เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558

เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2558
ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ สถานที่หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิด
สถานที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ และ ท่าสาทร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
วันที่17 สิงหาคม พ.ศ. 2558; 9 ปีก่อน (2558-08-17)[1]
18:55 น. UTC+7[1]
เป้าหมายไม่ทราบ
ประเภทระเบิด, การสังหารหมู่
อาวุธทีเอ็นที[2]
ตาย20 คน[3][4]
เจ็บ163 คน[3]
ผู้เสียหายชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ผู้ก่อเหตุไม่ทราบ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18.55 น. ตามเวลาในประเทศไทย ได้เกิดเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และในวันต่อมาได้เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดลงมาจากสะพานตากสิน บริเวณท่าเรือสาทร ทำให้เรือที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงถูกสะเก็ดระเบิดเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ[5]

เบื้องหลัง

ก่อนหน้านี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เกิดระเบิดสองครั้งบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามเหนือแยกราชประสงค์ โดยคนร้ายนำระเบิดไปวางไว้บริเวณประตูของจุดบริการด่วนมหานครสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งให้บริการด้านทะเบียนราษฏร์ มีผู้บาดเจ็บสามคน โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากการเมือง[6] และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์คาร์บอมที่ชั้นใต้ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้บาดเจ็บ 10 คน[7]

การระเบิด

ครั้งแรก

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18.55 น. เกิดระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ กลางกรุงเทพมหานคร ใกล้กับศาลท้าวมหาพรหม[2] สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่าเป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 3 กิโลกรัมบรรจุอยู่ในท่อในบริเวณศาลท้าวมหาพรหม หน่วยเก็บกู้ระเบิดไม่ทราบน้ำหนัก แต่เจ้าหน้าที่หน่วยอีโอดีวิเคราะห์ว่ามีรัศมีทำลายล้างประมาณ 100 เมตร[8]

ครั้งที่สอง

โรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ ประกาศงดการเรียนการสอนไม่นานหลังเกิดเหตุระเบิด

วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 13.30 น.[9] เกิดระเบิดใกล้ท่าเรือสาทร ฝั่งพระนคร ระเบิดภายในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระหว่างท่าสาทรและสถานีสะพานตากสิน โดยคาดว่าต้องการโยนลงท่าเรือสาทรแต่พลาดตกลงแม่น้ำ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ[10] หลังเหตุการณ์ทำให้สถาบันการศึกษาโดยรอบยกเลิกการเรียนการสอนในวันดังกล่าวทันที

การบาดเจ็บและเสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตแบ่งตามสัญชาติ[11]
สัญชาติ จำนวน
 ไทย 6 คน
 มาเลเซีย 5 คน[12]
 จีน 5 คน[13]
 ฮ่องกง 2 คน[14]
 อินโดนีเซีย 1 คน[15]
 สิงคโปร์ 1 คน[16]
รวม 20 คน
ผู้บาดเจ็บแบ่งตามสัญชาติ[17]
สัญชาติ จำนวน
 ออสเตรีย 2
 จีน 33
 ฮ่องกง 3
 อินโดนีเซีย 1
 ญี่ปุ่น 1
 มาเลเซีย 2
 มัลดีฟส์ 2
 มาลี 1
 โอมาน 2
 ฟิลิปปินส์ 2
 กาตาร์ 1
 สิงคโปร์ 3
 ไต้หวัน 3
 ไทย 60
ไม่ทราบสัญชาติ 25 คน
รวม 163 คน

ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งมาเยี่ยมชมศาลท้าวมหาพรหม[2] 12 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ[18] และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจอีก 4 ราย มีผู้บาดเจ็บจำนวน 130 คนที่เข้ารักษาตัวตามโรงพยาบาล 19 แห่ง โดยโรงพยาบาลตำรวจเป็นสถานที่รับผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวมากที่สุด[19] โรงพยาบาลราชวิถีมีผู้ป่วยอยู่ในหน่วยอภิบาล 2 ราย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มี 4 ราย

ผลกระทบ

หลังเกิดเหตุการณ์ บีทีเอสแจ้งปิดทางเดินเชื่อมสกายวอล์คระหว่างสถานีสยามถึงแยกราชประสงค์ชั่วคราว[20]และมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย

ปลัดกรุงเทพมหานครสั่งปิดการเรียนการสอนในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 มีผลต่อโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 438 แห่ง[21] เช่นเดียวกับโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ

มีการปิดการจราจรตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกสารสินและแยกชิดลมถึงแยกเฉลิมเผ่าหลังเกิดเหตุการณ์จนถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานลงพื้นที่ดำเนินการเก็บวัตถุพยานอย่างละเอียด ทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถประจำทางมากกว่า 10 เส้นทาง โดยเฉพาะสายที่ผ่านแยกราชประสงค์ ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เปิดให้บริการตามปกติ โดยจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มเพื่อเข้มงวดด้านความปลอดภัยมากขึ้น[22]

อธิบดีกรมการบินพลเรือน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ปรับระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานในสังกัดกรมการบินพลเรือน จำนวน 28 แห่ง เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับความเข้มงวดสูงสุด[23] ด้านท่าเรือแหลมฉบังได้ประกาศให้มีการยกระดับรักษาความปลอดภัยเป็นระดับ 2[24] รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถไฟฟ้ามหานครต่างเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน[25]รวมถึงการขอความร่วมมือจากผู้โดยสารไม่ให้ใส่แว่นตาดำและห้ามสวมหมวกเข้าสถานีรถไฟฟ้า และตรวจสัมภาระทุกชิ้น

มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงผู้ต้องหา นายอ๊อด พยุงวงศ์ หรือ นายยงยุทธ พบแก้ว ว่าเป็นผู้ต้องหาที่มีตัวตนจริงหรือไม่เนื่องจากไม่มีเลขบัตรประชาชน ในปี พ.ศ. 2561 ผู้ต้องหาตามหมายจับ ถูกจับกุมเพียง 3 ราย จาก 17 ราย อีก 14 รายนั้นไม่สามารถจับกุมได้

ผู้ต้องสงสัยและแรงจูงใจ

พยานเล่าว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นชายที่ทิ้งเป้าไว้ในที่เกิดเหตุ โดยมีภาพยืนยันจากกล้องวงจรปิดในบริเวณนั้น[26] ภาพดังกล่าวยังมีการเผยแผร่ในต่างประเทศด้วย เป็นภาพชายมีลักษณะตัวเตี้ยใส่เสื้อเชิ้ตสีเหลืองและทิ้งกระเป๋าเป๋สีดำลง ขณะที่ผู้ต้องสงสัยนั่งบนม้านั่งและเพียง 3-4 วินาทีต่อมาผู้ต้องสงสัยก็ลุกขึ้น และทิ้งเป้ไว้ตรงม้านั่งและเดินจากไปพร้อมทั้งมองโทรศัพท์ของเขาเอง[27] โดยผู้ต้องสงสัยเดินทางโดยตุ๊กตุ๊กและจอดบริเวณหัวลำโพง[28]

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวการโจมตีครั้งนี้เตรียมผ่านอินเทอร์เน็ตและวาดภาพสเก็ตซ์ผู้ต้องสงสัย ตำรวจยังว่ามีผู้ต้องสงสัยอีกสองคนในกล้องวงจรปิดดังกล่าว[27] รัฐบาลไทยกล่าวว่า มั่นใจว่าไม่เป็นการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ[29] ตำรวจกล่าวว่าเหตุการณ์นี้มีผู้มีส่วนร่วมอย่างน้อย 10 คน[30] คาดว่าชาวเคิร์ดร่วมกับคนไทยเป็นผู้ก่อเหตุ[31]

ต่อมา คนขับแท็กซี่ผู้หนึ่งยืนยันว่าเขารับผู้ต้องสงสัยขึ้นรถ[32] "อย่างไรก็ดีผู้ต้องสงสัยมีท่าที่จะไม่มีอาการแสดงท่าทีรีบเร่ง แต่ดูจะสงบเงียบ เหมือนลูกค้าทั่วไป และผู้ต้องสงสัยก็ไม่ใช่คนไทย โดยผู้ต้องสงสัยพูดภาษาที่ไม่ชัดเจนที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นภาษาอะไรตลอดเวลาบนรถแท็กซี่"[33][34]

รุ่งเช้าของวันที่ 18 สิงหาคม ตำรวจสัมภาษณ์วินมอเตอร์ไซค์และคนขับแท็กซี่ที่ผ่านละแวกนั้น ตำรวจได้ส่งรูปผู้ต้องสงสัยจากกล้องวงจรปิด "เมื่อตำรวจส่งรูปมาให้ผม ผมเชื่อว่าเป็นคนที่รับส่งซึ่งเป็นคนเดียวกับผู้ต้องสงสัยที่ตำรวจกำลังตามหา" นิคม ปันตุลา วินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาทร กล่าว พยานสำคัญกล่าวว่า "เขาวิ่งมาอย่างเร่งรีบ โดยพูดว่า "เร็ว ๆ" ผมกำลังขับ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเขายังเร่งให้ขับเร็วขึ้นอีก ระหว่างทาง เขาก้มดูโทรศัพท์ตลอดเวลา และคุยโทรศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าผมไม่เข้าใจที่เขาพูด ชายคนนี้ขอตลอดให้พาไปโรงแรมใกล้กับโรงพยาบาลอโศกใจกลางกรุงเทพมหานคร"[35]

ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยได้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่พูลอนันต์อพาร์ทเมนท์ เขตหนองจอก ทราบชื่อคือ อาเดม คาราดัก หรือบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด[36] แต่ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ต่อมาวันที่ 7 กันยายน ทหารได้จับกุมผู้ต้องหาอีกคน ทราบชื่อคือไมไรลี ยูซุฟู เบื้องต้นให้การรับสารภาพ ล่าสุดอาเดมให้การรับสารภาพแต่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำสารภาพดังกล่าว[37] จนเมื่อได้หลักฐานชี้ชัดจากกล้องวงจรปิดจึงสามารถยืนยันได้[38][39][40] จากนั้นในวันที่ 26 กันยายน ตำรวจพาทั้งคู่ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ[41] นำไปสู่การแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน[42]

ในวันรุ่งขึ้น ตำรวจได้ขอศาลอนุมัติหมายจับอ๊อด พยุงวงศ์ หรือยงยุทธ พบแก้ว ที่มีเบาะแสว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้ และทราบว่าเขาเคยเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ในปี พ.ศ. 2553 และเหตุระเบิดที่ซอยราษฎร์อุทิศ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์อยู่ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง (พ.ศ. 2548 - 2553 และ พ.ศ. 2556 - 2557) ตำรวจจึงยังไม่ตัดประเด็นทางการเมืองทิ้ง[43] ผู้ก่อเหตุที่ถูกออกหมายจับทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันทั้ง 2 คดี โดยมีผู้ต้องหา 17 คน มีคนไทยร่วมขบวนการ 2 คน คือ วรรณา สวนสันต์ กับยงยุทธ พบแก้ว (อ๊อด พยุงวงศ์) และจนถึงตอนนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพียง 2 ราย คือบีลาเติร์ก มูฮัมหมัด และไมไรลี ยูซูฟู ศาลทหารพิจารณาคดีนี้[44] ต่อมา นาง วรรณา สวนสันต์ ถูกจับ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[45]

ปฏิกิริยา

ในประเทศ

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปอย่างชัดเจนถึงสาเหตุของการระเบิดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลใด แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่เสียประโยชน์ทางการเมืองและต้องการสร้างสถานการณ์วุ่นวายในประเทศ ไม่ต้องการเห็นคนไทยมีความสุขสงบ เป็นความอาฆาตมาดร้ายของคนที่เคยกล่าวว่าเมื่อตนไม่สุขก็อย่าหวังที่คนอื่นจะสุขได้[46]ในคืนวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ พลตำรวจเอก ประวุฒิ ถาวรศิริ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ลงพื้นที่[47]

วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานครทำความสะอาดที่เกิดเหตุ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้นหาข้อเท็จจริง ฝ่ายหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอบว่า "รัฐบาลไม่ได้ห้าม ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องหลักฐานต่าง ๆ ไม่ได้ห้าม เราก็ต้องทำความสะอาดครับ นี่คือหน้าที่ของ กทม. ครับ ให้ความเป็นธรรมแก่พวกเราหน่อยนะครับ เราก็โดนมามากแล้วเหมือนกันนะครับ"[48]

กรมคุ้มครองสิทธิฯ จ่ายเยียวยาเหยื่อระเบิดราชประสงค์ศพละ 2 แสนบาท ในขณะที่ต่างชาติจ่ายศพละ 5 แสนบาท[49] ด้านเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงประณามคนร้าย[50]

มีการเรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงทั่วประเทศ โดยแยกส่วนประชุมแต่ละจังหวัดอาทิ จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงใหม่[51] สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งที่ 451/2558 จัดตั้ง ”ศูนย์อำนวยการบริหารข้อมูลการส่งกลับและการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์”[52] พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งให้จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มีคำสั่งให้ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทรและให้ พลตำรวจโท ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าชุดคลี่คลายคดีระเบิด ต่อมาเมื่อพลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งพลตำรวจโท ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล[53] ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร แทนตนเอง และให้พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดำเนินการสอบสวนเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องสงสัย คดีนี้แม้พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จะมีการแถลงปิดคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558 แต่จะมีการสรุปสำนวนคดีในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558[54]

ต่างประเทศ

  •  ออสเตรเลีย - นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ กล่าวประณามเหตุการณ์ดังกล่าว และยังสนับสนุนให้ชาวออสเตรเลียเที่ยวไทยต่อไป พร้อมกันได้เสนอความช่วยเหลือด้านการสืบสวนแก่ไทย[55]
  •  กัมพูชา - สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประณามการก่อเหตุระเบิดที่กรุงเทพมหานครอย่างรุนแรงและขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต[56]
  •  จีน - กระทรวงการต่างประเทศจีน ตั้งศูนย์ฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์ในไทย และมีคำสั่งให้สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงเทพให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ได้รับผลกระทบ[57]นอกจากนั้นนาย หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้เรียกประชุมประสานงานระหว่างกระทรวงเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาวจีนในไทย[58]
  •  อินเดีย - นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที กล่าวประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[59]
  •  ญี่ปุ่น - โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยหลังเกิดเหตุระเบิดกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชาวญี่ปุ่น ที่อยู่ในประเทศไทย[60]
  •  ลาว - ทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว ได้ส่งสาสน์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ ต้นสัปดาห์นี้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน และสาธารณะอย่างหนัก พร้อมทั้งกล่าวประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็น การกระทำอันป่าเถื่อน[61]
  •  มาเลเซีย - นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ของมาเลเซียประณามผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด[62]
  •  เนปาล - นายกรัฐมนตรีซูชิล คอยราลาของประเทศเนปาล ส่งสาส์นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประณามเหตุระเบิด[63]
  •  นิวซีแลนด์ - นายเมอร์เรย์ แม็คคัลลี รัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีแลนด์กล่าวในแถลงการณ์วันนี้ว่า นิวซีแลนด์จะอยู่เคียงข้างประชาชนชาวไทยในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ พร้อมแสดงความเสียใจต่อเหยื่อและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด[64]
  •  เกาหลีเหนือ - ปัก ปอง จู นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ได้ส่งสารแสดงความเห็นอกเห็นใจมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย หลังเกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่ซึ่งสร้างความเสียใจต่อชีวิตและทรัพย์สิน[65]
  •  รัสเซีย - วลาดีมีร์ ปูติน ส่งสาสน์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร[66]
  •  สิงคโปร์ - ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดครั้งนี้[67]
  •  เกาหลีใต้ - นาย จอน แจ มัน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย ยืนยันว่าทางการเกาหลีใต้คงไม่มีการออกประกาศห้ามการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย[68]
  •  สหราชอาณาจักร - นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน กล่าวเสียใจที่มีพลเมืองอังกฤษเสียชีวิต และนาย ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว และพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการสืบสวน[69]
  •  สหรัฐอเมริกา - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวประณามเหตุการณ์ดังกล่าว และพร้อมให้ความช่วยเหลือในการสืบสวน [59]
  •  สหประชาชาติ - พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต[70]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ผู้จัดการ (August 17, 2015). "ญาติติดต่อรับศพต่างชาติเหยื่อบึ้มครบ 11 ราย รอพิสูจน์ดีเอ็นเอ 2 ศพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-19. สืบค้นเมื่อ August 20, 2015.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Bangkok bomb: Explosion close to Erawan shrine kills at least 27 people including four foreigners - latest updates". Telegraph.co.uk. 17 August 2015. สืบค้นเมื่อ 17 August 2015.
  3. 3.0 3.1 "ร.พ.ตำรวจแถลง สรุปเหตุระเบิดราชประสงค์ ตาย 20 เจ็บ 130". Mthai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ August 21, 2015.
  4. ระเบิดราชประสงค์ : ทนายชี้โอนคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรม "เป็นผลดี" ต่อสองจำเลยชาวอุยกูร์ บีบีซีไทย สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2020
  5. บึมป่วน! ท่าเรือสาทร ไร้เจ็บ น.1รุดสอบ (ชมคลิป)
  6. "Thailand steps up security in Bangkok after bomb blasts at luxury mall". World News. euronews. 2 February 2015. สืบค้นเมื่อ 17 August 2015.
  7. เกิดเหตุการณ์คาร์บอมที่ชั้นใต้ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย
  8. "เกิดระเบิดแยกราชประสงค์ ตายอย่างน้อย 16 ราย เจ็บกว่า 70 คน ทั้งไทย-คนต่างชาติ ส่งตัว 11 รพ. ด้านผบ.ตร.ชี้เป็นระเบิดแสวงเครื่องซุกใกล้ศาลพระพรหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-19. สืบค้นเมื่อ 2015-08-22.
  9. "วินาที!ปาระเบิด'ท่าเรือสาทร'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-20. สืบค้นเมื่อ 2015-08-22.
  10. "ด่วน! เกิดเหตุปาระเบิด ใส่ท่าเรือสาทร โชคดีไร้เจ็บ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-22. สืบค้นเมื่อ 2015-08-22.
  11. โพสต์ทูเดย์. "ยอดผู้เสียชีวิตระเบิดราชประสงค์ 20 คน เจ็บ 163 ราย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-06. สืบค้นเมื่อ August 20, 2015.
  12. "Bangkok blast: Fifth Malaysian victim confirmed". The Star Malaysia. 19 August 2015. สืบค้นเมื่อ 19 August 2015.
  13. "泰国曼谷爆炸事件已致6名中国人遇难 1人失联". ifeng (ภาษาจีน). 18 August 2015. สืบค้นเมื่อ 18 August 2015.
  14. "Bangkok bomb: Victims and survivors". BBC News. สืบค้นเมื่อ 19 August 2015.
  15. "One Indonesian died, another injured in Bangkok blast: Ministry". The Jakarta Post. 18 August 2015. สืบค้นเมื่อ 18 August 2015.
  16. "Bangkok blast: Singaporean woman among those killed". The Straits Times. 18 August 2015. สืบค้นเมื่อ 18 August 2015.
  17. ศปก.รพ.ตร. "ตรวจสอบรายชื่อล่าสุด ผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ เหตุระเบิดราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-24. สืบค้นเมื่อ 23 August 2015.
  18. ระเบิดใจกลางกรุงทำให้เสียชีวิตถึง 12 ราย[ลิงก์เสีย]
  19. ผู้จัดการออนไลน์. "ตำรวจเผย 12 ชื่อผู้เสียชีวิต เหตุระเบิดศาลพระพรหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 18 August 2015.
  20. ปิดskywalkสถานีสยาม-แยกราชประสงค์
  21. ผู้จัดการออนไลน์. "สั่งปิดโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 18 ส.ค. เพื่อความปลอดภัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-21. สืบค้นเมื่อ 2015-08-17.
  22. ไทยรัฐออนไลน์. "ปิดจราจรเคลียร์พื้นที่ราชประสงค์ถึงเที่ยง ขสมก.ปรับเดินรถ BTS-MRT วิ่งปกติ". สืบค้นเมื่อ 18 August 2015.
  23. "สนามบินยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-08-21.
  24. "สายการเดินเรือต่างชาติ-ผู้ประกอบการเอกชน ยังมั่นใจมาตรการรักษาความปลอดภัยของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2015-08-20.
  25. MRT-BTS-ARLเพิ่มมาตรการเข้ม ขอค้นสัมภาระยันเปิดวิ่งปกติ
  26. 17 ส.ค. 58 : ย้อนเหตุวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม กับอดีตที่ราชประสงค์ หน่วยมั่นคงรีบสรุปอะไร ? มติชนสุดสัปดาห์ สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2564
  27. 27.0 27.1 "Bangkok bomb: Erawan shrine attacker was 'part of network', police say". Asia. BBC News. 19 August 2015. สืบค้นเมื่อ 19 August 2015.
  28. "เจอตัวโชเฟอร์ขับรถตุ๊กๆแล้ว ให้การรับมือบึ้มหน้าหัวลำโพงก่อนไปส่งที่ศาลพระพรหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-22. สืบค้นเมื่อ 2015-08-22.
  29. ผบ.ตร.มั่นใจระเบิดราชประสงค์ ไม่โยงก่อการร้ายข้ามชาติ[ลิงก์เสีย]
  30. "Bangkok bomb: Foreign role in attack unlikely, says government". Asia. BBC News. สืบค้นเมื่อ 20 August 2015.
  31. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-22. สืบค้นเมื่อ 2015-08-26.
  32. "จยย.แฉคนร้ายพูดอังกฤษ บึ้มซํ้าสาทร ท่าเรือ-ทัวร์จีน ชี้เหมือนกันกับ ศาลพระพรหม ล่าตัว"แขกขาว"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-21. สืบค้นเมื่อ 2015-08-22.
  33. "Bangkok authorities clear pair seen before shrine bombing, say key suspect spoke foreign language". Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-08. สืบค้นเมื่อ 20 August 2015.
  34. "ประวุฒิส่งภาพสเกตช์ มือวางระเบิด ให้ตำรวจสากลแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-23. สืบค้นเมื่อ 2015-08-22.
  35. "This is my piece from Bangkok in this morning's Times, Richard Lloyd Parry". The Times of London. สืบค้นเมื่อ 23 August 2015.
  36. รวบ!ชายต่างชาติต้องสงสัยบึ้มราชประสงค์ เก็บถาวร 2015-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากคมชัดลึก
  37. รองโฆษก บช.น. ยัน 'อาเดม' ยอมรับลงมือวางระเบิดจริง อีก 3 วัน ได้รับข่าวดี
  38. ‘สมยศ’เชื่อ‘อาเดม’คือชายเสื้อเหลือง[ลิงก์เสีย] จากคมชัดลึก
  39. ด่วน! ศรีวราห์ ยืนยัน! "อาเดม คาราดัก" คือชายเสื้อเหลือง บึ้มราชประสงค์ หลักฐานชัด! จากมติชน
  40. "ประวุฒิ" ยืนยัน "อาเดม" คือชายเสื้อเหลือง จากเนชั่นทีวี
  41. คุมตัว “อาเดม-ยูซูฟู” ทำแผนบึ้มแยกราชประสงค์ เก็บถาวร 2015-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เอเอสทีวีผู้จัดการ
  42. "ผบ.ตร.แจงละเอียด ปิดคดีระเบิด 'ราชประสงค์-สาทร'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2015-10-04.
  43. ผบ.ตร.ย้ำ “ไอ้อ๊อด” กุญแจสำคัญ บึ้มกรุงยังตัดประเด็นการเมืองไม่ได้ เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เอเอสทีวีผู้จัดการ
  44. ผู้ก่อเหตุที่ถูกออกหมายจับทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันทั้ง 2 คดี[ลิงก์เสีย]
  45. 'วรรณา สวนสัน' กลับไทยแล้ว มอบตัว ตร. อ้างไม่เกี่ยวบึ้มราชประสงค์
  46. "รัฐเผยแนวโน้มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มผู้เสียประโยชน์การเมือง". โพสต์ทูเดย์. 17 August 2015. สืบค้นเมื่อ 24 August 2015.
  47. ไทม์ไลน์ 24 ชม. ระเบิดอำมหิต ‘ราชประสงค์’ 20 ชีวิตปลิดปลิว
  48. "ล้างราชประสงค์เร็ว 'สุขุมพันธุ์' โอด "ไม่ทำก็ว่า ทำก็สงสัย" นักวิชาการอัดยิ่งสร้างความแคลงใจ". ประชาไท. 21 August 2015. สืบค้นเมื่อ 24 August 2015.
  49. มติคณะรัฐมนตรี
  50. "'นายกฯ'ประณามเหตุบึ้มราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-20. สืบค้นเมื่อ 2015-08-20.
  51. "ผู้ว่าฯ น่าน เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ด่วนหลังเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ พร้อมสั่งการเข้มงวดตรวจการเข้าออก สอดส่องคนแปลกหน้าเข้าพื้นที่พื้นที่สำคัญในจังหวัดน่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-08-20.
  52. ""ศูนย์อำนวยการประสานงานข้อมูล กรณีเหตุระเบิดสี่แยกราชประสงค์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-26. สืบค้นเมื่อ 2015-08-24.
  53. "สอบสวนคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-12. สืบค้นเมื่อ 2015-10-19.
  54. ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องสงสัย
  55. ผู้นำออสซีขอให้ประชาชนเที่ยวเมืองไทยต่อไป เดลินิวส์. 18 สิงหาคม 2558
  56. 'สมเด็จฮุนเซน'ประณามเหตุระเบิดราชประสงค์
  57. จีนตั้งศูนย์ฉุกเฉินติดตามเหตุบึ้มราชประสงค์ กรุงเทพธุรกิจ. 18 สิงหาคม 2558
  58. หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้เรียกประชุมประสานงานระหว่างกระทรวง[ลิงก์เสีย]
  59. 59.0 59.1 ทั่วโลกรุมประณามผู้ก่อเหตุบึ้มราชประสงค์ จีนตั้งศูนย์ฉุกเฉินเกาะติด เก็บถาวร 2015-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน MThai News. 18 สิงหาคม 2558
  60. โยชิฮิเดะ ซูกะ กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุระเบิดราชประสงค์[ลิงก์เสีย]
  61. "ทองสิง ทำมะวง ได้ส่งสาสน์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-12. สืบค้นเมื่อ 2015-08-24.
  62. นาจิบ ราซะก์ ประณามผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด
  63. ชิล คอยราลาของประเทศเนปาล ส่งสาส์นถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประณามเหตุระเบิด
  64. "เมอร์เรย์ แม็คคัลลี แสดงความเสียใจต่อเหยื่อและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-08-31.
  65. นายกฯเกาหลีเหนือแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมไว้อาลัยเหตุระเบิดราชประสงค์
  66. อักษรสาส์นแสดงความเสียใจของประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียต่อเหตุการณ์การวางระเบิดที่แยกราชประสงค์
  67. นานาชาติประณามเหตุระเบิดราชประสงค์ จากกรุงเทพธุรกิจ
  68. จอน แจ มัน ยืนยันว่าทางการเกาหลีใต้คงไม่มีการออกประกาศห้ามการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
  69. นายกอังกฤษเสียใจบึ้มกทม.-รมต.ตปท.ประณาม[ลิงก์เสีย] สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น. 19 สิงหาคม 2558
  70. ปฏิกิริยาจากนานาชาติหลังเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ ไทยพีบีเอส สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2558

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′40″N 100°32′26″E / 13.74444°N 100.54056°E / 13.74444; 100.54056