เอียน รัช
ข้อมูลส่วนตัว | |||
---|---|---|---|
ชื่อเต็ม | เอียน เจมส์ รัช[1] | ||
วันเกิด | [2] | 20 ตุลาคม ค.ศ. 1961||
สถานที่เกิด | เซนต์ อะซาฟ เวลส์ | ||
ส่วนสูง | 5 ft 11 in (1.80 m)[3] | ||
ตำแหน่ง | กองหน้า[4] | ||
สโมสรอาชีพ* | |||
ปี | ทีม | ลงเล่น | (ประตู) |
1978–1980 | เชสเตอร์ซิตี | 34 | (14) |
1980–1987 | ลิเวอร์พูล | 224 | (139) |
1987–1988 | ยูเวนตุส | 29 | (7) |
1988–1996 | ลิเวอร์พูล | 245 | (90) |
1996–1997 | ลีดส์ยูไนเต็ด | 36 | (3) |
1997–1998 | นิวคาสเซิลยูไนเต็ด | 10 | (2) |
1998 | → เชฟฟีลด์ยูไนเต็ด (ยืม) | 4 | (0) |
1998–1999 | เรกซัม | 17 | (0) |
1999–2000 | ซิดนีย์โอลิมปิก | 3 | (1) |
รวม | 602 | (254) | |
ทีมชาติ | |||
1980–1996 | เวลส์[5] | 73 | (28) |
จัดการทีม | |||
2004–2005 | เชสเตอร์ซิตี | ||
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น |
เอียน เจมส์ รัช, เอ็มบีอี. เป็นอดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวเวลส์ซึ่งเล่นในตำแหน่งกองหน้า เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในกองหน้าที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลและเป็น 1 ในนักเตะชาวเวลส์ที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของกีฬาประเภทนี้[6][7][8] ระดับสโมสร รัชเล่นให้กับลิเวอร์พูลจากปี 1980–1987 และ 1988–1996 นอกจากนี้ เขาเป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสรโดยยิงไปทั้งหมด 346 ประตูในทุกรายการให้กับสโมสร เขายังถือสถิติดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลในรายการอีเอฟแอลคัพและเอฟเอคัพ ในระดับทีมชาติ รัชลงเล่นให้กับทีมชาติเวลส์ทั้งหมด 73 นัด และกลายเป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลด้วยจำนวน 28 ประตู ระหว่างปี 1980 ถึง 1996 ก่อนที่ แกเร็ธ เบล จะทำลายสถิตินี้ในปี 2018
ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรลิเวอร์พูล[9][10] รัชมาเป็นอันดับ 3 ใน 100 Players Who Shook The Kop โพลอย่างเป็นทางการของแฟนบอลลิเวอร์พูล[11]
ประวัติ
เชสเตอร์ ซิตี้: 1979–1980
เอียน รัช เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1961 ที่เซนต์ อะซาฟ ในเวลส์ หลังออกจากโรงเรียนในปี 1978 รัชก็เริ่มต้นการเป็นนักฟุตบอลอาชีพด้วยการเข้าร่วมทีมเชสเตอร์ ซิตี้ในระดับดิวิชั่น 3 (เดิม) หลังฉายแววเด่นตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้เขาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ในปลายฤดูกาล 1978-1979 โดยเขาประเดิมลงสนามนัดแรกในตำแหน่งกองกลาง เมื่อเดือนเมษายน ปี 1979 ในเกมส์พบเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ซึ่งจบลงที่ผลเสมอ 2-2 แต่หลังจากนั้นในฤดูกาล 1979-1980 เขาก็ได้เล่นตำแหน่งกองหน้าโดยยิงประตูแรกในอาชีพนักฟุตบอลได้ในเกมส์ที่เชสเตอร์ ซิตี้เสมอกับจิลลิ่งแฮม 2-2 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 1979 และเดือนต่อมาเขาก็ยึดตำแหน่งตัวจริงได้เมื่อสโมสรตัดสินใจขายเอียน เอ็ดเวิร์ดส์กองหน้าของทีมออกไปให้เร็กซ์แฮม
ชื่อของเอียน รัชเริ่มถูกพูดถึงเมื่อเป็นผู้ยิงประตูให้เชสเตอร์ ซิตี้บุกเอาชนะนิวคาสเซิ่ลไปอย่างพลิกล็อก 2–0 ในเอฟเอคัพ รอบ 3 ในเดือนมกราคม ปี 1980 ก่อนจะมาแพ้อิปสวิช ทาวน์ในอีก 2 รอบต่อมามา แมตช์สุดท้ายของเขาและเชสเตอร์ ซิตี้คือเกมส์ที่เปิดบ้านพบกับเซาธ์เอนด์ ยูไนเต็ดที่สนามซีแลนด์ โร้ดสนามเหย้าของทีมในเวลานั้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1980 ซึ่งถึงแม้เอียน รัชจะยิงประตูไม่ได้แต่ทีมก็ชนะ 2-1 และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 9 ในดิวิชั่น 3
แม้จะได้รับความสนใจจากแมนเชสเตอร์ซิตีแต่กลับเป็นลิเวอร์พูลที่สามารถคว้าตัวดาวรุ่งแห่งเวลส์ผู้นี้มาได้เมื่อบ็อบ เพลสลีย์กุนซือของลิเวอร์พูลซื้อตัวเขามาจากเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยราคา ถึง 300,000 ปอนด์ และเป็นสถิติการขายผู้เล่นที่ได้ค่าตัวสูงสุดของเชสเตอร์ ซิตี้ที่ยืนยาวมาจนถึง 28 ปี
ตลอดช่วงเวลาของเขาที่เชสเตอร์ ซิตี้ เขาอยู่ภายใต้การคุมทีมของอลัน โอ๊คส์ และผู้ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาฟอร์มการเล่นของเขาก็คือคลิฟฟ์ เซียร์โค้ชทีมเยาวชนของเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งภายหลังอีก 20 ปีต่อมาทั้งคู่ได้ร่วมงานกันอีกครั้งในทีมงานสตาฟฟ์โค้ชของเร็กซ์แฮม
ลิเวอร์พูล: 1980–1987
เอียน รัช ได้เล่นให้ทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ก่อนที่เขาจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะผู้เล่นของลิเวอร์พูล โดยการลงสนามนัดแรกของเขาให้ลิเวอร์พูลต้องรอถึงวันที่ 13 ธันวาคม ปีเดียวกัน ในเกมส์ดิวิชั่น 1 พบกับทีมอิปสวิช ทาวน์
รัชใช้เวลาบางช่วงในฤดูกาลแรกของเขากับลิเวอร์พูลในทีมสำรองเพื่อศึกษาแนวทางของทีม และต้องฝึกฝนไม่ต่างจากดาวรุ่งคนอื่นก่อนจะก้าวขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่
การฝึกในทีมสำรองของสโมสรเป็นเรื่องยากและไม่ใช่สิ่งที่เขาชื่นชอบนัก และดาวรุ่งในทีมมีความต้องการย้ายทีมเพื่อให้ได้ลงเล่นในทีมชุดแรกรวมถึงตัวของเขาเองด้วย แต่ภายหลังเมื่อได้พูดคุยและได้รับการชี้แนะจากสุดยอดกุนซืออย่าง บ็อบ เพลสลี่ ที่แนะให้เขามีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นเวลาได้บอลทำให้เขาตัดสินใจอยู่เพื่อสู้แย่งตำแหน่งในทีมต่อไป
และประตูแรกของเขาก็มาถึงในวันที่ 30 กันยายน 1981 ในยูโรเปี้ยน คัพ รอบแรก นัดที่ 2 ที่สนามแอนด์ฟิลด์ในเกมส์พบสโมสร โอลุน ซึ่งในนัดแรกลิเวอร์พูลบุกไปชนะมา 1-0 และในนัดที่ 2 ลิเวอร์พูลก็ไล่ถล่มทีมจากฟินแลนด์ไป 7–0 รัชยิงประตูได้ในนาทีที่ 67 และในฤดูกาลนั้นเขาปิดฉากอย่างสวยหรูด้วยตำแหน่งดาวซัลโวของสโมสร เมื่อยิงไป 30 ลูก จากการลงสนาม 49 เมื่อรวมทุกรายการ และเป็นการยิงในลีกถึง 17 ประตู และพาสโมสรคว้าแชมป์ลีกในที่สุด
ฤดูกาล 1982-1983 เขาได้รับเลือกให้เป็นดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งพีเอฟเอ หลังนำลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดและชนะเลิศถ้วยลีกคัพ โดยยิงในลีกไป 24 ประตูและมีแต้มห่างจากอันดับ 2 อย่างวัตฟอร์ดถึง 11 คะแนน โดยในวันที่ 6 พฤศจิกายน 1982 เอียน รัช ยิงคนเดียว 4 ประตูใส่เอฟเวอร์ตันในชัยชนะ 5-0 ทำให้เขาเป็นผู้เล่นที่ยิงประตูในเมอร์ซี่ไซด์ ดาร์บี้แมตช์มากที่สุดใน 1 นัด
ฤดูกาล 1983-1984 เขาได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของพีเอฟเอเมื่อพาสโมสรคว้าแชมป์ลีกสูงสุดและชนะเลิศลีกคัพ อีกทั้งยังคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพได้อย่างยิ่งใหญ่ และเขายังได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวอังกฤษอีก 1 รางวัล ในฤดูกาลนั้นเขายิงระเบิดถึง 47 ประตูจากการลงสนาม 65 นัด ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกโดยมีคะแนนห่างจากเซาธ์แฮมป์ตัน 3 คะแนน และชนะคู่ปรับอย่างเอฟเวอร์ตัน 1-0 ในนัดรี-เพลย์ลีก คัพรอบชิงชนะเลิศ รวมถึงคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 4 ให้สโมสร ด้วยการพาทีมชนะโรม่า 4–2 ในการดวลจุดโทษ (รัช ยิงนำ 3-2 ก่อนที่ บรู๊ซ กร็อบเบลล่า จะงัดลีลาการเซฟจุดโทษด้วยการเต้นเหมือนปลาหมึกที่เป็นตำนานในเวลาต่อมา) หลังจากเสมอในเวลา 1-1
ฤดูกาล 1984–85 เป็นปีที่ไม่สู้ดีนักของลิเวอร์พูลเมื่อสโมสรปราศจากตำแหน่งแชมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยในนัดชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพกับยูเวนตุสที่สนามเฮย์เซลล์ สเตเดี้ยม, กรุงบรัซเซลส์, ประเทศเบลเยี่ยม เป็นแมตช์ที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นเมื่อกองเชียร์ของทั้ง 2 ทีมก่อเรื่องวิวาทกันจนมีผู้บาดเจ็บกว่า 350 คนและแฟนบอลของยูเวนตุสเสียชีวิตถึง 39 คน และส่งผลกระทบถึงสภาพจิตใจของนักเตะทั้ง 2 ทีม เกมกลับมาแข่งใหม่และจบลงด้วยชัยชนะ 1-0 ของยูเวนตุส และลิเวอร์พูลเสียแชมป์ลีกให้เอฟเวอร์ตันคู่แข่ง หลังจบฤดูกาลทีมจากอังกฤษถูกแบนในเวทีระดับยุโรปถึง 5 ปีจากเหตุการณ์ที่สนามเฮย์เซลส์ ทำให้เอฟเวอร์ตันที่คว้าแชมป์ลีกได้ในปีนั้นไม่ได้ลงแข่งยูโรเปี้ยน คัพในปีต่อมา
ฤดูกาล 1985–86 ลิเวอร์พูลกลับมาสร้างผลงานอีกครั้ง เอียน รัชยิงคนเดียว 2 ประตูพาทีมชนะเซาธ์แฮมป์ตัน 2-0 ในเกมส์เอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศ ที่สนามไวท์ ฮาร์ท เลน และเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับคู่ปรับสำคัญอย่างเอฟเวอร์ตัน ซึ่งในเกมส์นัดดังกล่าวถือเป็นเมอร์ซี่ไซด์ ดาร์บี้แมตช์ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพครั้งแรก ทำให้ทั้ง 2 ทีมต้องการชัยชนะในนัดนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยลิเวอร์พูลซึ่งคว้าแชมป์ลีกได้เรียบร้อยแล้วต้องการชัยชนะเพื่อเป็นทีมที่ 5 ที่คว้าดับเบิลแชมป์ คือได้แชมป์ลีกและเอฟเอคัพ ในขณะที่เอฟเวอร์ตันก็ต้องการถ้วยนี้และที่สำคัญพวกเขาต้องการขัดขวางลิเวอร์พูลในการทำสถิติดังกล่าว โดยเกมส์จบครึ่งแรกพร้อมกับความได้เปรียบของเอฟเวอร์ตันเมื่อได้ประตูขึ้นนำ 1-0 จากประตูของ แกรี่ ลินิเกอร์ ศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษของทีม
ครึ่งหลังทีมหงส์แดงภายใต้การคุมทีมของเคนนี ดัลกลิชที่รับตำแหน่งผู้เล่น-ผู้จัดการทีมก็กลับมาเล่นด้วยฟอร์มที่ผิดกับครึ่งแรก และเอียน รัชก็สามารถยิงประตูตีเสมอให้ทีมได้สำเร็จในนาทีที่ 57 จากการผ่านบอลของ แยน โมลบี้ และเข้าไปยิงผ่านบ็อบบี้ มิมส์ผู้รักษาประตูเอฟเวอร์ตันอย่างสบายๆ และอีก 6 นาทีต่อมา โมลบี้ผู้เป็นหัวใจสำคัญในแนวรุกของลิเวอร์พูลได้บอลในเขตโทษของเอฟเวอร์ตันก่อนจะผ่านบอลอย่างสุดยอดให้เคร็ก จอห์นสตันยิงประตูให้ลิเวอร์พูลกลับมาแซงเป็น 2-1 เกมสู้กันอย่างสูสีจนกระทั่งนาทีที่ 84 รัชก็มายิงประตูชัยได้สำเร็จพร้อมกับพาลิเวอร์พูลคว้าดับเบิ้ลแชมป์หนแรกในประวัติศาสตร์สโมสรและได้รับรางวัลแมน ออฟ เดอะ แมตช์หลังจบเกมส์
ยูเวนตุส : 1987–1988
หลังได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่หลายทีมในยุโรป ทำให้เขาเริ่มคิดถึงการย้ายออกจากถิ่นแอนด์ฟิลด์ในช่วงต้นฤดูกาล 1986-1987 และในวันที่ 1 กรกฎาคม 1987 เขาก็ถูกขายให้สโมสรยูเวนตุส มหาอำนาจลูกหนังในแดนอิตาลีด้วยค่าตัว 3 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นการย้ายทีมไปเล่นให้กับคู่กรณีในเกมส์แห่งความหายนะที่สนามเฮย์เซลส์ ทั้ง 2 สโมสรฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้งและมีการเตะแมตช์กระชับมิตรของทั้ง 2 สโมสร และดูเหมือนว่ามันจะเป็นความท้าทายใหม่ของรัช ในการที่จะต้องถูกกองหลังประกบตายในลีกอิตาลี แต่อย่างไรก็ตามเขาไม่ประสบความสำเร็จที่นี่ เมื่อยิงได้เพียง 12 ประตูจาก 29 นัด และพบกับช่วงเวลายากลำบากในตูริน
หลังเล่นที่อิตาลีอยู่ 1 ฤดูกาลเขาก็ย้ายกลับถิ่นแอนด์ฟิลด์อีกครั้งด้วยค่าตัวถึง 2 ล้าน 7 แสนปอนด์ในวันที่ 18 สิงหาคม 1988 และเป็นสถิติค่าตัวแพงที่สุดในเกาะอังกฤษ ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายในอีก 3 ปีต่อมา
ช่วงที่ 2 ในถิ่นแอนด์ฟิลด์ 1988–1996
หลังกลับมาแอนด์ฟิลด์ รัชต้องแย่งตำแหน่งกองหน้าในทีมกับ ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ และ จอห์น อัลดริดจ์ ผู้มาแทนที่เขาในช่วงที่ผ่านมา และด้วยสไตล์การเล่นที่คล้ายคลึงกันทำให้พวกเขาไม่สามารถลงเล่นพร้อมกันหมดได้ จอห์น อัลดริดจ์ เริ่มฤดูกาลอย่างยอดเยี่ยมด้วยการยิงประตูที่สม่ำเสมอ จึงทำให้นักเตะจากเวลส์ต้องนั่งอยู่ที่ม้านั่งสำรอง และดูเหมือนรัชจะกลับมาเข้าฟอร์มอีกครั้งในเกมส์ที่ยิง 2 ประตูใส่เอฟเวอร์ตัน พาทีมชนะ 3-2 ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ปี 1989 โดยเขาเป็นตัวสำรองที่ลงมาแทน จอห์น อัลดริดจ์ ผู้ซึ่งเป็นคนยิงประตูแรกให้ทีมในช่วงต้นเกมส์ก่อนที่เกมส์จะจบลงในช่วงเวลาปกติที่ 1-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษรัชพาทีมขึ้นนำอีกครั้ง จากนั้น สจ๊วต แมคคอลล์ กองกลางของเอฟเวอร์ตันยิงประตูตีเสมอ 2-2 แต่รัชผู้กลับมายิงประตูเฉียบคมก็ยิงประตูชัยในนาทีที่ 103 พาสโมสรคว้าแชมป์อย่างสุดตื่นเต้น
ฤดูกาล 1989–90 รัชได้แชมป์ลีกอีกครั้งมันเป็นครั้งที่ 5 ของเขาและเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งสุดท้าย โดยลิเวอร์พูลจบฤดูกาลด้วยการทำแต้มห่างจากอันดับ 2 อย่างแอสตันวิลลาถึง 9 แต้ม และเอียน รัชยิง 18 ประตู จาก 36 นัด และสโมสรพลาดการคว้าดับเบิ้ลแชมป์อีกสมัยอย่างน่าเสียดายเมื่อพลาดท่าแพ้ต่อคริสตัล พาเลซไปแบบเหลือเชื่อ
ในปี 1992 เขาคว้าแชมป์เอฟเอคัพสมัยที่ 3 ของตนเองได้สำเร็จ เมื่อเป็นผู้ยิงประตูที่ 2 ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพในชัยชนะเหนือซันเดอร์แลนด์ 2-0 ที่สนามเวมบลีย์ ในลีกเขาต้องพบการปัญหาอาการบาดเจ็บทำให้ได้ลงสนามในลีกเพียง 18 นัดและยิงได้เพียง 3 ประตูเท่านั้น แต่หนึ่งในนั้นเป็นการยิงประตูใส่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและพาทีมคว้าชัยชนะในแมตช์ดังกล่าว
รัช คว้าแชมป์ลีกคัพ สมัยที่ 5 ของตัวเองในปี 1995 เมื่อ 2 ประตูของ สตีฟ แม็คมานามาน ดับฝันโบลตัน ที่หวังจะสร้างปาฏิหาริย์ แต่กลับแพ้ 2-1 และเขาปิดฉากกับสโมสรในเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศปี 1996 กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยรัชเป็นผู้เล่นตัวสำรอง แต่จบลงด้วยความผิดหวังเมื่อเอริก กองโตนายิงประตูชัยพาทีมปีศาจแดงคว้าแชมป์ในท้ายที่สุด
โดยรวมแล้วรัชยิงไป 346 ประตูในการลงสนามในทีมชุดใหญ่เกือบ 658 นัด ถึงแม้ว่า ในลีก เขาจะยิงได้น้อยกว่าสถิติสโมสรของโรเจอร์ ฮันท์ที่ทำได้ 245 ประตูก็ตามแต่นั่นเป็นสถิติเดียวที่รัชเป็นรองในสโมสร ในถ้วยเอฟเอคัพเขายิงให้ลิเวอร์พูล 39 ลูก (จากทั้งหมด 44 ลูก) ในขณะที่ประตูรวมในนัดชิงชนะเลิศเขาทำได้ 5 ประตู (2 ประตูในปี 1986 และ 1989 และ 1 ประตูในปี 1992 ทั้งหมดส่งผลให้ลิเวอร์พูลได้แชมป์) นับเป็นสถิติรายบุคคลที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล รัชยังเป็นเจ้าของยิงประตูในลีก คัพมากที่สุดด้วยจำนวน 49 ประตู เช่นเดียวกับเจฟฟ์ เฮิร์สท์ และเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ชนะการแข่งขันรายการดังกล่าวถึง 5 ครั้ง รวมถึงเป็นกัปตันทีมพาลิเวอร์พูลลงแข่งกับโบลตันในนัดชิงชนะเลิศปี 1995 เขายิง 10 ประตูในการลงสนามที่เวมบลีย์ทั้งหมด 18 นัด
นอกจากนี้รัชยังคว้าแชมป์ลีกกับลิเวอร์พูลได้ 5 สมัย ยูโรเปี้ยน คัพอีก 1 สมัย และได้รับราลวัลเครื่องราชย์ชั้นเอ็มบีอี รัชทำสถิติยิงประตูในศึกเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ แมตช์กับเอฟเวอร์ตันได้ทั้งหมด 25 ประตู ได้รับรางวัลรองเท้าทองคำแห่งยุโรป ด้วยการยิง 32 ประตูในลีกในปี 1984 และได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปี จาก 2 สถาบัน
ปลายชีวิตค้าแข้ง 1996–2000
รัชต้องกล่าวอำลาถิ่นแอนฟิลด์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1996 เมื่อเขาย้ายไปร่วมทีมลีดส์ ยูไนเต็ด รัชที่ล่วงเลยจุดสุดยอดมาแล้วยิงได้ 3 ประตูจากการลงเล่น 36 นัดในพรีเมียร์ลีก และถูกปล่อยตัวเมื่อจบฤดูกาล
ในฤดูกาล 1997-1998 เขาย้ายไปร่วมทีม นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ดในสัญญาระยะสั้น 1 ปี และช่วงหลังคริสต์มาสเขาต้องสูญเสียตำแหน่งตัวจริงในทีม เมื่ออลัน เชียเรอร์ หายจากอาการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามเขายิงประตูสำคัญให้ทีมได้ในนัดที่ชนะเอฟเวอร์ตัน 1-0 ในเอฟเอคัพ รอบ 3 ซึ่งเป็นประตูที่ 43 ของเขาในรายการนี้
เขาย้ายไปร่วมทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดในแบบยืมตัวในช่วงสั้นๆ ก่อนจะย้ายไปเล่นให้เร็กซ์แฮมด้วยอายุ 37 ปี รัชลงสนามในลีก 18 นัดแรกแต่ยิงประตูไม่ได้และย้ายไปเล่นตำแหน่งกองกลางจบจบฤดูกาล และเขาเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการที่ออสเตรเลียกับทีมซิดนี่ย์ โอลิมปิกในปี 2000 ในวัย 38 ปี
ผู้จัดการทีมเชสเตอร์ ฤดูกาล 2004–2005
หลังจากทำหน้าที่โค้ชตำแหน่งกองหน้าให้ลิเวอร์พูลภายใต้การคุมทีมของเชราร์ อุลลิเย่ร์ ในปี 2003 เขาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมเป็นครั้งแรกกับสโมสรเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นทีมที่ลงเล่นในลีกทู เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2004 โดยสโมสรต้องพบงานช้างหลังจากกลับคืนสู่ฟุตบอลลีกอีกครั้ง และรัชต้องพบกับความยากลำบากในอาชีพนี้เมื่อนำทีมออกไปแพ้ 3-1 ต่อบอสตัน ยูไนเต็ดในการคุมทีมนัดแรกของเขา และหลังจากนั้นทีมของเขาก็ไม่แพ้ใครนานถึง 2 เดือน และทีมเข้าสู่เอฟเอคัพรอบ 3 แต่อย่างไรก็ตามเขายังคงถูกตั้งคำถามจากมาร์ค ลอว์เรนสันนักวิจารณ์ชื่อดังซึ่งเคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมทีมลิเวอร์พูลของเขา ถึงประสบการณ์ในการเป็นโค้ชและความสามารถในการวางแทคติก
หลังจากที่รัชปฏิเสธการทำหน้าที่คุมทีมชาติเวลส์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 2004 ทีมของเขาก็มีผลงานย่ำแย่ลงอย่างมาก และรัชถูกวิจารณ์ถึงแทคติกการเล่นที่เน้นการใช้พละกำลังและการโยนบอลยาวของเขา ต่อมาเขาถูกกดดันจากประธานสโมสร หลังจากที่ออกไปแพ้ให้กับทีมเพื่อนบ้านอย่างชรูว์สบิวรี่ ทาวน์แบบน่าอับอายถึง 5-0 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2005 แต่เขาก็ยังไม่ลาออก และเมื่อทีมแพ้ต่อดาร์ลิงตัน 1-0 ในเดือน เมษายน รัชก็ถึงคราวต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลงานที่ย่ำแย่ของทีม
บทบาทอื่นๆตั้งแต่ปี 2005 ถึงปัจจุบัน
ในปี 2005 รัชในวัย 43 ปี ทบทวนการกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้งกับสโมสรเดอะ นิว เซนต์ส หลังจากที่ทีมจากเวลส์ทีมนี้สามารถยันเสมอกับลิเวอร์พูลในรอบคัดเลือกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกได้ แต่ต่อมาความคิดนี้ได้ถูกคัดค้านจากหลายๆฝ่าย
เดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เอียน รัช ก็ได้เข้ามาทำงานในแวดวงโทรทัศน์ในบทบาทของผู้วิเคราะห์เกมส์ทางสถานีอีเอสพีเอ็น และเขายังรับบทเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้รายงานข่าวทางสกาย สปอร์ตอีกด้วย
ในวันที่ 27 เมษายน 2006 รัชลงสนามในแมตช์ฟุตบอลการกุศล มาริน่า-ดัลกลิช โดยเป็นการลงแข่งขันของทีมคู่ชิงชนะเลิศเอฟเอคัพปี 1986 คือลิเวอร์พูลกับเอฟเวอร์ตัน ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวเป็นการหารายได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับการวิจัยมะเร็งเต้านม เมื่อมาริน่าภรรยาของเคนนี่ ดัลกลิชล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม
ปี 2006 เอียน รัชได้รับเลือเข้าสู่หอเกียรติยศของฟุตบอลอังกฤษจากความสำเร็จที่เขาได้รับในสนามฟุตบอล
นอกจากนี้รัชยัง รับใช้ลิเวอร์พูลโดยการลงเตะแมตช์พิเศษเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้สโมสรในทีมชุดต่างๆ เช่นทีมลิเวอร์พูลชุดโอลด์ บอยและชุดมาสเตอร์ 5 เอ-ไซด์
วันที่ 21 สิงหาคม 2008 เอียน รัช ออกหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองในชื่อหนังสือว่า Rush: The Autobiography
ผลงานในฐานะผู้เล่น
- แชมป์ลีกสูงสุด ฤดูกาล 1981-1982, 1982-1983, 1983-1984, 1985-1986 และ 1989-1990 (ลิเวอร์พูล)
- แชมป์เอฟเอคัพ ปี 1986, 1989, 1992 (ลิเวอร์พูล)
- แชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ (ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก) ปี 1984 (ลิเวอร์พูล)
- แชมป์ลีกคัพ ปี 1981, 1982, 1983, 1984, 1995 (ลิเวอร์พูล)
- แชมป์แชริตี้ ชิลด์ ปี 1982, 1986 (แชมป์ร่วม), 1989, 1990 (แชมป์ร่วม) (ลิเวอร์พูล)
- สกรีน สปอร์ต ซูเปอร์ คัพ 1987 (ลิเวอร์พูล)
- นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของพีเอฟเอ 1984 (ลิเวอร์พูล)
- นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวอังกฤษ 1984 (ลิเวอร์พูล)
- รางวัลรองเท้าทองคำ 1984 (ลิเวอร์พูล)
สถิติ
- ผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 2 ในถ้วยเอฟเอคัพ และสูงที่สุดในเอฟเอคัพ ศตวรรษที่ 20 ที่จำนวน 44 ประตู (39 ประตู กับลิเวอร์พูล, 4 ประตู กับเชสเตอร์ ซิตี้, 1 ประตูกับนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด) โดยเขาเป็นรองเฮนรี่ เคอร์ชาม ของนอตตส์ เคาน์ตี้ เจ้าของสถิติอันดับ 1 ที่ยิงในถ้วยนี้ไปถึง 49 ประตู ระหว่างปี 1877 ถึง 1888
- ยิงประตูในเอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศ 5 ประตู
- เจ้าของสถิติร่วม ยิงประตูในลีกคัพมากที่สุดที่ 49 ประตู (48 ประตู กับลิเวอร์พูล), โดยเป็นสถิติร่วมกับเซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์ส
- ผู้เล่นคนแรกที่ชนะเลิศลีกคัพ ถึง 5 สมัย
- ยิงประตูสูงสุดในทีมชาติเวลส์ ที่ 28 ประตู
- ยิงประตูมากที่สุดอันดับ 1 ของลิเวอร์พูลเมื่อรวมทุกรายการ ที่ 346 ประตู
- ยิงประตูเฉพาะในลีกให้ลิเวอร์พูลมากเป็นอันดับ 3 ที่ 229 ประตู ตามหลังโรเจอร์ ฮันท์ (245 ประตู) และ กอร์ดอน ฮอดจ์สัน (233 ประตู)
- ยิงประตูมากที่สุดในเมอร์ซี่ไซด์ ดาร์บี้แมตช์ที่ 25 ประตู
- สถิตินักเตะที่ขายได้ราคาแพงที่สุดของ สโมสรเชสเตอร์ ซิตี้ที่ 300,000 ปอนด์
อ้างอิง
- ↑ "เอียน รัช". Barry Hugman's Footballers. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2020.
- ↑ "I. Rush: Summary". Soccerway. Perform Group. สืบค้นเมื่อ 3 May 2020.
- ↑ "Ian Rush: Overview". Premier League. สืบค้นเมื่อ 3 May 2020.
- ↑ "Ian Rush". 11v11.com. AFS Enterprises. สืบค้นเมื่อ 3 May 2020.
- ↑ Alpuin, Luis Fernando Passo (20 February 2009). "Wales – Record International Players". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 5 August 2012.
- ↑ "The 30 greatest strikers of all time - ranked". 90min. 25 May 2021. สืบค้นเมื่อ 16 September 2023.
- ↑ "Ranking the Top 60 Strikers of All Time". Bleacher Report. 14 February 2014. สืบค้นเมื่อ 16 September 2023.
- ↑ "Ranked! The 10 best Welsh players ever". FourFourTwo. 5 October 2022. สืบค้นเมื่อ 16 September 2023.
- ↑ "Best Liverpool players ever, the top 50". The Telegraph. 23 March 2015. สืบค้นเมื่อ 16 September 2023.
- ↑ "Ranked! The 50 best Liverpool players ever". FourFourTwo. 29 April 2022. สืบค้นเมื่อ 16 September 2023.
- ↑ "100PWSTK: 3. Ian Rush" เก็บถาวร 1 กุมภาพันธ์ 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Liverpoolfc.com; retrieved 5 January 2013.
- Rush, Ian (21 August 2008). Rush: The Autobiography. Ebury Press. ISBN 9780091928056.
- Paperback (2009): ISBN 9780091928063