เสือลายเมฆบอร์เนียว
เสือลายเมฆบอร์เนียว ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีนตอนต้นถึงปัจจุบัน | |
---|---|
เสือลายเมฆบอร์เนียวที่แม่น้ำกีนาบาตางันตอนล่าง รัฐซาบะฮ์ตะวันออก ประเทศมาเลเซีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ Carnivora |
อันดับย่อย: | เฟลิฟอเมีย Feliformia |
วงศ์: | เสือและแมว Felidae |
สกุล: | สกุลเสือลายเมฆ (G. Cuvier, 1823) |
สปีชีส์: | Neofelis diardi |
ชื่อทวินาม | |
Neofelis diardi (G. Cuvier, 1823) | |
ชนิดย่อย | |
| |
แผนที่แสดงที่อยู่อาศัยของเสือลายเมฆบอร์เนียวใน ค.ศ. 2016[1] |
เสือลายเมฆบอร์เนียว หรือ เสือลายเมฆซุนดา (อังกฤษ: Bornean clouded leopard, Sunda clouded leopard, Sundaland clouded leopard; ชื่อวิทยาศาสตร์: Neofelis diardi) แต่เดิมเคยจัดอยู่เป็นชนิดย่อยของเสือลายเมฆ (N. nebulosa) แต่ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 2006 ทางกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้ยอมรับให้เป็นเสือชนิดใหม่ของโลก ด้วยว่ามีความแตกต่างจากเสือลายเมฆธรรมดา และแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 จากผลการวิจัยทางพันธุกรรมจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา [2]
เสือลายเมฆบอร์เนียว มีรูปร่างและลวดลายคล้ายเสือลายเมฆธรรมดา แต่ลวดลายที่มองดูคล้ายก้อนเมฆเล็กกว่า และมีสีเข้มกว่า และขนาดรูปร่างก็จะใหญ่กว่าเล็กน้อย มีเขี้ยวยาว 3.8–4.5 เซนติเมตร นับว่ายาวที่สุดในบรรดาเสือทั้งหมดในโลกที่ยังหลงเหลืออยู่ ด้านหลังเขี้ยวคมมาก ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 750–1,100 มิลลิเมตร
มีพฤติกรรมที่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่มีรายงาน พบว่าอาศัยและหากินบนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ ข้อเท้าแข็งแรงมาก จนสามารถโหนกิ่งไม้ด้วยขาหลังเพียงอย่างเดียวแล้วปล่อยให้หัวห้อยลงมาได้ สามารถไต่กิ่งไม้แบบห้อยตัวอยู่ใต้กิ่งไม้ที่เอนเกือบขนานกับพื้นได้ เปรียบเทียบฝีมือการปีนป่ายกับเสือดาว (Panthera pardus) แล้วเสือลายเมฆบอร์เนียวจะเก่งกว่า แม้เสือดาวจะปีนต้นไม้เก่ง แต่ก็ไม่ถนัดในการจับเหยื่อบนต้นไม้ แต่เสือลายเมฆบอร์เนียวเคยมีรายงานว่าไล่จับลิงบนต้นไม้ได้
อาหารหลักได้แก่ ลิง หรือสัตว์อื่น ๆ บนต้นไม้ หรือ เก้ง, กวาง
การกระจายพันธุ์พบที่เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียว พบซากดึกดำบรรพ์ ของเสือลายเมฆบอร์เนียวในเกาะชวาด้วย เชื่อว่าเสือชนิดนี้ได้หายไปจากชวาตั้งแต่ยุคหินใหม่แล้ว
โดยปกติเสือลายเมฆบอร์เนียวชอบอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นเขตร้อนที่คงความบริสุทธิ์มาก แต่ก็อาจพบในป่าชนิดอื่นได้เหมือนกัน เช่นในป่าชั้นสองหรือป่าที่มีการทำป่าไม้ รวมถึงป่าหญ้าหรือป่าละเมาะด้วย เคยพบในป่าชายเลนของบอร์เนียว คาดว่าเสือลายเมฆบอร์เนียวอาจอยู่ได้ที่ระดับความสูงถึง 2,000 เมตร มีฤดูผสมพันธุ์ที่ไม่แน่นอน พฤติกรรมในสถานที่เพาะเลี้ยงออกลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม–สิงหาคม เสือตัวเมียมีระยะเวลาเป็นสัดครั้งละ 6 วันและเกิดขึ้นทุก ๆ 30 วันในฤดูผสมพันธุ์ เชื่อว่าเสือลายเมฆบอร์เนียวออกลูกในโพรงไม้ที่อยู่เหนือระดับพื้นดิน แต่ก็เคยมีผู้พบเห็นเสือลายเมฆบอร์เนียวออกลูกในรังที่อยู่ในระดับพื้นดินท่ามกลางพุ่มไม้ทึบเหมือนกัน แม่เสือตั้งท้อง 86–93 วัน ลูกครอกหนึ่งมีประมาณ 1–5 ตัว ส่วนใหญ่มักมี 2 ตัว ลูกเสือแรกเกิดมีน้ำหนัก 140–170 กรัม ลืมตาเมื่ออายุ 10–12 วัน และเริ่มเดินได้เมื่ออายุ 19–20 วัน เมื่ออายุได้ 10 สัปดาห์ก็เริ่มกินเนื้อได้ หย่านมเมื่ออายุ 5 เดือน เสือวัยรุ่นจะมีสีสันเหมือนเสือเต็มวัยเมื่ออายุได้ 6 เดือน และเมื่ออายุ 10 เดือนก็จะออกเรือนหากินเองได้ เสือลายเมฆบอร์เนียวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 24–36 เดือน และจะให้กำเนิดลูกได้จนถึงอายุ 12–15 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 11 ปี แต่ตัวที่อายุมากที่สุดในกรงเลี้ยงมีอายุ 17 ปี ออกหากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันพบเจอได้น้อยมาก[3]
จำนวนในธรรมชาติ คาดว่ามีอยู่ประมาณ 700 ตัว จากข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลกระบุว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเสือลายเมฆบอร์เนียวหายไปเฉลี่ยปีละร้อยละ 10 เนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์และตัดไม้ทำลายป่า [4]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 Hearn, A.; Ross, J.; Brodie, J.; Cheyne, S.; Haidir, I. A.; Loken, B.; Mathai, J.; Wilting, A. & McCarthy, J. (2016). "Neofelis diardi". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T136603A97212874. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.
- ↑ World Wildlife Fund (2007). "New Species Declared: Clouded Leopard found on Borneo and Sumatra". ScienceDaily.
- ↑ เสือลายเมฆบอร์เนียว เก็บถาวร 2014-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โลกสีเขียว. สืบค้น 17 ตุลาคม 2556.
- ↑ ""เสือลายเมฆบอร์เนียว" โผล่กลางป่ามาเลเซีย". พีพีทีวี. 2017-11-11. สืบค้นเมื่อ 2017-11-12.
แหล่งข้อมูลอื่น
- "Sunda clouded leopard Neofelis diardi". IUCN/SSC Cat Specialist Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-25. สืบค้นเมื่อ 2022-11-12.
- "Bornean Clouded Leopard Programme".
- "Clouded Leopard Conservation and Research in Borneo". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-11-12.
- "Clouded leopard: First film of new Asia big cat species". BBC Earth News. 10 February 2010.
- "Rare leopard caught on candid camera". New Scientist.
- "Diard's clouded leopard (Neofelis diardi)". Arkive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-13.