โรงเรียนราชินีบน

โรงเรียนราชินีบน
Rajinibon School
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ผ.(RB)
ประเภทเอกชน
สถาปนาพ.ศ. 2472
ผู้ก่อตั้งสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
รหัส1110100030
ผู้อำนวยการนางสาวเย็นฤทัย จงถนอม
ระดับปีที่จัดการศึกษาอนุบาล 2 - มัธยมศึกษาปีที่ 6
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน
ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
ฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศส
จีน ภาษาจีน
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
สี   สีน้ำเงิน-สีชมพู
เพลงพิกุลแก้ว
เว็บไซต์www.rajinibon.ac.th

โรงเรียนราชินีบน เป็นโรงเรียนหญิงล้วนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ตั้งอยู่ที่ตึกถนนอัษฎางค์ ผู้ทรงให้กำเนิดโรงเรียนคือ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เพื่ออบรมให้เป็นนักเรียนผู้ดีที่ทันสมัย แต่คงความเป็นกุลสตรีที่งดงาม เพรียบพร้อมในทุก ๆ ด้าน โรงเรียนราชินีบนให้เป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมและทันสมัยในทุก ๆ ด้าน มีความสะอาด สงบร่มรื่น ปัจจุบันโรงเรียนมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 74 ตารางวา สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนราชินีบน” เมื่อ พ.ศ. 2472 เป็นต้นไป

ประวัติ

พระรูปสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ผลงานของคุณไข่มุกด์ ชูโต ประดิษฐานด้านหน้าโรงเรียนราชินีบน

พ.ศ. 2465 โรงเรียนราชินีบนเปิดสอนที่ตึกของพระยามหิบาล ถนนสามเสนแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร บริเวณแยกบางกระบือและโรงไฟฟ้าสามเสน (สถานที่ปัจจุบัน) เมื่อตั้งอยู่ที่นี่ได้ 3 ปี ได้ขยายการสอนสูงขึ้นตามลำดับจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 6

พ.ศ. 2469 สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรทรงพระศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์อุดหนุนการศึกษาเป็นจำนวนมากโปรดให้จัดซื้อที่ดิน บ้านพระยามหิบาลจำนวน 2 ไร่ 75 ตารางวา กับขอพระราชทานที่ดินของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตรงริมถนนเขียวไข่กา มาเพิ่ม ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถมคูที่คั่นอยู่ตรงกลางนั้นเสีย จึงถมเนื้อที่ติดต่อกันรวม 4 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา โปรดให้กองช่างสุขาภิบาลอำนวยการสร้างสถานที่ศึกษาสำหรับสตรี ณ ที่แห่งนี้ ประทานเครื่องเรือนพร้อมเสร็จ ซึ่งจวนสำเร็จการเรียนอยู่แล้วควรจะให้คุ้นเคยกับสถานที่อันถูกต้องตามแบบสุขาภิบาลบ้าง เมื่อออกไปอยู่บ้านจะได้รู้จักแต่งบ้าน และรักษาสุขาภิบาล และอนามัยเป็นอันดี ทรงปรึกษาหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ซึ่งท่านทรงเห็นด้วยและตัดสินพระทัยยุบโรงเรียนศรีจิตสง่า สมเด็จพระปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงพระกรุณาโปรดให้รับนักเรียนที่เคยเรียนที่โรงเรียนศรีจิตสง่านี้เข้าเรียนต่อไปในโรงเรียนใหม่นี้ จึงเป็นอันว่าโรงเรียนใหม่นี้รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 3 ขึ้นไป ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 เป็นต้นไป

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ประทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนราชินีบน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังแจ้งในแผ่นจารึกหน้าตึกพิจิตรจิราภาว่าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นองค์แรกที่ทอดพระเนตรเห็นความสำคัญของการศึกษาแห่งสตรี ซึ่งจะเป็นมารดาและบุพพาจารย์สืบต่อไปในภายหน้า ได้ทรงสละพระราชทรัพย์เป็นอเนกประการ เพื่อพระราชทานการศึกษาแก่สตรี เริ่มตั้งแต่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนกุลสตรีทั่วไป สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระองค์หนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงสร้าง โรงเรียนราชินีบน แห่งนี้ขึ้นไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวงพระองค์นั้น

นอกจากนี้ยังได้ทรงสร้างห้องแถวไม้ไว้เก็บผลประโยชน์ไว้บำรุงโรงเรียนทุกปี ขณะที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ก็จะประทานเงินสำหรับใช้สอยประจำตลอดมา นอกจากนี้ยังได้พระราชทานวังคันธวาสที่ตั้งอยู่ ถนนวิทยุ ให้แก่โรงเรียนราชินีบน

โรงเรียนราชินีบน ได้เปิดทำการสอนเมื่อวันทื่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ขณะนั้นเป็นพระเทพมุนี เป็นประธานประกอบพิธีสงฆ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา เสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระราชปิตุจฉาฯ ทรงทำพิธีเปิดป้ายนามโรงเรียน เมื่อแรกเปิด มีนักเรียน 63 คน ตึกเรียนหลังแรกเป็นตึกสีครีม ปีกหนึ่งเป็นสองชั้น อีกปีกหนึ่งเป็นชั้นเดียว ชั้นบนสำหรับนักเรียนประจำ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องเรียน ปัจจุบันเรียกตึกนี้ว่า ตึกพิจิตรจิราภา

โรงเรียนราชินีบน สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยพระกรุณาของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงสร้างห้องแถวไว้เพื่อเก็บผลประโยชน์ ตั้งทุนไว้บำรุงโรงเรียน และได้ประทานสิ่งของตลอดจนเงินค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียน

โรงเรียนได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น

พ.ศ. 2508 ได้ขยายตึกเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนที่ตึก 4 ชั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตึก 3 ชั้น เป็นตึกประถมและอนุบาล

พ.ศ. 2510 เปิดประมูลการก่อสร้างตึกเรียนวิทยาศาสตร์ และ ห้องอาหาร

พ.ศ. 2526 เปิดตึกใหม่ซึ่งใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 ห้องโสตทัศนูปกรณ์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องวิดีโอ ใต้ตึกเป็นที่รับประทานอาหารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและห้องโภชนาการ

พ.ศ. 2537 โรงเรียนได้สร้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น โดยรื้อห้องแถวฝั่งตรงข้ามถนนเขียวไข่กา จัดสร้างเป็นตึกอนุบาลและที่พักนักเรียนประจำ สระว่ายน้ำ โรงยิม และสโมสร

ปัจจุบันโรงเรียนมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3งาน 74 ตารางวา เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 2 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นอนุบาล ถึง มัธยม 3 ชั้นละ 6 ห้องเรียน และ มัธยม 4 ถึง มัธยม 6 ชั้นละ 9 ห้องเรียน

แหล่งข้อมูลอื่น