การค้าเครื่องเทศ
การค้าเครื่องเทศ คือกิจการทางการพาณิชย์ที่มีต้นตอมาแต่ยุคโบราณที่เป็นการค้าขายสินค้าที่รวมทั้งเครื่องเทศ, สมุนไพร และฝิ่น[1] การวิวัฒนาการของวัฒนธรรมของเอเชียบางส่วนก็มีอิทธิพลมาจากการค้าขายเครื่องเทศ จากนั้นก็ตามด้วยโลกกรีก-โรมันที่ใช้เส้นทางสายเครื่องหอม[2] และเส้นทางสายโรมัน-อินเดียเป็นเส้นทางการค้ามายังตะวันออก[3] เส้นทางสายโรมัน-อินเดียวิวัฒนาการมาจากเทคนิคที่ใช้โดยมหาอำนาจทางการค้าของราชอาณาจักรอัคซูม (ราว 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช-จนถึง ค.ศ. 1000 กว่า ๆ) ที่เป็นการริเริ่มการใช้เส้นทางในทะเลแดงมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 1 อัคซูมแบ่งปันความรู้ในการใช้ลมมรสุมในการเดินเรือกับชาวโรมัน (ราว 30-10 ปีก่อนคริสตกาล) และรักษาสัมพันธ์ภาพระหว่างกันอย่างปรองดองมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 เมื่ออิสลามเรืองอำนาจขึ้น ก็ปิดเส้นทางการค้าทางทะเล และหันมาใช้ขบวนคาราวานในการขนส่งทางบกไปยังอียิปต์และซุเอซ ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดความสัมพันธ์ทางการค้าโดยตรงระหว่างยุโรปไปยังอัคซูมและอินเดีย และในที่สุดพ่อค้าอาหรับก็ยึดการขนส่งสินค้าเข้ามาอยู่ในมือของตนเอง โดยการขนส่งสินค้าเข้าทางบริเวณเลแวนต์ไปให้แก่พ่อค้าเวนิสในยุโรปยุโรป การขนส่งด้วยวิธีนี้มายุติลงเมื่อออตโตมันเติร์กมาปิดเส้นทางอีกครั้งในปี ค.ศ. 1453 หลังจากที่ตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลแตก
เส้นทางข้ามทวีปช่วยส่งเสริมการค้าขายพอประมาณ แต่เส้นทางการค้าทางทะเลเป็นตัวที่ทำให้กิจการนี้ขยายตัวขึ้นอย่างเป็นทวีคูณ[1] ระหว่างยุคกลางตอนกลางกับตอนปลาย พ่อค้ามุสลิมมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้ใดในการควบคุมเส้นทางค้าทางทะเลไปยังมหาสมุทรอินเดีย ในการขนส่งติดต่อกับศูนย์การค้าเครื่องเทศในอินเดีย เพื่อนำสินค้ามายังทางอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดง จากนั้นก็ขนถ่ายทางบกข้ามทวีปต่อไปยังยุโรป
สถานภาพของการค้าขายมาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งโดยชาวยุโรประหว่างยุคแห่งการสำรวจ[4] ในช่วงนั้นการค้าขายเครื่องเทศการเป็นกิจการอันสำคัญที่สุดของนักการค้าขายแลกเปลี่ยนชาวยุโรป[5] เส้นทางจากยุโรปไปยังมหาสมุทรอินเดียโดยการเดินทางรอบแหลมกู๊ดโฮปที่เริ่มขึ้นโดยนักเดินเรือชาวยุโรป เช่น วัชกู ดา กามา มีผลในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าเดิมมาเป็นเส้นทางทางทะเลใหม่[6]
การค้าเครื่องเทศมีผลผลักดันเศรษฐกิจของโลกตั้งแต่ยุคกลางมาจนถึงยุคใหม่[5] และเป็นปัจจัยประการหนึ่งในการกระตุ้นประเทศในยุโรปเข้าสู่สมัยจักรวรรดินิยมของยุโรปในโลกตะวันออก[6] เส้นทางเช่นอ่าวเบงกอลเป็นสะพานเชื่อมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการพาณิชย์ระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง[4]เมื่อแต่ละชาติต่างก็พยายามต่อสู้แย่งชิงกันในการมีอิทธิพลต่อการควบคุมเส้นทางการค้าเครื่องเทศสายต่าง ๆ[1] ในระยะแรกอิทธิพลของยุโรปในการควบคุมการค้าเครื่องเทศก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า เส้นทางการค้าของโปรตุเกสก็เป็นเส้นทางที่จำกัดและยากต่อการเดินทาง แต่ต่อมาเมื่อดัตช์ก็สามารถเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้โดยการเดินทางติดต่อโดยตรงทางมหาสมุทรจากแหลมกู๊ดโฮปไปยังช่องแคบซุนดาในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการทำให้สถานะการณ์เปลี่ยนไปและเป็นการเพิ่มบทบาทของพ่อค้าชาวตะวันตกในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
ความต้องการทางการตลาดของเครื่องเทศก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาลดลงเมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องทำความเย็น ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19
บทนำ
เครื่องเทศ เช่น อบเชย, ขี้เหล็ก, กระวาน, ขิง และขมิ้น เป็นที่รู้จักและใช้เป็นสินค้าในตะวันออกมาตั้งแต่ยุคโบราณ[1] เครื่องเทศเหล่านี้ได้รับการนำเข้าไปยังตะวันออกกลางตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช และแหล่งที่มาของเครื่องเทศก็เป็นเรื่องที่ปกปิดกันอย่างลึกลับในบรรดาหมู่พ่อค้า ผสมผเสด้วยเรื่องราวตำนานต่าง ๆ อันมหัศจรรย์อันเหลือเชื่อ[1] ชาวอียิปต์โบราณค้าขายในทะเลแดงโดยการซื้อเครื่องเทศจาก “ดินแดนแห่งชนพันท์” และจากคาบสมุทรอาหรับ[7] และสินค้าฟุ่มเฟือยตามเส้นทางการค้าเครื่องหอมรวมทั้งเครื่องเทศจากอินเดีย, ตะโก, ไหม และ ผ้าเนื้อดี[2]
การค้าขายเครื่องเทศมีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางการค้าทางบกข้ามทวีปมาเป็นเวลานานก่อนที่เปลี่ยนมาเป็นการขนส่งทางทะเลที่เป็นการช่วยทำให้การค้าขายยิ่งขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น[1] ราชวงศ์ทอเลมีก่อตั้งระบบการค้ากับอียิปต์โดยใช้เมืองท่าในทะเลแดง[8] หลังจากราชวงศ์ทอเลมีสิ้นอำนาจลง และเมื่อโรมันก่อตั้งโรมันอียิปต์ขึ้นเป็นจังหวัดของจักรวรรดิโรมันแล้ว โรมันก็เริ่มพัฒนาเส้นทางการค้าขายของสิ้นค้าที่ซื้อขายกันอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม[8] เริ่มตั้งแต่ปี 80 ก่อนคริสต์ศักราชอเล็กซานเดรียก็กลายมาเป็นศูนย์กลางที่มีอิทธิพลทางการค้าในการค้าเครื่องเทศจากอินเดียที่เข้ามายังโลกกรีก-โรมัน[1] โดยมีเรือสินค้าเทียวระหว่างอินเดียกับอียิปต์ การควบคุมเส้นทางการค้าไปยังเอเชียใต้มิได้อยู่ในมือของชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะ[9] แต่เป็นการควบคุมโดยระบบหลายระบบในการนำเครื่องเทศมายังเมืองท่าสำคัญของอินเดียที่คาลิคัต
“ประวัติศาสตร์แอฟริกาฉบับเคมบริดจ์” (ค.ศ. 1975) กล่าวว่า:[3]
การค้าขายระหว่างอิเดียและกรีก-โรมันทวีตัวขึ้นเรื่อย ๆ[10] โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องเทศที่นำเข้าจากอินเดียไปยังโลกตะวันตก[11] และสูงกว่าสินค้าอื่นเช่นไหมและสินค้าอื่น ๆ[12]
ในเกาะชวาและเกาะบอร์เนียววัฒนธรรมอินเดียที่เผยแพร่เข้ามาก็ช่วยเพิ่มความต้องการสินค้าประเภทเครื่องหอมกันมากขึ้น[13] จุดค้าขายเหล่านี้ต่อมาก็กลายเป็นตลาดของจีนและอาหรับด้วย[13] เอกสารของกรีก “บันทึกเส้นทางการเดินเรือในทะเลอีริทเธรียน“ (Periplus Maris Erythraei) ของคริสต์ศตวรรษที่ 1 บันทึกชื่อเมืองท่าอินเดียหลายเมืองที่เรือใหญ่เดินทางไปยังตะวันออกไปยัง “Khruse“[14]
พ่อค้ามักกะหฺก่อนสมัยอิสลามก็ใช้เส้นทางการค้าเครื่องหอมในการขนสิ้นค้าประเภทฟุ่มเฟือยที่เป็นที่ต้องการของโรมัน[15] การค้าขายของพ่อค้ามักกะหฺเป็นการส่งออกของสินค้าเช่นกำยานจากอาหรับ, งาช้างและทองจากแอฟริกาตะวันออก, เครื่องเทศจากอินเดีย และไหมจากเมืองจีน[15]
ยุคกลาง
การติดต่อค้าขายของอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8[13] อับบาซียะห์ใช้อเล็กซานเดรีย, ดามิยัตตา, เอเดน และซิราฟ ในการเป็นเมืองท่าไปยังอินเดียและจีน[16] พ่อค้าที่มาจากอินเดียยังเมืองท่าเอเดนต้องจ่ายบรรณาการด้วยชะมด, การบูร, อำพันทะเลและไม้จันทน์แก่อุบัยด-อัลลอฮ์ อิบุน ซิยัด ( عبيد الله بن زياد - Ubayd-Allah ibn Ziyad) สุลต่านแห่งเยเมน[16]
สินค้าจากโมลุกกะได้รับการขนส่งข้ามเมืองท่าของอาหรับไปยังตะวันออกไกล้โดยผ่านทางเมืองท่าของอินเดียและศรีลังกา[17] เมื่อเครื่องเทศมาถึงเมืองท่าในอินเดียหรือศรีลังกา บางครั้งก็ได้รับการส่งต่อไปยังแอฟริกาตะวันออกเพื่อใช้ในจุดประสงค์หลายอย่างที่รวมทั้งประเพณีการทำศพ[17]
เครื่องเทศที่เป็นสินค้าขาออกของอินเดียได้รับการกล่าวถึงในงานเขียนของอิบุน คูร์ดาห์เบห์ (Ibn Khurdadhbeh) (ค.ศ. 850), อัล-กาฟิคิ (ค.ศ. 1150), อิสหัค บิน อิมาราน (Ishak bin Imaran) (ค.ศ. 907) และ อัล คาลคาชานดิ (คริสต์ศตวรรษที่ 14)[17] พระภิกษุนักเดินทางชาวจีนพระถังซัมจั๋งกล่าวถึงเมืองพูรี (Puri) ว่าเป็นเมืองที่ “พ่อค้าเดินทางไปยังบ้านเมืองต่าง ๆ ที่ไกลออกไป”[18]
ชื่อหมู่เกาะโมลุกกะปรากฏในเอกสารหลายฉบับในชื่อ “Meluza” บ้าง “Melucha” บ้าง ที่เขียนโดยสมาชิกของกลุ่มผู้สำรวจบราซิล-อินเดียภายใต้การนำของเปดรู อัลวารึช กาบรัล,[19] อเมริโก เวสปุชชีกล่าวถึง “Meluche” ในจดหมายถึงลอเรนโซ เดอ เมดิชิ (ค.ศ. ]1501),[19] พงศาวดารชวาที่เขียนในปี ค.ศ. 1365 กล่าวถึงโมลุกกะ และ “Maloko”,[20] และงานบันทึกการเดินเรือของคริสต์ศตวรรษที่ 14 และคริสต์ศตวรรษที่ 15 กล่าวถึงข้ออ้างอิงของหมู่เกาะโมลุกกะของอาหรับอย่างแน่นอน[20] สุลัยมา อัล-มาห์รเขียน: “ทางตะวันออกของติมอร์ที่เป็นที่พบไม้จันทน์เป็นที่ตั้งของ “หมู่เกาะบันดัม” ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่เป็นแหล่งของลูกจันทน์เทศและดอกจันทน์เทศ หมู่เกาะที่มีกานพลูเรียกว่า “Maluku”.....”[20]
โรมมีบทบาทในการค้าขายเครื่องเทศอยู่ระยะหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 5 แต่ไม่นานเช่นอาหรับที่ดำเนินต่อมาจนถึงยุคกลาง[1] สาธารณรัฐเวนิสกลายมามีบทบาทสำคัญอย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้และกุญแจสำคัญของการค้าขายเครื่องเทศกับทางตะวันออก[1] มหาอำนาจอื่น ๆ พยายามลดความสำคัญของเวนิสในเอกสิทธิ์นี้โดยการเริ่มสร้างเสริมอำนาจทางทะเล[1]
โลกใหม่
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อการค้าขายเครื่องเทศคือการค้นพบทวีปอเมริกาโดยนักสำรวจชาวยุโรป มาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 การค้าขายกับตะวันออกทำโดยการใช้เส้นทางสายไหมกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ โดยมีนครรัฐในอิตาลีที่รวมทั้งเวนิสและเจนัวเป็นคนกลาง แต่ในปี ค.ศ. 1453 ออตโตมันก็ตีเมืองคอนสแตนติโนเปิลได้ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิไบแซนไทน์อย่างถาวร การควบคุมเส้นทางการค้าขายเครื่องเทศทั้งหมดในขณะนั้นจึงตกอยู่ในมือของจักรวรรดิออตโตมัน ที่อยู่ในฐานะที่สามารถจะตั้งกำแพงภาษีของสินค้าต่าง ๆ ไปยังยุโรปจำนวนสูงตามชอบใจ ยุโรปตะวันตกพยายามเลี่ยงการพึ่งอำนาจของมุสลิมในกิจการการค้าขายกับตะวันออกจึงพยายามหาหนทางอื่นที่จะเดินทางไปยังตะวันออกโดยการเดินเรือรอบแอฟริกา
ชาติแรกที่พยายามเดินเรือรอบแอฟริกาคือโปรตุเกส ที่เริ่มการสำรวจมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่เริ่มด้วยการสำรวจบริเวณทางตอนเหนือของแอฟริกาภายใต้การนำของเฮนรีนักเดินเรือ เมื่อได้รับความสำเร็จเช่นนั้นแล้วโปรตุเกสก็เริ่มมองหาหนทางที่ควบคุมเส้นทางโดยเอกสิทธิ์โดยการพยายามหาเส้นทางการค้าทางทะเลไปยังอินเดียตะวันออก โปรตุเกสข้ามแหลมกู๊ดโฮปครั้งแรกในปี ค.ศ. 1488 โดยการสำรวจที่นำโดยบาร์ตูลูเมว ดีอัช[21] เพียงเก้าปีต่อมาในปี ค.ศ. 1497 วัชกู ดา กามาก็นำกองเรือสี่ลำตามพระบรมราชโองการในสมเด็จพระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกสเดินทางรอบแหลมกู๊ดโฮปไปทางฝั่งตะวันออกของแอฟริกาไปยังมาลินดี (Malindi) เพื่อข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังคาลิคัต[6] เมืองทางฝั่งตะวันตกของอินเดียในรัฐเกรละ ความมั่งคั่งของอินเดียตะวันออกจึงเผยตัวต่อนักสำรวจชาวยุโรปเป็นครั้งแรก และจักรวรรดิโปรตุเกสจึงเป็นจักรวรรดิยุโรปจักรวรรดิแรกที่ขยายตัวขึ้นมาจากผลประโยชน์ของการค้าขายเครื่องเทศ[6]
ในช่วงเวลาของการสำรวจนี้ที่นักสำรวจภายใต้การสนับสนุนของราชบัลลังก์สเปนและโปรตุเกสพบโลกใหม่เป็นครั้งแรก คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1492 ในการพยายามที่เดินทางไปยังอินเดียแต่กลับไปพบทวีปอเมริกาแทนที่ โคลัมบัสพบแผ่นดินของทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกที่บาฮามาส โดยเชื่อว่าได้เดินทางไปถึงอินเดีย จึงได้ตั้งชื่อชนท้องถิ่นที่พบว่า “อินเดียน”[22] อีกแปดปีต่อมาในปี ค.ศ. 1500 นักเดินเรือชาว โปรตุเกสกองเรือของเปดรู อัลวารึช กาบรัลที่พยายามเดินตามเส้นทางของวัชกู ดา กามาไปยังอินเดียก็ถูพัดไปทางตะวันตกไปพบดินแดนที่คือบราซิลปัจจุบัน หลังจากประกาศตนเป็นเจ้าของดินแดนที่พบแล้วกาบรัลก็เดินทางต่อไปยังอินเดีย ในที่สุดก็ไปถึงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1500 และเดินทางกลับโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1501[23]
เมื่อมาถึงช่วงเวลานี้โปรตุเกสก็มีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลของแอฟริกาทั้งหมด ซึ่งถ้าสเปนต้องการจะมีอำนาจพอที่จะแข่งขันกับโปรตุเกสได้ก็ต้องพยายามหาเส้นใหม่ ความพยายามครั้งแรกนำโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสแต่แทนที่จะพบเส้นทางไปเอเชียกลับไปพบทวีปอเมริกา แต่ในที่สุดสเปนก็ประสบความสำเร็จเมื่อเฟอร์ดินานด์ มาเจลลันข้ามช่องแคบมาเจลลันเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1520 ซึ่งเป็นการเปิดฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาเพื่อการสำรวจ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1521 กองเรือของมาเจลลันก็เดินทางไปถึงฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นก็ถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อตั้งเส้นทางการค้าไปทางตะวันตกไปยังเอเชียเป็นครั้งแรก เมื่อเรือลำสุดท้ายของกองเรือกลับมาถึงสเปนในปี ค.ศ. 1522 ผู้ที่รอดชีวิตมาได้คือกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เดินทางรอบโลกสำเร็จ
การค้าภายใต้ระบบอาณานิคม
จากบันทึกของสารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 2002: “เฟอร์ดินานด์ มาเจลลันเริ่มเดินทางให้กับสเปนในปี ค.ศ. 1519 ในบรรดาเรือห้าลำภายใต้การนำมีเพียงลำเดียวคือเรือวิกตอเรีย ที่เดินทางกลับสเปนด้วยความสำเร็จพร้อมด้วยกานพลูเต็มท้องเรือ”[1]
การสำรวจของดัตช์เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกจากอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1595 โดยมีจุดหมายการเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[24] กองเรืออีกกองหนึ่งออกเดินทางในปี ค.ศ. 1598 และกลับมาในปีต่อมาพร้อมด้วยเครื่องเทศหนัก 600,000 ปอนด์และสินค้าอื่น ๆ จากอินเดียตะวันออก[24] หลังจากนั้นสหบริษัทอินเดียตะวันออกที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1602 ก็เริ่มผูกขาดการค้าขายกับผู้ผลิตกานพลูและจันทน์เทศหลัก[24] ระหว่างนั้นบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษก็ส่งเครื่องเทศเป็นจำนวนมากกลับมายังยุโรปในคริสต์ศักราช 17[24]
จากบันทึกของสารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 2002:[1]
การแข่งขันเพื่อที่จะควบคุมการค้าขายเครื่องเทศที่เพิ่มมากขึ้นนำไปสู้ความขัดแย้งที่ทำให้ต้องใช้กำลังทางทหารในการพยายามแก้ปัญหา[24] ในปี ค.ศ. 1641 หมู่เกาะโมลุกกะของโปรตุเกสก็ถูกยึดโดยดัตช์[24] การยึดโมลุกกะทำให้เกิดการทำไร่กานพลูและจันทน์เทศกันเป็นอุตสาหกรรมกันบนเกาะ ในขณะเดียวกันก็มีการพยายามกำจัดการปลูกบนเกาะอื่นโดยใช้สนธิสัญญาปัตตาเวีย (ค.ศ. 1652) ทั้งนี้ก็เพื่อการควบคุมปริมาณของผลผลิตของตลาดเพื่อรักษาราคา[24] ความพยายามครั้งนี้เป็นการยุติระบบการค้าขายเครื่องเทศที่ทำกันมาในอดีตและเป็นการลดจำนวนประชากรของหมู่เกาะต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่เกาะบันดา[24]
ปีนังซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าพริกไทยในปี ค.ศ. 1786[25] ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 อาณานิคมของฝรั่งเศสในอินเดียก็ถูกยึดโดยอังกฤษผู้พยายามควบคุมการค้าขายของดัตช์ในบริเวณตะวันออกไกล[26] อิทธิพลของอังกฤษที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลให้อิทธิพลของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์เริ่มอ่อนตัวลง[26]
ในปี ค.ศ. 1585 เรือจากเวสต์อินดีสก็เดินทางมาถึงยุโรปพร้อมด้วย “ขิงจาเมกา” ที่เดิมปลูกกันในอินเดียและทางใต้ของประเทศจีน ซึ่งเป็นเครื่องเทศชนิดแรกจากเอเชียที่ไปเติบโตในโลกใหม่สำเร็จ[27] ความคิดที่ว่าต้นไม้หรือพืชพันธุ์ไม่สามารถนำไปปลูกนอกบริเวณดั้งเดิมที่เชื่อกันมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่สนับสนุนโดยก็นักพฤษศาสตร์คนสำคัญของสมัยนั้นเช่นจอร์จ อีเบอร์ฮาร์ด รัมเฟียส[27] ก็หมดความหมายไปจากการทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในยุโรปและคาบสมุทรมลายูระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18[28]
เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1815 การส่งผลผลิตของจันทน์เทศจากสุมาตราก็มาถึงยุโรปเป็นครั้งแรก[25] นอกจากนั้นหมู่เกาะในเวสต์อินดีสเช่นกรีเนดาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายเครื่องเทศ[25]
ไม้จันทน์จากติมอร์และทิเบตก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเและกลายเป็นสินค้ามีค่าของจีนระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18[29] เอเชียตะวันออกนิยมใช้สินค้าที่ทำจากไม้จันทน์ที่ใช้ในการแกะพระพุทธรูปและสิ่งมีค่าอื่น ๆ[29]
ระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 พ่อค้าจากเมืองซาเลม แมสซาชูเซตส์ได้ผลกำไรเป็นอันมากจากการค้าขายกับสุมาตรา[30] รัฐสุลต่านอาเจะฮ์ที่ตั้งอยู่ตอนปลายของเกาะสุมาตรากลายมาเป็นผู้มีอำนาจในการค้าขายเครื่องเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อชนอาเจะฮ์ต่อต้านการรุกรานของดัตช์โดยหันไปเป็นพันธมิตรกับผู้ค้าขายจากซาเล็ม[31] ในปี ค.ศ. 1818 การค้าขายระหว่างซาเล็มและสุมาตราก็เกิดขึ้นหลายครั้งอย่างไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดใด[32] มาจนกระทั่งเมื่อถูกโจมตีโดยโจรสลัดเข้าหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือกันไปต่าง ๆ ในวงผู้ค้าขายถึงอันตรายของนักเดินเรือชาวอินเดียและชาวยุโรปที่ประสบจากน้ำมือของโจรสลัดในบริเวณนั้น[32] สหรัฐอเมริกาแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการการลงโทษหลังจากที่ผู้ค้าขายจากนิวอิงแลนด์ประสบภัยจากโจรสลัดและหลังจากกะลาสีของเรือสินค้าห้าคนถูกสังหารซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์อันร้ายแรงที่มีผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสุมาตราและซาเล็ม[32]
การประดิษฐ์ระบบการทำความเย็น (refrigeration) ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผลทำให้ความต้องการเครื่องเทศโดยทั่วไปลดลงซึ่งก็ทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการค้าขายเครื่องเทศโดยตรง[33]
การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าขายเครื่องเทศโดยทางอ้อมเมื่อผู้อุปถัมภ์ศาสนาลงทุนและได้รับผลกำไรที่มามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและใช้ในการส่งเสริมศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ[34] ศาสนาพุทธโดยเฉพาะที่เผยแพร่ออกไปตามเส้นทางการค้าทางทะเล[35] ศาสนาอิสลามเผยแพร่ไปทั่วเอเชียไปจนถึงกลุ่มเกาะมลายูในคริสต์ศตวรรษที่ 10 พ่อค้ามุสลิมมีบทบาทสำคัญในการค้าขาย[36] นักสอนศาสนาคริสต์เช่นนักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ก็ใช้เส้นทางนี้ในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในตะวันออก[36] ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามก็แก่งแย่งกันมีอิทธิพลในหมู่เกาะโมลุกกะ[36]
การค้าขายเครื่องเทศในอาณานิคมของโปรตุเกสมีพ่อค้ามาจากหลายดินแดนที่รวมทั้งจากอินเดีย ซีเรีย จีน และอาหรับ[37] ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนตำนาน ภาษา และ วัฒนธรรมระหว่างผู้มาจากดินแดนต่าง ๆ และระหว่างดินแดนที่ทำการค้าขาย[4] ความรู้ภาษาโปรตุเกสกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ทำการค้าขาย[38]
พ่อค้าชาวอินเดียก็นำอาหารอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะมายังในบริเวณที่ปัจจุบันคือมาเลเซียและอินโดนีเซียที่การใช้เครื่องเทศเป็นเครื่องปรุงกลายมาเป็นที่นิยม[39] หรือชาวโปรตุเกสที่นำน้ำส้มสายชูไปยังอินเดีย[40] อาหารอินเดียที่ปรับให้เข้ากับลิ้นชาวยุโรปก็เข้ามา และเริ่มมาแพร่หลายในอังกฤษราว ค.ศ. 1811 เมื่อผู้ที่ไปทำงานในอินเริ่มกลับเข้ามาในอังกฤษ[41]
แนวโน้มปัจจุบัน
ตารางข้างล่างแสดงการผลิตเครื่องเทศจากทั่วโลกในปี ค.ศ. 2004 (สถิติจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations)):
การผลิตเครื่องเทศเป็นจำนวนตัน ค.ศ. 2003-ค.ศ. 2004 ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ | ||||
---|---|---|---|---|
อินเดีย | 1 600 000 | 86% | ||
จีน | 66 000 | 4% | ||
บังกลาเทศ | 48 000 | 3% | ||
ปากีสถาน | 45 300 | 2% | ||
ตุรกี | 33 000 | 2% | ||
เนปาล | 15 500 | 1% | ||
ประเทศอื่น | 60 900 | 3% | ||
ทั้งหมด | 1 868 700 | 100% |
อ้างอิง
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 spice trade (Encyclopedia Britannica 2002)
- ↑ 2.0 2.1 "Traders of the Gold and Incense Road". Message of the Republic of Yemen, Berlin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-08. สืบค้นเมื่อ 2009-07-29.
- ↑ 3.0 3.1 Fage 1975: 164
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Donkin 2003
- ↑ 5.0 5.1 Corn & Glasserman 1999: Prologue
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 Gama, Vasco da. The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. Columbia University Press.
- ↑ Rawlinson 2001: 11-12
- ↑ 8.0 8.1 Shaw 2003: 426
- ↑ Lach 1994: 13
- ↑ At any rate, when Cornelius Gallus was prefect of Egypt, I accompanied him and ascended the Nile as far as Syene and the frontiers of Ethiopia, and I learned that as many as one hundred and twenty vessels were sailing from Myos Hormos to India, whereas formerly, under the Ptolemies, only a very few ventured to undertake the voyage and to carry on traffic in Indian merchandise. - Strabo (II.5.12.); The Geography of Strabo. Vol. I of the Loeb Classical Library edition, 1917..
- ↑ Ball 2000: 131
- ↑ Ball 2000: 137
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Donkin 2003: 59
- ↑ Donkin 2003: 64
- ↑ 15.0 15.1 Crone 2004: 10
- ↑ 16.0 16.1 Donkin 2003: 91-92
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Donkin 2003: 92
- ↑ Donkin 2003: 65
- ↑ 19.0 19.1 Donkin 2003: 87
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Donkin 2003: 88
- ↑ Catholic Encyclopedia: Bartolomeu Dias Retrieved 29 29 November 2007
- ↑ The First Voyage of Columbus Retrieved 29 November 2007
- ↑ Catholic Encyclopedia: Pedralvarez Cabral Retrieved 29 November 2007
- ↑ 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 24.5 24.6 24.7 Donkin 2003: 169
- ↑ 25.0 25.1 25.2 Corn & Glasserman 1999: 217
- ↑ 26.0 26.1 Corn & Glasserman 1999: 214
- ↑ 27.0 27.1 Corn & Glasserman 1999: 214
- ↑ Corn & Glasserman 1999: 214
- ↑ 29.0 29.1 Donkin 2003: 162-163
- ↑ Corn & Glasserman 1999: 265
- ↑ Corn & Glasserman 1999: 252
- ↑ 32.0 32.1 32.2 Corn & Glasserman 1999: 279
- ↑ Corn & Glasserman 1999
- ↑ Donkin 2003: 67
- ↑ Donkin 2003: 69
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Corn & Glasserman 1999
- ↑ Collingham 56: 2006
- ↑ Corn & Glasserman 1999: 203
- ↑ Collingham 245: 2006
- ↑ Collingham 69: 2006
- ↑ Collingham 129: 2006
บรรณานุกรม
- Collingham, Lizzie (December 2005). Curry: A Tale of Cooks and Conquerors. Oxford University Press. ISBN 978-0195172416.
- Corn, Charles; Debbie Glasserman (March 1999). The Scents of Eden: A History of the Spice Trade. Kodansha America. ISBN 978-1568362496.
- Donkin, Robin A. (August 2003). Between East and West: The Moluccas and the Traffic in Spices Up to the Arrival of Europeans. Diane Publishing Company. ISBN 978-0871692481.
- Fage, John Donnelly; และคณะ (1975). The Cambridge History of Africa. Cambridge University Press. ISBN 978-0521215923.
- Rawlinson, Hugh George (2001). Intercourse Between India and the Western World: From the Earliest Times of the Fall of Rome. Asian Educational Services. ISBN 978-8120615496.
- Shaw, Ian (2003). The Oxford History of Ancient Egypt. Oxford University Press. ISBN 978-0192804587.
- Kalidasan, Vinod Kottayil (2015). "Routes of Pepper: Colonial Discourses around Spice Trade in Malabar" in Kerala Modernity: Ideas, Spaces and Practices in Transition, Shiju Sam Varughese and Sathese Chandra Bose (Eds). Orient Blackswan, New Delhi. ISBN 978-81-250-5722-2.
อ่านเพิ่ม
- Borschberg, Peter (2017), 'The Value of Admiral Matelieff's Writings for Studying the History of Southeast Asia, c. 1600–1620,'. Journal of Southeast Asian Studies 48(3): 414–435. doi:10.1017/S002246341700056X
- Nabhan, Gary Paul: Cumin, Camels, and Caravans: A Spice Odyssey. [History of Spice Trade] University of California Press, 2014. ISBN 978-0-520-26720-6 [Print]; ISBN 978-0-520-95695-7 [eBook]
- Pavo López, Marcos: Spices in maps. Fifth centenary of the first circumnavigation of the world. [History of the spice trade through old maps] e-Perimetron, vol 15, no.2 (2020)
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ การค้าเครื่องเทศ