หินแกรนิต
หินแกรนิต | |
---|---|
— หินอัคนี Rock — | |
หินแกรนิตประกอบด้วยโพแทสเซียม เฟลด์สปาร์, พลาจิโอเคลส เฟลด์สปาร์, ควอตซ์, ไบโอไทต์ และ/หรือ แอมฟิโบล | |
Composition | |
โพแทสเซียม เฟลด์สปาร์, พลาจิโอเคลส เฟลด์สปาร์ และควอตซ์ (รวมถึงมัสโคไวต์และแอมฟิโบลชนิดฮอร์นเบลนด์) |
หินแกรนิต (อังกฤษ: granite) เป็นหินอัคนีแทรกซอน สีจางพบได้ทั่วไปเป็นปกติ แกรนิตมีเนื้อขนาดปานกลางถึงเนื้อหยาบ บางครั้งจะพบผลึกเดี่ยวๆบางชนิดที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ (groundmass) เกิดเป็นหินที่รู้จักกันในนามของพอร์พายรี (porphyry) แกรนิตอาจมีสีชมพูจนถึงสีเทาเข้มหรือแม้แต่สีดำขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีและองค์ประกอบทางแร่ หินโผล่ของหินแกรนิตมีแนวโน้มจะเกิดเป็นมวลหินโผล่ขึ้นมาเป็นผิวโค้งมน บางทีหินแกรนิตก็เกิดเป็นหลุมยุบรูปวงกลมที่รายล้อมไปด้วยแนวเทือกเขาเกิดเป็นแนวการแปรสภาพแบบสัมผัสหรือฮอร์นเฟลส์
แกรนิตมีเนื้อแน่นเสมอ (ปราศจากโครงสร้างภายใน) แข็ง แรงทนทาน ดังนั้นจึงถูกนำไปใช้เป็นหินก่อสร้างกันอย่างกว้างขวาง ค่าความหนาแน่นเฉลี่ยของหินแกรนิตคือ 2.75 กรัม/ซม3 และค่าความหนืดที่อุณหภูมิและความกดดันมาตรฐานคือ ~4.5 • 1019 Pa•s.[1]
คำว่า “granite” มาจากภาษาลาตินคำว่า “granum” หมายถึง “grain” หรือ “เม็ด” ซึ่งมาจากลักษณะโครงสร้างผลึกในเนื้อหินที่เป็นเม็ดหยาบ
วิทยาแร่
หินแกรนิตถูกจำแนกแยกย่อยไปตามไดอะแกรม QAPF สำหรับหินอัคนีแทรกซอนเนื้อหยาบ (granitoids) และตั้งชื่อตามเปอร์เซนต์ของควอตซ์ แอลคาไลน์เฟลด์สปาร์ (ออร์โธเคลส, ซานิดีน, หรือ ไมโครไคลน์) และแพลจิโอเคลสเฟลสปาร์ บนส่วนของ A-Q-P ในไดอะแกรมดังกล่าว
หินอัคนีที่แท้จริงตามข้อกำหนดทางศิลาวิทยาสมัยใหม่ประกอบด้วยทั้งแพลจิโอเคลสและแอลคาไลน์เฟลด์สปาร์ เมื่อแกรนิตอยด์ไม่มีแพลจิโอเคลสหรือมีน้อยก็จะเรียกหินนั้นว่า “แอลคาไลน์แกรนิต” เมื่อแกรนิตอยด์มีออร์โธเคลส 10% ก็จะเรียกว่า “โทนาไลต์” (ไพร็อกซีนและแอมฟิโบลพบได้ทั่วไปในโทนาไลต์) แกรนิตที่ประกอบด้วยทั้งมัสโคไวต์และไบโอไทต์ไมก้าก็จะเรียกว่าไบนารีแกรนิตหรือทูไมก้าแกรนิต (two-mica granite) ทูไมก้าแกรนิตโดยทั่วไปจะมีโปแตสเซียมสูงและมีแพลจิโอเคลสต่ำและปรกติจะเป็นแกรนิต S-type หรือ แกรนิต A-type หินภูเขาไฟที่มีองค์ประกอบเทียบเท่ากันกับหินแกรนิตคือไรโอไรต์ หินแกรนิตมีคุณสมบัติให้ซึมผ่านปฐมภูมิได้ต่ำแต่มีการซึมผ่านทุติยภูมิได้สูง
องค์ประกอบทางเคมี
ค่าเฉลี่ยทั่วโลกของสัดส่วนเฉลี่ยขององค์ประกอบทางเคมีที่ต่างกันในหินแกรนิตจากมากไปน้อยโดยเปอร์เซนต์น้ำหนักคือ[2]
- SiO2 — 72.04%
- Al2O3 — 14.42%
- K2O — 4.12%
- Na2O — 3.69%
- CaO — 1.82%
- FeO — 1.68%
- Fe2O3 — 1.22%
- MgO — 0.71%
- TiO2 — 0.30%
- P2O5 — 0.12%
- MnO — 0.05%
Based on 2485 analyses
สถานที่พบ
จนถึงทุกวันนี้แกรนิตพบได้เฉพาะบนโลกโดยพบเป็นองค์ประกอบหลักของเปลือกโลกในส่วนของทวีป มักพบแกรนิตเป็นสต็อคขนาดเล็กครอบคลุมเนื้อที่น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตรและอาจพบเป็นแบโทลิตที่มักพบเกิดร่วมกับแนวเทือกเขา (orogenic mountain ranges) ไดค์ (dike) ขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบเป็นแกรนิตเรียกว่า “แอพไพลต์” ซึ่งจะพบเกิดขึ้นบริเวณขอบของการแทรกดัน บางบริเวณก็พบเป็นเพคมาไทต์ (pegmatite) ซึ่งมีผลึกขนาดหยาบเกิดร่วมกับหินแกรนิต
หินแกรนิตได้แทรกดันเข้าไปในชั้นเปลือกโลกตลอดช่วงยุคทางธรณีวิทยาและก็พบได้มากในช่วงพรีแคมเบรียนด้วย หินแกรนิตพบกระจัดกระจายไปทั่วแผ่นเปลือกทวีปของโลกและพบมากเป็นหินพื้นฐานใต้ชั้นหินตะกอนที่มีขนาดบางกว่า
การกำเนิด
แกรนิตเป็นหินอัคนีเกิดขึ้นจากแมกมา แมกมาเนื้อแกรนิตมีต้นกำเนิดที่หลากหลายแต่มันต้องแทรกดันผ่านหินอื่นขึ้นมา การแทรกดันของแกรนิตทั้งหลายเกิดขึ้นที่ความลึกใต้ผิวโลกซึ่งปรกติแล้วจะลึกมากกว่า 1.5 กิโลเมตรและอาจลึกมากถึง 50 กิโลเมตรอยู่ในชั้นเปลือกโลกในส่วนของทวีป การกำเนิดของหินแกรนิตนั้นยังมีการโต้แย้งกันซึ่งนำไปสู่รูปแบบการจำแนกที่หลากหลาย การจำแนกนั้นถูกแบ่งออกตามภูมิภาคของโลก มีทั้งแบบฝรั่งเศส แบบอังกฤษ และแบบของอเมริกา ความสับสนนี้เกิดขึ้นเพราะว่ารูปแบบการจำแนกนั้นกำหนดให้แกรนิตมีความหมายที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วการจำแนกแบบ “อัลฟาเบ็ตซุป” (alphabet soup) นั้นมักถูกนำมาใช้เนื่องจากการจำแนกของมันอยู่บนพื้นฐานของการกำเนิดของแมกมา
การกำเนิดทางธรณีเคมี
แกรนิตอยด์เป็นองค์ประกอบของชั้นเปลือกโลกที่มีอยู่ทั่วไป มันตกผลึกจากแมกมาที่มีองค์ประกอบอยู่ที่จุดหรือใกล้ๆกับจุดยูเทคติก (eutectic point) (หรือที่จุดต่ำสุดของอุณหภูมิบนเส้นกราฟโคเทคติก) แมกมาจะวิวัฒน์ไปสู่จุดยูเทคติกเนื่องจากการแยกส่วนทางอัคนี (igneous differentiation) หรือเพราะว่ามันอยู่ที่ระดับล่างๆของการหลอมละลายบางส่วน การตกผลึกแบบแยกส่วนนี้ทำให้เกิดการลดลงในการหลอมเหลวของเหล็ก แมกนีเซียม ไททาเนียม แคลเซียม และโซเดียม และเพิ่มการหลอมเหลวของโปแตสเซียมและซิลิก้อน – แอลคาไลน์เฟลด์สปาร์ (อุดมไปด้วยโปแตสเซียม) และควอตซ์ (SiO2) ถือเป็นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแกรนิต
กระบวนการนี้ดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงแหล่งของแมกมาต้นกำเนิดที่จะพัฒนาไปเป็นแกรนิต และไม่คำนึงถึงองค์ประกอบทางเคมีของมันด้วย อย่างไรก็ตามแหล่งและองค์ประกอบของแมกมาที่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นแกรนิตนั้นได้ทิ้งหลักฐานทางแร่และธรณีเคมีที่แน่นอนชัดเจนเอาไว้ที่จะระบุถึงหินต้นกำเนิดของแกรนิตนั้นได้ วิทยาแร่ เนื้อหิน และองค์ประกอบทางเคมีสุดท้ายของหินแกรนิตหนึ่งๆปรกติแล้วจะมีลักษณะเฉพาะตามหินต้นกำเนิด ยกตัวอย่างเช่นหินแกรนิตที่เกิดจากการหลอมละลายของตะกอนอาจมีแอลคาไลน์เฟลด์สปาร์สูง ขณะที่แกรนิตที่เกิดจากการหลอมมาจากหินบะซอลต์อาจอุดมไปด้วยแพลจิโอเคลสเฟลด์สปาร์ มันอยู่บนพื้นฐานนี้ที่ว่าการจำแนกแบบอัลฟาเบ็ตสมัยใหม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์
การจำแนกแบบอัลฟาเบ็ตซุพ
การจำแนกแบบอัลฟาเบ็ตซุพของ Chappell & White นั้น ในช่วงแรกๆถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแบ่งแกรนิตออกเป็น 2 ประเภทคือ แกรนิต I-type หรือแกรนิตที่มีหินต้นกำเนิด เป็นหินอัคนี (igneous protolith) กับแกรนิต S-type หรือหินแกรนิตที่มีหินต้นกำเนิดเป็นหินตะกอน (sedimentary protolith)[3] หินแกรนิตทั้งสองประเภทนี้เกิดขึ้นจากการหลอมละลายของหินแปรเกรดสูงหรือไม่ก็จากหินแกรนิตอื่นๆหรือหินอัคนีแทรกซอนสีเข้ม หรือตะกอนที่ปิดทับ ตามลำดับ
หินแกรนิต M-type หรือแกรนิตที่มีวัตถุต้นกำเนิดมาจากแมนเทิลนั้นถูกเสนอขึ้นมาภายหลังเพื่อให้ครอบคลุมหินแกรนิตทั้งหลายที่มีแหล่งกำเนิดที่ชัดเจนจากแมกมาสีเข้มที่ตกผลึกซึ่งโดยทั่วไปจะมีแหล่งมาจากแมนเทิล หินแกรนิตชนิดนี้พบได้น้อยเนื่องจากเป็นการยากที่จะเปลี่ยนบะซอลต์ไปเป็นแกรนิตผ่านการตกผลึกแบบแยกส่วน
หินแกรนิต A-type (anoroganic granite) เกิดขึ้นบริเวณเหนือการประทุของภูเขาไฟฮอตสปอตและจะมีองค์ประกอบทางแร่และธรณีเคมีที่แปลกๆ แกรนิตเหล่านี้เกิดขึ้นจากการหลอมละลายที่ส่วนล่างของเปลือกโลกภายใต้สภาพที่ปรกติแล้วจะแห้งอย่างยิ่งยวด หินไรโอไรต์แห่งโพลงยุบที่เยลโลสโตนเป็นตัวอย่างของหินภูเขาไฟที่มีองค์ประกอบเปรียบเทียบได้กับหินแกรนิต A-type นี้[4][5]
การเกิดหินแกรนิต
ทฤษฎีการเกิดหินแกรนิตที่เก่าแก่ทฤษฎีหนึ่งที่ได้ลดการยอมรับไปมากแล้ว กล่าวเอาไว้ว่า แกรนิตนั้นเกิดขึ้นในที่ที่มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงโดยมีของไหลที่นำธาตุบางชนิดเข้าไป เช่น โปแตสเซียม แล้วดึงเอาธาตุอื่นๆออกมา เช่น แคลเซี่ยมแล้วเปลี่ยนหินแปรไปเป็นหินแกรนิต กระบวนการนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ตามแนวด้านหน้าของการเคลื่อนย้าย การเกิดหินแกรนิตโดยความร้อนจากการแปรสภาพนั้นเป็นสิ่งยากยิ่งแต่ก็สังเกตได้ว่าเกิดขึ้นได้บริเวณภาคพื้นแอมฟิโบไลต์และแกรนูไลต์ การเกิดหินแกรนิตแบบอยู่กับที่ (in-situ granitisation) หรือการหลอมละลายโดยกระบวนการแปรสภาพนั้นยากยิ่งที่จะรับรู้ได้เว้นเสียแต่เนื้อหินแบบลิวโคโซม (leucosome) และเมลาโนโซม (melanosome) จะปรากฏให้เห็นอยู่ในหินไนส์ ทันทีที่หินแปรหนึ่งๆเกิดการหลอมละลายมันก็จะไม่เป็นหินแปรอีกต่อไปแต่จะเปลี่ยนไปเป็นแมกมา ดังนั้นหินเหล่านี้ก็จะดูมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างทั้งสอง แต่ในทางเทคนิคแล้วไม่ถือว่าเป็นหินแกรนิต ด้วยจริงๆแล้วมันไม่ได้แทรกซอนเข้าไปในหินอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นการหลอมละลายของหินแข็งนั้นต้องการอุณหภูมิที่สูงและมีน้ำเป็นส่วนเกี่ยวข้อง หรือสารระเหยอื่นๆซึ่งจะทำตัวเองเป็นสารกระตุ้นช่วยในการลดจุดหลอมเหลวของหินลงมา
การแทรกดันตัวขึ้นมาและการจัดวางตำแหน่ง
การดันตัวขึ้นมาและการจัดวางตัวปริมาตรขนาดใหญ่ของหินแกรนิตอยู่ทางด้านบนของเปลือกทวีปนั้นเป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในหมู่บรรดานักธรณีวิทยาทั้งหลาย ยังไม่มีหลักฐานในภาคสนามที่จะเสนอกลไกใดๆได้ดีพอ ดังนั้นโดยหลักแล้วสมมุติฐานที่เสนอกันขึ้นมานั้นจะขึ้นอยู่กับข้อมูลจากการทดลอง มีสมมุติฐานสองประการหลักๆเกี่ยวกับการแทรกดันตัวขึ้นมาของแมกมาผ่านชั้นเปลือกโลก คือ
- Stoke Diaper
- Fracture Propagation
ในบรรดากลไกทั้งสองนี้ Stokes Diaper เป็นที่นิยมใช้กันมาหลายปีในสภาพที่ปราศจากทางเลือกใดที่สมเหตุสมผลกว่า แนวคิดพื้นฐานคือว่าแมกมาจะถูกแทรกดันตัวขึ้นมาผ่านชั้นเปลือกโลกในลักษณะของมวลเดี่ยวๆด้วยการลอยตัว ขณะที่มันแทรกดันตัวขึ้นมานั้นมีการแผ่ความร้อนให้กับมวลหินข้างเคียงทำให้หินข้างเคียงมีลักษณะเป็นของไหลแล้วไหลไปรอบๆพลูโทน ปล่อยให้มันผ่านเข้าไปอย่างรวดเร็วโดยปราศจากการสูญเสียความร้อนหลัก (Weinberg, 1994) มันดำเนินไปทั้งหมดในชั้นเปลือกโลกด้านล่างที่อุ่นและอ่อนนุ่มที่หินเกิดการเสียรูปได้โดยง่ายแต่ด้านบนของชั้นเปลือกโลกที่ห่างไกลขึ้นมานั้นเย็นกว่าและเปราะในสภาพที่หินไม่ได้เกิดการเสียรูปโดยง่ายนัก สำหรับแมกมาที่แทรกตัวขึ้นมาเป็นพลูโทนย่อมต้องใช้พลังงานอย่างมากในการให้ความร้อนกับหินข้างเคียง ดังนั้นก็จะเกิดการเย็นตัวและแข็งตัวก่อนที่จะถึงระดับตื้นของชั้นเปลือกโลก
ในปัจจุบันกลไกการแผ่ขยายของรอยแตกเป็นที่ยอมรับใช้กันในหมู่นักธรณีวิทยาอย่างกว้างขวาง ด้วยมันขจัดปัญหาอันใหญ่หลวงในเรื่องของการเคลื่อนที่ของมวลมหาศาลของแมกมาผ่านเข้าไปในชั้นเปลือกโลกที่เย็นและเปราะ แมกมาดันตัวขึ้นมาแทนที่ในช่องว่างเล็กๆไปตามไดค์ซึ่งเกิดตามระบบรอยเลื่อนที่เกิดขึ้นใหม่หรือรอยเลื่อนที่มีอยู่ก่อนแล้วและรวมถึงเครือข่ายของแนวเฉือนที่มีพลัง (Clemens, 1998)[6] เมื่อท่อแคบๆเหล่านี้ถูกเปิดออกแมกมาด้านบนก็จะแข็งตัวและจะมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนป้องกันแมกมาที่แทรกดันตามขึ้นมาจากด้านล่าง
แมกมาแกรนิตต้องหาที่อยู่เพื่อตัวมันเองหรือแทรกดันเข้าไปในหินอื่นเพื่อที่จะเกิดการแทรกซอน และกลไลอีกหลากหลายที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าแบโทลิธขนาดใหญ่แทรกเข้าไปอยู่ได้อย่างไร:
- Stoping คือเมื่อแกรนิตทำให้หินข้างเคียงแตกร้าวและแทรกดันขึ้นไปขณะที่ก็ดึงเอาก้อนเปลือกโลกด้านบนออกไปด้วย
- Assimilation คือเมื่อแกรนิตหลอมละลายหินเปิดช่องทางให้มันแทรกดันตัวขึ้นไปในชั้นเปลือกโลกและดึงเอาวัตถุที่อยู่ด้านบนไปตามช่องทางนี้
- Inflation คือเมื่อมวลแกรนิตขยายตัวออกภายใต้ความกดดันและถูกฉีดเข้าไปในตำแหน่งของมัน
ในปัจจุบันนักธรณีวิทยาทั้งหลายยอมรับกันว่าการผสมผสานปรากฏการณ์ทั้งหลายเหล่านี้สามารถถูกนำมาใช้อธิบายการแทรกซอนของแกรนิตได้ และไม่มีแกรนิตใดๆที่สามารถถูกอธิบายได้เสียทุกอย่างโดยกลไกหนึ่งๆอันใด
การแผ่รังสีโดยธรรมชาติ
แกรนิตเป็นแหล่งของการแผ่รังสีทางธรรมชาติเหมือนกับหินธรรมชาติทั้งหลายทั่วไป อย่างไรก็ตามได้รับรายงานว่าหินแกรนิตบางชนิดมีความเป็นกัมมันตะรังสีที่สูงที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องของความปลอดภัย
หินแกรนิตบางชนิดมีแร่ยูเรเนียมสูงถึง 10 - 20 ส่วนในล้านส่วน ในทางกลับกันหินอัคนีสีเข้มจำนวนมากอย่างเช่น โทนาไลต์ แกบโบร หรือไดโอไรต์กลับมีแร่ยูเรเนียมเพียง 1 ถึง 5 ส่วนในล้านส่วนและหินปูนรวมถึงหินตะกอนทั้งหลายมีเพียงปริมาณน้อยนิด พลูโทนหินแกรนิตขนาดใหญ่จำนวนมากเป็นแหล่งให้กับทางน้ำโบราณหรือแหล่งสะสมตัวของยูเรเนียมแบบโรลล์ฟรอนต์ (roll front uranium ore deposits) ที่แร่ยูเรเนียมได้ชะล้างเข้าไปในตะกอนจากหินแกรนิตบนพื้นดินและที่เกี่ยวข้อง ปรกติจะเป็นพวกเพกมาไทต์ที่มีกัมมันตะรังสีสูง แกรนิตสามารถเป็นแหล่งเสี่ยงภัยทางธรรมชาติยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพืดหินแกรนิตอาจได้รับผลกระทบจากการแผ่รังสีอ่อนๆถึงสูงมากกว่าชุมชนอื่นๆ[7] โพลงและฐานยุบของดินบนหินแกรนิตสามารถเป็นที่กักเก็บของแก๊สเรดอนซึ่งเกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียม[8] เรดอนสามารถเข้าไปถึงครัวเรือนผ่านทางบ่อน้ำที่ขุดลงไปในหินแกรนิต[9]. แก๊สเรดอนมีผลกระทบเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และถือเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับสองรองมาจากการสูบบุหรี่[9].
วัสดุที่ผลิตขายเป็นแผ่นหินปูเคาน์เตอร์หรือเป็นวัสดุก่อสร้างไม่ได้ถูกคิดว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง Dr. Dan Steck แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวว่า ประมาณ 5% ของแกรนิตทั้งหมดเท่านั้นที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยคำเตือนเผื่อความผิดพลาดที่ว่ามีเพียงเปอร์เซนต์น้อยนิดจากหินแกรนิตจำนวนหมื่นๆแผ่นที่ได้ทำการตรวจสอบ แหล่งข้อมูลที่หลากหลายจากองค์กรสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติที่ได้เข้าไปออนไลน์เพื่อที่จะช่วยประเมินปัจจัยเสี่ยงในหินแกรนิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการสะสมของแก๊สเรดอนที่อยู่ใกล้กับถิ่นที่อยู่อาศัย
มีการศึกษาหินแกรนิตเคาน์เตอร์ชิ้นหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2008 โดย National Health and Engineering Inc แห่งสหรัฐอเมริกา[10] พบว่ามีหินแกรนิตจำนวน 18 แผ่นจากจำนวน 39 แผ่นไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของสหภาพยุโรป (ดู section 4.1.1.1 of the National Health and Engineering study) มากไปกว่านี้ แผ่นหนึ่งจากแผ่นหินจำนวน 39 แผ่นถูกตรวจสอบในการศึกษา E,H.&E มีดัชนีความเข้มข้นเกินข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (ดู Section 4.3.1 of the E,H,&E study) สถาบันหินอ่อนมีความเกี่ยวข้องกับการออกข้อกำหนดนี้ด้วยการกล่าวว่าข้อกำหนดของหินแกรนิตเคาน์เตอร์ของสหภาพยุโรปนั้นมีข้อบกพร่อง หินที่ตรวจสอบนั้นได้รวมถึงชนิดของแกรนิตที่เป็นแผ่นหินแกรนิตเคาน์เตอร์ที่มีตลาดร่วมกับอเมริกาเสียประมาณ 80% ตามข้อมูลตลาดล่าสุดที่หาได้
นักวิจัยและองค์กรอื่นๆไม่ได้เห็นด้วยกับสถานะความปลอดภัยในหินแกรนิตของสถาบันหินอ่อนซึ่งรวมถึง AARST (American Association of Radon Scientists and Technicians) และ CRCPD (Conference of Radiation Control Program Directors, an organization of state radiation protection officials) ทั้งสององค์กรนี้มีคณะกรรมการซึ่งที่ผ่านมาได้ออกข้อกำหนดอนุญาตให้มีระดับของการแผ่รังสีเรดอนสูงสุดรวมถึงข้อตกลงในการตรวจวัดรังสีเรดอนจากหินแกรนิตเคาน์เตอร์ ข้อกำหนดของสหภาพยุโรปดูเหมือนว่าจะรวมถึงข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับข้อกำหนดฐานของ EPA ฉบับใหม่สำหรับวัสดุก่อสร้างที่เป็นหินแกรนิตในสหรัฐอเมริกาด้วย
การปีนหิน
แกรนิตเป็นหนึ่งในบรรดาหินหลายชนิดที่เป็นที่ชื่นชอบกันในบรรดานักปีนเขาด้วยความชัน ความมั่นคง ระบบรอยแยก และการเสียดทานของมัน สถานที่ที่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับการปีนป่ายหินแกรนิต ได้แก่ หุบเขา Yosemite, Bugaboos, Mont Blanc, เทือกเขา Mourne, Aiguille du Midi และ Grandes Jorasses, เทือกเขา Bregaglia, Corsica, หลายส่วนของ Karakoram, Fitzroy Massif, Patagonia, เกาะ Baffin, Cornwall, และ Cairngorms(ชื่อมันก็จะยากหน่อยนะ)
การปีนหินแกรนิตเป็นที่นิยมกันมากด้วยกำแพงปีนหินเทียมจำนวนมากที่พบในโรงยิมและในสวนสาธารณะนั้นทำขึ้นให้ดูเหมือนและรู้สึกว่าเป็นหินแกรนิตจริงๆ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนั้นทำมาจากวัตถุที่ผลิตขึ้นมาทดแทน ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าหินแกรนิตนั้นหนักเกินไปที่จะเป็นกำแพงปีนป่ายที่ขนย้ายได้และรวมถึงอาคารที่จะเป็นสถานที่ตั้งกำแพงเหล่านั้นด้วย
ดูเพิ่ม
- Aberdeen, Scotland's third largest city nicknamed "The Granite City"
- Barre (town), Vermont "Granite Capital of the World", home of the Rock of Ages Corporation
- Elberton, Georgia, the "Granite Capital of the World"
- Fall River granite
- Greisen
- Igneous rocks
- New Hampshire, the "Granite State"
- List of minerals
- List of rock types
- Luxullianite
- The Mountains of Mourne
- Orbicular granite
- Pikes Peak granite, Colorado
- Quartz monzonite
- Rapakivi granite
- Skarn
- Stone Mountain, Georgia
- thanu,Thailand
อ้างอิง
- ↑ Kumagai, Naoichi; Sadao Sasajima; Hidebumi Ito (15 February 1978). "Long-term Creep of Rocks: Results with Large Specimens Obtained in about 20 Years and Those with Small Specimens in about 3 Years". Journal of the Society of Materials Science (Japan). Japan Energy Society. 27 (293): 157–161. สืบค้นเมื่อ 2008-06-16.
- ↑ Harvey Blatt and Robert J. Tracy (1997). Petrology (2nd ed.). New York: Freeman. p. 66. ISBN 0716724383.
- ↑ Chappell, B.W. and White, A.J.R., 2001. Two contrasting granite types: 25 years later. Australian Journal of Earth Sciences v.48, p.489-499.
- ↑ Boroughs, S., Wolff, J., Bonnichsen, B., Godchaux, M., and Larson, P., 2005, Large-volume, low-δ18O rhyolites of the central Snake River Plain, Idaho, USA: Geology 33: 821–824.
- ↑ C.D. Frost, M. McCurry, R. Christiansen, K. Putirka and M. Kuntz, Extrusive A-type magmatism of the Yellowstone hot spot track 15th Goldschmidt Conference Field Trip AC-4. Field Trip Guide, University of Wyoming (2005) 76 pp., plus an appended map.
- ↑ Clemens, John (1998). "Observations on the origins and ascent mechanisms of granitic magmas". Journal of the Geological Society of London. 155 (Part 5): 843–51. doi:10.1144/gsjgs.155.5.0843.
{cite journal}
: CS1 maint: date and year (ลิงก์) - ↑ "Radiation and Life". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-13. สืบค้นเมื่อ 2009-09-03.
- ↑ "Decay series of Uranium". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.
- ↑ 9.0 9.1 "Radon and Cancer: Questions and Answers". National Cancer Institute. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.
- ↑ http://www.marble- เก็บถาวร 2017-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน institute.com/industryresources/assessingexposureexecutivesummary.pdf
เชื่อมต่อภายนอก
- The Emplacement and Origin of Granite เก็บถาวร 2007-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แม่แบบ:Igneous rocks