ฟาโรห์เมริอิบเร เคติ

เมริอิบเร เคติ หรือที่รู้จักกันในพระนามฮอรัสว่า เมริอิบทาวี เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณจากราชวงศ์ที่เก้าหรือสิบที่อยู่ในสมัยช่วงระหว่างกลางที่ 1

รัชสมัย

ภาพวาดไม้คทาไม้ตะโกจากเมียร์ที่มีพระนามฟาโรห์เคติที่ 1

นักวิชาการบางคน[1][2][3][4] เชื่อว่าฟาโรห์เมริอิบเร เคติเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ที่เก้าแห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นเดิมเพียงผู้ปกครองท้องถิ่นเขตเฮราคลีโอโพลิสที่รวบรวมอำนาจมากพอที่จะอ้างตัวว่าเป็นผู้สืบสันตติวงศ์โดยชอบธรรมของฟาโรห์จากราชวงศ์ที่หก และดูเหมือนว่าพระองค์จะปกครองเหนือราชวงศ์ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงด้วยอำนาจที่โหดเหี้ยม และด้วยเหตุนี้เอง ผู้ปกครองคนนี้จึงกลายเป็นอัคธอส์ (Achthoes) ที่น่าอดสูของมาเนโท[3] ผู้เป็นกษัตริย์ผู้ชั่วร้ายจนบ้าคลั่งไปแล้วและโดนจระเข้ปลงพระชนม์

นักไอยคุปต์วิทยาคนอื่นๆ เช่น เยอร์เกน ฟอน เบ็คเคอราท[5] กลับเชื่อว่า ฟาโรห์เมริอิบเรขึ้นครองราชย์ในช่วงปลายราชวงศ์ที่สิบไม่นานนักก่อนหน้ารัชสมัยฟาโรห์เมริคาเร

เนื่องจากความคิดเห็นที่สวนทางกันของเหล่านักวิชาการ การขึ้นครองราชย์ของพระองค์จึงยากต่อการอธิบายและกำหนดวันเวลาด้วยความน่าเชื่อถือ ถ้าพระองค์เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่เก้าแห่งอียิปต์จริงๆ การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ควรจะเริ่มต้นขึ้นใน 2160 ปีก่อนคริสตกาล[6] ในขณะที่ในกรณีที่สอง รัชสมัยของพระองค์น่าจะเริ่มต้นในอีกประมาณหนึ่งศตวรรษต่อมา

หลักฐานรับรอง

เนื่องจากพระนามของฟาโรห์เมริอิบเรไม่ได้บันทึกไว้ในบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูริน (อาจเป็นเพราะว่าสภาพกระดาษปาปิรุสชำรุดมาก ณ จุดนี้) ฟาโณห์พระองค์นี้เป็นที่ทราบจากหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น: ภาชนะทองแดงใส่ถ่านหรือตะกร้าจากหลุมฝังศพใกล้เมืองอบีดอส (ค้นพบพร้อมกับแผ่นสลักของอาลักษณ์ที่มีพระนามฟาโรห์เมริคาเร) และปัจจุบันตั้งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ไม้คทาไม้ตะโกจากเมียร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไคโร (เจอี 42835) ชิ้นส่วนหีบศพงาช้างจากลิชท์และการค้นพบอื่นๆ อีกบางส่วน[2][3] ด้วยมีอนุสรณ์วัตถุเพียงไม่กี่ชิ้น อย่างไรก็ตาม พระนามของฟาโรห์เมริอิบเรนั้นสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาฟาโรห์ที่รู้จักกันในช่วงเวลานี้

อ้างอิง

  1. Flinders Petrie, A History of Egypt from the Earliest Times to the XVIth Dynasty (1897), pp. 114–15.
  2. 2.0 2.1 Alan Gardiner, Egypt of the Pharaohs. An introduction, Oxford University Press, 1961, p. 112.
  3. 3.0 3.1 3.2 William C. Hayes, in The Cambridge Ancient History, vol 1, part 2, 1971 (2008), Cambridge University Press, ISBN 0-521-07791-5, p. 464.
  4. Nicolas Grimal, A History of Ancient Egypt, Oxford, Blackwell Books, 1992, p. 140.
  5. Jürgen von Beckerath, Handbuch der Ägyptischen Königsnamen, 2nd edition, Mainz, 1999, p. 74.
  6. William C. Hayes, op. cit., p. 996.

แหล่งข้อมูลอื่น