แคลนนาด (วิชวลโนเวล)
แคลนนาด | |
---|---|
หน้าปกที่มีนางเอก นางิซะ ฟุรุกาวะ | |
ผู้พัฒนา | คีย์ |
ผู้จัดจำหน่าย |
|
กำกับ | จุง มาเอดะ |
ศิลปิน | อิตารุ ฮิโนอุเอะ |
เขียนบท |
|
แต่งเพลง |
|
เครื่องเล่น | ไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เพลย์สเตชัน 2, โฟมา, ซอฟต์แบงก์ 3จี, เพลย์สเตชัน พอร์เทเบิล, เอกซ์บอกซ์ 360, เพลย์สเตชัน 3, แอนดรอยด์, เพลย์สเตชัน วิตา, เพลย์สเตชัน 4, นินเท็นโด สวิตช์ |
วางจำหน่าย | แคลนนาด 28 เมษายน 2004
มกราคม 2008
|
แนว | วิชวลโนเวล |
รูปแบบ | ผู้เล่นเดี่ยว |
แคลนนาด (ญี่ปุ่น: クラナド; โรมาจิ: Kuranado; อังกฤษ: Clannad) เป็นชื่อเกมประเภทวิชวลโนเวล (visual novel) ซึ่งบริษัทคีย์ (Key) ผลิตขึ้นและเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2547 สำหรับเล่นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการของวินโดวส์ ต่อมาจึงพัฒนาให้เล่นกับเพลย์สเตชัน 2, เพลย์สเตชันแบบพกพา, เอกซ์บอกซ์ 360 และเพลย์สเตชัน 3 ได้ด้วย เกมนี้เป็นผลงานลำดับที่สามของคีย์ถัดจาก แอร์ (Air) และ แคนอน (Kanon) ตามลำดับ แต่ต่างกันตรงที่เกมทั้งสองนั้นเมื่อแรกประกอบไปด้วยเนื้อหาลามกอนาจารมุ่งเร้ากำหนัดเป็นสำคัญ ต่อภายหลังจึงทำฉบับที่ปราศจากสื่อดังกล่าววางจำหน่ายในตลาดผู้เยาว์ ขณะที่เกมนี้ไม่มีเนื้อหาทำนองเช่นว่ามาแต่ต้น และได้รับการจัดประเภทว่าเหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ดี ภายหลังได้ออกตอนพิเศษของเกมนี้โดยมีเนื้อหาเร้ากามารมณ์ ชื่อ โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ (Tomoyo After: It's a Wonderful Life)
เกมนี้ว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งต้องพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตาตั้งแต่เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงเติบใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพ และต้องช่วยเหลือคนเหล่านั้นแก้ไขปัญหาเป็นรายไป เนื้อหาแบ่งเป็นสององก์ต่อเนื่องกัน องก์แรกเรียก "ชีวิตวัยเรียน" (School Life) และองก์ที่สองเรียก "เรื่องราวให้หลัง" (After Story)
แรกจำหน่าย ฉบับเล่นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นขายดีเป็นอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาก็ติดอันดับเกมห้าสิบเกมที่ขายดีที่สุดในประเทศอีกหลายครั้ง เกมนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น ๆ อีกจำนวนมาก ได้แก่ มังงะสี่ชุด ชุดแรกลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกรัช (Comic Rush) ชุดสองลง คอมิกดิจิ + (Comi Digi +) ชุดสามลง เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน (Dengeki G's Magazine) และชุดสี่ลง แดรก็อนเอจเพียวร์ (Dragon Age Pure) นอกจากนี้ ยังมีประชุมการ์ตูน ไลท์โนเวล สมุดภาพ ละครเสียง และอัลบัมเพลงอีกหลายชุด ต่อมาบริษัทโทเอแอนิเมชัน (Toei Animation) ดัดแปลงเป็นอนิเมะโรง เข้าฉาย ณ วันที่ 15 กันยายน 2550 เป็นวันแรก และบริษัทเกียวโตแอนิเมชัน (Kyoto Animation) ดัดแปลงเป็นอนิเมะโทรทัศน์จำนวนสองฤดูกาล สี่สิบเจ็ดตอน กับโอวีเอ (original video animation) อีกสองตอน เผยแพร่ในระหว่างปี 2550 ถึง 2553 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การเล่นเกม
เกมนี้มีเนื้อหาแนวตลกและวีรคติ ผู้เล่นจะได้เล่นเป็นตัวพระของเรื่องแล้วดำเนินปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ แต่ไม่มากนัก เพราะจำต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านข้อความบนหน้าซึ่งพรรณนาเนื้อเรื่องและบทสนทนา
เนื้อเรื่องนั้นมีอยู่หกแบบต่างกัน[1] ตอนจบจะเป็นไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินบทบาทและการตัดสินใจของผู้เล่น เมื่อเริ่มเล่นเกม ผู้เล่นจะได้อยู่ในองก์ชีวิตวัยเรียนก่อน ประกอบด้วยฉากต่าง ๆ ที่มีตัวนางห้าตัวเป็นหัวใจ และฉากย่อยอื่น ๆ เมื่อสำเร็จภารกิจในแต่ละฉากแล้ว ผู้เล่นจะได้รับลูกไฟหนึ่งดวง สะสมครบแปดดวงเมื่อไร ก็จะได้รุดหน้าไปสู่องก์เรื่องราวให้หลัง ในองก์นี้ลูกไฟที่เคยอันตรธานไปในองก์แรกนั้นจะปรากฏใหม่ด้วย[1] หากผู้เล่นต้องการทราบตอนจบที่แท้จริง ก็จำจะต้องรวบรวมลูกไฟให้ครบสิบสามดวง[2]
ลูกไฟที่กล่าวถึงนี้ จำเดิมหมายให้เป็นวัตถุที่ให้ผู้เล่นไว้ใช้ประโยชน์ในเกม แต่เพราะเล็งเห็นว่า ยิ่งผู้เล่นได้ลูกไฟเพิ่ม เนื้อหาของเกมก็ยิ่งสับสนและซับซ้อนขึ้น จึงนำลูกไฟออกจากเนื้อเรื่องหลัก แล้วให้ปรากฏแต่น้อยครั้งแทน[2]
เรื่อง
ชื่อเรื่อง
จุง มะเอะดะ (Jun Maeda) เขียนเกมนี้ให้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าของครอบครัว และตั้งนามให้ว่า แคลนนาด เพราะสำคัญว่า คำ "แคลนนาด" (Clannad) เป็นภาษาไอริช มีความหมายว่า ครอบครัว (clan) แต่แท้จริงแล้ว คำ "แคลนนาด" ไม่มีความหมายในภาษาไอริช[3] ส่วนชื่อวงดนตรีแคลนนาดของชาวไอริชนั้น ย่อมาจากวลีในภาษาไอริชว่า "Clann As Dobhar" แปลว่า ครอบครัวชาวเมืองกวีดอร์[4]
ฉากและแก่นเรื่อง
เนื้อเรื่องของเกมว่าด้วยชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ โทะโมะยะ โอะกะซะกิ (Tomoya Okazaki) แบ่งเป็นสององก์ องก์แรกเรียก "ชีวิตวัยเรียน" ดำเนิน ณ โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น กับร้านขนมปังของครอบครัวฟุรุกะวะ (Furukawa) และหอพักของโยเฮ ซุโนะฮะระ (Yōhei Sunohara) เพื่อนของโทะโมะยะ เป็นหลัก ส่วนองก์ที่สองเรียก "เรื่องราวให้หลัง" ว่าด้วยโทะโมะยะในอีกเจ็ดปีต่อมาหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ดำเนินเรื่องในเมืองเดียวกันและต่อเนื่องกันกับองก์แรก ตลอดทั้งสององก์นี้จะปรากฏภพภูมิที่เรียก "โลกมายา" (Illusionary World) สลับขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เป็นโลกที่ไร้สรรพชีวิต ยกเสียแต่เด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้นำขยะมาประกอบขึ้นเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งสำหรับเป็นเพื่อนเล่น[1]
เกมนี้มุ่งหมายแสดงคุณธรรมเกี่ยวกับครอบครัว ในบรรดาตัวละครหลักทั้งหก อันได้แก่ โทะโมะยะ, นะงิซะ ฟุรุกะวะ (Nagisa Furukawa), เคียว ฟุจิบะยะชิ (Kyō Fujibayashi), โคะโตะมิ อิชิโนะเซะ (Kotomi Ichinose), โทะโมะโยะ ซะกะงะมิ (Tomoyo Sakagami) และฟูโกะ อิบุกิ (Fūko Ibuki) นั้น โทะโมะยะ นะงิซะ กับโคะโตะมิสามคนไม่มีพี่น้อง แต่บิดามารดาเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งส่งผลต่อชีวิตของเขาเหล่านั้นเป็นอันมาก ชีวิตของนะงิซะนั้นมะเอะดะว่าเขียนขึ้นเพื่อประมวลภาพของสิ่งที่เขาเรียก "ครอบครัวอันสมบูรณ์"[2] โดยประสงค์ให้แสดงถึงความตระหนักรู้ซึ่งจิตสำนึก ในฉากเกี่ยวกับนะงิซะ ยังปรากฏ "ครอบครัวใหญ่ของเหล่าดังโงะ" (だんご大家族) อันเป็นกลุ่มตัวละครสำหรับเด็กและเป็นที่ชื่นชอบของนะงิซะ บ่อยครั้ง เพื่อเน้นย้ำภาพครอบครัวที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอบอุ่น[1] มะเอะดะยังว่า ชีวิตของโทะโมะยะกับนะงิซะนั้นเขียนไปในทางให้สื่อความหมายของคำว่า "เติบโตเป็นผู้ใหญ่" เมื่อจบเรื่อง[2] ส่วนตัวละครอื่น ๆ ญาติพี่น้องมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับฟูโกะได้แก่พี่สาว เคียวได้แก่น้องสาว และโทะโมะโยะได้แก่สมาชิกทั้งปวงของครอบครัวเธอ[1]
ใช่แต่ชื่อเกมเป็นภาษาไอริชเท่านั้น "แม็กเมล" (Mag Mell) อันเป็นถ้อยคำภาษาไอริชมีความหมายว่า "ดินแดนแห่งความสุข" และเป็นคติธรรมเกี่ยวเนื่องกับเทพปกรณัมไอริชนั้น ยังนำมาใช้เป็นชื่อเพลงเปิดเกม[5] ซึ่งต่อมาอยู่ในอัลบัม มะบิโนะงิ (Mabinogi) ร่วมกับเพลงอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบเกม เพื่อให้เป็นประมวลร้อยแก้วจากเอกสารตัวเขียนภาษาเวลช์ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มเคลติกเช่นเดียวกับภาษาไอริชด้วย[6][7][8]
ตัวละคร
โทะโมะยะ ตัวพระของเรื่องนั้น เมื่อเรียนไม่รักเรียน การเรียนอยู่ระดับปานกลาง มักไม่อยู่ในร่องในรอยและฝ่าฝืนกฎระเบียบ ครูบาอาจารย์เรียกไปอบรมสั่งสอนเป็นนิจ จนคนทั้งปวงเรียกขานเขาว่า นักเลงหัวไม้ ทั้งนี้ เขามีปัญหาครอบครัว ถึงขนาดเบื่อหน่ายชีวิตและเมืองที่อยู่อาศัย จนไม่นำพาการร่ำเรียนและขาดความกระตือรือร้นในการดำรงชีพ กระนั้น เขามีหน้าตาและบุคลิกภาพดี จึงเป็นที่ต้องใจของหญิงสาวทั่วกัน ทั้งเขายังมีน้ำใจงาม รักใคร่เพื่อนฝูง เสียสละ กับทั้งเอาใจใส่และช่วยเหลือผู้อื่นเสมอโดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน[1]
ต้นเรื่อง โทะโมะยะพบนะงิซะซึ่งเป็นตัวนางตัวหลัก นะงิซะมักพูดกระอ้อมกระแอ้มอยู่ในลำคอ ขาดความมั่นใจในตนเองถึงขนาดที่คอยพึ่งพาคนรอบข้างเสมอ และเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ ต่อมา โทะโมะยะจึงได้รู้จักกับตัวนางตัวอื่น ๆ ตามลำดับ โดยเขาได้พบเคียว หญิงสาวฝีปากจัดจ้านและมีโทสะเป็นเจ้าเรือน แต่ฝีมือปรุงอาหารไม่เป็นสองและมีน้ำใจรักใคร่ดูแลเรียว ฟุจิบะยะชิ (Ryō Fujibayashi) น้องสาวฝาแฝด เป็นอันมาก[1] ครั้นแล้ว ก็ได้พบโคะโตะมิ หญิงสาวสติปัญญาดี จัดเจนศิลปวิทยาเกือบทุกแขนง แต่ไม่รู้จะเข้าหาผู้อื่นด้วยประการใด จึงอยู่โดดเดี่ยวเรื่อยมา และโทะโมะโยะ หญิงสาวอารมณ์ร้อนและเก่งการกีฬา ซึ่งย้ายมาโรงเรียนของโทะโมะยะกลางคัน[1] กับฟูโกะ หญิงสาวรูปร่างเล็กที่เมื่อยินดีในเรื่องใด ๆ ก็มักเข้าสู่ภาวะเคลิ้มสุข (euphoria) ดื่มด่ำใจอยู่ไม่รับรู้ความเป็นไปรอบข้างโดยสิ้นเชิง และมักอยู่ลำพังคอยแกะสลักไม้เป็นรูปปลาดาวไว้เป็นของขวัญเชิญให้ผู้อื่นมางานสมรสของพี่สาว ซึ่งภายหลังปรากฏว่าเธอเป็นวิญญาณที่ยังรักใคร่ผูกพันอยู่กับพี่สาว แต่เนื่องจากเจ้าตัวยังไม่ถึงแก่ความตาย เมื่อผู้คนมางานสมรสของพี่สาวสมมาดปรารถนาแล้ว วิญญาณนั้นก็คืนเข้าร่างไป[1] รวมเป็นตัวนางทั้งห้าด้วยกัน
สำหรับโทะโมะโยะนั้น ต่อมายังได้ปรากฏใน โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ ผลงานเกมชิ้นห้าของบริษัทคีย์ ซึ่งมีเนื้อหาลามกอนาจาร และดำเนินเนื้อเรื่องอีกแบบแผนหนึ่งแตกแขนงออกไปว่า โทะโมะโยะเป็นคู่รักของโทะโมะยะ แต่จำใจเลิกรากัน เพราะโทะโมะยะไม่ต้องการให้โทะโมะโยะซึ่งเป็นประธานกรรมการนักเรียนมีมลทินว่าคบหากับนักเรียนไม่เรียบร้อยเช่นตน กระนั้น เพราะยังรักกันอยู่มิเสื่อมคลาย ที่สุดก็ครองคู่กันใหม่[9]
เนื้อเรื่อง
โทะโมะยะเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มารดาถึงแก่ความตายตั้งแต่เขายังเยาว์ บิดาจึงเลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ แต่ด้วยตรอมใจในมรณกรรมของภริยา จึงติดสุรายาเมาและการพนันขันต่อ ซึ่งทำให้โทะโมะยะไม่พอใจเป็นอันมากและทะเลาะเบาะแว้งกับบิดาเป็นอาจิณ ขณะวิวาทกันครั้งหนึ่ง บิดาตบโทะโมะยะกระเด็นไปกระแทกหน้าต่าง ทำให้ไหล่ของโทะโมะยะเคลื่อน บิดาเห็นเข้าก็เสียใจ ยิ่งกินเหล้าเมายาหนักขึ้นอีก แม้จะหันมาดูแลเอาใจใส่โทะโมะยะมากขึ้นก็ตาม โทะมะโยะจึงเลี่ยงไม่เข้าบ้านเสมอ และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบิดาจึงเป็นประหนึ่งคนอื่นคนไกล นอกจากนี้ ไหล่ที่เคลื่อนทำให้เขาไม่อาจเล่นกีฬาได้ดังเดิม โทะโมะยะจึงไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนได้ นับแต่บัดนั้น เขาก็เริ่มเกกมะเหรกเกเร ต่อมาได้พบโยเฮ นักเรียนแตกแถวที่เพิ่งถูกขับออกจากชมรมกีฬา จึงได้สนิทชิดเชื้อกัน
องก์ชีวิตวัยเรียนอันเป็นองก์แรกนั้น ตั้งต้น ณ วันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคการศึกษา[1] วันนั้น โทะโมะยะได้พบนะงิซะโดยบังเอิญ นะงิซะกลับมาเรียนชั้นเดิมอีกหลังจากปีก่อนต้องพักไปเพราะป่วยหนักต่อเนื่องกันยาวนาน แต่พบว่าเพื่อน ๆ สำเร็จการศึกษาไปสิ้นแล้ว ทั้งไม่รู้จะเข้าหาใคร จึงต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ กับตัวเองเสมอมา โทะโมะยะพบว่า เธอต้องการเข้าร่วมชมรมการแสดง แต่ชมรมถูกยุบเลิกไปแล้ว เหตุว่าสมาชิกเดิมได้จบการศึกษาไปและไม่มีสมาชิกใหม่ โทะโมะยะจึงช่วยเธอตั้งชมรมนั้นอีกครั้ง ระหว่างนั้น โทะโมะยะได้พบปะรู้จักและช่วยเหลือคนอื่น ๆ อีกมากหน้าหลายตา กับทั้งได้รักกันกับนะงิซะ
ส่วนองก์เรื่องราวให้หลังอันเป็นองก์ที่สองนั้น ว่าด้วยชีวิตของโทะโมะยะหลังจากสำเร็จการศึกษา สมรสกับนะงิซะ และอาศัยอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว โทะโมะยะต้องประเชิญความลำบากกายและใจนานัปการ โดยเฉพาะความเจ็บป่วยของนะงิซะซึ่งกำเริบขึ้นเมื่อเธอคลอดอุชิโอะ (Ushio) บุตรของคนทั้งสอง และยังให้เธอถึงแก่ความตาย โทะโมะยะหมดอาลัยตายอยาก ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ติดสุรายาเมาเสมอบิดาเขา และละทิ้งอุชิโอะหาแยแสไม่ บิดามารดาของนะงิซะจึงเป็นธุระอุ้มชูเลี้ยงดูหลานแทน ห้าปีต่อมา โทะโมะยะได้พบกับย่า ย่าเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความทุกข์ระทมที่บิดาประสบมาในอดีตกับน้ำพักน้ำแรงที่บิดาเสียสละเพื่อเลี้ยงดูเขา โทะโมะยะฟังแล้วก็ได้สติและกลับไปเลี้ยงดูอุชิโอะโดยสุดความรักและความสามารถที่ผู้ชายในฐานะบิดาจะมีได้ ทว่า อุชิโอะมีร่างกายไม่แข็งแรงเสมือนมารดา ไม่ช้าก็ตายจากเขาไปอีกคน โทะโมะยะตกอยู่ในความโทมนัสอย่างหาที่สุดมิได้ มิรู้ที่จะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไร และหมดสติล้มลงถึงแก่ความตาย
ทั้งนี้ ในระหว่างเรื่องที่ผ่านมานั้น โทะโมะยะมักฝันถึงโลกมายา อันเป็นภพภูมิหนึ่งที่หมดสิ้นแล้วซึ่งสรรพชีวิต มีแต่เด็กหญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ตัวคนเดียว เธอมีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นจากขยะมูลฝอยโสโครกต่าง ๆ และต่อมา เธอได้นำขยะมาสร้างเป็นหุ่นยนต์ตัวเล็กตัวหนึ่งเพื่อให้เป็นเพื่อน โทะโมะยะจึงมาเกิดในโลกนี้เป็นหุ่นยนต์ตัวนั้น โทะโมะยะในสภาพหุ่นยนต์มีความรู้สึกนึกคิดและเคลื่อนไหวได้ แต่มิอาจพูดจาได้เพราะเด็กหญิงมิได้สร้างปากให้ เพื่อให้วันเวลาในโลกนี้ไม่น่าเบื่อหน่าย เด็กหญิงและโทะโมะยะได้ช่วยกันประกอบขยะขึ้นเป็นสิ่งอื่น ๆ อีกเรื่อย ๆ แต่ปรากฏว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนไม่มีชีวิตเพราะขาดไร้วิญญาณ เวลานั้นเอง โทะโมะยะหวนรำลึกถึงโลกที่เขาจากมาได้ จึงชวนเด็กหญิงสร้างเรือใบลำใหญ่จะได้พากันไปยังโลกนั้นละทิ้งดินแดนอันเงียบเหงานี้ไว้เบื้องหลัง
กระนั้น ฤดูหนาวมาเยือน เด็กหญิงจมอยู่ในกองหิมะจนมิอาจเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกต่อไป เนื้อเรื่องบัดนี้เผยว่า เด็กหญิงคืออุชิโอะที่ตายแล้วมากลับชาติมาเกิด และด้วยเข้าใจว่าตนกำลังจะสิ้นใจเพราะความหนาวเหน็บ เด็กหญิงจึงบอกแก่โทะโมะยะว่า เขาอาจกลับไปยังโลกนั้นเพื่อแก้ไขอกุศลกรรมที่เขาเคยทำไว้กับเธอได้ ถ้าเขาสามารถรวบรวมลูกไฟอันเป็นสัญลักษณ์ของความปีติสุขให้ได้มาก ตลอดเนื้อเรื่องที่เป็นคนนั้น โทะโมะยะได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก และเมื่อช่วยเหลือใครได้คนหนึ่งก็จะบังเกิดลูกไฟขึ้นดวงหนึ่งในโลกมายานี้ เพราะฉะนั้น ลูกไฟที่เขาสั่งสมไว้เสมอมาจึงมีเป็นอันมาก เมื่อเด็กหญิงสั่งเสียเสร็จ ลูกไฟทั้งปวงก็ประชุมรุมกันเป็นแสงเจิดจ้าปรากฏแก่สายตาของโทะโมะยะ และโลกมายานั้นก็ทำลายลง โทะโมะยะสะดุ้งตื่นขึ้นพบว่า นะงิซะกำลังคลอดอุชิโอะ ทั้งมารดาและทารกปลอดภัยและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี ซึ่งหมายความว่า โทะโมะยะสามารถกลับไปใช้ชีวิตใหม่ให้ดีตามคำของเด็กหญิงนั้น กับทั้งเด็กหญิงก็ได้กลับไปเกิดเป็นอุชิโอะอีกครั้ง
การผลิต
หัวหน้าผู้อำนวยการผลิตเกมนี้ คือ ทะกะฮิโระ บะบะ (Takahiro Baba) ประธานบริษัทวิชวลอาตส์ (Visual Art's) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลงานให้แก่คีย์[1] โดยเริ่มโครงการทันทีที่ผลิตเกม แอร์ แล้วเสร็จ[2]
คณะผู้ผลิตเกม แคลนนาด นี้ ประกอบด้วย จุง มะเอะดะ, ไค (Kai) และยูอิชิ ซุซุโมะโตะ (Yūichi Suzumoto) สามคนร่วมกันวางโครงเรื่องและเขียนบรรดาฉากหลักของเรื่อง, โทยะ โอะกะโนะ (Tōya Okano) ช่วยเขียนเรื่อง, อิตะรุ ฮิโนะอุเอะ (Itaru Hinoue) กำกับฝ่ายศิลป์และออกแบบตัวละคร[10] ขณะที่เหล่าจิตรกรซึ่งใช้นามแฝงว่า มิราเคิล มิกิปง (Miracle Mikipon), โมะชิซุเกะ (Mochisuke), นะ-งะ (Na-Ga) กับไชเนอรี (Shinory) สี่คนปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ และโทะริโนะ (Torino) สร้างสรรค์ศิลปะในฉากหลัง[1] ส่วนเพลงประกอบนั้น มะเอะดะร่วมประพันธ์กับชินจิ โอริโตะ (Shinji Orito) และมะโงะเมะ โทะโงะชิ (Magome Togoshi)[10]
ในการผลิตเกม แอร์ มะเอะดะว่า ตนรู้สึกสามารถเขียนเนื้อเรื่องได้ดังใจปรารถนา แต่ภายหลังพบว่าผู้เล่นเข้าใจและมีอารมณ์ร่วมน้อย ในการผลิตเกม แคลนนาด เขาจึงว่า ตนมีหน้าที่กระทำให้ผู้เล่นรับรู้เข้าใจเนื้อหาให้ได้มากที่สุดโดยทั่วกัน[2] เมื่อเริ่มวางโครงการนั้น มะเอะดะไม่ประสงค์จะเขียนเนื้อหาทำนอง แอร์ ที่ดำเนินไปโดยแวดล้อมตัวละครหลักแต่เพียงตัวเดียว คือ มิซุซุ คะมิโอะ (Misuzu Kamio) ทว่า เขาต้องการให้เรื่องสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "คนกับเมือง" และความสัมพันธ์ของ "มวลมนุษย์"[2] เขาว่า เมื่อลงมือเขียนไปหลายฉากแล้ว ก็ให้รู้สึกว่าช่างเหลือความสามารถของเขาเสียจริง และพรรณนาว่า กระบวนการเขียนเรื่อง แคลนนาด นั้นเป็นประหนึ่ง "กำแพงที่ให้ข้ามอีกทีก็ทำไม่ได้แล้ว"[11] นอกจากนี้ แม้เขารู้สึกพร้อมเต็มกำลังมาแต่ต้น แต่เมื่อเขียนเรื่อยไป ๆ เรื่องกลับพัฒนาไปถึงขนาดที่เขามิอาจคาดหมายได้ ฝ่ายซุซุโมะโตะว่า เนื้อเรื่องเพิ่มจากที่วางโครงกันไว้เป็นสองเท่า เขายังว่า เรื่องเพิ่มเพราะโครงสร้างฉากพื้นฐานมีความยืดยาวขึ้น ซึ่งก็ยังให้ฉากย่อยต่าง ๆ มีรายละเอียดมากขึ้นตามไปด้วย[2]
ในระหว่างดำเนินโครงการนั้น คณะผู้เขียนโต้แย้งกันว่า เนื้อเรื่องและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครนะงิซะมีมากเกินไป และการที่เนื้อเรื่องเพ่งไปที่นะงิซะแต่ผู้เดียวนั้น เกลือกจะทำให้ แคลนนาด คล้ายคลึงกับ แอร์ เอาได้[2] มะเอะดะเห็นว่า การที่ แอร์ มุ่งเนื้อหาไปที่มิซุซุเป็นหลักนั้น ทำให้ตัวละครอื่น ๆ ถูกลดบทบาทลง นับเป็นข้อด้อยของ แอร์ และเป็นกังวลว่า ในองก์เรื่องราวให้หลังของ แคลนนาด ซึ่งดำเนินเรื่องราวของนะงิซะสืบต่อจากองก์ชีวิตวัยเรียน จะบดบังเนื้อเรื่องโดยรวมของเกม อันจะนำไปสู่จุดด้อยอย่างเดียวกัน มะอะเดะจึงพยายามมิให้เป็นเช่นนั้น โดยเขียนให้ครึ่งแรกขององก์เรื่องราวให้หลังมีความสนุกสนานเพลิดเพลินและน่าสลดใจอยู่ในยามเดียวกัน[2] นอกจากนี้ บะบะเสนอให้ฉากของตัวละครอื่น ๆ มีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น แต่ข้อเสนอนี้ไม่ต้องด้วยความคิดของมะเอะดะซึ่งเห็นว่า ผู้เล่นย่อมไม่ประเมินคุณค่าเกมต่ำลงเพราะฉากทั้งหลายมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง และตอนจบที่กำหนดกันไว้แต่เดิมนั้นชอบแล้ว[2]
ยูโต โทะโนะกะวะ (Yūto Tonokawa) นักเขียนในสังกัดบริษัทวิชวลอาตส์ ว่า แคลนนาด เป็นผลงานที่ยาวมากเป็นอันดับสองของบริษัทคีย์ โดยสั้นกว่าเกม ลิตเติลบัสเตอส์! เอ็กสตาซี (Little Busters! Ecstasy) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2551 ไปสี่พันคำ[12]
การเผยแพร่
ในปี 2544 บริษัทคีย์ว่าจะจำหน่ายเกมนี้ในปี 2545[13] กระนั้น ก็ได้เลื่อนหลายครั้ง กระทั่งสามารถจำหน่ายดีวีดีฉบับจำกัดสำหรับเล่นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2547[14][15] ในกล่องดีวีดีดังกล่าว นอกจากตัวดีวีดีเองแล้ว ยังแถมอัลบัมเพลงประกอบฉบับเรียบเรียงเสียงใหม่ชื่อ มะบิโนะงิ มาด้วย[15] ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2547 จึงจำหน่ายเกมฉบับปรกติ[14]
ในฉบับจำกัดและฉบับปรกติดังกล่าว มิได้ทำเสียงพูดให้แก่ตัวละคร ภายหลังจึงจัดพากย์ ยกเว้นตัวละครโทะโมะยะที่ยังคงไร้เสียงพูดอยู่ กับทั้งเพิ่มคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ใหม่เข้าไปหนึ่งรายการ และปรับปรุงให้รองรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์วิสตาได้ แล้วจัดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2545 โดยให้ชื่อฉบับนี้ว่า แคลนนาดฟูลวอยซ์ (Clannad Full Voice)[14][16] ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ได้ผลิตฉบับใหม่นี้จำหน่ายอีกครั้ง แต่เปลี่ยนใช้ชื่อ แคลนนาด เฉย ๆ โดยรวมอยู่กับเกมอื่นของบริษัทคีย์อีกห้าเกมในกล่องชุดเรียก "คีย์เท็นธ์เมโมเรียลบ็อกซ์" (Key 10th Memorial Box)[17] ครั้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 จึงจำหน่ายฉบับดังกล่าวซึ่งปรับปรุงให้เข้ากับวินโดวส์ 7 และให้ชื่อว่า แคลนนาดเมโมเรียลอีดิชัน (Clannad Memorial Edition)[14][18]
บริษัทอินเทอร์แชนเนล (Interchannel) จำหน่ายเกมนี้สำหรับเล่นกับเพลย์สเตชัน 2 ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549[19] ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 จึงผลิตจำหน่ายซ้ำอีก โดยบรรจุรวมอยู่กับเกม แคนอน และ แอร์ ในกล่องชุดเรียก "คีย์ 3-พาร์ตเวิร์กพรีเมียมบ็อกซ์" (Key 3-Part Work Premium Box)[20][21][22] ฝ่ายบริษัทโพรโตไทป์ (Prototype) ได้เริ่มจำหน่ายฉบับใช้เล่นกับเอกซ์บอกซ์ 360 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545[23] และฉบับใช้เล่นกับเพลย์สเตชัน 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544[24]
บริษัทเอ็นทีทีโดโคโม (NTT DoCoMo) ได้พัฒนาให้เล่นได้บนโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้บริการอิสระในการเข้าถึงสื่อประสมบนโทรศัพท์มือถือ (Freedom of Mobile Multimedia Access) หรือโฟมา (FOMA) แล้วส่งให้บริษัทโพรโตไทป์จัดจำหน่ายผ่านบริษัทวิชวลอาตส์มอตโต (Visual Art's Motto) ในเครือบริษัทวิชวลอาตส์ ตั้งแต่ปลายปี 2550 ครั้นแล้ว จึงจำหน่ายฉบับเล่นบนโทรศัพท์มือถือระบบซอฟต์แบงก์ 3จี (SoftBank 3G) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551[25] และฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพา ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเพิ่มส่วนเสริมจากฉบับ แคลนนาดฟูลวอยซ์ เข้าไปด้วย[26][27] ทั้งนี้ ฉบับที่ใช้เล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพาและเอกซ์บอกซ์ 360 ฉบับจำกัดนั้น แถมซีดีละครสั้นห้าเรื่องไม่ต่อเนื่องกัน โดยซีดีละครที่มาในฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพานั้นแตกต่างจากที่มาในฉบับเล่นกับเอกซ์บอกซ์ 360[23][26]
งานดัดแปลง
หนังสือ
วันที่ 15 เมษายน 2547 สำนักพิมพ์ซอฟต์แบงก์ครีเอทีฟ (SoftBank Creative) ได้ตีพิมพ์หนังสือขนาดเท่านิตยสารสามสิบเก้าหน้าชื่อ พรี-แคลนนาด (pre-Clannad) เผยแพร่ ประกอบด้วยภาพจากเกม คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับตัวละคร ภาพร่างในการผลิตเกม และภาพวาดเค้าโครงความคิด[3]
ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2547 สำนักพิมพ์เอ็นเทอร์เบรน (Enterbrain) ตีพิมพ์หนังสือภาพสำหรับผู้นิยม แคลนนาด เผยแพร่ ประกอบด้วยคำอธิบายเรื่องราวโดยพิสดาร ภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ โน้ตเพลงเปิดและปิดเกม บทสัมภาษณ์คณะผู้สร้างสรรค์ แล้วปิดเล่มด้วยภาพวาดตัวละครฉบับต้นอันเป็นผลงานของจิตรกรหลายคน บทเสริมเกมจำนวนสามบทเรียก ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรี (Official Another Story) และภาพร่างในการผลิตเกม รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบหน้า[2]
ระหว่างเดือนกันยายน 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2548 สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ (ASCII Media Works) ได้ลงเรื่องสั้นเสริมเรื่องหลักของเกมพร้อมภาพประกอบจำนวนสิบสี่เรื่องเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน เรียกรวมกันว่า ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ (Official Another Story Clannad 光見守る坂道で; "แคลนนาดอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นทางการ: บนหนทางเลียบเนินเขาซึ่งมีแสงสว่างสาดส่องเหนือเรา") ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งสิบสี่นี้ สิบสามเรื่องเป็นบทปรกติ และอีกหนึ่งเป็นบทแถม ทุกเรื่องมีกลุ่มเจ้าหน้าที่เขียนบทของบริษัทคีย์เป็นผู้เขียน และจิตรกรซึ่งใช้นามแฝงว่า โกท็อป (GotoP) เป็นผู้วาดภาพประกอบ ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มพร้อมแต่งเรื่องเพิ่มอีกสองเรื่องใส่เข้าไปด้วย เป็นหนังสือหนึ่งร้อยสามหน้า และจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548[28][29][30] นอกจากนี้ บริษัทโพรโตไทป์ยังจำหน่ายซ้ำผ่านทางบริษัทวิชวลอาตส์มอตโตซึ่งหนังสือดังกล่าวฉบับอ่านทางโทรศัพท์มือถือระบบซอฟต์แบงก์ 3จี และโฟมา โดยเริ่มจำหน่ายสัปดาห์ละบทตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 แต่ระบบโฟมาจะได้อ่านก่อนซอฟต์แบงก์ 3จีเป็นเวลาสามสัปดาห์ ต่อมา บริษัทโพรโตไทป์ได้จำหน่ายหนังสือนี้ฉบับอ่านด้วยเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพา โดยทำเป็นสองเล่มใหญ่ แต่ละเล่มมีเนื้อหาแปดบท และมีภาพประกอบของจิตรกรโกท็อป เล่มแรกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เล่มหลังตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[31][32][33] บริษัทโพรโตไทป์เรียกฉบับที่อ่านบนเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ว่า นิยายเสียงซึ่งอาศัยการมอง (visual sound novel)[34] อนึ่ง นิยายทั้งนี้ยังได้รับการผลิตเป็นฉบับอ่านบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554[35][36]
นักเขียนหลายคนยังช่วยกันแต่งประชุมนิยายประจำตัวละครของเกมนี้ และสำนักพิมพ์จีฟ (Jive) รวมเป็นสองเล่มแล้วพิมพ์เผยแพร่ เล่มแรกจำหน่ายในเดือนกันยายน 2547 เล่มหลังในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน[37][38]
สำนักพิมพ์ฮาร์เวสต์ (Harvest) พิมพ์ประชุมชุดเรื่องสั้นเกี่ยวกับเกมนี้เผยแพร่จำนวนสามเล่ม ตั้งนามว่า แคลนนาด. (くらなど。) เล่มแรกรวมเอาเรื่องสั้นซึ่งฮิโระ อะกิซุกิ (Hiro Akizuki) กับมุสึกิ มิซะกิ (Mutsuki Misaki) สองคนเขียนด้วยกัน และจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่วนเล่มสามนั้นจำหน่ายในเดือนตุลาคม 2553[39][40] อนึ่ง ยังพิมพ์ประชุมชุดเรื่องสั้นทำนองเดียวกันอีกชุดเผยแพร่ มีจำนวนสามเล่ม เรียกรวมกันว่า แคลนนาดเอสเอสเอส (Clannad SSS) เล่มแรกเป็นชุดนิยายชื่อ แคลนนาดมิสเทอรีไฟล์ (Clannad Mystery File) จำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2554 กับทั้งยังพิมพ์นิยายอีกเล่มหนึ่งเรียก แคลนนาด: เมจิกอาวร์ (Clannad: Magic Hour) จำหน่ายในเดือนธันวาคม ปีนั้นเอง[41]
มังงะ
มีมังงะสี่ชุดดัดแปลงมาจากเกมนี้ ชุดแรกนั้นเป็นผลงานของจุริ มิซะกิ (Juri Misaki) เรียก แคลนนาดออฟฟิเชียลคอมิก (Clannad Official Comic) ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกรัช ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ถึงเดือนเมษายน ปีถัดมา[42][43] ต่อมา สำนักพิมพ์จีฟรวมมังงะเหล่านั้นเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนแปดชุด ชุดละหลายเล่ม เผยแพร่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2552[44][45]
มังงะชุดที่สองเป็นผลงานของริโนะ ฟุจี (Rino Fujii) ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ และใช้ชื่อเดียวกัน บริษัทเฟล็กซ์คอมิกซ์ (Flex Comix) นำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกดิจิ + ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2551 ฉบับละสิบเอ็ดบท[46][47] ต่อมา สำนักพิมพ์บร็อกโคลี (Broccoli) รวมเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนสองชุด ชุดแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 มีทั้งแบบจำกัดและแบบปรกติ แบบจำกัดนั้นแถมสมุดจดหนึ่งเล่มสีดำมีตราโรงเรียนของโทะโมะยะอยู่บนปก[48] และเพื่อเฉลิมฉลองยอดขายมังงะชุดแรกดังกล่าว ได้จัดการประชุมโดยมีจิตรกรฟุจีมาร่วมแจกลายมือชื่อ ณ ร้านเกเมอส์ (Gamers) เมืองนะโงะยะ วันที่ 2 มีนาคม 2551 ด้วย[49] ส่วนชุดที่สองนั้นจำหน่ายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 มีทั้งแบบจำกัดและแบบปรกติดุจกัน[50]
ชุดที่สามเป็นผลงานของชา (Shaa) สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์นำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552[51] แล้วย้ายไปลงนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์เฟสติวัล! คอมิก (Dengeki G's Festival! Comic) อันเป็นนิตยสารพี่น้องกัน ตั้งแต่ฉบับที่แปด ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2552[52] ต่อมา สำนักพิมพ์เด็งเงะกิคอมิกส์ (Dengeki Comics) ในเครือแอสกีมีเดียเวิกส์ รวมเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนสามชุด ชุดแรกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552[53] ชุดที่สามจำหน่ายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2553[54]
ส่วนชุดที่สี่นั้นมีชื่อว่า แคลนนาด: โทะโมะโยะเดียเรสต์ (Clannad: Tomoyo Dearest) เป็นผลงานของยุกิโกะ ซุมิโยะชิ (Yukiko Sumiyoshi) ดัดแปลงมาจากเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ และสำนักพิมพ์ฟุจิมิโชะโบ (Fujimi Shobō) นำลงพิมพ์ในนิตยสาร แดรก็อนเอจเพียวร์ ตั้งแต่ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม ปีเดียวกัน[55][56][57] ต่อมาจึงรวมเป็นหนึ่งเล่มจบจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551[58]
อนึ่ง ยังมีประชุมมังงะจำนวนสี่ชุด แต่ละชุดเป็นผลงานของจิตรกรราว ๆ ยี่สิบคน[59] ชุดแรกใช้ชื่อว่า แคลนนาด ประกอบด้วยมังงะทั้งหมดห้าเล่ม สำนักพิมพ์ทวินฮาร์ตคอมิกส์ (Twin Heart Comics) ในเครือสำนักพิมพ์โอโซะระ (Ohzora) พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม ปีถัดมา[60][61] ชุดที่สองมีเล่มเดียวเรียก แคลนนาดคอมิกแอนทอโลจี: อนาเธอร์ซิมโฟนี (Clannad Comic Anthology: Another Symphony) สำนักพิมพ์จีฟพิมพ์จำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548[62] ชุดที่สามประกอบด้วยมังงะสองเล่ม และเล่มพิเศษอีกหนึ่งเล่ม สำนักพิมพ์อิจินชะ (Ichijinsha) พิมพ์เล่มแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 เล่มสองวันที่ 24 เดือนถัดมา และเล่มพิเศษวันที่ 25 ธันวาคม 2550[63][64][65] ส่วนชุดที่สี่เป็นประชุมมังงะสี่ช่อง ประกอบด้วยมังงะทั้งหมดสี่เล่ม เรียกรวมกันว่า มะจิ-คยูยงโกะมะแคลนนาด (Magi-Cu 4-koma Clannad) สำนักพิมพ์เอ็มซีคอมิกส์ (MC Comics) ในเครือสำนักพิมพ์เอ็นเทอร์เบรน พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2552[59]
ซีดีละคร
เกมนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเสียงและทำเป็นซีดีจำหน่ายจำนวนสองชุด ซีดีละครชุดแรกเป็นผลงานการผลิตของบริษัมฟรอนเทียร์เวิกส์ ประกอบด้วยซีดีทั้งหมดห้าแผ่นว่าด้วยตัวนางทั้งห้าเป็นรายแผ่นไป แผ่นแรกทำเป็นฉบับจำกัดและแถมละครพิเศษหนึ่งตอน จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ส่วนแผ่นที่สองถึงห้านั้นจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เดือนละแผ่น[66]
ส่วนซีดีละครชุดที่สองนั้น บริษัทโพรโตไทป์ผลิต ประกอบด้วยซีดีทั้งหมดสี่แผ่น แผ่นแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 แผ่นที่สองจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2550 แผ่นที่สามจำหน่ายในเดือนถัดมา และแผ่นสุดท้ายจำหน่ายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550[67] แต่ละแผ่นเป็นละครซึ่งอิงหนังสือ ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ และจิตรกรโกท็อปซึ่งวาดภาพประกอบหนังสือนั้นได้วาดภาพปกซีดีด้วย[67]
ละครเสียงทั้งนี้เปิดให้ดาวน์โลดพร้อมบทและภาพผ่านระบบเอกซ์บอกซ์ไลฟ์ (Xbox Live) กับร้านเพลย์สเตชัน เมื่อเล่นเกม แคลนนาด ด้วยเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360 หรือเพลย์สเตชัน 3 แล้วแต่กรณี ด้วย[23][24]
อนิเมะโรง
บริษัทโทเอแอนิเมชันซึ่งเคยนำเกม แคนอน กับ แอร์ มาทำเป็นอนิเมะโรงแล้ว ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 ณ เทศกาลอนิเมะโตเกียว (Tokyo Anime Fair) ว่า จะนำเกม แคลนนาด มาทำเช่นกัน[68][69] โอะซะมุ เดะซะกิ (Osamu Dezaki) ซึ่งกำกับ แอร์ ได้กำกับ แคลนนาด ด้วย ส่วนมะโกะโตะ นะกะมุระ (Makoto Nakamura) เขียนบท มีเนื้อหาค่อนไปทางตัวละครนะงิซะ เป็นเหตุให้ตัวละครอื่น ๆ ถูกตัดทิ้งหรือลดทอนบทบาทลงเสียมาก อนิเมะนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 และทำเป็นดีวีดีสามฉบับ คือ ฉบับสะสม ฉบับพิเศษ และฉบับปรกติ จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ปีถัดมา[70] บริษัทเซ็นไตฟิล์มเวิกส์ (Sentai Filmworks) ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะนี้เผยแพร่ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยจัดพากย์และบรรยายภาษาอังกฤษ แล้วจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554[71]
อนิเมะชุด
การผลิตและเนื้อหา
บริษัทเกียวโตแอนิเมชันซึ่งเคยนำเกม แคนอน และ แอร์ มาดัดแปลงเป็นอนิเมะฉายทางโทรทัศน์แล้ว ได้นำเกม แคลนนาด มาทำดุจกัน ฝ่ายทะสึยะ อิชิฮะระ (Tatsuya Ishihara) ซึ่งกำกับอนิเมะทั้งสอง รับหน้าที่กำกับอนิเมะนี้ด้วย[72]
อนิเมะชุดนี้ประกอบด้วยสองฤดูกาล ฤดูกาลแรกเรียก แคลนนาด มีเนื้อหาตามองก์ชีวิตวัยเรียนของเกม มียี่สิบสี่ตอน เป็นตอนปรกติยี่สิบสามตอน อีกหนึ่งเป็นตอนพิเศษเรียก อนาเธอร์เวิลด์: โทะโมะโยะแชปเตอร์ (Another World: Tomoyo Chapter) มีเนื้อหาอีกรูปแบบหนึ่งแตกแขนงไปจากเนื้อเรื่องหลัก โดยว่าด้วยความรักระหว่างโทะโมะยะกับโทะโมะยะตามเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ แต่ไม่มีฉากลามกอนาจาร ส่วนฤดูกาลที่สองเรียก แคลนนาดอาฟเตอร์สตอรี (Clannad After Story) อิงองก์เรื่องราวให้หลังของเกม มียี่สิบห้าตอน เป็นตอนปรกติยี่สิบสี่ตอน อีกหนึ่งเป็นตอนพิเศษเรียก อนาเธอร์เวิลด์: เคียวแชปเตอร์ (Another World: Kyou Chapter) มีเนื้อหาว่าด้วยความรักระหว่างโทะโมะยะกับเคียว ทำนองเดียวกับตอนพิเศษในฤดูกาลแรก[72]
เพลง "แม็กเมล" (メグメル; Mag Mell; "ดินแดนแห่งความสุข") ซึ่งวงยูโฟเนียส (Eufonius) ร้องเป็นเพลงเปิดเกมนั้น ได้รับการเรียบเรียงเสียงใหม่เรียกชื่อว่า "'แม็กเมล' –คุกคูลมิกซ์-" ('Mag Mell' -cockool mix-) และเรียบเรียงอีกทีเรียก "'แม็กเมล' ~คุกคูลมิกซ์ 2007~" ('Mag Mell' ~cockool mix 2007~) ฉบับหลังนี้ใช้เป็นเพลงเปิดอนิเมะฤดูกาลแรก ส่วนเพลง "นะงิซะ" (渚) ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงประจำฉากของตัวละครนะงิซะในเกมนั้น นำมาใส่เนื้อให้ชาตา (Chata) ร้องเป็นเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลแรก เรียก "ดังโงะไดกะโซะกุ" (だんご大家族; "ครอบครัวใหญ่ของเหล่าดังโงะ") ขณะที่เพลง "โอะนะจิทะกะมิเอะ" (同じ高みへ; "ไปสู่ความสูงระดับเดียวกัน") อันเป็นเพลงบรรเลงประกอบเกมนั้น ได้รับการนำมาใส่เนื้อให้ลีอา (Lia) ร้องเป็นเพลงเปิดอนิเมะฤดูกาลที่สอง เรียกนามว่า "โทะกิโอะคิซะมุอุตะ" (時を刻む唄; "บทเพลงเพื่อยังให้เวลาล่วงไป") ส่วนเพลงปิดชื่อเพลง "ทอร์ช" (Torch; "แสง") แต่งขึ้นใหม่ และลีอาร้องเช่นกัน บรรดาบทเพลงอื่นที่ใช้ประกอบอนิเมะทั้งสองฤดูกาลนั้นเป็นเพลงประกอบเกมและเคยอยู่ในอัลบัมเพลงประกอบเกมซึ่งจำหน่ายไปก่อนหน้าแล้วทั้งสิ้น
การเผยแพร่
วันที่ 15 มีนาคม 2550 หลังจากสถานีโทรทัศน์บีเอสไอฉายตอนจบของอนิเมะ แคนอน แล้ว ก็ได้ฉายตัวอย่างอนิเมะ แคลนนาด ความยาวสามสิบวินาทีต่อท้ายเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต่อมา บริษัทเกียวโตแอนิเมชันประกาศ ณ เทศกาลอนิเมะเฟียสตา (Anime Festa) อันTBSจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 ว่า อนิเมะฤดูกาลแรกจะออกอากาศจำนวนยี่สิบสามตอนตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2550 จนถึงวันที่ 27 มีนาคม ปีถัดมา ส่วนตอนที่ยี่สิบสี่จะจำหน่ายในท้องตลาดแต่ประการเดียว[72] ครั้นออกอากาศแล้วสิ้นแล้ว เกียวโตแอนิเมชันได้เปิดให้ส่งไปรษณียบัตรชิงโชคเข้ามาชมตอนที่ยี่สิบสี่ โดยคัดเอาเพียงสี่ร้อยคนและจัดให้ชมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ต่อมา บริษัทโพนีแคนยอน (Pony Canyon) ได้ผลิตอนิเมะทั้งยี่สิบสี่ตอนเป็นดีวีดีจำนวนแปดแผ่น แต่ละแผ่นมีสามตอน แผ่นแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 แผ่นที่สุดท้ายจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551[72] ลุวันที่ 30 เมษายน 2553 จึงทำเป็นบลูเรย์จำหน่าย[73]
ในวันที่ฉายตอนที่ยี่สิบสามของฤดูกาลแรกจบ ได้ฉายโฆษณาฤดูกาลที่สองความยาวสิบห้านาทีแนบท้าย ครั้นแล้ว ฤดูกาลที่สองจึงออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552[74][75] โดยจัดให้บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งชนะการชิงโชคเข้าชมตอนที่ยี่สิบห้าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เช่นเคย[76] แล้วจึงทำเป็นดีวีดีแปดแผ่น แผ่นแรกวางแผงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แผ่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และทำเป็นบลูเรย์มีบทบรรยายภาษาอังกฤษจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2554[77]
ในทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทเซ็นไตฟิล์มเวิกส์ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะฤดูกาลเผยแพร่ โดยให้บริษัทเอดีวีฟิมส์ (ADV Films) ผลิตจำหน่ายเป็นดีวีดีแบ่งขายใส่กล่องเป็นชุดรวมทั้งหมดสองชุด ชุดหนึ่งมีความยาวครึ่งฤดูกาล พากย์ภาษาญี่ปุ่น บรรยายภาษาอังกฤษ มิได้จัดพากย์ภาษาอังกฤษ[78] กล่องชุดแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552[79] ชุดที่สองวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนั้นเอง[80] ส่วนฤดูกาลที่สองนั้น เซ็นไตฟิล์มเวิกส์ได้รับอนุญาตเช่นกัน โดยให้บริษัทเซ็กชัน23 ฟิมส์ (Section23 Films) ผลิตเผยแพร่เป็นกล่องชุดดีวีดีสองชุดทำนองเดียวกัน ชุดแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ชุดที่สองวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน[81] ต่อมา เซ็นไตฟิลมส์เวิกส์ให้บริษัทเซราฟีมดิจิทัล (Seraphim Digital) จัดพากย์ภาษาอังกฤษ แล้วแถลงเปิดงานพากย์นี้ผ่านเครือข่ายอนิเมะ (Anime Network) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 ก่อนทำเป็นกล่องชุดดีวีดีหนึ่งกล่องจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2553[82][83][84] ครั้นแล้วจึงจัดพากย์ภาษาอังกฤษให้แก่ฤดูกาลที่สอง แล้วจำหน่ายเป็นกล่องชุดดีวีดีตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554[85] ภายหลังจึงผลิตเป็นบลูเรย์จำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554[86]
รายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต
เพื่อโฆษณาอนิเมะฤดูกาลแรก บริษัทเกียวโตแอนิเมชันได้จัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ตจำนวนห้าสิบสองตอน เรียก นะงิซะโทะซะนะเอะโนะโอะมะเอะนิเรนโบว์ (渚と早苗のおまえにレインボー; "สายรุ่งอันทอลำอยู่เบื้องหน้านะงิซะและซะนะเอะ") ออกอากาศทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 ถึงวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม ปีถัดมา[87] รายการวิทยุนี้ อนเซ็ง (Onsen) กับแอนิเมตทีวี (Animate TV) ร่วมกันผลิต และไม นะกะฮะระ (Mai Nakahara) ซึ่งพากย์เป็นนะงิซะ กับคิกุโกะ อิโนะอุเอะ (Kikuko Inoue) ซึ่งพากย์เป็นซะนะเอะ สองคนร่วมกันเป็นพิธีกร[87] นอกจากนี้ นักพากย์คนอื่น ๆ ยังเป็นแขกร่วมรายการเป็นครั้งเป็นคราว เป็นต้นว่า ยุอิชิ นะกะมุระ (Yuichi Nakamura) ซึ่งพากย์เป็นโทะโมะยะ, เรียว ฮิโระฮะชิ (Ryō Hirohashi) ซึ่งพากย์เป็นเคียว, อะเกะมิ คันดะ (Akemi Kanda) ซึ่งพากย์เป็นเรียว, ไดซุเกะ ซะกะงุชิ (Daisuke Sakaguchi) ซึ่งพากย์เป็นโยเฮ และอะสึกุโกะ เอะโนะโมะโตะ ซึ่งพากย์เป็นยุกิเนะ มิยะซะวะ (Yukine Miyazawa)[87]
ส่วนอนิเมะฤดูกาลที่สองนั้น ก็ได้จัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ตโฆษณาเช่นเดียวกัน รายการนี้เรียก นะงิซะโทะซะนะเอะโทะอิกิโอะโนะโอะมะเอะนิไฮเปอร์เรนโบว์ (渚と早苗と秋生のおまえにハイパーレインボー; "สายรุ่งอันทอลำอยู่มากมายเบื้องหน้านะงิซะ กับซะนะเอะ และอะกิโอะ") ประกอบด้วยตอนทั้งสิ้นยี่สิบหกตอน ออกอากาศทุกวันศุกร์ ระหว่างวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2552[87] ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการยังคงเดิม แต่ได้เรียวตะโร โอะกิอะยุ (Ryōtarō Okiayu) ซึ่งพากย์เป็นอะกิโอะ มาร่วมเป็นพิธีกรเพิ่ม[87]
สิบสามตอนแรกจากรายการวิทยุฤดูกาลที่หนึ่งได้รับการบรรจุลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายพร้อมกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551[88] ต่อภายหลังจึงบรรจุอีกยี่สิบหกตอนถัดมาลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551[89] สิบสามตอนที่เหลือนั้นเผยแพร่เป็นซีดีสองชุด ชุดแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551[90] ชุดหลังอันเป็นชุดสุดท้ายเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552[91] ขณะที่รายการวิทยุฤดูกาลที่สองนั้น บรรจุลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายต่างเวลากัน แผ่นแรกขายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552[92] แผ่นที่สองวันที่ 29 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[93]
เพลง
เกมนี้ใช้เพลงประกอบหลักอยู่สี่เพลง เป็นเพลงเปิดหนึ่ง เพลงปิดสอง กับเพลงแทรกหนึ่ง เพลงเปิดคือ "แม็กเมล" วงยูโฟเนียสร้อง เพลงปิดทั้งสองได้แก่ "-คะเงะฟุตะสึ-" (-影二つ-; "สองเงา") ปิดองก์ชีวิตวัยเรียน กับ "ชีซะนะเทะโนะฮิระ" ปิดองก์เรื่องราวให้หลัง ริยะจากวงยูโฟเนียสร้องทั้งสองเพลง และเพลงแทรกคือ "อะนะ" (Ana) ลีอาร้อง
ตัวละครหกตัวมีเพลงประกอบฉากประจำตัว ได้แก่ นะงิซะมีเพลง "นะงิซะ", เคียวมีเพลง "โซะเระวะคะเซะโนะโยนิ" (それは風のように; "เป็นดังสายลม"), โคะโตะมิมีเพลง "เอตูดปูร์เลเปอตีซูแปร์ก็อด" (Étude Pour les Petites Supercordes; "เรียนรู้เครื่องสายเครื่องน้อย"), โทะโมะโยะมีเพลง "คะนะโจะโนะฮงกิ" (彼女の本気; "การตัดสินใจของเธอ"), ฟูโกะมีเพลง "เฮอร์รี, สตาร์ฟิช" (は〜りぃすたーふぃしゅ; Hurry, Starfish; "เร็วเข้าเจ้าปลาดาว") และยุกิเนะ มิยะซะวะ (Yukine Miyazawa) มีเพลง "ชิเรียวชิสึโนะโอะชะกะอิ" (資料室のお茶会; "เลี้ยงน้ำชาในห้องอ้างอิง")
สำหรับเพลงประกอบเกมนั้น บริษัทคีย์ซาวด์เลเบล (Key Sounds Label) ในเครือบริษัทคีย์ เริ่มจำหน่ายอัลบัมเพลงประจำตัวละครเรียก "โซะระระโด" (Sorarado) เมื่อเดือนธันวาคม 2546, ในเดือนเมษายน 2547 จำหน่ายอัลบัมเพลงเรียบเรียงเสียงใหม่เรียก "มะบะโนะงิ" (Mabinogi) โดยแถมไปกับเกม, ในเดือนสิงหาคม ปีนั้น จำหน่ายอัลบัมเพลงดั้งเดิมประกอบเกม ประกอบด้วยซีดีเพลงสามแผ่น เพลงห้าสิบหกเพลง, ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน จำหน่ายอัลบัมเรียก "โซะระระโดะแอปเพนด์" (Sorarado Append) กับอัลบัมเพลงเรียบเรียงเสียงใหม่เรียก "-เมเมนโต-" (-Memento-) ประกอบด้วยซีดีเพลงสองแผ่น ครั้นเดือนธันวาคม ปีถัดมา จึงจำหน่ายอัลบัม "เปียโนโนะโมะริ" (Piano no Mori) ประกอบด้วยเพลงห้าเพลงจากเกม แคลนนาด กับอีกห้าเพลงจากเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ ซึ่งเรียบเรียงใหม่และบรรเลงด้วยเปียโน[94]
เพลงประกอบอนิเมะโรงนั้น บริษัทฟรอนเทียร์เวิกส์อำนวยการผลิต และในเดือนกรกฎาคม 2550 จำหน่ายแมกซีซิงเกิลของวงยูโฟเนียสชื่อ "แม็กเมล (ฉบับฟรีเควนซี⇒อี)" (Mag Mell (frequency⇒e Ver.)), ลุเดือนสิงหาคม ปีนั้น จำหน่ายอัลบัมเพลงประจำตัวละครชื่อ "ยะกุโซะกุ" (Yakusoku) และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน จึงจำหน่ายอัลบัมเพลงดั้งเดิมประกอบอนิเมะ[95]
ส่วนเพลงประกอบอนิเมะโทรทัศน์นั้น บริษัทคีย์ซาวด์เลเบลเริ่มจำหน่ายซิงเกลชื่อ "แม็กเมล/ดังโงะไดกะโซะกุ" (Mag Mell / Dango Daikazoku) ในเดือนธันวาคม 2550 ประกอบด้วยเพลงเปิดเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลแรก กับเพลง "โชโจะโนะเก็นโซ" (少女の幻想; "นิมิตของเด็กหญิง") ซึ่งเคยอยู่ในอัลบัม "โซะระระโดะ" และนำมาเรียบเรียงเสียงใหม่[94] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำหน่ายซิงเกิลชุดที่สองชื่อ "โทะกิโอะคิซะมุอุตะ/ทอร์ช" (Toki o Kizamu Uta / Torch) ประกอบด้วยเพลงเปิดและเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลที่สอง ครั้นเดือนธันวาคม ปีนั้น จึงจำหน่ายอัลบัมชื่อ "'โทะกิโอะคิซะมุอุตะ/ทอร์ช' เปียโนอาร์เรนจ์ดิสก์" ('Toki o Kizamu Uta / Torch' Piano Arrange Disc) ประกอบด้วยเพลงจากซิงเกิลก่อนหน้าซึ่งเรียบเรียงใหม่และบรรเลงด้วยเปียโน[96]
การตอบรับ
การตอบรับเชิงวิพากษ์
เกม
นิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน ฉบับเดือนตุลาคม 2550 รายงานอันดับเกมสาวน้อยที่ดีที่สุดห้าสิบเกมตามผลการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน ในบรรดาเกมที่เปิดให้ลงคะแนนทั้งหมดสองร้อยสี่สิบเก้าเกมนั้น เกม แคลนนาด ได้คะแนนสนับสนุนหนึ่งร้อยสิบสี่เสียง จัดอยู่ในอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองนั้นเป็นของเกม เฟต/สเตย์ไนต์ (Fate/stay night) ซึ่งมีผู้ลงคะแนนให้เจ็ดสิบแปดคน[97]
นิตยสาร ฟุมิสึ (Famitsu) จัดให้นักวิจารณ์สี่คนประเมินเกมนี้ฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 โดยให้แต่ละคนมีคะแนนสิบคะแนน ปรากฏว่า นักวิจารณ์ทั้งสี่ให้คะแนนเจ็ด เจ็ด หก และหกตามลำดับ รวมเป็นยี่สิบหกคะแนนจากคะแนนเต็มสี่สิบ[98] ต่อมาในปี 2554 นิตยสารดังกล่าวจัดให้ประชาชนลงคะแนนว่าเกมใดเรียกน้ำตามากที่สุด ผลปรากฏว่า เกม แคลนนาด อยู่ในอันดับสี่[99]
อนิเมะ
อนิเมะชุดซึ่งบริษัทเกียวโตแอนิเมชันดัดแปลงมาจากเกมนี้นั้นได้รับคำชื่นชูเป็นอันมาก อนิเมะฤดูกาลแรกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทางบวกจนถึงกึ่งบวกกึ่งลบคละกันไป ส่วนฤดูกาลที่สองได้รับการวิจารณ์เชิงแซ่ซ้องเป็นวงกว้าง ในการนี้ เว็บไซต์เด็มอนิเมะรีวิวส์ (THEM Anime Reviews) ให้คะแนนทั้งสองฤดูกาลสี่จากห้า โดยทิม โจนส์ (Tim Jones) นักวิจารณ์จากเว็บไซต์นี้ ว่า อนิเมะฤดูกาลแรกเป็น "งานภาพยนตร์อันดัดแปลงงานของคีย์ได้สมจริงสมจังและเที่ยงตรงมากที่สุด ณ ขณะนี้"[100] ส่วนสติก ฮอกเซ็ต (Stig Høgset) จากเว็บไซต์เดียวกัน ว่า ฤดูกาลที่สองนั้น "จะยังให้รวดร้าวไปกับโศกนาฏกรรมและละครอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะนำพาให้ใจคุณสลาย นับเป็นจุดที่กาลเวลาเริ่มผันผ่านไปโดยแท้ อันช่วยให้เศษเสี้ยวอารมณ์ในรายการนี้มีน้ำหนักสมจริงขึ้นพอดู"[101]
เธรอน มาร์ติน (Theron Martin) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ให้คะแนนบีบวกแก่ฤดูกาลแรก เขาไม่ชอบใจที่มีการใช้โมะเอะเป็นองค์ประกอบอย่างกว้างขวาง กระนั้น ก็มองว่า จะเป็นสื่อบันเทิงอันดึงดูดใจ "ฐานผู้นิยมชมชอบซึ่งมักแสวงหาความสำราญในสิ่งประเภทนี้" ได้[102] ส่วนฤดูกาลที่สองนั้น เขาให้คะแนนดีขึ้นมาหน่อย โดยให้เอลบ และชื่นชมว่า ครึ่งหลังของฤดูกาลนี้เป็น "ส่วนของ แคลนนาด ที่เขียนได้ดีที่สุด...[เพราะ] สร้างและสำแดงเสน่ห์ทางอารมณ์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ช่วยเสริมส่งแก่นเรื่องหลักของรายการชุดนี้ (เป็นต้นว่า ความสำคัญของครอบครัว) และไปสู่ความเป็นที่สุดได้อย่างเห็นประจักษ์" เขาลงความเห็นว่า "มีแต่พวกชอบหยามโลกเท่านั้นที่จะไม่ยอมหลั่งน้ำตาแม้แต่หยดเดียวเมื่อถึงฉากบางฉาก"[103]
ฝ่ายท็อด ดักลัส จูเนียร์ (Todd Douglass Jr.) วิจารณ์ฤดูกาลที่สองไว้ในเว็บไซต์ดีวีดีทอล์ก (DVD Talk) ว่า "วิถีอารมณ์อัน แคลนนาด นำพาคุณไปสู่นั้นช่างน่าเกรงขามนัก เป็นเสน่ห์ เป็นความน่ารัก ชวนหัว น่าพิศวง และสะเทือนใจในเวลาเดียวกัน มีรายการไม่กี่รายการที่มีค่าน่าจดจำและไม่กี่รายการที่ยืดยาวแต่ดีเด่นได้ถึงเพียงนี้" เขาสรุปว่า เรื่องราวที่ดำเนินไปนั้น "ถึงใจ" และ "เตือนใจในหลาย ๆ ทาง" กับทั้ง "น้อยรายการนักที่ขึ้นสู่ระดับบนได้อย่างที่รายการนี้ทำ" แล้วเขาก็จัดระดับฤดูกาลนี้ว่า "ควรชมดูอย่างยิ่งยวด"[104]
การขาย
เกม
เกมนี้ฉบับจำกัดสำหรับเล่นบนวินโดวส์นั้น ตั้งแต่จำหน่ายเป็นต้นมา ได้รับการจัดว่าขายดีเป็นอันดับหนึ่งถึงสองครั้งตามการจัดอันดับเกมสาวน้อยทั้งปวงที่ขายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น[105] แต่ครั้นจัดอันดับเป็นครั้งสาม กลับปรากฏว่า ความนิยมเสื่อมลง โดยขายดีเป็นอันดับสี่สิบหกในห้าสิบ[106] เมื่อจัดอันดับเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2547 ยอดขายกระเตื้องขึ้นเป็นอันดับสี่สิบในห้าสิบ[107]
ส่วนฉบับปรกติสำหรับเล่นบนวินโดวส์นั้น แรกเผยแพร่ ขายดีเป็นอันดับยี่สิบหก[108] ในการจัดอันดับสองครั้งถัดมา ขายดีเป็นอันดับสามสิบเจ็ดและสี่สิบเอ็ดตามลำดับ[109] ในการนี้ เว็บไซต์แอมะซอน (Amazon) ภาษาญี่ปุ่นให้ข้อมูลข่าวสารว่า ในปี 2547 ฉบับนี้ขายได้ทั้งหมดหนึ่งแสนห้าร้อยหกสิบชุด[110]
ฉบับ แคลนนาดฟูลวอยซ์ นั้น ได้รับการจัดเข้าในอันดับเกมสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ทำยอดขายได้มากที่สุดทั่วประเทศญี่ปุ่นสองครั้ง คือ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2551 กับมีนาคม 2551 การจัดอันดับครั้งแรกเผยว่า ขายดีเป็นอันดับเจ็ด ก่อนจะลดลงมาเป็นอันดับยี่สิบในครั้งหลัง[111][112]
ฉบับเล่นกับเครื่องบังคับนั้น ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 สืบมา ขายได้มากกว่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันชุด[113][114] ในจำนวนนี้ ฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันขายได้เจ็ดพันสี่ร้อยหกสิบหกชุดในระหว่างวันที่ 18 ถึง 24 เมษายน 2554[115] ขณะที่สองฉบับแรกของเกมนี้รุ่น ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ สำหรับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพานั้น เมื่อสิ้นปี 2553 ขายได้สองหมื่นแปดพันเก้าร้อยแปดสิบสี่ชุด[114]
อนิเมะ
ดีวีดีอนิเมะชุดซึ่งบริษัทเกียวโตแอนิเมชันผลิตนั้นมียอดจำหน่ายดีมาโดยตลอด สำหรับอนิเมะฤดูกาลแรกนั้น เมื่อจำหน่ายได้หนึ่งสัปดาห์ ดีวีดีแบบจำกัดชุดที่หนึ่งขายดีเป็นอันดับสาม[116] ชุดที่สองถึงที่ห้าขายดีเป็นอันดับหนึ่ง[117][118][119][120] ชุดที่หกขายดีเป็นอันดับสี่[121] และชุดที่เจ็ดกับที่แปดขายดีเป็นอันดับหนึ่ง[122][123] โดยเฉพาะชุดที่สามยังขายดีเป็นอันดับหกต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งปีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 ด้วย[124] ขณะที่ฉบับกล่องชุดบลูเรย์นั้นขายดีเป็นอันดับสามในสัปดาห์[125] แต่เพียงสัปดาห์ถัดมา ความนิยมก็ตกต่ำลง กลายเป็นขายดีเป็นอันดับสิบสาม[126]
ส่วนอนิเมะฤดูกาลที่สองนั้น เมื่อจำหน่ายได้หนึ่งสัปดาห์ ดีวีดีแบบจำกัดชุดแรกขายดีเป็นอันดับสอง ยอดขายอยู่ที่หนึ่งหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยยี่สิบเอ็ดหน่วย[127] ชุดที่สองถึงที่สี่ขายดีเป็นอันดับสี่ แต่ละชุดขายได้หนึ่งหมื่นหกพันหน่วย[128][129][130] ชุดที่ห้าถึงที่เจ็ดขายดีเป็นอันดับหนึ่ง แต่ละชุดขายได้หนึ่งหมื่นสี่พันหน่วย[131][132][133][134][135] ในสัปดาห์ถัดมา ชุดที่หกขายได้มากเป็นอันดับหก[136] และชุดที่แปดได้อันดับห้า[137]
สำหรับดีวีดีอนิเมะโรงที่บริษัทโทเอแอนิเมชันผลิตนั้น เมื่อจำหน่ายได้หนึ่งสัปดาห์ ปรากฏว่าขายได้มากเป็นอันดับสาม ครั้นขึ้นสัปดาห์ใหม่ ยอดขายก็ถดถอยลงทันที โดยขายได้มากเป็นอันดับสิบ[138][139]
การตกทอด
ในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 26 มิถุนายน 2551 บริษัทเกมเมเนียดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์ (Gamania Digital Entertainment) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเกมของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดให้เกม ไฮเท็นออนไลน์ (Hiten Online) กับเกม โฮลีบีสต์ออนไลน์ (Holy Beast Online) อันเป็นเกมเล่นสวมบทบาท มีฉากจาก แคลนนาด[140] โดยผู้เล่มเกมทั้งสองสามารถเลือกสวมเครื่องแต่งกายที่คล้ายเครื่องแบบฤดูหนาวของนักเรียนใน แคลนนาด กับเลือกเลี้ยงหมูป่าโบตั๋น (Botan) สัตว์เลี้ยงของเคียวได้ด้วย[141] นอกจากนี้ ผู้เล่นที่ตัวละครของตนมีระดับสูงกว่ายี่สิบแล้วสามารถเข้าร่วมเล่นสลากพนัน และผู้ชนะห้าร้อยคนจะได้รับรางวัลเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับ แคลนนาด เป็นต้นว่า แฟ้มเอกสาร บัตรเติมเงินอินเทอร์เน็ต ผ้าซับกายหลังเล่นกีฬา พรมผนัง ตลอดจนสิ่งอื่น ๆ บรรดาที่ใช้ระหว่างเล่นเกม[142]
สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ร่วมกับบริษัทวริดจ์ (Vridge) ผลิตเกมแบบวิชวลโนเวลสำหรับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 เรียก โนะงิซะกะฮะรุกะโนะฮิมิสึ: คอสเพลย์ฮะจิเมะมะชิตะ (乃木坂春香の秘密 こすぷれ、はじめました♥; "ความลับของฮะรุกะ โนะงิซะกะ: การแต่งคอสเพลย์เริ่มขึ้นแล้ว") จำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 มีเนื้อหาอ้างอิงไลท์โนเวลชุด โนะงิซะกะฮะรุกะโนะฮิมิสึ (Nogizaka Haruka no Himitsu) โดยจัดให้ตัวละครจากไลท์โนเวลดังกล่าวแต่งคอสเพลย์เป็นตัวละครต่าง ๆ จากไลท์โนเวลยอดนิยมห้าเรื่องของสำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ ในจำนวนนี้รวมตัวนางสามตัวจาก แคลนนาด ด้วย กล่าวคือ ฮะรุกะ โนะงิซะกะ จะได้แต่งเป็นโคะโตะมิ, มิกะ โนะงิซะกะ (Mika Nogizaka) เป็นนะงิซะแต่มีผมยาว และชีนะ อะมะมิยะ (Shiina Amamiya) เป็นโทะโมะโยะ[143] อนึ่ง เมื่อพาตัวละครหญิงตัวใดจากไลท์โนเวล โนะงิซะกะฮะรุกะโนะฮิมิสึ ออกไปทอดน่องท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในฉากระหว่างแต่งคอสเพลย์เป็นตัวละครอื่นแล้ว ผู้เล่นจะได้ทัศนาคอมพิวเตอร์กราฟิกส์พิเศษที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ เช่น เมื่อให้มิกะแต่งเป็นนะงิซะ ก็จะได้ชมภาพมิกะกระทำกิริยาดังนะงิซะ มีบริโภคขนมดังโงะเป็นอาทิ[143] และเสียงพากย์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเสียงของผู้พากย์ตัวละครอื่นนั้น ๆ แทนด้วย[144]
อนึ่ง บริษัทเฮดล็อก (Headlock) ยังพัฒนา ไอสเปซ (Ai Sp@ce) อันเป็นชุมชนออนไลน์สามมิติที่เรียกโลกเสมือนขึ้น เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 สมาชิกสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวนางจากเกมสาวน้อยต่าง ๆ เป็นต้นว่า เกม ชัฟเฟิล! (Shuffle!), ดะคาโปะ II (Da Capo II) และ แคลนนาด[145][146] ในโลกเสมือนนี้มีเกาะต่าง ๆ ซึ่งสร้างเป็นที่หย่อนใจโดยอ้างอิงเกมข้างต้น และเชื่อมต่อกับเกาะกลางเรียก "อะกิฮะบะระ" (Akihabara) อันจำลองจากย่านอะกิฮะบะระในกรุงโตเกียว อีกทีเพื่อลดทอนช่องว่างระหว่างเกมต่าง ๆ ในการนี้ ผู้เล่นชอบที่จะสร้างอวตารได้ตามใจเพื่อใช้แทนตัวในขณะเล่นเกม ทั้งชอบที่จะเลือกสันนิวาสกับตัวนางในเกมใด ๆ ก็ได้ ตัวนางเช่นว่านี้เรียก "ตุ๊กตาแสดง" (character doll)[147] ผู้เล่นกับตัวนางที่เขาเลือกจะได้พำนักอยู่บนเกาะตามเกมของตัวนางนั้น บนเกาะมีบ้าน เครื่องเรือน และเสื้อผ้าอาภรณ์ให้เลือกซื้อ ฝ่ายตัวนางนั้นยังมีความสามารถพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้รับกับผู้เล่นแต่ละคนได้เป็นการเฉพาะด้วย[145]
หมายเหตุ
อ้างอิง
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 Key. Clannad (Windows) (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Clannad Visual Fan Book. Enterbrain. 2004. ISBN 978-4-757720-25-1.
- ↑ 3.0 3.1 pre-Clannad (ภาษาญี่ปุ่น). SoftBank Creative. April 15, 2004. ISBN 4-7973-2723-5.
- ↑ "FAQ [alt.music.enya] Frequently Asked Questions (Monthly Posting)". Faqs.org. สืบค้นเมื่อ 2012-03-22.
- ↑ MacKillop, James (2004). Dictionary of Celtic Mythology. Oxford University Press. ISBN 0-19-860967-1.
- ↑ "Clannad PC limited edition official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ Guest, Lady Charlotte (1997). The Mabinogion. Dover Publications. ISBN 0-486-29541-9.
- ↑ Davies, Cennard (2006). The Welsh Language (illustrated ed.). Y Lolfa. p. 11. ISBN 978-0-8624-3866-1.
- ↑ "Tomoyo After official character bios" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ May 29, 2009.
- ↑ 10.0 10.1 "Clannad staff information" (ภาษาญี่ปุ่น). ErogameScape. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-13. สืบค้นเมื่อ June 8, 2007.
- ↑ "Jun Maeda comments on Clannad's popularity" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ October 25, 2008.
- ↑ Yūto Tonokawa (June 26, 2008). "Little Busters EX Development Journal" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ August 16, 2008.
- ↑ "Clannad introduction website" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-12-13. สืบค้นเมื่อ November 22, 2008.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 "Clannad's official visual novel website" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ January 30, 2008.
- ↑ 15.0 15.1 "Clannad 初回限定版" [Clannad limited edition] (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Clannad Full Voice" (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Key 10th Memorial Box official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ April 6, 2009.
- ↑ "Keyの過去五作品がメモリアルエディションで発売です!" [Key's Previous Five Titles Get Memorial Editions!] (ภาษาญี่ปุ่น). Key. April 7, 2010. สืบค้นเมื่อ April 8, 2010.
- ↑ "Clannad" (ภาษาญี่ปุ่น). Interchannel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-26. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
- ↑ "Clannad ベスト版発売決定!" [Clannad Best Edition to be Sold!] (ภาษาญี่ปุ่น). GungHo Works. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-24. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
- ↑ "Clannad ベスト版 (通常版)" [Clanand Best edition (regular edition)] (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
- ↑ "key3部作プレミアムBOX" [Key 3-part Work Premium BOX] (ภาษาญี่ปุ่น). GungHo Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 "Clannad Xbox 360 release official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ July 24, 2008.
- ↑ 24.0 24.1 "Clannad" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ November 10, 2010.
- ↑ "softbank版「CLANNAD」配信中です" [Softbank Edition of Clannad Currently in Distribution] (ภาษาญี่ปุ่น). Key. January 25, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2008.
- ↑ 26.0 26.1 "Clannad PSP release official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ April 28, 2008.
- ↑ "Sequel of Kanon and Air, the Heart-Warming Visual Novel Clannad to be Sold on the PSP!" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. March 7, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-12. สืบค้นเมื่อ March 8, 2008.
- ↑ "Official Another Story Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de product listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4840232504.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ Dengeki G's Magazine (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works (September 2004).
{cite journal}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ Dengeki G's Magazine (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works (October 2005).
{cite journal}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Cell Phone Novel Hikari Mimamoru Sakamichi de Information!" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. March 12, 2008. สืบค้นเมื่อ March 12, 2008.
- ↑ "Key's official blog entry on the re-release of the short story collection via cell phones" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. January 25, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2008.
- ↑ "CLANNAD 光見守る坂道で" [Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de] (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ January 25, 2012.
- ↑ "ファン待望のスピンオフストーリー「CLANNAD -クラナド- 光見守る坂道で 上巻/下巻」" [The Fan's Long Awaited Spin-off Story Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de in Two Volumes] (ภาษาญี่ปุ่น). Famitsu. April 3, 2010. สืบค้นเมื่อ April 6, 2010.
- ↑ "Clannad 光見守る坂道で 上巻" [Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de volume 1] (ภาษาญี่ปุ่น). Android Market. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-18. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
- ↑ "Clannad 光見守る坂道で 上巻 Android版" [Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de volume 1 Android edition] (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Clannad Anthology Novel volume 1 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-16. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "'Clannad Anthology Novel volume 2 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-09. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Clannad. volume 1 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4434124196.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad. volume 3 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4434136119.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Magic Hour" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4434144170.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Official Comic". Comic Rush (ภาษาญี่ปุ่น). No. May 2005. Jive.
- ↑ "Clannad Official Comic". Comic Rush (ภาษาญี่ปุ่น). No. April 2009. Jive.
- ↑ "Clannad Official Comic volume 1 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-01. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Clannad Official Comic volume 8 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-22. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Hikari Mimamoru Sakamichi de". Comi Digi + (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 8. Flex Comix. June 21, 2007.
- ↑ "Hikari Mimamoru Sakamichi de". Comi Digi + (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 15. Flex Comix. August 21, 2008.
- ↑ "Official listing for volume 1 of the second Clannad manga" (ภาษาญี่ปุ่น). Broccoli. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ February 16, 2008.
- ↑ "Official announcement of the autograph session for the first volume of the second Clannad manga" (ภาษาญี่ปุ่น). Broccoli. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ February 16, 2008.
- ↑ "Official Another Story Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de manga volume 2 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4797352124.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Shaa". Dengeki G's Magazine (ภาษาญี่ปุ่น). No. August 2007. ASCII Media Works.
- ↑ "Dengeki G's Festival! Comic Volume 8" (ภาษาญี่ปุ่น). Mangaoh. สืบค้นเมื่อ October 25, 2009.
- ↑ "Clannad 1 (Dengeki Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 484024216.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad 3 (Dengeki Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4048701428.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Tomoyo Dearest". Dragon Age Pure (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 9. Fujimi Shobo. 2008-02-20.
- ↑ "Tomoyo Dearest". Dragon Age Pure (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 12. Fujimi Shobo. 2008-08-20.
- ↑ "New Clannad, Da Capo, Jinno Manga to Launch in Japan". Anime News Network. February 5, 2008. สืบค้นเมื่อ February 17, 2008.
- ↑ "Clannad: Tomoyo Dearest manga volume listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Kadokawa Shoten. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ 59.0 59.1 "MC Comics previous publications list" (ภาษาญี่ปุ่น). Enterbrain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-05. สืบค้นเมื่อ October 26, 2009.
- ↑ "Clannad manga anthology volume 1 by Ohzora" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4776713071.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad manga anthology volume 5 by Ohzora" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 477671597.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Comic Anthology: Another Symphony product listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 486176078.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Comic Anthology volume 1 (ID Comics DNA Media Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4758001898.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Comic Anthology volume 2 (ID Comics DNA Media Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4758001944.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad Comic Anthology Tokubetsu Hen (ID Comics DNA Media Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4758004196.
{cite web}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Clannad drama CDs published by Frontier Works" (ภาษาญี่ปุ่น). Animate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-18. สืบค้นเมื่อ March 16, 2007.
- ↑ 67.0 67.1 "Prototype's official Clannad drama CD website" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ July 29, 2007.
- ↑ "Tokyo Anime Fair: New Kanon and Movies". Anime News Network. March 25, 2006. สืบค้นเมื่อ July 22, 2007.
- ↑ "Clannad film staff and cast" (ภาษาญี่ปุ่น). Toei Animation. สืบค้นเมื่อ May 29, 2008.
- ↑ "DVD information at the Clannad film's official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Toei Animation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-03. สืบค้นเมื่อ February 4, 2012.
- ↑ "Sentai Filmworks Adds Clannad Anime Film with Dub, Sub". Anime News Network. November 13, 2010. สืบค้นเมื่อ November 14, 2010.
- ↑ 72.0 72.1 72.2 72.3 "Clannad anime news at the official Clannad anime website" (ภาษาญี่ปุ่น). Kyoto Animation. สืบค้นเมื่อ October 9, 2007.
- ↑ "Clannad Blu-ray Box" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ March 15, 2010.
- ↑ "Clannad After Story TV Sequel to be Announced". Anime News Network. March 27, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
- ↑ "Kuroshitsuji Anime Confirmed to Premiere This Fall". Anime News Network. July 11, 2008. สืบค้นเมื่อ July 15, 2008.
- ↑ "Clannad After Story's Last DVD to Include Kyou Arc". Anime News Network. April 12, 2009. สืบค้นเมื่อ April 12, 2009.
- ↑ "Clannad After Story (English Subtitles) Blu-ray Box (Limited Release) (Blu-ray)". CD Japan. สืบค้นเมื่อ December 30, 2010.
- ↑ "ADV Films to Distribute Anime for Sentai Filmworks". Anime News Network. October 20, 2008. สืบค้นเมื่อ November 8, 2008.
- ↑ "Half-Season Princess Resurrection, Clannad Sets Slated". Anime News Network. January 12, 2009. สืบค้นเมื่อ January 13, 2009.
- ↑ "Clannad: Collection 2". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ June 7, 2009.
- ↑ "Sentai Filmworks Adds Clannad After Story, Ghost Hound, He is My Master". Anime News Network. July 28, 2009. สืบค้นเมื่อ July 28, 2009.
- ↑ "Clannad, Blue Drop, Ghost Hound, Tears to Tiara Get Dubs". Anime News Network. March 15, 2010. สืบค้นเมื่อ March 16, 2010.
- ↑ "Section23 Films Licenses Papillion Rose, La Corda D'oro". Anime News Network. March 19, 2010. สืบค้นเมื่อ December 3, 2010.
- ↑ "Anime Network to Premiere Clannad English Dub this March". Anime Network. March 17, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-23. สืบค้นเมื่อ April 3, 2012.
- ↑ "Section23 Films Announces April Slate". Anime News Network. January 17, 2011. สืบค้นเมื่อ January 17, 2011.
- ↑ "Sentai Filmworks Adds Ro-Kyu-Bu, Loups-Garous, ef". Anime News Network. July 3, 2011. สืบค้นเมื่อ July 3, 2011.
- ↑ 87.0 87.1 87.2 87.3 87.4 "Clannad radio show official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Animate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-24. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "The Popular Clannad and Others' Radio CDs One After Another to Release!" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. May 15, 2008. สืบค้นเมื่อ May 18, 2008.
- ↑ "Nagisa to Sanae no Omae ni Rainbow Radio CD vol. 2 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Nagisa to Sanae no Omae ni Rainbow Radio CD vol. 3 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Nagisa to Sanae no Omae ni Rainbow CD Volume 4 to be Sold!" (ภาษาญี่ปุ่น). Onsen. January 23, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Clannad Radio CD Gets Cover Art, and Also a Hyper Sale Decision!" (ภาษาญี่ปุ่น). Onsen. January 23, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "(Guest Information Addition)Nagisa to Sanae to Akio no Omae ni Hyper Rainbow Second CD volume to be Sold!" (ภาษาญี่ปุ่น). Onsen. May 1, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-21. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ 94.0 94.1 "Key Sounds Label's discography" (ภาษาญี่ปุ่น). Key Sounds Label. สืบค้นเมื่อ April 25, 2008.
- ↑ "Clannad Film Soundtrack listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ ""Toki o Kizamu Uta / Torch" Piano Arrange Disc album listing". VGMdb. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
- ↑ "Dengeki G's Magazine top fifty bishōjo games" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ January 3, 2011.
- ↑ Anoop Gantayat (March 1, 2006). "Now Playing in Japan". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-04. สืบค้นเมื่อ November 10, 2009.
- ↑ Romano, Sal (December 29, 2011). "Famitsu's top 20 list of tear-inducing games". สืบค้นเมื่อ February 24, 2012.
- ↑ Tim Jones. "Clannad". THEM Anime Reviews. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
- ↑ Stig Høgset. "Clannad ~After Story~". THEM Anime Reviews. สืบค้นเมื่อ February 2, 2010.
- ↑ Theron Martin (June 19, 2009). "Review: Clannad Sub.DVD - Collection 2". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ February 13, 2010.
- ↑ Theron Martin (December 16, 2009). "Review: Clannad After Story Sub.DVD 2 - Collection 2". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
- ↑ Todd Douglass Jr. (December 8, 2009). "Clannad: After Story - Collection 2". DVD Talk. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
- ↑ "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 1 twice" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ January 27, 2012.
- ↑ "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 1 and 46" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
- ↑ "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 40" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-08-10. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
- ↑ "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 16" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
- ↑ "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 37 and 41" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
- ↑ "売上ランキング (2004年 Hゲーム)" [Sales Ranking (2004 H-games)]. Wiki-Mania Store (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-29. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
- ↑ "セールスランキング" [Sales Ranking] (ภาษาญี่ปุ่น). PCpress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-18. สืบค้นเมื่อ December 31, 2010.
- ↑ "セールスランキング" [Sales Ranking] (ภาษาญี่ปุ่น). PCpress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-25. สืบค้นเมื่อ December 31, 2010.
- ↑ "Clannad (PS2) (based on Famitsu data)". Garaph. สืบค้นเมื่อ March 16, 2012.
- ↑ 114.0 114.1 "Prototype (based on Famitsu data)". Garaph. สืบค้นเมื่อ March 16, 2012.
- ↑ Rose, Mike (April 28, 2011). "Pokemon Typing Game Tops Japanese Sales Chart". Gamasutra. สืบค้นเมื่อ January 29, 2012.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, December 19–25". Anime News Network. December 27, 2007. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, January 16–22". Anime News Network. January 27, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, February 20–26". Anime News Network. February 29, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, March 19–25". Anime News Network. April 11, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, April 16–22". Anime News Network. April 26, 2008. สืบค้นเมื่อ April 27, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, May 21–27". Anime News Network. June 1, 2008. สืบค้นเมื่อ June 2, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, June 18–25". Anime News Network. June 30, 2008. สืบค้นเมื่อ July 14, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, July 17–23". Anime News Network. July 29, 2008. สืบค้นเมื่อ July 29, 2008.
- ↑ "Amazon Japan Posts 2008's Top-10 DVDs, CDs, Toys". Anime News Network. December 3, 2008. สืบค้นเมื่อ December 3, 2008.
- ↑ "Japan's Animation Blu-ray Disc Ranking, April 26-May 2". Anime News Network. May 9, 2010. สืบค้นเมื่อ May 9, 2010.
- ↑ "Japan's Animation Blu-ray Disc Ranking, May 3–9". Anime News Network. May 13, 2010. สืบค้นเมื่อ May 14, 2010.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, December 3–9". Anime News Network. December 9, 2008. สืบค้นเมื่อ December 9, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, January 6–12". Anime News Network. January 13, 2009. สืบค้นเมื่อ January 13, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, February 3–9". Anime News Network. February 10, 2009. สืบค้นเมื่อ February 10, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, March 3–9". Anime News Network. March 10, 2009. สืบค้นเมื่อ March 10, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, March 31-April 6". Anime News Network. April 7, 2009. สืบค้นเมื่อ April 8, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, May 4–10". Anime News Network. May 12, 2009. สืบค้นเมื่อ May 13, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, June 1–7". Anime News Network. June 10, 2009. สืบค้นเมื่อ June 10, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, June 29-July 5". Anime News Network. July 7, 2009. สืบค้นเมื่อ July 7, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, May 11–17". Anime News Network. May 19, 2009. สืบค้นเมื่อ May 20, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, June 8–14". Anime News Network. June 16, 2009. สืบค้นเมื่อ June 17, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, July 6–12". Anime News Network. July 14, 2009. สืบค้นเมื่อ July 15, 2009.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, March 5–11". Anime News Network. March 16, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, March 12–18". Anime News Network. March 20, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
- ↑ "Clannad Join Forces with Hiten, Holy Beast MMORPGs". Anime News Network. March 27, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
- ↑ "Gamania × Clannad Collaboration Plan, School Uniforms to Appear in Hiten Online, Holy Beast" (ภาษาญี่ปุ่น). 4gamer.net. March 26, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
- ↑ "Information on the Clannad collaboration project" (ภาษาญี่ปุ่น). Gamania. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-31. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
- ↑ 143.0 143.1 "Other Works' Costumes Appearing in Nogizaka Haruka no Himitsu! Kotomi's Costume Can Also be Worn" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. September 2, 2008. สืบค้นเมื่อ September 18, 2008.
- ↑ "Nogizaka Haruka no Himitsu—Cosplaying up Clannad's Long Steep Slope" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. September 11, 2008. สืบค้นเมื่อ September 18, 2008.
- ↑ 145.0 145.1 "Clannad, Shuffle, D.C. II to Launch 3D Virtual World". Anime News Network. April 8, 2008. สืบค้นเมื่อ April 8, 2008.
- ↑ "Ai Sp@ce official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Ai Sp@ce. สืบค้นเมื่อ June 3, 2009.
- ↑ "Clannad, Shuffle!, D.C. II to Reappear in a 3D World" (ภาษาญี่ปุ่น). IT Media. April 8, 2008. สืบค้นเมื่อ April 8, 2008.
แหล่งข้อมูลอื่น
- Key's official Clannad website (ในภาษาญี่ปุ่น)
- Official Clannad anime website (ในภาษาญี่ปุ่น)
- Official Clannad After Story anime website (ในภาษาญี่ปุ่น)
- Clannad (อนิเมะ) ที่เครือข่ายข่าวอนิเมะ