ใบเลี้ยง
ใบเลี้ยง (อังกฤษ: cotyledon) เป็นส่วนสำคัญในเอ็มบริโอภายในเมล็ดพืช พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ดนิยามใบเลี้ยงว่า "ใบอ่อนในพืชมีเมล็ด ซึ่งหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งใบจะปรากฏเป็นครั้งแรกจากเมล็ดที่กำลังงอก"[1] ใบเลี้ยงเป็นสิ่งหนึ่งที่นักพฤกษศาสตร์ใช้ในการจำแนกพืชดอกออกเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocots) และพืชใบเลี้ยงคู่ (dicots)
ใบเลี้ยงมีทั้งโรยไม่กี่วันหลังเมล็ดงอก หรือติดทนอย่างน้อยหนึ่งปี ใบเลี้ยงกักเก็บอาหารสะสมที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อต้นอ่อนใช้อาหารที่สะสมจนหมด ใบเลี้ยงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเพื่อทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง หรือเหี่ยวเฉาเมื่อใบแท้ทำหน้าที่ผลิตอาหารแทน[2]
ในกรณีต้นอ่อนพืชใบเลี้ยงคู่ ใบเลี้ยงจะทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงคล้ายใบแท้ อย่างไรก็ตาม ใบเลี้ยงและใบแท้จะเจริญแยกกัน โดยใบเลี้ยงจะเจริญช่วงการเกิดเอ็มบริโอ พร้อมกับเนื้อเยื่อเจริญของรากและลำต้น[3] ดังนั้นใบเลี้ยงจึงปรากฏในเมล็ดตั้งแต่ก่อนงอก ขณะที่ใบแท้เจริญหลังเมล็ดงอกจากเนื้อเยื่อเจริญส่วนปลายของลำต้น ซึ่งจะเจริญไปเป็นส่วนเหนือดินอื่น ๆ ของพืชในภายหลัง[4]
ใบเลี้ยงของหญ้าและพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอื่น ๆ จำนวนมากเป็นใบที่เปลี่ยนรูปไปเป็นใบเลี้ยงธัญพืชและเนื้อเยื่อหุ้มยอดแรกเกิด ใบเลี้ยงธัญพืช (scutellum) เป็นเนื้อเยื่อในเมล็ดที่มีหน้าที่พิเศษในการดูดซึมอาหารที่สะสมไว้จากเอนโดสเปิร์มที่อยู่ใกล้กัน[5] ส่วนเนื้อเยื่อหุ้มยอดแรกเกิด (coleoptile) ทำหน้าที่ปกป้องยอดแรกเกิด (plumule) หรือต้นอ่อนที่จะเจริญไปเป็นลำต้นและใบ[6]
ต้นอ่อนพืชเมล็ดเปลือยมีใบเลี้ยงเช่นกัน โดยจำนวนใบเลี้ยงมีตั้งแต่ 2–24 ใบ ใบเลี้ยงของพืชเมล็ดเปลือยจะก่อตัวเป็นวงที่ยอดลำต้นใต้ใบเลี้ยง ล้อมรอบส่วนยอดแรกเกิด พืชเมล็ดเปลือยแต่ละชนิดมีจำนวนใบเลี้ยงต่างกัน เช่น สนมอนเทเรย์ (Pinus radiata) มี 5–9 ใบ สนเจฟฟรีย์ (Pinus jeffreyi) มี 7–13 ใบ แต่บางชนิดมีจำนวนแน่นอน เช่น ไซเปรสเมดิเตอร์เรเนียน (Cupressus sempervirens) มีใบเลี้ยง 2 ใบเสมอ มีรายงานว่าพืชเมล็ดเปลือยที่มีใบเลี้ยงมากที่สุดได้แก่ สนปิญอนโคนใหญ่ (Pinus maximartinezii) มีใบเลี้ยง 24 ใบ[7]
ทั้งนี้คำว่า cotyledon ใช้ครั้งแรกโดยมาร์เซลโล มัลพิกี แพทย์และนักชีววิทยาชาวอิตาลี[a] โดยมาจากคำภาษาละติน cotylēdōn และภาษากรีกโบราณ κοτυληδών (kotulēdṓn) แปลว่า โพรงรูปถ้วย[11] จอห์น เรย์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษเป็นบุคคลแรกที่สังเกตเห็นความแตกต่างของจำนวนใบเลี้ยงในพืชแต่ละชนิด และบันทึกว่าอาจใช้ในการจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ในหนังสือ Methodus plantarum (ค.ศ. 1682)[12][13] อย่างไรก็ตาม ทีโอแฟรสตัส (คริสต์ศตวรรษที่ 3–4 ก่อนคริสตกาล) และอัลแบร์ตุส มาญุส (คริสต์ศตวรรษที่ 13) อาจทราบความแตกต่างระหว่างพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและพืชใบเลี้ยงคู่ก่อนหน้านั้น[14][15]
อ้างอิง
- ↑ OED 2019.
- ↑ King, YaShekia (July 21, 2017). "What Is the Function of the Cotyledon in the Seed?". Sciencing. สืบค้นเมื่อ February 14, 2021.
- ↑ Goldberg, Robert; Paiva, Genaro; Yadegari, Ramin (October 28, 1994). "Plant Embryogenesis: Zygote to Seed". Science. 266 (5185): 605–614. Bibcode:1994Sci...266..605G. doi:10.1126/science.266.5185.605. PMID 17793455. S2CID 5959508.
- ↑ "Apical meristem". Britannica. สืบค้นเมื่อ February 14, 2021.
- ↑ "Poaceae - Characteristic morphological features". Britannica. สืบค้นเมื่อ February 14, 2021.
- ↑ "Definition of coleoptile". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ February 14, 2021.
- ↑ "Pinus maximartinezii (maxipiñon) description". The Gymnosperm Database. สืบค้นเมื่อ February 14, 2021.
- ↑ Linnaeus 1751, p. 54.
- ↑ Linnaeus 1751, p. 89.
- ↑ OED 2015.
- ↑ "Definition of cotyledon". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ February 14, 2021.
- ↑ Vines, Sydney Howard (1913), "Robert Morison 1620—1683 and John Ray 1627—1705", ใน Oliver, Francis Wall (บ.ก.), Makers of British botany, Cambridge University Press, pp. 8–43
- ↑ Greene, E. L. & Egerton, F. N. (ed.) (1983). Landmarks of Botanical History: Part 2. Stanford: Stanford University Press, p. 1019, note 15, [1].
- ↑ "Bioetymology: Origin in Biomedical Terms: cotyledon, monocotyledon (plural usually monocots), dicotyledons(plural usually dicot)". bioetymology.blogspot.com.br. สืบค้นเมื่อ 6 April 2018.
- ↑ Greene, E. L. & Egerton, F. N. (ed.) (1983), p. 1019, note 15.