โทมิโอกะ (จังหวัดฟูกูชิมะ)

โทมิโอกะ

富岡町
ใจกลางเมืองโทมิโอกะ
ใจกลางเมืองโทมิโอกะ
ธงของโทมิโอกะ
ธง
ตราอย่างเป็นทางการของโทมิโอกะ
ตรา
ที่ตั้งของโทมิโอกะ (เน้นสีเหลือง) ในจังหวัดฟูกูชิมะ
ที่ตั้งของโทมิโอกะ (เน้นสีเหลือง) ในจังหวัดฟูกูชิมะ
โทมิโอกะตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น
โทมิโอกะ
โทมิโอกะ
ที่ตั้งในประเทศญี่ปุ่น
พิกัด: 37°19′59″N 141°01′01″E / 37.33306°N 141.01694°E / 37.33306; 141.01694
ประเทศธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
ภูมิภาคโทโฮกุ
จังหวัด ฟูกูชิมะ
อำเภอฟูตาบะ
การปกครอง
 • ประเภทเทศบาลเมือง
 • นายกเทศมนตรีอิกูโอะ ยามาโมโตะ (山本 育男)[1]
พื้นที่
 • ทั้งหมด68.39 ตร.กม. (26.41 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (1 เมษายน ค.ศ. 2023)[2]
 • ทั้งหมด1,315 คน
 • ความหนาแน่น19 คน/ตร.กม. (50 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+9 (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น)
รหัสท้องถิ่น07543-4
โทรศัพท์0120-33-6466
ที่อยู่ศาลาว่าการMotooka Otsuka 622-1, Tomioka-machi, Futaba-gun, Fukushima-ken 979-1192
เว็บไซต์www.tomioka-town.jp
สัญลักษณ์
สัตว์ปีกวงศ์นกเด้าดิน (Motacillidae)
ดอกไม้กุหลาบพันปี
ต้นไม้ซากูระ

โทมิโอกะ (ญี่ปุ่น: 富岡町โรมาจิTomioka-machi) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในอำเภอฟูตาบะ จังหวัดฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น มีขนาดพื้นที่ทั้งสิ้น 68.39 ตารางกิโลเมตร (26.41 ตารางไมล์) มีจำนวนประชากร ณ วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2023 ประมาณ 1,315 คน[2] เป็นเมืองหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง และแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ค.ศ. 2011

ภูมิศาสตร์

ศาลาว่าการเมืองโทมิโอกะ

โทมิโอกะตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนกลางของจังหวัดฟูกูชิมะ เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่สอง ซึ่งมีบริษัทไฟฟ้าโตเกียว (Tokyo Electric Power Company) เป็นเจ้าของ

เมืองโทมิโอกะแบ่งออกเป็นสองพื้นที่หลัก ทั้งสองพื้นที่นี้มีสถานีรถไฟตั้งอยู่ ทางใต้คือโทมิโอกะซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ส่วนทางเหนือเป็นพื้นที่ที่อยู่บนเนินเขาคือ โยโนโมริ ซึ่งเป็นย่านที่เล็กกว่าและใหม่กว่า แม้ว่าทั้งสองพื้นที่จะอยู่ในเขตเทศบาลเดียวกัน แต่ระยะห่างทางกายภาพทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนละเมืองกัน

เทศบาลข้างเคียง

  • จังหวัดฟูกูชิมะ
    • หมู่บ้านคาวาอูจิ
    • เมืองนาราฮะ
    • เมืองโอกูมะ

ประชากร

จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของญี่ปุ่น[3] จำนวนประชากรของโทมิโอกะค่อนข้างคงที่ และลดลงอย่างมากหลังจากเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์

ประวัติจำนวนประชากร
ปีประชากร±%
1920 8,290—    
1930 8,141−1.8%
1940 8,629+6.0%
1950 12,913+49.6%
1960 12,597−2.4%
1970 11,614−7.8%
1980 14,941+28.6%
1990 15,861+6.2%
2000 16,173+2.0%
2010 15,996−1.1%
2020 2,128−86.7%

ประวัติ

พื้นที่ที่เป็นโทมิโอกะในปัจจุบันเดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมุตสึ มีการพบสุสานเนินฝังศพในยุคโคฟุงในพื้นที่แห่งนี้ ในช่วงยุคเอโดะ พื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นศักดินาอิวากิไทระ แต่ใน ค.ศ. 1747 ได้ถูกแบ่งเป็นแคว้นศักดินาทานางูระ แคว้นศักดินาทาโกะ และดินแดนที่ปกครองโดยตรงภายใต้การปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ

หลังการฟื้นฟูเมจิ ได้มีการประกาศใช้ระบบเทศบาลในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1889 หมู่บ้านโทมิโอกะได้รับการจัดตั้งขึ้นภายในอำเภอนาราฮะ จังหวัดฟูกูชิมะ ต่อมาอำเภอนาราฮะได้กลายเป็นอำเภอฟูตาบะในเดือนเมษายน ค.ศ. 1896 โทมิโอกะได้รับการยกฐานะเป็นเมืองเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1900 และได้ผนวกเมืองฟูตาบะที่อยู่ข้างเคียงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1955

แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ค.ศ. 2011

โทมิโอกะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง และแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 นอกจากได้รับความเสียหายจำนวนมากจากแผ่นดินไหวและสึนามิ (ซึ่งทำลายล้างบริเวณชายฝั่ง) ชาวเมืองก็ถูกอพยพจำนวนมากในเช้าวันที่ 12 มีนาคม เนื่องจากเมืองตั้งอยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่งที่ได้รับความเสียหาย มีชายเพียงคนเดียว นาโอโตะ มัตสึมูระ ชาวนาข้าวรุ่นที่ 5 วัย 53 ปี (ในขณะนั้น) พร้อมสุนัขของเขา ปฏิเสธที่จะอพยพ และยังคงอยู่อาศัยที่นี่ต่อเพื่อให้อาหารสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ที่ถูกทิ้งไว้ในละแวกบ้านของเขาด้วยเสบียงที่ได้รับบริจาคจากกลุ่มผู้สนับสนุน[4][5][6]

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2013 รัฐบาลกลางได้ยกเลิกเขตอพยพทางนิวเคลียร์ในโทมิโอกะ และเมืองนี้ได้รับการจัดโซนใหม่เป็น 3 โซน แบ่งตามระดับรังสีที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเมืองเลือกที่จะคงการอพยพไว้อย่างน้อยอีก 4 ปี เนื่องจากจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายขึ้นใหม่ ในโซนที่มีระดับรังสีสูงสุด ผู้อยู่อาศัยจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านจะถูกห้ามไม่ให้เข้า โดยโซนนี้ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง และมีประชากรประมาณ 4,500 คน โซนใจกลางเมือง ซึ่งเคยมีผู้อยู่อาศัย 10,000 คน ถูกกำหนดให้เป็นโซนจำกัดที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้อยู่อาศัยสามารถกลับมาได้ในเวลากลางวันแต่ต้องออกไปจากพื้นที่ในเวลากลางคืน โซนที่เหลือซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางตอนใต้ของโทมิโอกะ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1,500 คน คาดว่าจะมีการยกเลิกการจำกัดการอยู่อาศัย[7]

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจใน ค.ศ. 2013 ผู้อยู่อาศัยในเมืองราวร้อยละ 40 ตอบว่าพวกเขาตัดสินใจจะไม่กลับมา และอีกร้อยละ 43 ยังไม่ตัดสินใจ ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญอยู่ที่ความกังวลเกี่ยวกับการได้รับรังสี, การสูญเสียเงินชดเชยจาก TEPCO หากพวกเขาตัดสินใจกลับ, และความไม่แน่นอนว่าพวกเขาจะสามารถหาเลี้ยงชีพในโทมิโอกะได้หรือไม่[8] ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2017 คำสั่งอพยพถูกยกเลิกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง ยกเว้นพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากสามารถเดินทางกลับได้[9]

ใน ค.ศ. 2023 ยังคงมีการปนเปื้อนในพื้นที่ที่เหลือของโทมิโอกะ ยกเว้นพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตรที่ได้รับการกำจัดการปนเปื้อนอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2023 พร้อมด้วยคำแถลงของฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี ที่ให้คำมั่นว่าจะกำจัดการปนเปื้อนในพื้นที่ของเมืองได้ทั้งหมด[10]

อ้างอิง

  1. "町長プロフィール" [โปรไฟล์นายกเทศมนตรีเมือง] (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-30. สืบค้นเมื่อ 2023-05-26.
  2. 2.0 2.1 "福島県の推計人口(令和5年4月1日現在)" [จำนวนประชากรโดยประมาณของจังหวัดฟูกูชิมะ (ณ วันที่ 1 เมษายน 2023)]. จังหวัดฟูกูชิมะ (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-04-28.
  3. Tomioka population statistics
  4. Lah, Kyung (27 January 2012). "Resident defiant in Japan's exclusion zone". CNN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-25. สืบค้นเมื่อ 29 March 2012.
  5. "Lone farmer in no-go zone sticks to defiant existence". The Japan Times. 6 April 2012. สืบค้นเมื่อ 6 April 2012.
  6. Kosuga, Tomo (11 March 2013). "Radioactive Man". Vice. สืบค้นเมื่อ 14 March 2013.
  7. "Nuclear evacuation zone revised in Fukushima’s Tomioka เก็บถาวร 2017-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", the Japan Times, March 26, 2013.
  8. Kageyama, Yuri "Fukushima residents unsure of return to no-go zone", Yahoo news, April 30, 2014.
  9. "避難指示区域の解除について(平成29年3月13日更新)". Tomioka Town Hall. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-01. สืบค้นเมื่อ 2017-07-16.
  10. "Small areas reopen near Fukushima Daiichi nuclear plant; few return". Japan Today (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-04-02.

แหล่งข้อมูลอื่น