โทษประหารชีวิตในประเทศไทย
โทษประหารชีวิตในประเทศไทย เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญาไทย ในปี พ.ศ. 2567 ไทยเป็นหนึ่งใน 53 ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ[note 1] ส่วนชาติสมาชิกอาเซียนมีกัมพูชาและฟิลิปปินส์ที่บัญญัติให้การประหารชีวิตขัดกฎหมาย ในขณะที่ลาวและบรูไนไม่มีประหารชีวิตในทางพฤตินัย[1]
แม้ประเทศไทยยังคงโทษประหารชีวิตในกฎหมาย แต่ดำเนินการบังคับใช้โทษดังกล่าวเป็นระยะ ๆ เท่านั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกประหารชีวิต 326 คน แบ่งเป็นการประหารด้วยการยิงเป้า 319 คน[note 2] และการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาให้ตาย 7 คน[2] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ต้องขัง 325 คนต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตและอยู่ในเรือนจำ[3]
กฎหมายไทยอนุญาตให้ลงโทษประหารชีวิตแก่อาชญากรรม 35 รูปแบบ ซึ่งรวมถึงการกบฏ ฆาตกรรม และการค้าสารเสพติด[4]
ความเป็นมาและวิธีการ
การประหารชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นประมวลกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีไว้ด้วยกัน ได้กล่าวถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ประหารชีวิตผู้ต้องโทษตามลักษณะความผิดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น
พระไอยการลักษรโจร ได้ระบุว่าผู้ลักพระพุทธรูปเอาไปล้างหรือเผาสำรอกเอาทอง หรือเอาพระบท (พระคัมภีร์) ไปสำรอกแช่น้ำ หรือเอาไปเผา ให้ต้องโทษประหารโดยนำผู้นั้นใส่เตาเพลิงสูบเผาไฟ ถ้าขุดทำลายพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์บ่อยครั้ง ให้นำผู้นั้นไปตระเวนบก 3 วัน ตระเวนเรือ 3 วัน แล้วตัดศีรษะและผ่าอก [5]
ส่วนในพระไอยการกระบดศึกตอนหนึ่ง ระบุว่าผู้ต้องที่รุนแรง เช่น กบฏ, ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์, ปล้นเผาเมือง จวน พระราชวัง ยุ้งฉาง คลังหลวง หรือวัด, ทารุณกรรมต่อพระและชาวบ้าน, ฆ่าบิดา มารดา ครู พระอุปัชฌาย์, เหยียบย่ำทำลามกต่อพระพุทธรูป, ตัดมือตัดเท้าตัดคอเด็กเพื่อเอาเครื่องประดับ จะต้องถูกประหารโดยสถานใดสถานหนึ่งในลักษณะโทษทวะดึงษกรรมกร 32 ประการ เฉพาะในสถานที่มีโทษถึงตาย 21 สถาน ดังนี้[5][note 3]
- สถานหนึ่งคือให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสียแล้ว เอาคิมคีบก้อนเหลกแดงใหญ่ใส่ลง ให้มันสะหมองศีศะพลุ่งฟูขึ้นดั่งม่อเคี่ยวน้ำส้มพะอูม
- สถานหนึ่งคือให้ตัดแต่หนังจำระเบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเปนกำหนด ถึงหมวกหู ทั้งสองข้างเปนกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเปนกำหนด แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคนโยกคลอนสั่น เพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์
- สถานหนึ่งคือให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้แล้วให้ตามประทีปไว้ในปาก ไนยหนึ่ง เอาปากสิ่วอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหูทังสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเตมปาก
- สถานหนึ่งคือเอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด
- สถานหนึ่งคือเอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทัง ๑๐ นิ้วแล้วเอาเพลิงจุด
- สถานหนึ่งคือเชือดเนื้อให้เปนแร่งเปนริ้วอย่าให้ขาดเนื่องด้วยหนังตั้งแต่ใต้ฅอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดิรเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดิรไปกว่าจะตาย
- สถานหนึ่งคือเชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้วแต่ใต้ฅอลงมาถึงเอวแล้วเชือดแต่เอวให้เป็นแร่งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้า กระทำเนื้อเบื้องบนนั้นให้เปนริ้วคลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้าคากรอง
- สถานหนึ่งคือให้เอาหว่งเหลกสวมข้อสอกทังสองข้างข้อเข่าทังสองข้างให้หมั้นแล้วเอาหลักเหลกสอดในวงเหลกแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงลนให้รอบตัวจนกว่าจะตาย
- สถานหนึ่งคือให้เอาเบดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วกาย เพิกหนังเนื้อแลเอนน้อยเอนใหญ่ให้หลุดขาดออกมากว่าจะตาย
- สถานหนึ่งคือให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกาย แต่ทิละตำลึงจนกว่าจะสิ้น
- สถานหนึ่งคือให้แล่สับฟันทั่วกายแล้วเอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดครูดขุดเซาะหนังแลเนื้อแลเอนน้อยเอนใหญ่ให้ลอกออกมาให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก
- สถานหนึ่งคือให้นอนลงโดยข้าง ๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหลกตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหันเวียนไปดังบุคทลทำบังเวียน
- สถานหนึ่งคือทำมิให้เนื้อพังหนังขาด แล้วเอาลูกศีลาบดทุกกระดูกให้แหลกย่อยแล้วรวบผมเข้าทังสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเปนกองเปนลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ ทำดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เชดเท้า
- สถานหนึ่งคือเคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย
- สถานหนึ่งคือให้กักขังสูนักร้ายทังหลายไว้ ให้อดอาหารหลายวันให้เตมหยาก แล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า
- สถานหนึ่งคือให้เอาขวานผ่าอกทังเปนแหกออกดั่งโครงเนื้อ
- สถานหนึ่งคือให้แทงด้วยหอกทีละน้อย ๆ กว่าจะตาย
- สถานหนึ่งคือให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลอกด้วยเพลิงภอหนังไหม้ แล้วไถด้วยไถเหลกให้เปนท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่
- สถานหนึ่งคือให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมันเหมือนทอดขนมให้กินเนื้อตนเอง
- สถานหนึ่งคือให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวเปนต้น
- สถานหนึ่งคือทวนด้วยไม้หวายทังหนาม
ผู้ก่อการกบฏ คิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ สอดแนมแก่อริราชศัตรู ต้องด้วยอุกฤษฏ์โทษ 3 สถาน คือ ริบราชบาตรฆ่าทั้งตระกูล ริบราชบาตรฆ่าเจ็ดชั่วโคตร และริบราชบาตรแล้วฆ่าทั้งตระกูล โดยการประหารชีวิตให้กระทำถึง 7 วันจนถึงแก่ชีวิตแล้วลอยแพลงแหล่งน้ำไม่ให้เลือดหรือร่างต้องแผ่นดิน[5]
การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นวิธีการประหารชีวิตที่สงวนไว้เฉพาะพระราชวงศ์โดยใช้ท่อนจันทน์ปลงพระชนม์ ไม่ปรากฎชัดว่าเริ่มมีการใช้วิธีการดังกล่าวเมื่อใด แต่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยกฎมณเทียรบาล[6] วิธีการนี้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณอาญา โดยกำหนดให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเพียงวิธีเดียว[7]
การประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ
การประหารด้วยการตัดศีรษะ บ้างก็เรียกว่า การกุดหัว เป็นวิธีการที่ใช้มาอย่างยาวนาน แต่ยังมิอาจค้นพบได้ว่าเริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยใด พบการกล่าวถึงการประหารด้วยวิธีการนี้ในทางกฎหมายครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา[7] กระทั่งได้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2478[8]
ขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติ
กฎหมายลักษณะอาญาได้บัญญัติว่าเมื่อมีการพิพากษาโทษประหารชีวิตผู้ใด เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องนำความดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย หากทรงมีพระบรมราชานุญาต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงจะดำเนินการประหารชีวิตได้[7]
เมื่อมีกำหนดจะประหารชีวิต เจ้าพนักงานจะเตรียมปะรำพิธีสำหรับกระทำพิธีทางศาสนา และลานประหาร โดยส่วนมากมักใช้พื้นที่ของวัด กลางลานมีหลักไม้สูงพอจับคนนั่งยึดติดได้ เบื้องหลังมีประตูป่าผูกทำขึ้นด้วยไม้หลัก 3 ไม้ที่ปักลงบนพื้นดินจนแน่นและสุมด้วยกิ่งไม้จนไม่เห็นทางเข้า หลังประตูมีอาสนะยกพื้นสูงสำหรับพระสงฆ์นั่งและวางบาตรบรรจุน้ำมนต์ธรณีสารใหญ่ 2 บาตร ล้อมลานประหารด้วยสายมงคลกันวิญญาณผีตายโหงที่ต้องใช้มีดที่ทำขึ้นเฉพาะตัดสายนี้เท่านั้น ตั้งศาลเพียงตาขึ้นสองขึ้นติดกัน ชั้นบนวางอาหารสำหรับสังเวย สำหรับหนึ่งประกอบด้วยถาดทองเหลืองมีเชิงและวาดลาย ชุดถ้วยกระเบื้องบรรจุอาหารเครื่องเซ่น ได้แก่ หัวหมู เป็ด ไก่ ปลาแป๊ะซะพร้อมน้ำจิ้ม บายศรี กล้วยน้ำไทย มะพร้าวอ่อน ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมอื่น ๆ เหล้าโรง ดอกไม้พร้อมธูปซองหนึ่งและเทียน 9 เล่ม อีกสำรับเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของนักโทษประหารจัดวางในชุดถ้วยดินเคลือบเผา ทั้งสองสำรับครอบด้วยฝาชี ชั้นล่างวางดาบประหาร ครูเพชฌฆาตทำพิธีบวงสรวงเทพยดาและภูตผีปีศาจจนเสร็จสิ้นการบริกรรม เพชฌฆาตเข้าร่วมพิธีบวงสรวง ครูเพชฌฆาตเจิมหน้าเพชฌฆาตด้วยแป้งกระแจะแล้วมอบดาบให้เพชฌฆาต[9]
เมื่อถึงเวลาเช้ามืด เจ้าหน้าที่เบิกตัวผู้ต้องโทษไปเฆี่ยน 3 ยก ยกละ 30 ที รวม 90 ที จากนั้นจัดกระบวนแห่นักโทษที่อยู่ในลักษณะจองจำครบ 5 ประการ[note 4] โดยเพชฌฆาตรั้งท้ายขบวนจากคุกไปยังลานประหาร เมื่อถึงลานนั้นแล้ว จัดอาหารมื้อสุดท้ายให้นักโทษรับประทานและประกอบศาสนกิจ ในกรณีที่ผู้นั้นเป็นพุทธศาสนิกชนจะนิมนต์พระสงฆ์มาโปรดเทศนา เจ้าหน้าที่ผูกปิดตานักโทษ เพชฌฆาตเข้าขออโหสิกรรม แล้วนำตัวนักโทษไปตรึงให้นั่งติดกับด้วยหลักไม้ในท่ากาจับหลัก นำดินเหนียวอุดหูและปาก และกำหนดจุดที่จะตัดศีรษะบริเวณต้นคอด้วยดินเหนียวหรือปูนเคี้ยวหมาก เพชฌฆาตกระทำมนต์พิธีและสะกดดวงวิญญาณผีตายโหงตามความเชื่อหลังประตูป่า เมื่อได้เวลาแล้วพระธามรงค์แจ้งผู้แทนพระองค์ในการเริ่มพิธีการตัดศีรษะ ปี่หลวงบรรเลงเพลงไหว้ครูในลักษณะที่โหยหวน เพชฌฆาตสำรอง (ดาบสอง) เข้ามายังลานประหารแล้วรำดาบหน้าผู้ต้องโทษเพื่อสงบจิตใจโดยวนไปซ้ายตามความเชื่อให้เกิดความอัปมงคลแก่ตัวผู้รับโทษ เพชฌฆาตหลัก (ดาบที่หนึ่ง) แหวกประตูป่าดู ตั้งจิตใจจนมั่นคงแล้วพุ่งเข้ามาในลักษณะย่างสามขุมอย่างแผ่วเบาและเงื้อดาบขึ้นจนสุดเพื่อตัดศีรษะจากข้างหลังผู้ต้องโทษไปข้างหน้า หากศีรษะไม่ขาดจากตัวเพชฌฆาตสำรอง (ดาบสองและดาบสามตามลำดับ) จะลงดาบอีกครั้งหรือจิกศีรษะนั้นขึ้นเพื่อเชือดคอจนศีรษะหลุดจากบ่า เพชฌฆาตดาบหนึ่งกระทืบเท้าหนึ่งครั้ง ยกดาบขึ้นและเลียเลือดปลายดาบเพื่อข่มวิญญาณ แล้วหันหลังวิ่งเข้าประตูป่าอย่างระวังและรวดเร็ว ห้ามหันกลับไปมองผู้ถูกตัดคอ เมื่อเพชฌฆาตพ้นประตูป่าแล้วพระสงฆ์รดน้ำมนต์สองบาตรแก่เพชฌฆาต[10] ส่วนเจ้าหน้าที่ในการประหารนำตรวนข้อเท้าออกจากผู้ถูกประหารชีวิตโดยใช้มีดตัดส้นเท้าหรือไขกุญแจตรวนเท้า แล้วนำศีรษะนั้นไปเสียบประจานและแล่เนื้อส่วนอื่นให้สัตว์[9] หากมีญาติมารับศพให้มอบศพนั้นไปและห้ามจัดการศพนั้นอย่างเอิกเกริก[7]
อนึ่ง มีการระบุว่าในกรณีที่ผู้ต้องโทษนั้นมีอาคมแกร่งกล้าจนไม่สามารถตัดศีรษะด้วยดาบได้ เจ้าพนักงานจะนำน้ำผสมสิ่งอัปมงคลแล้วราดใส่นักโทษนั้นก่อนตัดศีรษะอีกครั้ง หากไม่สำเร็จเจ้าหน้าจะใช้ไม้รวกสวนทวารก่อนประหารซ้ำ หากยังไม่ถึงแก่ความตายอีกจะตอกนักโทษด้วยตะลุมพุกหรือนำตัวไปต้มในน้ำเดือดจนตาย[10]
เพชฌฆาตตัดศีรษะ
เพชฌฆาตเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแก่ผู้ที่มีความเหมาะสมทั้งในทางโหราศาสตร์ โดยโหราจารย์จะต้องนำดวงชะตาผู้นั้นไปคำนวณอย่างละเอียด มีความชำนาญในทักษะของดาบ เช่น ความรู้เรื่องดาบ การใช้ดาบ เพลงดาบ ตลอดจนมีความรู้ด้านมนต์คาถา เช่น คาถาสวดวิญญาณผีตายโหง อาคมก่อนหยิบดาบเพชฌฆาต การแก้อาถรรพณ์ผู้ถูกประหารที่มีคาถาคุ้มกันชีวิต เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งดังกล่าว ด้วยความเชื่อว่าการฆ่าคนเป็นกรรมหนัก ผู้ทำหน้าที่ต้องเป็นผู้ที่สามารถคุ้มกันชะตาตนเองได้ เมื่อมีกำหนดการให้ประหารชีวิตจะอยู่ประจำเรือนจำและเตรียมความพร้อมในการประหารชีวิต รวมถึงการเชิญดาบไปยังลานประหาร[10]
เพชฌฆาตมีเครื่องแบบที่เด่นชัด คือ เสื้อทรงกั๊กลงยันต์อำนาจมหาเดช นุ่งผ้าอย่างหยักรั้ง อาจผูกผ้าคาดศีรษะที่ลงยันต์ไว้ด้วยก็ได้ ทั้งหมดนี้ทำด้วยผ้าเตี่ยวสีแดงสด[10]
เพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตครั้งหนึ่งมี 3 คน คือ ดาบที่หนึ่ง และสำรองอีก 2 คน คือ ดาบสอง และดาบสาม โดยเพชฌฆาตลำดับรองจะลงดาบในกรณีที่เพชฌฆาตดาบแรกตัดศีรษะไม่หลุดจากบ่า[9]
ดาบเพชฌฆาต
ดาบเพชฌฆาตเป็นดาบที่ใช้ในการตัดศีรษะเพื่อประหารชีวิต มีทั้งแบบปลายแหลม หัวตัด หรือหัวปลาไหล สุดแท้แต่เพชฌฆาตจะเลือกใช้[9] ทำด้วยด้วยเหล็กน้ำพี้อย่างดี ตีดาบขึ้นในฤกษ์เพชฌฆาต ขึ้นรูปในให้ได้ตามลักษณะที่เหมาะสมและคมดาบ นิยมถือยามยมขันธ์[note 5]เป็นหลัก ในเวลาปกติดาบได้รับการรักษาในห้องพิเศษในคุกหลวงอย่างดี งดการสัมผัสโดยไม่มีเหตุอันควร และจัดการบวงสรวงสังเวยดาบด้วยเหล้าและไก่ต้มทุกวันเสาร์ มีความเชื่อว่าหากดาบสั่นเหมือนถูกเขย่าจะต้องเกิดการประหารชีวิตภายใน 7 วัน ดาบนี้ยกเลิกการใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีการบันทึกการใช้ดาบในการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่ามีผู้ถูกตัดศีรษะด้วยดาบนับพันราย[10]
การยิงเป้าประหารชีวิต
เมื่อปี พ.ศ. 2477 มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญาโดยเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการตัดศีรษะเป็นการยิงด้วยปืน และเปลี่ยนผู้มีอำนาจการสั่งโทษจากพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่[note 6] โดยประกาศใช้กฎหมายนั้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2478[8] ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี พ.ศ. 2499 ยังคงให้ใช้การยิงด้วยปืนเป็นวิธีการประหารชีวิต[12] กระทั่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี พ.ศ. 2546 จึงเป็นอันยุติการประหารชีวิตด้วยการยิง[13]
ขั้นตอนการประหารชีวิต
ตามแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ เมื่อเรือนจำกลางบางขวางในฐานะหน่วยงานของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการประหารชีวิตได้รับคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้ใด[note 7] ฝ่ายทะเบียนประวัติตรวจสอบชื่อผู้ที่จะถูกประหารชีวิตกับแฟ้มข้อมูลที่เก็บรักษาไว้เพื่อตรวจพิสูจน์บุคคล จากนั้นเรือนจำแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในเรือนจำขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบหัวหน้าชุด เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องโทษ (พี่เลี้ยง) 3 คนเป็นอย่างน้อย เจ้าหน้าที่บันทึกภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทัณฑปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พลเล็งปืน และเพชฌฆาต เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่ พร้อมทั้งเชิญกรรมการพยาน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัด อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ ผู้กำกับการตำรวจในพื้นที่ และเชิญเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อร่วมตรวจพิสูจน์บุคคลผู้ต้องโทษ โดยจะต้องปกปิดคำสั่งและการปฏิบัติงานเป็นความลับไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องทราบก่อนเพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ อาจจะนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำทางศาสนามาประกอบพิธีทางศาสนาด้วยก็ได้[note 8]
เมื่อถึงเวลาดำเนินการ พี่เลี้ยงพร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเบิกตัวผู้รับโทษจากห้องขังไปยังสถานที่ธุรการเพื่อตรวจสอบประวัติ ตำหนิแผลเป็น และพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคลระหว่างผู้ถูกเบิกตัวกับทะเบียนประวัติที่เรือนจำกับทะเบียนประวัติของตำรวจ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าตรงกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสอ่านคำสั่งประหารชีวิต นักโทษลงนามหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบคำสั่งนั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ต้องโทษเขียนจดหมายหรือทำพินัยกรรมได้ตามความต้องการ พร้อมขอช่องทางการติดต่อญาติผู้ต้องโทษเพื่อประสานงานภายหลังการประหารชีวิต จากนั้นเจ้าหน้าที่นำอาหารมื้อสุดท้ายมาให้รับประทาน[note 9] แล้วนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำศาสนามาประกอบศาสนกิจแก่ผู้ต้องโทษหรืออนุญาตให้ผู้นั้นประกอบศาสนพิธีได้ตามสมควร[note 10]
เมื่อเสร็จพิธีพี่เลี้ยงพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำตัวผู้ต้องโทษไปยังสถานที่ประหารชีวิต[note 11] แล้วนำผ้าด้ายดิบผูกผิดตาผู้รับโทษ พยุงผู้นั้นเข้าหลักประหาร นั่งคร่อมเดือยไม้ให้เท้าลอยเหนือพื้น หันหลังให้แท่นวางปืน หันหน้าเข้าหลักไม้ แขนกางไปตามกางเขนแล้วพับศอกเข้าในท่าพนมมือ ผูกผ้าด้ายดิบที่ศอกและแขนทั้งสองข้าง อก และเอวตรึงกับหลักไม้ และผูกมือให้อยู่ในท่าพนมมือกำดอกไม้ธูปเทียน เมื่อพันธนาการผู้นั้นจนแน่นดีแล้วเจ้าหน้าที่กำหนดจุดยิงโดยใช้ชอล์กขีดบนเสื้อตำแหน่งที่ตรงหัวใจของผู้รับโทษจากข้างหลัง นำฉากกั้นที่ขึงผ้าวางระหว่างหลักประหารกับปืนให้ห่างจากหลักประหารประมาณ 1 ฟุตเพื่อบังไม่ให้เพชฌฆาตเห็นผู้ถูกยิง เลื่อนไม้เล็งที่ฉากให้เดือยไม้ด้านหนึ่งชี้จุดกำหนดยิง แล้วเลื่อนผ้าหรือเป้ากระดาษบนผ้าที่ขึงกับฉากจนเป้าเล็งตรงกับเดือยไม้นั้นแล้วเลื่อนไม้เล็งออกไป โรยทรายแห้งรอบหลักประหารเพื่อซับเลือด จากนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนจะปล่อยให้ผู้รับโทษอยู่กับหลัก[note 12] พลเล็งปืนเข้าบรรจุกระสุนและปรับทางปืนที่ติดตั้งบนแท่นปืนให้ศูนย์ปืนเล็งไปที่เป้า แล้วถอยให้เพชฌฆาตเข้าประจำปืนเพื่อตรวจสอบศูนย์ปืนอีกครั้งแล้วปลดห้ามไกปืน เมื่อเตรียมการเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่หัวหน้าชุดประหารชีวิตโบกธงสีแดงลงเพื่อให้สัญญาณ เพชฌฆาตลั่นไกปืนยิงกระสุนชุดแรกประมาณ 8 — 9 นัด สิ้นเสียงปืนแล้วสังเกตอาการผู้ถูกยิง หากพบว่ายังมีชีวิตและคาดว่าจะไม่ถึงแก่ความตายโดยง่าย เช่น ร้องโอดครวญ สะบัดตัว เพชฌฆาตจะยิงกระสุนอีกชุด เมื่อเห็นว่าไม่ต้องยิงซ้ำ เจ้าหน้าที่พร้อมแพทย์และพยานจะเข้าตรวจสอบผู้ถูกยิงหลังจากนั้นประมาณ 3 นาทีเพื่อยืนยันการตาย แล้วนำร่างลงจากหลักอย่างระมัดระวังในลักษณะนอนคว่ำ เจ้าหน้าที่ทะเบียนประวัติและตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคลอีกครั้งเพื่อยืนยันการประหารชีวิต[note 13] เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วจะเก็บรักษาศพไว้ตามที่ระเบียบกำหนด (ส่วนมากจะเก็บศพไว้ 1 คืน) วันต่อมาให้ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมที่สมัครใจเข้าเปิดล้างห้องประหาร ตัดโซ่ตรวนออกจากขาศพ อาบน้ำและแต่งตัวศพ แล้วบรรจุร่างลงหีบศพ เขียนชื่อและเลขประจำตัวผู้ต้องโทษไว้ที่ผนังหีบฝั่งหัว แล้วลำเลียงหีบนั้นออกทางประตูนำศพออกที่เชื่อมกับวัดบางแพรกใต้[14]
ทั้งนี้ ในกรณีที่ประหารชีวิตในท้องที่ที่เกิดเหตุด้วยทหารหรือตำรวจจะมีขั้นตอนที่เปลี่ยนไป เช่น ใช้ผู้ยิงมากกว่า 1 คน มัดผู้รับโทษให้หันหน้าเข้าหาปืน หันหลังติดหลัก ผูกผ้าปิดปากผู้ต้องโทษ ใช้พื้นที่โล่งแจ้งเป็นลานประหาร อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปร่วมสังเกตการณ์และรับฟังคำสั่งให้ประหารชีวิตก่อนยิง
ปืนที่ใช้สำหรับประหารชีวิต
กรมราชทัณฑ์ใช้ปืนกลมือเบิร์กมันน์ เอ็มเพ 18 ตั้งแต่การประหารชีวิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 และเปลี่ยนเป็นปืนกลมือเฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5 ในปี พ.ศ. 2527[9]
อุปกรณ์อื่นที่ใช้ในการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า
- หลักประหาร เป็นหลักรูปกางเขนทำด้วยไม้ตะเคียน ใช้พันธนาการผู้ต้องโทษประหารเพื่อลดการเคลื่อนไหวตัวของผู้ถูกประหาร ตอนกลางค่อนล่างของหลักไม้เจาะรู 3 รูเพื่อประกอบกับเดือยไม้สำหรับให้นักโทษนั่งคร่อม ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนหลักไม้นี้ใหม่เป็นระยะ ๆ เนื่องจากกระสุนปืนมักทำลายหลักไม้จนแตกหัก
- ฉากกั้น เป็นไม้ที่ขึ้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมโปร่ง มีท่อนไม้หนึ่งที่เลื่อนขึ้นลงได้และมีเดือยไม้ชี้ออกทั้งสองทางในแนวเดียวกัน ขึงผ้าบังระหว่างผู้ที่ถูกตรึงบนหลักกับเพชฌฆาต บนผืนผ้าติดกระดาษเป้าเล็งยิง
- กระสอบทราย ในอดีตใช้มูลดิน วางกองสูงประมาณ 2 เมตร ใช้ป้องกันกระสุนปืนที่ยิงพลาดหรือทะลุร่างหรือหลักประหารไม่ให้สะท้อนหรือพุ่งจนเกิดอันตรายกับผู้อื่น[9]
เพชฌฆาตด้วยการยิงเป้า
ในการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า กรมราชทัณฑ์จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ยิงขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาแล้ว 11 คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้[15]
ที่ | ชื่อ | วันปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก | วันปฏิบัติหน้าที่ครั้งสุดท้าย | จำนวนผู้ถูกยิง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
1 | จ่าสิบตำรวจ ทิพย์ มียศ | 12 กันยายน พ.ศ. 2478 | 30 ตุลาคม พ.ศ. 2486 | 44 คน | เดิมรับราชการในกรมตำรวจ ต่อมาโอนย้ายมาปฏิบัติราชการในกรมราชทัณฑ์ |
2 | เหรียญ เพิ่มกำลังเมือง | 5 มกราคม พ.ศ. 2482 | 31 สิงหาคม พ.ศ. 2499 | 53 คน | เคยเป็นเพชฌฆาตตัดศีรษะ |
3 | เพี้ยน คนแรงดี | 16 มกราคม พ.ศ. 2502 | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2517 | 44 คน | ไม่รวมศุภชัย ศรีสติซึ่งถูกประหารชีวิตโดยเพี้ยน แต่รายชื่อไม่ถูกบันทึกเอาไว้ |
4 | มุ่ย จุ้ยเจริญ | 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 | 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517 | 54 คน | |
5 | สิบตำรวจตรี ประถม เครือเพ่ง | 14 เมษายน พ.ศ. 2520 | 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 | 36 คน | |
6 | จ่าโท ธิญโญ จันทร์โอทาน | 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 | 32 คน | ประถม เครือเพ่งได้มอบหมายให้ธิญโญยิงเป้าอัศวิน พูนเต่า แต่กรมราชทัณฑ์บันทึกว่าประถมเป็นผู้ยิงเป้า |
7 | เรียบ เทียมสระคู | 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 | 1 คน | เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ได้มีการประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เรือนจำใน 3 จังหวัด ส่งผลให้เขาเดินทางมาประหารชีวิตอุดร อำรินทร์ ที่เรือนจำจังหวัดระยอง ซึ่งในการประหารชีวิตต้องยิงถึง 3 ครั้งถึงอุดรจะเสียชีวิต หลังจากการประหารชีวิตเขาได้เลิกจากการเป็นเพชฌฆาต | |
8 | เชาวเรศน์ จารุบุณย์ | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | 44 คน | เป็นเพชฌฆาตที่ประหารชีวิตผู้ต้องโทษด้วยการยิงเป้ารายสุดท้าย |
9 | สนั่น บุญลอย | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 | 29 ตุลาคม พ.ศ. 2541 | 1 คน | ได้ขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม(จังหวัดชุมพร) ทำให้เขาเลิกจากการเป็นเพชฌฆาต[16] |
10 | ประยุทธ สนั่น | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 | 5 คน | ออกจากราชการเนื่องจากคดียาเสพติดและถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ก่อนจะพ้นโทษในเวลาต่อมา[16] |
11 | พิทักษ์ เนื่องสิทธะ | 18 เมษายน พ.ศ. 2544 | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | 5 คน | ต่อมาได้รับมอบหมายหน้าที่ฉีดสารพิษในการประหารชีวิต |
จำนวนผู้ที่รับโทษ
นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 จนถึง พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า 319 คน เป็นชาย 316 คน หญิง 3 คน[note 2][17] และมีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเป็นชุด ซึ่งดำเนินการโดยทหารหรือตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ จำนวน 40 คน เป็นชายทั้งหมด[18][19]
ผู้ที่รับโทษยิงเป้าที่มีความโดดเด่น
- สวัสดิ์ มะหะหมัด (2478)[note 14]
- ณเณร ตาละลักษณ์ (2482)
- ชิต สิงหเสนี (2498)
- บุศย์ ปัทมศริน (2498)
- เฉลียว ปทุมรส (2498)
- ศิลา วงศ์สิน (2502)[note 15]
- ซีอุย (2502)
- ครอง จันดาวงศ์ (2504)[note 15]
- ใบ กุลแพ, สมบุญ มากฤทธิ์, ทวี เฉลิมสมัย, บุญเลิศ ปรอดเกิด, บั๊กหรือมะลิ คาลามานนท์ และน้อย เจริญสุข (2509)[note 15]
- วิชิต เกตุคำศรี (2510)[note 16]
- สมศักดิ์ ขวัญแก้ว (2514)[note 15]
- วินัย โพธิ์ภิรมย์ (2514)
- เสน่ห์ อ่อนแก้ว (2515)
- ธวัช สุธากุล และสมศักดิ์ ปาทาน (2515)
- จำเนียร จันทรา, ธนูชัย มนตรีวัต และ สนอง โพธิ์บาง (2515)
- พิชาญ กำแหง และสุธน ทองสุข (2515)[note 15]
- ฉลาด หิรัญศิริ (2520)
- อัศวิน พูนเต่า (2520)
- กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน (2522)
- ประเสริฐ ฉิมเจริญ (2527)
- ละมัย โพธิ์สุวรรณ (2527)
- หล่ง ยินดี (2530)
- พันธ์ สายทอง (2542)
- เดชา สุวรรณสุก (2542)
- อำนาจ เอกพจน์ (2542)
- สมัย ปานอินทร์ (2542)
- ลี ยวน กวง, ชู ชิน ก้วย และบุญเกิด จิตปราณี (2544)
- ถวิล หมั่นสาร (2545)
- สุดใจ ชนะ (2545)
การประหารชีวิตด้วยการฉีดยา
ในปี พ.ศ. 2546 มีการแก้ประมวลกฎหมายอาญาให้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการยิงด้วยปืนเป็นการฉีดยาตายและงดเว้นโทษประหารและชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้ที่กระทำผิดขณะอายุต่ำกว่า 18 ปี[13]
ขั้นตอนการประหารชีวิต
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
บรรยากาศการเบิกตัวบัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ไปรับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 |
ขั้นตอนการดำเนินการมีกระบวนการที่คล้ายกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนสถานที่และวิธีการให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ ดังนี้[20]
เมื่อเรือนจำกลางบางขวางในฐานะหน่วยงานของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการประหารชีวิตได้รับคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้ใด[note 7] เรือนจำจะมอบหมายให้ฝ่ายทะเบียนประวัติตรวจสอบชื่อผู้ที่จะถูกประหารชีวิตกับแฟ้มข้อมูลที่เก็บรักษาไว้เพื่อตรวจพิสูจน์บุคคล จากนั้นเรือนจำแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในเรือนจำขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบหัวหน้าชุด เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องโทษ (พี่เลี้ยง) เจ้าหน้าที่บันทึกภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทัณฑปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รับยาและสารพิษ และเจ้าหน้าที่ฉีดยาและสารพิษ เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่ พร้อมทั้งเชิญกรรมการพยาน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออัยการจังหวัด อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ ผู้กำกับการตำรวจในพื้นที่ และเชิญเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อร่วมตรวจพิสูจน์บุคคลผู้ต้องโทษ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดเบิกยาและสารพิษพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปรับยาและสารพิษที่สถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ โดยจะต้องปกปิดคำสั่งและการปฏิบัติงานเป็นความลับไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องทราบก่อนเพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ อาจจะนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำทางศาสนามาช่วยประกอบศาสนพิธีด้วยก็ได้
เมื่อถึงเวลาดำเนินการ พี่เลี้ยงพร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเบิกตัวผู้รับโทษจากห้องขังไปยังสถานที่ธุรการเพื่อตรวจสอบประวัติ ตำหนิแผลเป็น และพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคลระหว่างผู้ถูกเบิกตัวกับทะเบียนประวัติที่เรือนจำกับทะเบียนประวัติของตำรวจ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าตรงกัน เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ต้องโทษโทรศัพท์ติดต่อญาติ เขียนจดหมายหรือทำพินัยกรรมได้ตามความต้องการ พร้อมขอช่องทางการติดต่อญาติผู้ต้องโทษเพื่อประสานงานภายหลังการประหารชีวิต เมื่อเสร็จการแล้วเจ้าหน้าที่อาวุโสอ่านคำสั่งประหารชีวิต นักโทษลงนามหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบคำสั่งนั้น แล้วนำตัวไปยังอาคารประหารชีวิตแบบฉีดสารพิษเพื่อเตรียมการในขั้นตอนต่อไป
เมื่อผู้รับโทษเข้าอาคารประหารชีวิตแล้ว พี่เลี้ยงจะนำตัวเข้าห้องย่อยรายคนโดยมีพี่เลี้ยงเข้าไปในห้องดังกล่าวด้วย ภายในห้องย่อยดังกล่าวเข้าได้ทางเดียว ผนังฝั่งตรงข้ามมีช่องหน้าต่างติดลูกกรงไปยังห้องประกอบศาสนพิธี โดยห้องย่อยดังกล่าวเรือนจำจัดอาหารมื้อสุดท้ายไว้ให้ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วนักโทษจะฟังเทศนาจากพระสงฆ์ที่ประทับในห้องประกอบศาสนพิธี หากเป็นมุสลิมเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ละหมาด เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วจะปิดตาด้วยผ้าปิดตาสำหรับนอนและเบิกนำตัวผู้รับโทษไปยังห้องฉีดสารพิษครั้งละ 2 คน ตามจำนวนเตียงที่มี ผู้รับโทษนอนบนเตียงและกางแขนตามรูปเตียงที่มีกางเขนออกมาจากตัวเตียงแล้วพันทนาการร่างกับเตียงด้วยเข็มขัดที่หน้าผาก อก ท้อง มือ ต้นแขน ขาและข้อเท้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมจะหาหลอดเลือดดำบนแขนแล้วแทงเข็มที่ต่อกับถุงสารน้ำและเครื่องฉีดยาหรือหลอดฉีดยาที่บรรจุสารพิษไว้ โดยเปิดให้สารพิษเข้าตัวผู้รับโทษก่อน และติดตั้งเครื่องตรวจวัดชีพจรผู้รับโทษแล้วหันหน้าจอแสดงผลให้สักขีพยานเห็น เมื่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณเริ่มการประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ฉีดสารพิษที่คอยอีกห้องหนึ่งจะปิดท่อให้สารน้ำและเปิดท่อให้สารพิษแก่ผู้รับโทษ โดยฉีดสารทีละชนิดและเปิดสัญญาณไฟให้สักขีพยานทราบว่ากำลังฉีดสารใด ตามลำดับ ดังนี้
- โซเดียมไธโอเพนทัลหรือโปรโพฟอล เพื่อให้ผู้ถูกฉีดสารหลับลึกและไม่ได้สติ[21] ใช้ไฟสีเขียวเป็นสัญญาณ
- แพนคูโรเนียมโบรไมด์ เพื่อให้กล้ามเนื้อผู้ถูกฉีดสารคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อในระบบหายใจ[21] ใช้ไฟสีเหลืองเป็นสัญญาณ
- โพแทสเซียมคลอไรด์ เพื่อหยุดการเต้นของหัวใจของผู้ถูกฉีดสาร[21] ใช้ไฟสีแดงเป็นสัญญาณ
เมื่อฉีดสารลำดับสุดท้าย สัญญาณชีพจรจะค่อย ๆ ลดลงจนหยุดไป เจ้าหน้าที่จะปล่อยร่างไว้อย่างน้อย 5 — 10 นาที แล้วเชิญแพทย์ตรวจสอบการตาย จากนั้นเจ้าหน้าที่นำร่างบรรจุบนถาดอลูมิเนียม เจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือทั้งฝ่ายเรือนจำหรือฝ่ายตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคล แล้วบรรจุร่างพร้อมถาดในซองเก็บศพอุณหภูมิเย็นจัดไว้อย่างน้อย 12 ชั่วโมง จากนั้นเชิญผู้บัญชาการเรือนจำและแพทย์ที่รับราชการร่วมกันยืนยันความตาย นักโทษชั้นดีขึ้นไปที่อาสานำร่างดังกล่าวถอดตรวน อาบน้ำและแต่งตัวศพใหม่ มัดตราสังข์แล้วบรรจุหีบศพแล้วนำศพออกจากเรือนจำเพื่อมอบให้ญาติ หรือจัดการศพตามสมควรหากไม่มีผู้ใดมารับร่างไป[14]
สารที่ใช้ในการประหารชีวิต
กรมราชทัณฑ์กำหนดให้ใช้สารในการประหารชีวิต ดังนี้[22]
- โซเดียมไธโอเพนทัล (โซเดียมเพนโททัล) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมในสารละลาย 50 ซีซี หรือโปรโพฟอลไม่น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม
- แพนคูโรเนียมโบรไมด์ ไม่น้อยกว่า 50 ซีซี (100 มิลลิกรัม)
- โพแทสเซียมคลอไรด์ ไม่น้อยกว่า 50 ซีซี (7.5 กรัม)
เจ้าหน้าที่ฉีดสารพิษ
แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะมิได้เปิดเผยรายชื่อผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในฐานะผู้ฉีดยา ดังนี้
จำนวนผู้ที่รับโทษ
นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารชีวิตจากการยิงเป้าเป็นการฉีดยาในปี พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาตาย 7 คน ในจำนวนนี้เป็นชายทั้งหมด
ขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการพิพากษาให้ประหารชีวิต
เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประหารชีวิตแล้วส่งตัวผู้ต้องโทษนั้นเข้าคุมขังในเรือนจำแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่คุมขังทำแฟ้มภาพนักโทษ 6 ชุด แต่ละชุดมีรูปถ่ายหน้าตรงและด้านข้าง ชื่อ ฐานความผิด หมายเลขคดีแดง ชื่อศาลที่พิพากษา และวันที่บันทึกภาพ พร้อมลงนามรับรองบนรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือนักโทษไว้ 3 ชุด แล้วส่งเอกสารไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
- กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (แฟ้มภาพและแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ)
- พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี (แฟ้มภาพและแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ)
- เรือนจำที่คุมขัง (แฟ้มภาพและแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ)
- กรมราชทัณฑ์ (แฟ้มภาพ 2 ชุด)
- ศาลชั้นต้น (แฟ้มภาพ)
หากคดีเป็นอันถึงที่สุดแล้วก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยระบุตำหนิรูปพรรณ วันพิพากษาและชั้นศาลที่สิ้นสุดคดี แต่ส่งให้กรมราชทัณฑ์ไปตรวจสอบกับแฟ้มประวัติก่อนหน้าแทนการส่งไปเก็บรักษา เมื่อแต่ละหน่วยงานได้ตรวจสอบแล้วให้แจ้งผลการตรวจสอบให้กรมราชทัณฑ์ทราบ
นอกจากนี้ให้ตรวจสุขภาพจิตและการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิการขอพระราชทานอภัยโทษให้ทราบ หากผู้ต้องโทษประสงค์จะใช้สิทธินั้นให้เรือนจำช่วยดำเนินการ แล้วแจ้งการใช้หรือไม่ใช้สิทธิให้กรมราชทัณฑ์โดยด่วน[20]
ภายหลังการประหารชีวิต
ภายหลังการดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว หากญาติมาติดต่อเรือนจำจะมอบร่างนั้นไปบำเพ็ญกุศลและปลงศพ หากไม่มีผู้ใดมารับศพหรือติดต่อญาติไม่ได้ในวันถัดไปหรือหลังระยะเวลาที่กำหนดจะนำร่างนั้นเก็บไว้ที่สุสานเพื่อรอญาติมาติดต่อรับ (กรณีที่ประหารในเรือนจำกลางบางขวาง จะนำศพออกทางประตูนำศพออกที่เชื่อมระหว่างเรือนจำกับวัดบางแพรกใต้ แล้วนำศพบรรจุในช่องเก็บศพที่สร้างเฉพาะผู้ต้องโทษประหารชีวิตในวัดบางแพรกใต้) แจ้งผลการประหารชีวิตและผลการตรวจสอบความตายให้กระทรวงยุติธรรมทราบ และแจ้งการตายต่อเจ้าพนักงานปกครองออกมรณบัตร หากล่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่มีผู้ใดมารับศพไป กรมราชทัณฑ์จะนำศพนั้นไปบำเพ็ญกุศลและปลงศพตามประเพณี[14] เช่น ซีอุยที่กรมราชทัณฑ์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำร่างไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจในปี พ.ศ. 2563[26]
ประตูนำศพออกของเรือนจำกลางบางขวางมักเรียกว่าประตูแดง เนื่องจากทาสีแดงตัดกับรั้วเรือนจำที่ทาสีขาว หรือประตูผี เนื่องจากประตูนี้ไม่เปิดใช้ในสถานการณ์อื่นนอกจากการนำศพผู้ต้องโทษประหารชีวิตออกมาจากเรือนจำ ประตูนี้เปิดครั้งล่าสุดในการประหารชีวิตบัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2552[27]
เชิงอรรถ
- ↑ ดูเพิ่มในบทความการประหารชีวิตแบ่งตามประเทศ
- ↑ 2.0 2.1 ไม่รวมผู้ที่ถูกประหารชีวิตที่กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ดำเนินการประหารชีวิต เช่น การประหารชีวิตในที่สาธารณะตามคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือนายกรัฐมนตรีโดยทหารและตำรวจ
- ↑ คงตัวสะกดตามกฎหมายตราสามดวงที่พิมพ์ในหนังสือประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เขียนเป็นข้อเพื่อความสะดวกในการอ่าน
- ↑ พันธนาการด้วยตรวจที่ข้อเท้า สวมขื่อที่ข้อมือ คล้องคอด้วยโซ่ ตึงตัวด้วยคาไม้ และล่ามโซ่บั้นเอว
- ↑ เป็นยามในทางจันทรคติอัปมงคล ไม่ควรประกอบพิธีมงคลใด ๆ[11]
- ↑ แต่ไม่ตัดสิทธิ์ของผู้ต้องโทษที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
- ↑ 7.0 7.1 โดยมากมักเป็นการยกฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่อาจมีคำสั่งอื่น เช่น คำพิพากษาของศาลพิเศษหรือศาลทหารที่ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์คำพิพากษาได้ คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร คำสั่งนายกรัฐมนตรี คำสั่งให้บังคับโทษกรณีที่คดีเด็ดขาดและไม่มีการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
- ↑ ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องโทษมุสลิมจะประกอบศาสนกิจด้วยตนเอง ไม่มีการเชิญผู้นำทางศาสนามาประกอบพิธี แต่จะจัดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เป็นมุสลิมดำเนินการตามหลักศาสนา
- ↑ เรือนจำได้จัดเตรียมอาหารมื้อสุดท้ายเช่นเดียวกับอาหารที่ใช้ประกอบเลี้ยงผู้ต้องขัง แต่ผู้ต้องโทษมีสิทธิที่จะร้องขออาหารหรือเครื่องดื่มอื่นที่สามารถจัดหาให้ได้ในช่วงเวลาที่จำกัดและไม่ขัดกับระเบียบการคุมขังผู้ต้องขัง บางครั้งผู้ต้องโทษร้องขอให้อุทิศอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการภายหลังการเสียชีวิต
- ↑ ขั้นตอนก่อนนำตัวไปยังพื้นที่การประหารชีวิตนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนลำดับได้ตามสถานการณ์
- ↑ ในเรือนจำกลางขวางจะใช้อาคาร "สถานที่หมดทุกข์" ในแดน 11 เป็นสถานที่ประหารชีวิต ซึ่งห่างจากพื้นที่ธุรการประมาณ 400 เมตร ระหว่างทางมีศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์ หากนักโทษประสงค์จะสักการะก็สามารถกระทำได้ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่
- ↑ ภายหลังประกอบศาสนกิจจนถึงขั้นตอนนี้ ผู้รับโทษมักจะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง หรือพี่เลี้ยงนำพูดคุยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
- ↑ หากมีการประหารชีวิตผู้ต้องโทษชุดต่อไปเจ้าหน้าที่จะนำศพเข้าเก็บในห้องเก็บศพ หากไม่มีการประหารชีวิตต่อเจ้าหน้าที่จะนำร่างนอนคว่ำบนพื้นที่รับรองศพเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไป
- ↑ ผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนแรกที่ถูกประหารด้วยการยิง ตามคำพิพากษาของศาลพิเศษในคดีกบฏนายสิบ โดยถูกประหารชีวิตที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่ประหารชีวิตเป็นการเฉพาะ หลังจากการประหารครั้งนี้ อาคารสถานที่หมดทุกข์ (อาคารประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า) ในเรือนจำกลางบางขวางสร้างแล้วเสร็จ ผู้ถูกประหารรายต่อ ๆ มาจะถูกประหารในอาคารนั้น เว้นแต่มีคำสั่งเป็นอื่นไป
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 ประหารชีวิตโดยทหารหรือตำรวจในท้องที่ตามที่ระบุในคำสั่ง
- ↑ อดีตอันธพาลในพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2499 และผู้ร่วมปล้นตลาดท่าเรือ ซึ่งเป็นคนที่ไปติดต่อเช่ารถสองแถวก่อนกลุ่มคนร้ายจะจี้คนขับรถแล้วปล้นตลาดท่าเรือ เขาถูกจับกุมที่ค่ายภาณุรังษีโดยพันตำรวจโท สมหวัง เพ็ญสูตร และร้อยตำรวจโท ประสาร ธนสุกาญจน์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2509 และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่เรือนจำกลางบางขวางเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เวลา 18.42 น. ตามคำสั่งจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี โดยใช้อำนาจมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ "Debating the Death Penalty" (Opinion). Bangkok Post. 2018-06-20. สืบค้นเมื่อ 2018-06-20.
- ↑ "Death penalty 'here to stay'". Bangkok Post. 2018-06-20. สืบค้นเมื่อ 2018-06-20.
- ↑ กรมราชทัณฑ์ (2024-02-22). "สถิตินักโทษประหารชีวิต ธันวาคม ๒๕๖๖" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Thailand". Hands Off Cain. สืบค้นเมื่อ 2018-09-09.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 commons:File:ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ (๒) - ๒๔๘๑.pdf
- ↑ commons:File:ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ (๑) - ๒๔๘๑.pdf
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗
- ↑ 8.0 8.1 s:พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2477 (ฉะบับที่ 6) ประกอบกับs:คำสั่งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 เมษายน 2478 (ฉบับที่ 3)
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 กรมราชทัณฑ์ (2022). "เครื่องมือในการลงโทษของไทยในอดีต". วารสารราชทัณฑ์. 70 (3). สืบค้นเมื่อ 2024-07-10.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 "วิธีคัดเลือกเพชฌฆาตและขั้นตอนก่อนประหารนักโทษของไทยโบราณ". ไทยโพสต์. 2018-07-23. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
- ↑ วิริยะบูรณะ, อุระคินทร์ (1966). "วันยมขันธ์". ปฏิทิน 125 ปี แต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ ถึง ๒๕๒๔ (PDF). อุดมศึกษา. p. 5. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
- ↑ ประมวลกฎหมายอาญา
- ↑ 13.0 13.1 s:พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546
- ↑ 14.0 14.1 14.2 พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (2022). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร (10th ed.). เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
- ↑ "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06. ประกอบกับ พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (2022). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร (10th ed.). เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
- ↑ 16.0 16.1 ปิดตำนานเพชฌฆาต, p. 274-302
- ↑ "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06. ประกอบกับ พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (2022). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร (10th ed.). เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
- ↑ เปรมชัย พริ้งศุลกะ. มาตรา 17 ในยุคมืด. กรุงสยามการพิมพ์. OCLC 1281292141.
- ↑ "โจรเหี้ยมไม่ยอมฟังเทศน์ ราษฎร ๒ หมื่นรุมสาปแช่ง". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 14 July 1972.
- ↑ 20.0 20.1 s:ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546
- ↑ 21.0 21.1 21.2 https://www.thairath.co.th/news/society/1313416
- ↑ กรมราชทัณฑ์ (2003-10-16). "ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง การกำหนดชนิด ประเภท และปริมาณของยาหรือสารพิษที่ใช้ในการประหารชีวิตนักโทษ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-01-22. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
- ↑ เนื่องสิทธะ, พิทักษ์ (2023-09-18). "เพชฌฆาต มัจจุราชแห่งราชทัณฑ์ | ประหารฉีดยาครั้งสุดท้าย Part 3". คุยคุ้ยคน (Interview). สัมภาษณ์โดย หนุ่มคงกระพัน official. หนุ่มคงกระพัน official. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
- ↑ อัครเทวา, พงษ์ (2021-02-24). ""พงษ์ อัครเทวา" เพชฌฆาตฉีดสารพิษแห่งเรือนจำบางขวาง : FEED" (Interview). สัมภาษณ์โดย สุภลักษณ์ เตชะพิชญภักดี. FEED. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
- ↑ บุญมา, ประเสริฐ (2018-01-19). "แดนประหาร!! เรือนจำบางขวาง". ชูวิทย์ตีแสกหน้า (Interview). สัมภาษณ์โดย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์. ไทยรัฐทีวี. สืบค้นเมื่อ 2024-02-25.
- ↑ "เตรียมฌาปนกิจ ซีอุย แซ่อึ้ง หลังได้สิทธิความเป็นมนุษย์กลับคืน". ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16. 2020-07-20. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
- ↑ ทีมข่าวอาชญากรรม (2009-08-25). "พระสลด! นาทีฉีดยา 2 นักโทษประหาร "เศร้าน้ำตาอาบแก้ม-ขอจับชายผ้าเหลืองส่งดวงวิญญาณ"". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
แหล่งข้อมูลอื่น
- ไขข้อข้องใจ โทษประหารยังมีอยู่ หรือหายไป ย้อนคดีประหาร ฉีดยาพิษนักโทษ
- สื่อลำดับที่ 9 เรื่องสู่แดนประหาร การรายงานข่าวการประหารชีวิตนักโทษ 5 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ค้ายาเสพติด 4 คน ส่วนอีก 1 คนจากคดีจ้างวานฆ่ากำนันตำบลโล๊ะจูด นับเป็นครั้งแรกที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในเรือนจำบางขวางเพื่อเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิต