สุด) พระองค์ยังเป็นผู้ที่เขียนบทความลงในวารสารนี้อีกด้วย
พระคาร์ดินัล
ในเดือนมีนาคม 1977 (พ.ศ. 2520) ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งมิวนิก และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 (ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาใน พ.ศ. 2548 พระองค์เป็นหนึ่งในพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือก 3 คนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2)
25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 แต่งตั้งให้เป็นสมณมนตรีว่าการสมณะกระทรวงหลักความเชื่อ นอกจากนี้ยังทรงเคยดำรงตำแหน่ง
- ประธานคณะกรรมการพระคัมภีร์
- คณะกรรมการเทววิทยาระดับนานาชาติในสันตะสำนัก
- ผู้ประสานงานสมัชชามุขนายก ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2526)
- ประธานของผู้แทนมุขนายก ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2526)
6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล
30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ได้รับเลือกเป็นหัวหน้า (Dean) คณะพระคาร์ดินัล
พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2535 เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก
10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมาเรียซานติสสิมาอัสสุนตา Maria Santissima Assunta
13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ในสันตะสำนัก (Pontifical Academy of Sciences)
ทรงเคยเป็นสมาชิกในคณะกรรมการสมณกระทรวงของสันตะสำนัก (Curial Membership)
- สมณะกระทรวงคริสตจักรตะวันออก
- สมณะกระทรวงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์
- สมณะกระทรวงมุขนายก
- สมณะกระทรวงการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน
- สมณะกระทรวงการศึกษาคาทอลิก
และเลขาธิการของนครรัฐวาติกัน (Second Section) ด้านความสัมพันธ์กับรัฐอื่น
เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา
หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 เมษายน 2548 พระองค์ก็ทรงได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2548 เมื่อพระชนมายุ 78 พรรษา เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาที่มีอายุมากที่สุดที่เคยได้รับเลือก นับตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 (พ.ศ. 2273) และเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาชาวเยอรมันพระองค์แรกตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 (1522–1523) (สมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 ทรงเป็นชาวเยอรมันด้วย เพราะในสมัยของพระองค์ เนเธอร์แลนด์รวมอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปกครองโดยบรรพบุรุษของชาวเยอรมันในปัจจุบัน) (สมเด็จพระสันตะปาปาองค์สุดท้ายก่อนหน้าพระองค์ที่มาจากดินแดนที่อยู่ในเขตเยอรมนีปัจจุบันคือสมเด็จพระสันตะปาปาวิกเตอร์ที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งในปี 1055-1057)
การเลือกตั้งพระสันตะปาปาคราวนี้ใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น และมีการลงคะแนนทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งที่ผ่าน ๆ มา
สละสมณศักดิ์
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ฮิส โฮลิเนส (ฝ่าพระบาท) |
การขานรับ | ยัวร์ โฮลิเนส (เกล้ากระหม่อม พะย่ะค่ะ/เพคะ) |
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สำนักวาติกันมีแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จะทรงสละตำแหน่งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เนื่องจากมีพระชนมายุมากขึ้นจึงไม่ทรงสามารถปฏิบัติพระกรณียกิจได้อย่างเต็มที่[3][4][5] นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 11 ที่สละตำแหน่ง เมื่อสละตำแหน่งแล้วจึงดำรงพระสถานะเป็นสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ
เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาที่มีพระชนมายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ แซงหน้าสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ที่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2446[6]
อ้างอิง
- ↑ "Former Pope Benedict XVL dies at 95". BBC (ภาษาอังกฤษ). 31 December 2022. สืบค้นเมื่อ 31 December 2022.
- ↑ "Former Pope Benedict XVL dies at 95". BBC (ภาษาอังกฤษ). 31 December 2022. สืบค้นเมื่อ 31 December 2022.
- ↑ "Pope resigns, saying no longer has strength to fulfil ministry". Reuters. February 11, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-12. สืบค้นเมื่อ February 11, 2013.
- ↑ "Pope Benedict XVI in shock resignation". BBC. February 11, 2013. สืบค้นเมื่อ February 11, 2013.
- ↑ "Pope Benedict XVI announces his resignation at end of month". Vatican Radio. February 11, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-13. สืบค้นเมื่อ February 11, 2013.
- ↑ "Benedicto XVI es ya el papa más anciano de toda la historia". www.msn.com (ภาษาสเปน). DW News. สืบค้นเมื่อ 3 September 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 | พระสันตะปาปา (พ.ศ. 2548 — 2556) |
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส |