การพนันในประเทศไทย

คนขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในอ่างทอง
การแข่งม้าที่เชียงใหม่

การพนัน นอกเหนือจากการพนันม้าแข่งหรือสลากกินแบ่งรัฐบาลที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย[1] ข้อห้ามดังกล่าวย้อนกลับไปถึงพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478[2] พระราชบัญญัติไพ่ห้ามมิให้มีการครอบครองไพ่ส่วนตัวมากกว่า 120 ใบโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การพนันที่ผิดกฎหมายในบ่อนการพนัน และรูปแบบอื่น ๆ ของการพนันยังคงมีอยู่ในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด[3]

ประวัติ

การพนันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยมายาวนาน ชาวไทยสยามในพื้นที่เข้าร่วมในเกมการพนันที่รู้จักกันดีกว่า 100 เกม[4] รูปแบบการพนันบางรูปแบบ เช่น การเดิมพันในไก่ชน, วัวชน และการแข่งความเร็วเรือเป็นวัฒนธรรมของสยาม[4]

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นการเพิ่มระดับการพนันในสยามอย่างมีนัยสำคัญ ผู้คนเริ่มเล่นการพนันบ่อยขึ้นและมีการแนะนำเกมที่หลากหลายจากผู้ค้าชาวต่างชาติและผู้อพยพ รวมถึงการพนันเริ่มเข้าสู่กระแสหลัก โดยเป็นช่วงที่หวยลอตเตอรีได้รับการแนะนำจากประเทศจีนและเป็นที่นิยมในสยาม[4]

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลไทยอนุญาตให้มีบ่อนพนันที่ถูกกฎหมาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพนันอย่างถูกกฎหมายเพื่อเป็นแหล่งรายได้ จากนั้นบ่อนถูกกฎหมายเหล่านี้ก็ถูกปิดลงเพื่อลดกิจกรรมทางอาญาและการล้มละลายที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวการพนันเป็นสิ่งต้องห้ามในภาคใต้และสถานที่เล่นการพนันที่เหลือทั้งหมดปิดให้บริการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2460

มีการออกพระราชบัญญัติการพนันครั้งแรกใน พ.ศ. 2473 และแก้ไขใน พ.ศ. 2478 ในสมัยนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ออกกฎหมายการพนันในอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลายเป็นผู้สนับสนุนการพนันอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาของการทำให้กาสิโนถูกต้องตามกฎหมายนี้อยู่ไม่นาน ตลอดจนภายใต้การโจมตีจากสื่อและโดยส่วนรวม รัฐบาลได้ละทิ้งความพยายามที่จะหารายได้เพิ่มเติมจากกาสิโนและการพนันที่ต้องห้ามอีกครั้ง[4]

รูปแบบของการพนัน

กาสิโน

แม้จะมีกฎหมายต่อต้านการพนัน แต่กาสิโนที่ผิดกฎหมายก็ยังแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งบ่อนการพนันขนาดใหญ่แห่งแรกก่อตั้งขึ้นในอยุธยาโดยรัฐบาลในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อันเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของประชากรชาวจีน และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จำนวนบ่อนการพนันได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรชาวจีนอพยพ เพื่อส่งเสริมการตั้งถิ่นฐานและการเก็บภาษีของประชากรชาวจีนในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงเมินเฉยต่อการพนันในหมู่ชาวจีนอพยพ ผลจากการรับรองโดยไม่ได้ตั้งใจนี้ ชาวสยามในท้องถิ่นจึงได้รับการสนับสนุนให้เล่นการพนันเช่นกัน กระทั่งหลังจากที่พระราชบัญญัติการพนันเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2473 บรรดากาสิโนก็ถูกห้ามโดยสิ้นเชิงและการพนันเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย[3]

สลากกินแบ่ง

สลากกินแบ่งนี้เข้ามาในประเทศไทยโดยชาวจีนอพยพใน พ.ศ. 2363 ซึ่งคนท้องถิ่นรู้จักกันทั่วไปว่า "หวย" และคำนี้เป็นคำแปลโดยตรงจากคำภาษาจีนคือฮวา (จีน: ) ที่หมายถึงดอกไม้ ในตอนแรก หวยส่วนใหญ่จะเล่นในหมู่ชุมชนชาวจีนอพยพในประเทศไทย โดยต่อมาได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินตราและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ[3]

ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....

ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... เป็นร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรจัดทำขึ้นเพื่อแนบมากับรายงานการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรเพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567[5]

ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีข้อสั่งการให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเร่งยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยนำร่างพระราชบัญญัติฉบับของกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณาประกอบกับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[6] จากนั้นในวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายจุลพันธ์ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1344/2567 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... โดยมีนายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะทำงาน[7]

ในวันที่ 2 สิงหาคม 2567 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย[8] ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2567 กระทรวงการคลังได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้ามาหารือ เพื่อสรุปรายละเอียดหลังจากผ่านการทำประชาพิจารณ์ก่อนจะนำมาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ และสรุปรายละเอียดก่อนจะนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร[9] ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางกระทรวงการคลังได้ประกาศเลื่อนการประชุมครั้งนี้ออกไปก่อนโดยให้เหตุผลว่าต้องรอจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จและการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้เรียบร้อย[10]

อ้างอิง

  1. Mitchell, Angus; Christensen, Matthew; Krataykhwan, Ponpun (2013-10-27). "GAMBLING IN THE KINGDOM, Part two". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2016.
  2. "Gambling Act B.E.2478 (1935)" (PDF). Office of the Council of State. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 February 2017. สืบค้นเมื่อ 24 November 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 Phongpaichit, P., Piriyarangsan, S. Treerat, N. (1998). Guns, girls, gambling, ganja: Thailand's Illegal Economy. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Warren, J.A. (2013) Gambling: The State and Society in Thailand, c.1800-1945. Oxford: Routledge.
  5. "เปิดร่าง พรบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิง-กาสิโน เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย". ch3plus.
  6. "นายกฯสั่งครม.ตามปมสถานบันเทิงครบวงจร ประสานจัดนิทรรศการสร้างสรรค์ ดูปัญหาแรงงานทำศก.ไม่โต". mgronline.
  7. "คลังตั้งคณะยกร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ "สุรชาติ เทียนทอง" นั่งประธาน". ประชาชาติธุรกิจ.
  8. ""เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์" ใกล้เป็นจริง รัฐเปิดรับฟังความเห็น". ฐานเศรษฐกิจ.
  9. "กาสิโนถูกกฎหมาย Entertainment Complex คลังสรุปวันนี้ ก่อนชงรัฐบาลเคาะ". ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2024.
  10. "คลัง เลื่อนประชุม ยกร่างกฎหมายกาสิโน รอตั้งรัฐบาลแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง ชุดใหม่". มติชน. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2024.

อ่านเพิ่ม

  • Apinuntavech S (n.d.) เยาวชนกับการพนันในมุมมองของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น Thailand:(n.p.).
  • Oxford Dictionary(2010) Manser, M.H., Yuan, Z., Liangbi, W., Yongchang, R., Jingrong, W. (Eds.): Pocket Oxford Chinese Dictionary. Oxford: OUP Oxford.
  • Apinuntavech S. (2012). Consequences and Associated Factors of Youth Gambling. Retrieved from http://www2.ph.mahidol.ac.th/research/thai/jmedassocthai/Vol95_Suppl6/S21-S29_MD31.pdf[ลิงก์เสีย]
  • Phongpaichit,P (1999). THAILAND'S ILLEGAL ECONOMY AND PUBLIC POLICY. Paper presented at Centre of Southeast Asian Studies: Kyoto University.

แหล่งข้อมูลอื่น