2499 อันธพาลครองเมือง
2499 อันธพาลครองเมือง | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | นนทรีย์ นิมิบุตร |
เขียนบท | วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง |
สร้างจาก | เส้นทางมาเฟีย โดย สุริยัน ศักดิ์ไธสง |
อำนวยการสร้าง | วิสูตร พูลวรลักษณ์ |
นักแสดงนำ | |
ผู้บรรยาย | รุจน์ รณภพ |
กำกับภาพ | วินัย ปฐมบูรณ์ |
ตัดต่อ | สุนิตย์ อัศวินิกุล |
ดนตรีประกอบ | เพลงนำภาพยนตร์: 7 วันที่ฉันเหงา และ อย่าใกล้ฉัน โดย วูล์ฟแพ็ค |
ผู้จัดจำหน่าย |
|
วันฉาย | 11 เมษายน พ.ศ. 2540 |
ความยาว | 104 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 75 ล้านบาท[1] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
2499 อันธพาลครองเมือง (อังกฤษ: Dang Bireley's and Young Gangsters) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวมหากาพย์ ดราม่า อาชญากรรม ชีวประวัติ ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2540 กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร สร้างโดย บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เพลงประกอบภาพยนตร์ โดย วูล์ฟแพ็ค ภาพยนตร์มีเนื้อหาเล่าย้อนถึงกรุงเทพมหานครยุคก่อน พ.ศ. 2500 ที่เหล่านักเลงอันธพาล แดง ไบเล่ย์ ผู้มีอิทธิพลและครองเมืองอย่างไม่หวั่นเกรงกฎหมาย
เนื้อเรื่อง
เรื่องราวทั้งหมดเล่าโดยผ่านความทรงจำของ เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ (สุริยัน ศักดิ์ไธสง-เสียงบรรยายโดย รุจน์ รณภพ) ก่อนปี พ.ศ. 2500 สมัยที่กรุงเทพ ฯ ยังถูกเรียกว่าพระนคร อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลมายังกลุ่มวัยรุ่นเมืองไทย แดง (เจษฎาภรณ์ ผลดี) เป็นหัวโจกเด็กวัยรุ่น แดงเป็นลูกของ โฉม (ปาริชาต บริสุทธิ์) โสเภณีที่ตรอกไบเล่ย์ ข้างหัวลำโพง เขาจึงสร้างปมเด่นขึ้นมาด้วยการเป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาลเพื่อกลบปมด้อยที่เป็นลูกโสเภณี แดงมีเพื่อนสนิทคือ ปุ๊ (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ), ดำ (ชาติชาย งามสรรพ์), แหลม (นพชัย มัททวีวงศ์) และ เปี๊ยก (อรรถพร ธีมากร) แดงสร้างชื่อจากการสังหารเฮียหมา นักเลงท้องถิ่นในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ วันหนึ่งในงานเจมส์ ดีนรำลึก แดงและพรรคพวกได้เจอกับนักร้องสาวคนหนึ่งชื่อ วัลลภา (แชมเปญ เอ็กซ์) วัลลภามีท่าทีสนใจแดงทั้งสองคนจึงได้รู้จักกัน ครั้งนึงปุ๊ไปมีเรื่องกับเด็กในแก๊งของเปี๊ยก ทำให้เปี๊ยกออกรับหน้าแทนจึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น ทำให้เปี้ยกต้องติดคุกและโดนไล่ออกจากโรงเรียนในภายหลัง เป็นชนวนเหตุให้แก๊งระเบิดขวดที่นำโดยปุ๊ และแก๊งไบเล่ย์ของแดงเกิดบาดหมางและก่อให้เกิดเรื่องราวความรุนแรงในเวลาต่อมา
ทั้งคู่ยกพวกตีกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ถนนสิบสามห้าง ย่านบางลำพู หรือในที่ใด ๆ ก็ตาม จนเมื่อเกิดการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 ความเด็ดขาดที่จะปราบปรามแก๊งวัยรุ่น ทำให้แดงและเปี๊ยกต้องหนีไปพึ่ง หมู่เชียร (อภิชาติ ชูสกุล) ลูกพี่เก่าที่อู่ตะเภา หมู่เชียรกำลังจะเปิดคาสิโนแห่งใหม่ที่นั่นเพื่อรองรับเหล่าทหารอเมริกันที่มารบในสงครามเวียดนาม จึงรับแดงและเปี๊ยกเข้ามาเป็นลูกน้อง ต่อมาไม่นานแหลมก็ตามมา รวมทั้งปุ๊และดำด้วย แดงไม่เห็นด้วยที่หมู่เชียรรับปุ๊และดำ ในที่สุดปุ๊และดำก็ทรยศ โดยไปเข้ากับผู้ใหญ่เต๊ก ผู้ทรงอิทธิพลคู่แข่งหมู่เชียร ในที่สุดหมู่เชียรก็ถูกยิงตาย แดงและพวกจึงตกอยู่ในสภาพเสียหัวเรือ ต่อมาได้ล้างแค้นให้หมู่เชียรโดยยิงกับพวกปุ๊และผู้ใหญ่เต๊กกลางตลาด
ต่อมา แม่ของแดงขอให้แดงบวช แดงยอมบวช แต่ในงานบวช ปุ๊และดำก็มาป่วน แดงและพวกยิงกับปุ๊และดำกลางงาน หลายคนตาย แดงก็บาดเจ็บสาหัสหนัก ที่สุดเขาก็ไม่ได้บวช และไปเป็นลูกน้องเสี่ยจิว ผู้ทรงอิทธิพลที่ชลบุรี และท้ายที่สุดเขาก็รถคว่ำตาย ด้วยวัยเพียง 24 ปี แบบเดียวกับ เจมส์ ดีน วีรบุรุษที่เขารัก
นักแสดง
- เจษฎาภรณ์ ผลดี รับบท แดง ไบเล่ย์
- อรรถพร ธีมากร รับบท เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์
- นพชัย มัททวีวงศ์ รับบท แหลมสิงห์
- ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ รับบท ปุ๊ ระเบิดขวด
- ชาติชาย งามสรรพ์ รับบท ดำ เอสโซ่
- แชมเปญ เอ็กซ์ รับบท วัลลภา
- อภิชาติ ชูสกุล รับบท หมู่เชียร
- ปาริชาติ บริสุทธิ์ รับบท แม่แดง ไบเลย์
- ปิยะ บุนนาค รับบท พล ตรอกทวาย
- ธีระชัย พฤกษ์พิมาน รับบท เฮียหมา
- สุธากรณ์ ใจมั่น รับบท ผู้ใหญ่เต้ก
ปรากฏการณ์ภาพยนตร์
2499 อันธพาลครองเมือง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Dang Bireley's and Young Gangsters" หรือ "Dang Bireley's Story" สร้างมาจากบทประพันธ์เรื่อง "เส้นทางมาเฟีย" ของสุริยัน ศักดิ์ไธสง หรือ เปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ ในเรื่อง เมื่อออกฉายได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นที่พูดคุยวิพากษ์วิจารณ์จนเป็นกระแสในสังคมระยะหนึ่ง ถึงเรื่องราวความจริงกับสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ เช่น หลายคนบอกว่าแดงแท้ที่จริงไม่เคยฆ่าคนและชอบกินมิลค์เช็ค, เปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ เป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการแจ้งเกิดของหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับที่เพิ่งจะสร้างหนังเป็นเรื่องแรก และนักแสดงนำ ซึ่งในขณะนั้นทุกคนยังคงเป็นนักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด และเป็นการเปิดศักราชยุคใหม่ให้ภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง เนื่องด้วยสามารถทำรายได้ถล่มทลายไม่แพ้ภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นเรื่องแรกในวงการ อีกทั้งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างได้มาตรฐานสากล เมื่อออกไปฉายในงานเทศกาลต่างประเทศ ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานประกวดภาพยนตร์อิสระที่ประเทศเบลเยี่ยมด้วย[2]
ดูเพิ่ม
สถานที่ถ่ายทำ
- วัดราชาธิวาส
- วัดสุทัศน์เทพวราราม
- วัดพิกุลแก้ว จ.นครนายก
- วัดกุฎีเตี้ย จ.นครนายก
- วัดปราสาท โบราณสถานแห่งชาติ สมัยกรุงศรีอยุธยา
- วัดโตรด จ.นนทบุรี
- สนามบินอู่ตะเภา
- ฐานทัพเรือสัตหีบ
- สโมสรเรือใบ ฐานทัพเรือสัตหีบ
- มหาวิทยาลัย E TECH
- โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา
- สถานีตำรวจนางเลิ้ง