โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี | |
---|---|
ละติน: The Prince Royal's College under the Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Bejaratana Rajasuda The Prince Royal's College | |
ที่ตั้ง | |
117 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000 | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | โรงเรียนชายวังสิงห์คำ ป.ร. (P.R.C.) |
ประเภท | โรงเรียนเอกชน โรงเรียนโปรเตสแตนต์ |
คติพจน์ | LUX ET VERITAS "แสงสว่างและความจริง" |
ศาสนา | คริสต์ |
นิกาย | โปรเตสแตนต์ |
สถาปนา | • 2 มกราคม พ.ศ. 2449 (โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่) |
ผู้ก่อตั้ง | ศาสนาจารย์ เดวิด คอลลินส์ |
โรงเรียนพี่น้อง | โรงเรียนดาราวิทยาลัย |
เขตการศึกษา | เชียงใหม่ |
ผู้อำนวยการ | ผู้ปกครอง ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร |
สี | น้ำเงิน-ขาว |
เพลง | เพลงประจำโรงเรียน |
สังกัด | สำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย |
เว็บไซต์ | www.prc.ac.th |
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ย่อ: ป.ร.) เป็นโรงเรียนสหศึกษาของเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 3 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย โรงเรียนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2430 ในชื่อ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" โดย ศาสนาจารย์ ชาวอเมริกัน เดวิด คอลลินส์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย" ซึ่งมีความหมายว่า "โรงเรียนของเจ้าชาย" เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449
ประวัติ
โรงเรียนชายวังสิงห์คำ
โรงเรียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2430 โดยมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ศาสนาจารย์ เดวิด คอลลินส์ ในชื่อ "Chiangmai Boys' School" หรือ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" บริเวณหมู่บ้านวังสิงห์คำ อันเป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์[1] ทำการสอนโดยใช้ภาษาล้านนาและพระคัมภีร์เป็นหลัก เป็นโรงเรียนแบบตะวันตกสำหรับเด็กชายแห่งแรกในล้านนา[2]
ในปี พ.ศ. 2442 ศาสนาจารย์คอลลินส์ได้ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ศาสนาจารย์ ดร. วิลเลียม แฮรีส ซึ่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 เข้ารับตำแหน่งแทน เมื่อเห็นว่าสถานที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิงคับแคบ จึงได้ย้ายมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งซื้อจากบริษัทอังกฤษในราคา 2,600 รูปี[1]
ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า "The Prince Royal's College" และพระราชทานสีน้ำเงิน - ขาวให้เป็นสีประจำโรงเรียน ปีเดียวกันนั้น ศาสนาจารย์แฮรีสได้ซื้อที่ดินติดกับโรงเรียนเพิ่มอีก 71 ไร่ รวมมีพื้นที่ 90 ไร่ โดยปัจจุบัน มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาต[1]
ในปี พ.ศ. 2455 ได้เริ่มใช้ภาษาไทยในการสอนแทนคำเมือง ตามการสนับสนุนการใช้ภาษาไทยกลางของรัฐบาล[3] ตลอดจนการสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนได้รับรองฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลในปี พ.ศ. 2464[2]
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทางโรงเรียนได้ปิดการเรียนการสอน[4] รัฐบาลได้ยึดโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยใช้เป็นโรงเรียนสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในชื่อ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ"[2] หลังสงครามสิ้นสุด โรงเรียนจึงได้เปิดทำการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้เสด็จเยือนโรงเรียน
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จเยือนโรงเรียน
เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2471 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานทำพิธีเปิดอาคาร Powers Hall
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงที่อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์เป็นอาจารย์ใหญ่ ทางโรงเรียนได้จัดตั้ง "แผนกสหเตรียมอุดมศึกษาปรินส์ - ดารา" ขึ้นในระดับมัธยมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2499 อันเป็นจุดเริ่มต้นของชั้นเรียนแบบสหศึกษาของโรงเรียน[2]
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนและทรงลงพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมโรงเรียน มีข้อความว่า "รู้สึกยินดีที่เชียงใหม่มีโรงเรียนดี ๆ ที่สง่างามและมีบริเวณกว้างขวาง ยินดีที่มีโอกาสพบครูที่ดีมีน้ำใจ อุตส่าห์สั่งสอนเด็กด้วยใจรักเป็นเวลานาน ขอให้ครูทุกท่านจงช่วยกันสั่งสอนเด็กเถิด เป็นบุญเหลือหลายที่ได้ช่วยเหลือเยาวชนของชาติ ยินดีที่เห็นเด็กนักเรียนทุกคนเรียบร้อย ได้อยู่ในโรงเรียนดี มีบริเวณงามมาก"
เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระอุปถัมภ์และพระราชทานนามอาคารว่า "อาคารเพชรัตน์-สุวัฒนา"
แต่เดิมที่เคยรับสมัครเฉพาะนักเรียนชาย แต่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เปิดเป็นแบบสหศึกษา และในปี พ.ศ. 2536 ได้รับสมัครนักเรียนหญิงระดับชั้นอนุบาล 3 เป็นปีแรก[2] ทางโรงเรียนได้จัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการพระราชทานนามโรงเรียน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และวันที่ 3 มกราคม 2549[5]
ผู้จัดการ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการ
ลำดับ | รายนามผู้จัดการ/อาจารย์ใหญ่/ผู้อำนวยการ | ตำแหน่ง | ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง (นับจากปีการศึกษา) | รวม(ปี) | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
1 | ศาสนาจารย์ เดวิด กอร์มเลย์ คอลลินส์ | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2442 | 12 | |
2 | ศาสนาจารย์ ดร.วิลเลียม แฮรีส | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2482 | 40 | |
3 | ศาสนาจารย์ ดร.เคนเนธ เอลเมอร์ แวลส์ | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2484 | 2 | พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2488 ได้เว้นระยะไปเนื่องด้วยเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 |
ผู้จัดการ | พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2493 | 4 | |||
4 | อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์ | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2491 | 2 | |
ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2510 | 16 | |||
5 | อาจารย์กำราบ ไชยาพันธ์ | รักษาการอาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2494 | 2 | |
ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512 | 2 | |||
6 | อาจารย์ ดร.จำรูญ ไชยลังการณ์ | ผู้จัดการ / อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2533 | 20 | |
7 | อาจารย์ พงษ์ ตนานนท์ | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2548 | 14 | |
8 | ผู้ปกครอง ดร.สิริลักษณ์ เฟื่องกาญจน์ | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2554 | 6 | |
9 | คุณถวิล กัลชาญพิเศษ | รักษาการผู้จัดการ | พ.ศ. 2551 | 1 | |
10 | ผู้ปกครองสมบูรณ์ ปัญญาพฤกษ์ | ผู้จัดการ | พ.ศ. 2552 | 1 | |
11 | คุณสเปญ จริงเข้าใจ | ผู้จัดการ | พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2558 | 5 | |
12 | ผู้ปกครอง ดร.สิรินันท์ ศรีวีระสกุล | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2564 | 10 | |
ผู้จัดการ | พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2564 | 6 | |||
13 | ผู้ปกครอง ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน | ยังอยู่ในวาระ | |
ผู้จัดการ | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน | ยังอยู่ในวาระ |
กิจกรรม
ลูกเสือ
พ.ศ. 2456 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้รับอนุญาตให้ตั้งลูกเสือกองที่ 5 มณฑลพายัพ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "กองลูกเสือมณฑลพายัพที่ 3 ปรินส์รอยแยลส์คอลเลซ" ในอีกสองปีถัดมา ในปี พ.ศ. 2539 ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชากองลูกเสือของโรงเรียนมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ และได้รับการแต่งตั้งกองลูกเสือเป็น "กองลูกเสือเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งประเทศสวีเดน โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย"[6] นับเป็นกองลูกเสือกองเดียวในโลก ทั้งยังได้รับพระราชทานธงประจำกองลูกเสือและเครื่องหมายกองลูกเสือพระมหากษัตริย์สวีเดน และมีตราประจำพระองค์อยู่กลางเครื่องหมาย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ได้เสด็จเยี่ยมกองลูกเสือเกียรติยศในพระองค์ของโรงเรียน[6] นอกจากนี้ โรงเรียนยังจัดตั้งกองลูกเสืออาสา กกต. เพื่อประชาธิปไตย ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือเป็นกองลูกเสือของโรงเรียนเอกชนกองแรกในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งโดยสุจริต[6]
โครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติให้เป็นโรงเรียนเครือข่ายในการจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้จัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้วยรูปแบบที่เหมาะสม[7]
ปัจจุบัน ใน ระดับประถมศึกษามีโครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ(IEP, EEP) วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ และ คอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีโครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ(MEP) ห้องเรียนเตรียมวิศวะฯ(TEP) และ สสวท.(SMEP) และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีโครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษวิชา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนพิเศษสสวท. และห้องเรียนดิจิตอลอาร์ทแอนด์เกม(DAG)
เศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยมีกิจกรรมเด่นในด้านเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ชื่อกิจกรรม "ออมเพื่อการลงทุน" โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนสามารถนำเงินที่ได้จากการออมไปใช้ในการลงทุนได้[8] นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้การศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการโรงเรียนต้นแบบ เงินทองของมีค่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีทั้งการจัดกิจกรรม "จ้างฮิ จ้างหา ปายหน้าสบาย" "1 คน 1 อาชีพ" และ "ธนาคารขวด" ซึ่งทำให้เครือข่ายโรงเรียนพอเพียงขยายไปอีก 10 โรงเรียนแล้วในจังหวัดเชียงใหม่[9]
กรีฑาสีประจำปี
กรีฑาสีจัดขึ้นทุกปี แบ่งเป็น 6 สี ได้แก่ สีแดง เหลือง เขียว แสด ฟ้า และ ม่วง แบ่งเป็นกรีฑาสีระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมดังกล่าวที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ในระดับมัธยมศึกษา ส่วนระดับประถมศึกษาจะจัดภายในสนามฟุตบอลของโรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านั้นทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี และปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมกรีฑาสีที่สนามกรีฑาของโรงเรียน
กิจกรรมที่โดดเด่น
ราตรีเพลินเพลง
ราตรีเพลินเพลิง หรือ Music Night เป็นงานประจำปีของโรงเรียนที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อส่งเสริมการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีและทางการแสดงของนักเรียนทุกระดับชั้น โดยจะมีการจัดงานนี้ก่อนทางโรงเรียนปิดคริสต์มาสทุกปี
ดำหัวปีใหม่ ประชุมใหญ่ ส.น.ป.
ดำหัวปีใหม่ ประชุมใหญ่ ส.น.ป. เป็นงานประจำปีของโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนเก่าของโรงเรียนได้มาพบปะสังสรรค์และมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวขอพรจากครูเก่าของโรงเรียน งานดังกล่าวจัดขึ้นก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเป็นผู้จัดกิจกรรมทุกปี
แฮรีสมินิมาราธอน
การแข่งขันแฮรีสมินิมาราธอนเป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกปีตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีส อดีตอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน ตลอดจนสมทบทุนมูลนิธิวิลเลียมแฮรีสอนุสรณ์และกองทุนของโรงเรียน แต่ในปี 2559 ไม่มีการจัดขึ้นเนี่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (วิ่งเพื่อโบสถ์นี้ที่เรารักษ์ ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560 เพื่อนำเงินสมทบทุนมาซ่อมแซมโบสถ์ของโรงเรียนแทน)
อาคารและสถานที่
พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส
พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีสเป็นอาคารหลักแรกของโรงเรียนที่สร้างด้วยไม้สัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานนามโรงเรียนในปี พ.ศ. 2449 สมัยศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีสได้ใช้เป็นบ้านพักและอาคารอำนวยการ ต่อมา ได้ใช้เป็นอาคารดนตรีและห้องซ้อมดุรยางค์[1] วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ้านแฮรีส ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างบ้านแฮรีสขึ้นใหม่ตรงที่ตั้งเก่าตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิมทุกประการ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536[1]
พ.ศ. 2540 อดีตผู้อำนวยการ พงษ์ ตนานนท์ ดำริจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนขึ้นมา เมื่อเสร็จแล้วจึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์โรงเรียนแห่งแรกในภาคเหนือ[1] ภายในอาคารเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญมากกว่า 500 ภาพ
สถาบันแฮรีส
สถาบันแฮรีส หรือ "อาคาร 100 ปี" (Harris Institute) จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การพัฒนาการเรียนรู้แบบพหุปัญญา ส่งเสริมทักษะความสามารถของนักเรียนในการคิด ทำและวิเคราะห์ ตลอดจนเพื่อให้เป็นอาคารศูนย์กลางการค้นคว้าด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการจัดเตรียมสถานที่การเรียนการสอนตามที่โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการเรียนรู้ในโครงการจัดการการเรียนรู้บนพื้นฐานของการพัฒนาสมอง[10] รูปแบบของอาคาร เกิดจากการทำงานร่วมกันของศิษย์เก่าที่เรียนจบทางด้านสถาปนิก เน้นการออกแบบให้เด็กมีพื้นที่ทำกิจกรรมและการแสดงออกให้มากที่สุด โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น พื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างประมาณตารางเมตรละ 1 หมื่นบาท มีการทำพิธีวางฐานรากเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2549[10]
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดสถาบันแฮรีสอย่างเป็นทางการ[11]
คริสตจักรโรงเรียน
โบสถ์ประจำโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อสร้างขึ้นจากเงินบริจาคโดยคริสตศาสนิกชนชาวไทยและอเมริกัน ซึ่งพ่อครูดร.วิลเลียม แฮรีส ก็ถือเป็นบุคคลผู้ริเริ่มในการก่อสร้างโบสถ์ในปี พ.ศ. 2472 เมื่อโรงเรียนสามารถรวบรวมทุนได้มากเพียงพอแล้ว นายแวน แอลเล็น แฮรีส (Van Allen Harris) น้องชายของพ่อครูแฮรีสซึ่งเป็นสถาปนิกและวิศวกร ก็ได้เดินทางมาเชียงใหม่ แล้วทำการดำเนินการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2473
สำหรับตัวอาคารโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นโดยมีการนำเอารูปแบบศิลปะแบบกอทิกมาประยุกต์ใช้ โครงสร้างของโบสถ์เป็นรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะหลังคาเป็นทรงจั่ว ภายในอาคารเป็นเพดานยกสูงแบบจั่วซึ่งสามารถรองรับน้ำหนักได้ด้วยโครงสร้างหลังคาแบบ Hammer-beam roof ซึ่งเป็นรูปแบบการทำหลังคาแบบซุ้มโค้งแหลม ปัจจุบันโบสถ์ก็ยังเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจที่สำคัญของโรงเรียน[12]
โรงละคร
สร้างขึ้นพร้อมกันกับโบสถ์ของโรงเรียน เมื่อปี ค.ศ.1929 เพื่อใช้งานอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมสร้าง เสริม การเรียนรู้ของนักเรียน การประชุม การแสดงและรวมถึงใช้จัดอบรมจริยธรรม โรงละครนี้สร้างขึ้นโดยเงินบริจาคจากสหายร่วมชั้นเรียน ในมหาวิทยาลัยปรินสตันของ พ่อครู ดร.วิลเลียม แฮรีส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยน้องชายของพ่อครูชื่อ วอลเตอร์ และแวน เอลเล็น แฮรีส
อนุสาวรีย์หินหัวมุม
สร้างขึ้นโดยสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เพื่อเป็นที่ระลึกในการก่อตั้งโรงเรียน และได้นำแผ่นจารึกเมื่อครั้นพระราชทานนามโรงเรียน ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1906 ไปประดิษฐานไว้
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
ด้านสังคมและการเมือง
- เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) - เจ้าราชบุตรองค์สุดท้ายแห่งจังหวัดเชียงใหม่
- เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ - เจ้านายฝ่ายเหนือ สืบสกุลเจ้านครเชียงใหม่
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย - องคมนตรีและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดร.โอฬาร ไชยประวัติ - อดีตประธานผู้แทนการค้าไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี
- ดร.จำรูญ ไชยลังการณ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่และอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- ไกรสร ตันติพงศ์ - อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ศาสตราจารย์ สง่า สรรพศรี - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ไกรศรี นิมมานเหมินท์ - นักโบราณคดีและอดีตสมาชิกวุฒิสภา
- เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาชน
ด้านวิชาการ
- ศาสตราจารย์ สวาสดิ์ ไชยคุณา อดีตอธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในปัจจุบัน)
- ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ / อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย
นักสื่อสารมวลชน
- ชมพูนุช ตัณฑเศรษฐี ผู้ประกาศข่าวช่องเวิร์คพอยท์
- พิสิทธิ์ กีรติการกุล พิธีกร และผู้ประกาศข่าว
- วัฒนากร ทิพจร ดีเจ, พิธีกร และผู้ประกาศข่าว
นักกีฬา
บุคคลในแวดวงบันเทิง
- ส. อาสนจินดา ศิลปินแห่งชาติ
- นิมิตร ลักษมีพงศ์ นักจัดรายการวิทยุ และนักแสดง
- บดินทร์ เจริญราษฎ์ นักร้องนำวงมายด์
- ปริญ สุภารัตน์ นักแสดง
- ปุริม รัตนเรืองวัฒนา นักแสดง
- กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม นักแสดง
- นิชานันท์ ฝั้นแก้ว นักแสดง
- ชิดจันทร์ ห่ง นักแสดง
- นนทพันธ์ ใจกันทา นักแสดง
- พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข นักร้องนำวงโปเตโต้
- มนัสวีร์ กฤตตานุกูล นักเต้น, นักแสดง และนางแบบชาวไทย
- ธนพล จารุจิตรานนท์ นักแสดง
- วิทวัส ท้าวคำลือ นักร้อง และนักแสดง
- กัษมนณัฏฐ์ นามวิโรจน์ นักแสดง
- ปุณยวีร์ จึงเจริญ สมาชิกวงซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต
- อัจฉรี บัวเขียว นางงาม, นางแบบ และนักแสดง
- สุมิตรา ดวงแก้ว สมาชิกวงบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต
- ชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทยเชียงใหม่ 2566 และนางสาวไทย 2566
- ใจภูมิ ไชยอิสระภาพ นางสาวประเภทสองเชียงใหม่
- ณัฐชา รัตน์ชยางคานนท์ นางแบบนักแสดงสังกัด ช่อง 7HD , ไทยซุปเปอร์โมเดลคอนเทสต์ 2020
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส. ผู้จัดการ 360°. สืบค้น 6-12-2553.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ประวัติโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2002-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
- ↑ ประวัติ P.R.C. : ยุคที่สี่ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย[ลิงก์เสีย]. สมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 6-12-2553.
- ↑ ทะเบียนประธานรุ่นและสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (ส.น.ป.) เก็บถาวร 2010-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
- ↑ รำลึก 100 ปี ปรินส์รอยแยลส์ฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี "มาถึงวันแรกผมนั่งร้องไห้ใต้ต้นฉำฉา". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 "กองลูกเสือเกียรติยศ" ในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน "โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย" เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 5-12-2553.
- ↑ โครงการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ เก็บถาวร 2009-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 6-12-2553.
- ↑ เอกสารกิจกรรมเด่นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เก็บถาวร 2010-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้น 6-12-2553.
- ↑ ติดอาวุธทางปัญญา นำ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สู่รั้วโรงเรียน เก็บถาวร 2010-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย. สืบค้น 06-12-2553.
- ↑ 10.0 10.1 จาก 100 ปี 100 ล้าน สู่ปรินส์รอย 2. ผู้จัดการ 360°. สืบค้น 6-12-2553.
- ↑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด "อาคาร 100 ปี สถาบันแฮรีส" โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯจังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 29-7-2554.
- ↑ อาคารอนุรักษ์ดีเด่น;โบสถ์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 27-10-2560.