พระเจ้าอชาตศัตรู
พระเจ้าอชาตศัตรู | |
---|---|
พระเจ้าแคว้นมคธ | |
ครองราชย์ | ป. 492 – 460 ปีก่อนคริสต์ศักราช[2] หรือช่วงต้นศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช[3] |
ก่อนหน้า | พระเจ้าพิมพิสาร |
ถัดไป | พระเจ้าอุทัยภัทร |
ข้าหลวงนครจัมปา | |
ครองราชย์ | ? - ประมาณ 492 ปีก่อนคริสต์ศักราช |
สวรรคต | 460 ปีก่อนคริสต์ศักราช[4] หรือประมาณ 380 ปีก่อนคริสต์ศํกราช[5] |
คู่อภิเษก |
|
พระราชบุตร | พระเจ้าอุทัยภัทร |
ราชวงศ์ | หารยังกะ |
พระราชบิดา | พระเจ้าพิมพิสาร |
พระราชมารดา | ราชินีโกศัลยเทวี (พระนางเวเทหิ) |
พระเจ้าอชาตศัตรู (สันสกฤต: अजातशत्रु; Ajātaśatru; บาลี: Ajātasattu;[6] 492 ถึง 460 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือต้นศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช[7]) เป็นพระราชาองค์ที่ 3 แห่งแคว้นมคธ ปกครองทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าพิมพิสารและพระนางเวเทหิ พระธิดาของพระเจ้ามหาโกศลแห่งแคว้นโกศลและพระภคินีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอุบาสก และผู้อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธ[8]
วันที่
เมื่อเทียบวันที่ด้วยวันในมหาวงศ์และบทสรุปที่ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใน 483 ปีก่อนคริสต์ศักราช A. L. Basham จึงกำหนดวันขึ้นครองราชย์ของอชาตศัตรูที่ 491 ปีก่อนคริสต์ศักราช[9] เขาประมาณการว่าการทัพครั้งแรกเกิดขึ้นใน 485 ปีก่อนคริสต์ศักราช และการทัพครั้งที่สองต่อวัชชีเกิดขึ้นใน 481–480 ปีก่อนคริสต์ศักราช[9] Samannaphala Sutta บันทึกว่า ช่วงที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเยี่ยมพระอาจารย์ทั้งหกเพื่อฟังคำสอนและไปเยี่ยมพระพุทธเจ้า Basham คาดการว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน 491 ปีก่อนคริสต์ศักราช[10]
พระราชประวัติ
เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในพระครรภ์ พระนางเวเทหิของพระเจ้าพิมพิสาร พระนางประชวรพระครรภ์ อยากเสวยพระโลหิตของพระสวามี ด้วยความรักพระมเหสีและบุตรในครรภ์ พระองค์จึงรองพระโลหิตของพระองค์ไปให้พระมเหสีเสวย ทางด้านโหราจารย์ทำนายว่าราชกุมารในครรภ์จะเป็นทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อ) พระนางเวเทหิจึงพยายามทำแท้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าพิมพิสารเมื่อทรงทราบก็ทรงห้าม พอประสูติมีพระนามว่า “อชาตศัตรู” (แปลว่า ศัตรูผู้ที่ยังมาไม่ถึง,ศัตรูผู้ยังไม่มาเกิด)
ในวัยเยาว์ ทรงเลี้ยงดูพระโอรสเป็นอย่างดี และทรงสถาปนาเป็นรัชทายาท เมื่อเข้าวัยรุ่นทรงมีสติปัญญาเฉียบแหลม แต่ก็ได้รู้จักกับพระเทวทัตที่กำลังจะแสวงหาผู้ที่จะมาช่วยตนปลงพระชนม์ พระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งต้องการได้รับความสนับสนุนจากผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง และด้วยที่พระเจ้าอชาตศัตรูขาดประสบการณ์ สามารถชักจูงได้ง่าย ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดความศรัทธาในพระเทวทัต ถูกเสี้ยมสอนว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่เที่ยงไม่แน่ว่าจะได้ครองราชย์สมบัติ จึงควรปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเสีย แล้วขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระเทวทัตจะปลงพระชนม์พระศาสดาและทำหน้าที่ปกครองสงฆ์
พระเจ้าอชาตศัตรูก็หลงเชื่อ พระองค์ก็ได้นำพระกริชมาแนบกับพระชงฆ์ (แข้งขา) และห่มผ้าบดบังไว้ แล้วไปเข้าเฝ้าพระราชบิดาที่ตำหนักเพื่อลอบปลงพระชนม์ แต่องครักษ์ก็ได้เห็นสังเกตความผิดปกติที่ขาของราชกุมารจึงขอตรวจค้นพระองค์ แต่อชาตศัตรูราชกุมารก็เกิดความร้อนพระทัย จึงหันหลังกลับออกจากตำหนัก องค์รักษ์จึงสั่งให้ทหารจับกุมและทำการตรวจค้นพระองค์จนพระกริชที่ซ่อนไว้ที่พระชงฆ์ จึงแน่ใจว่าอชาตศัตรูราชกุมารกำลังจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้นำตัวพระราชกุมารไปให้เหล่าเสนาอำมาตย์ตัดสินลงโทษ เหล่าเสนาอำมาตย์ก็ได้ไต่สวนกับพระราชกุมารจนพระองค์ยอมรับและตรัสว่าถูกพระเทวทัตยุยง ทำให้เหล่าเสนาอำมาตย์เกิดแตกแยกเป็น 3 พวก 3 ความเห็น พวกเสนาอำมาตย์แรกมีความเห็นว่าให้ควรประหารพระเทวทัต พระราชกุมาร และพร้อมด้วยภิกษุสาวกของพระเทวทัตเสีย พวกเสนาอำมาตย์ที่สองมีความเห็นว่าให้ควรประหารพระเทวทัตและพระราชกุมารเท่านั้น ส่วนพวกเสนาอำมาตย์ที่สามซึ่งนำโดยวัสสการพราหมณ์อำมาตย์มีความเห็นว่าไม่ประควรประหารพระเทวทัต พระราชกุมาร และพร้อมด้วยภิกษุสาวกของพระเทวทัตใด ๆ และออกความเห็นว่าให้นำพระราชกุมารไปให้พระเจ้าพิมพิสารทรงตัดสิน
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบและสดับความเห็นของเหล่าเสนาอำมาตย์ทั้งสามพวก พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ตรัสบอกว่าพระพุทธเจ้าได้ให้สงฆ์ทำปกาสนียกรรมว่า การกระทำของพระเทวทัตไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา ใจ มิได้เกี่ยวข้องพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นการกระทำของพระเทวทัตแต่เพียงผู้เดียวมิใช่รึ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้ปลดตำแหน่งแก่พวกเสนาอำมาตย์พวกแรก ลดตำแหน่งแก่พวกเสนาอำมาตย์ที่สอง และให้เลื่อนตำแหน่งแก่วัสกาพราหมณ์อำมาตย์และพวกเสนาอำมาตย์ที่สาม หลังจากนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงตรัสถามพระราชโอรสว่าทำอย่างนี้ทำไม พระราชโอรสได้ตรัสตอบว่าต้องการราชสมบัติ พระเจ้าพิมพิสารทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติมอบให้แก่อชาตศัตรูราชกุมาร เมื่ออชาตศัตรูราชกุมารได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว แต่พระเทวทัตก็ยังยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูอีกว่าแม้พระเจ้าพิมพิสารจะทรงสละราชสมบัติมอบให้แก่พระองค์ พระเจ้าพิมพิสารอาจจะมาแย่งชิงตำแหน่งคืนก็เป็นไปได้ ทำให้พระองค์หลงเชื่อจึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าพิมพิสารไปจองจำขังในคุกและทรมานโดยวิธีการต่าง ๆ จนพระบิดาสิ้นพระชนม์ แต่หลังพระบิดาสิ้นพระชนม์ก็สำนึกได้ว่าได้ทำกรรมอันหนักยิ่ง จึงทรงบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อลบล้างความผิดให้เจือจางลงไปบ้าง และทรงปฏิญาณตนเป็นอุบาสกบริษัท ตั้งมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์
ทรงปกครองการเมืองโดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมและราชสังควัตถุ ทำให้ประชาราษฎร์อยู่อย่างเป็นสุข และยังมีแสนยานุภาพเป็นที่เกรงขามของแคว้นอื่น แต่ก็ไม่สามารถอุปสมบท หรือบรรลุธรรมขั้นสูง เพราะการกระทำหนักคือปิตุฆาต พระองค์ทำนุบำรุงศาสนาพุทธด้วยดีโดยตลอด
ผลกรรมจากการปิตุฆาต
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อาสวักขยญาณกถาวัณณนา ระบุว่าพระเจ้าอชาตศัตรูถูกพระเจ้าอุทัยภัทร พระราชโอรสกระทำปิตุฆาต จากนั้นพระองค์ได้ไปเกิดในโลหกุมภีนรก ใช้เวลาสามหมื่นปีจึงจะจมลงถึงพื้นล่างของโลหกุมภี และใช้เวลาอีกสามหมื่นปีจึงจะโผล่ขึ้นมาถึงปากโลหกุมภี รวมระยะเวลาชดใช้กรรมถึงหกหมื่นปี แต่ในอนาคตพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าชีวิตวิเสส[11]
อ้างอิง
- ↑ John Marshall, A Guide to Sanchi, 1918 p.58ff เก็บถาวร 20 สิงหาคม 2017 ที่ Wikiwix (Public Domain text)
- ↑ India's Ancient Past, by R.S. Sharma
- ↑ India: A History. Revised and Updated, by John Keay
- ↑ India's Ancient Past, by R.S. Sharma
- ↑ India: A History. Revised and Updated, by John Keay
- ↑ India's Ancient Past, by R.S. Sharma
- ↑ India: A History. Revised and Updated, by John Keay
- ↑ "พุทธบริษัท 4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-01. สืบค้นเมื่อ 2009-08-06.
- ↑ 9.0 9.1 Kailash Chand Jain 1991, p. 75.
- ↑ Kailash Chand Jain 1991, p. 79.
- ↑ อาสวกฺขยญาณกถาวณฺณนา, อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
ข้อมูล
- Dundas, Paul (2002) [1992], The Jains (Second ed.), Routledge, ISBN 0-415-26605-X
- Jain, Kailash Chand (1991), Lord Mahāvīra and His Times, Motilal Banarsidass, ISBN 978-81-208-0805-8
- Shah, Natubhai (2004) [First published in 1998], Jainism: The World of Conquerors, vol. I, Motilal Banarsidass, ISBN 978-81-208-1938-2
- Singh, Upinder (2016), A History of Ancient and Early Medieval India: From the Stone Age to the 12th Century, Pearson PLC, ISBN 978-81-317-1677-9
- Thapar, Romila (1990) [First published in 1966], A History of India, vol. 1, Penguin Books, ISBN 978-0-14-194976-5
อ่านเพิ่ม
- Ācharya Nagrajji D.Litt. "Agama and Tripitaka- A comparative study of Lord Mahavira and Lord Buddha", vol. 1, History and Tradition, chapter 14 "Follower Kings" pg.355-377. (English version by Muni Mahendrakumarji) published by Concept Publishing Company, New Delhi 110059.
- G.P.Singh,2004. "Early Indian Historical Tradition and Archaeology". D.K.Printworld(P)Ltd-New Delhi 110015; pp. 164, 165
- Jain Aagam 1st Upanga Uvavai Sutta Chapter Kunika
แหล่งข้อมูลอื่น
ก่อนหน้า | พระเจ้าอชาตศัตรู | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าพิมพิสาร | กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ (ราชวงศ์หารยังกะ) (พ.ศ. 52 – พ.ศ. 84) |
พระเจ้าอุทัยภัทร |