กลุ่มนอร์ดิก

กลุ่มประเทศนอร์ดิก

ดินแดนในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เขียวเข้ม)
ดินแดนในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เขียวเข้ม)
เมืองหลวง
ภาษาราชการ
ส่วนประกอบ5 รัฐเอกราช

2 ดินแดนปกครองตนเอง


1 แคว้นปกครองตนเอง


2 พื้นที่ที่ไม่ได้ควบคุม


3 ดินแดน

ก่อตั้ง
• พิธีเปิดสภานอร์ดิก
12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1953
• สนธิสัญญาเฮลซิงกิ
23 มีนาคม ค.ศ. 1962
• พิธีเปิดสภารัฐมนตรีนอร์ดิก
กรกฎาคม ค.ศ. 1971
พื้นที่
• รวม
3,425,804 ตารางกิโลเมตร (1,322,710 ตารางไมล์) (อันดับที่ 7)
ประชากร
• 2019 ประมาณ
27,359,000 (อันดับที่ 49)
• สำมะโนประชากร 2000
24,221,754
7.62 ต่อตารางกิโลเมตร (19.7 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 225)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2019 (ประมาณ)
• รวม
1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] (อันดับที่ 19)
58,000 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 13)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2019 (ประมาณ)
• รวม
1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 11)
58,000 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 10)
สกุลเงิน
5 สกุลเงิน
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์
รายการ
  • +45 (เดนมาร์ก)
  • +46 (สวีเดน)
  • +47 (นอร์เวย์)
  • +298 (หมู่เกาะแฟโร)
  • +299 (กรีนแลนด์)
  • +354 (ไอซ์แลนด์)
  • +358 (ฟินแลนด์)
  • +358 18 (หมู่เกาะโอลันด์)

กลุ่มประเทศนอร์ดิก (อังกฤษ: Nordic countries) หรือรวมเรียกเป็นภูมิภาคนอร์ดิก (Nordic region; Norden, แปลว่า เหนือ)[2] หมายถึงภูมิภาคในยุโรปเหนือ ประกอบด้วยเดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, และสวีเดน และดินแดนปกครองตนเองในสังกัดประเทศเหล่านั้นสามแห่ง ได้แก่ กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) หมู่เกาะแฟโร (เดนมาร์ก) และหมู่เกาะโอลันด์ (ฟินแลนด์) กลุ่มนอร์ดิกมีประชากรรวมกันราว 27 ล้านคน ณ ค.ศ. 2021 ประเทศกลุ่มนอร์ดิกมีพื้นที่รวม 3,425,804 ตารางกิโลเมตร (1,322,710 ตารางไมล์) กว่าครึ่งหนึ่งของดินแดนประกอบด้วยครอบน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งที่หนาวเย็นจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ โดยส่วนใหญ่กินพื้นที่บริเวณเกาะกรีนแลนด์ นอกจากนี้ ในทางธรณีวิทยายังถือว่าคาบสมุทรสแกนดิเนเวียประกอบด้วยแผ่นดินใหญ่ของนอร์เวย์และสวีเดน และทางตอนเหนือสุดของฟินแลนด์[3]

คำว่านอร์ดิก มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Pays Nordiques ซึ่งเทียบเท่ากับคำภาษาท้องถิ่นว่า Norden (ภาษากลุ่มสแกนดิเนเวียสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก) Pohjola/Pohjoismaat (ภาษาฟินแลนด์) และ Norðurlönd (ภาษาไอซ์แลนด์และภาษาแฟโร) โดยมีความหมายว่า (ดินแดนทาง) ทิศเหนือ ปัจจุบันมีการใช้คำว่าสแกนดิเนเวีย ในความหมายของกลุ่มนอร์ดิกในภาษาอังกฤษ[4] ซึ่งส่งผลมาถึงการใช้ในภาษาไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คำว่าสแกนดิเนเวียยังสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ของประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน กลุ่มนอร์ดิกมีความสัมพันธ์กันในทางการเมืองในองค์กรที่เรียกว่าคณะมนตรีนอร์ดิก ในระยะหลัง ประเทศเอสโตเนียได้วางภาพตัวเองเป็นประเทศนอร์ดิก[5] แต่โดยทั่วไปแล้วมักถือว่าเอสโตเนียเป็นรัฐบอลติก แม้จะมีความใกล้ชิดทางด้านภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมร่วมกับฟินแลนด์ และมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนจำนวนมากกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยเป็นสหภาพ ขบวนการลัทธิสแกนดิเนเวียพยายามรวมเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดนให้เป็นปึกแผ่นในศตวรรษที่ 19 ด้วยการล่มสลายของสหภาพระหว่างนอร์เวย์และสวีเดน (การประกาศเอกราชของนอร์เวย์) อิสรภาพของฟินแลนด์ในต้นศตวรรษที่ 20 และการลงประชามติรัฐธรรมนูญของไอซ์แลนด์ ค.ศ. 1944 การเคลื่อนไหวนี้ขยายไปสู่ความร่วมมือที่จัดตั้งขึ้นสมัยใหม่ ตั้งแต่ปี 1962 ความร่วมมือนี้มีพื้นฐานมาจากสนธิสัญญาเฮลซิงกิซึ่งกำหนดกรอบการทำงานของคณะมนตรีนอร์ดิกและสภารัฐมนตรีแห่งนอร์ดิก ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีการพัฒนาต่อเนื่องและถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ในดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานระดับนานาชาติมากมาย รวมถึงการศึกษา ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เสรีภาพพลเมือง คุณภาพชีวิต และการพัฒนามนุษย์[6] แม้จะมีคลามคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม อาทิ ภาษา และวิถีชีวิต ทว่าแต่ละประเทศล้วนธำรงรูปแบบทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง ซึ่งบางครั้งก็มีความแตกต่างอย่างมากจากประเทศเพื่อนบ้าน กระนั้น พวกเขามีจุดยืนร่วมกันในการพัฒนาประเทศโดยยึดตัวแบบนอร์ดิก[7] ซึ่งรวมถึงรูปแบบเศรษฐกิจแบบผสมรวมกับการก่อตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และระบบรัฐสวัสดิการสากลนิยมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากการเก็บภาษีราคาสูง การเพิ่มสิทธิเสรีภาพพลเมือง ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางสังคม นอกจากนี้ รัฐบาลในกลุ่มนอร์ดิกยังพัฒนาเศรษฐกิจโดยนโยบายการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ[8]

ชนเผ่าเจอร์แมนิกเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วยประชากรมากกว่าสามในสี่ของภูมิภาค เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยชาวบอลติกฟินนิก ซึ่งประกอบไปด้วยประชากรส่วนใหญ่ในฟินแลนด์ กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ ชาวเอสกิโมกรีนแลนด์ ชาวซามี รวมถึงผู้อพยพและลูกหลานของพวกเขา ในอดีต ศาสนาหลักในภูมิภาคคือศาสนานอร์สโบราณ ตามมาด้วยความเจริญรุ่งเรืองของโรมันคาทอลิก และการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ก่อนที่ลูเทอแรนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะศาสนาประจำชาติของหลายประเทศ[9]

แม้ว่าในแต่ละภูมิภาคของทุกประเทศจะมีความหลากหลายทางภาษา โดยมีกลุ่มภาษาถึงสามกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ทว่ามรดกทางภาษาที่มีร่วมกันยาวนานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาวนอร์ดิกได้เป็นอย่างดี ภาษานอร์ดิกส่วนใหญ่ได้แก่กลุ่มภาษาเจอร์แมนิกเหนือ, กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก และตระกูลภาษาเอสกิโม–อะลิวต์ ในขณะที่ภาษาเดนมาร์ก ภาษานอร์เวย์ และภาษาสวีเดนถือเป็นภาษาที่เข้าใจร่วมกันได้ และเป็นภาษาหลักที่ถูกใช้ในหน่วยงานราชการ และบริบททางการเมืองรวมถึงสถานที่สาธารณะบางแห่ง ภาษาสวีเดนยังเป็นหนึ่งในวิชาบังคับในโรงเรียนสอนภาษาของฟินแลนด์ และภาษาเดนมาร์กมีการสอนในโรงเรียนของหมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์ ซึ่งทั้งสองมีสถานะเป็นเขตพื้นที่ปกครองตนเอง ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาเยอรมันมีการใช้ในบางภูมิภาค รวมทั้งภาษาถิ่นของชนกลุ่มน้อยอันได้รับอิทธิพลมาจากการตั้งถิ่นฐานของชนเผ่าโบราณ

ประวัติศาสตร์

เส้นเวลา

หน่วยการเมืองกลุ่มนอร์ดิก
คริสต์ศตวรรษที่ ชาวเดนมาร์ก ชาวกรีนแลนด์ ชาวแฟโร ชาวไอซ์แลนด์ ชาวนอร์เวย์ ชาวสวีเดน ชาวฟินแลนด์
8 เดนมาร์กก่อนประวัติศาสตร์
(นอร์สตะวันออก)
กรีนแลนด์ก่อนประวัติศาสตร์
(เอสกิโมเก่า
และนอร์สตะวันตก)
แฟโรก่อนประวัติศาสตร์
(นอร์สตะวันตก)
ไอซ์แลนด์ก่อนประวัติศาสตร์
(นอร์สตะวันตก)
นอร์เวย์ก่อนประวัติศาสตร์
(นอร์สตะวันตก)
สวีเดนก่อนประวัติศาสตร์
(นอร์สตะวันออก)
ฟินแลนด์ก่อนประวัติศาสตร์
(ฟินนิก)
9 ราชอาณาจักรนอร์เวย์
10 ราชอาณาจักรเดนมาร์ก เครือจักรภพไอซ์แลนด์
11
12 กลุ่มราชอาณาจักรสวีเดน
13
14
15 สหภาพคาลมาร์
16 เดนมาร์ก-นอร์เวย์ สวีเดน
17
18
19 เดนมาร์ก สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ แกรนด์ดัชชีฟินแลนด์
20 เดนมาร์ก กรีนแลนด์ หมู่เกาะแฟโร ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์
21

ตัวเอียงระบุเป็นดินแดนในภาวะพึ่งพิง

ประวัติสมัยต้นถึงสมัยกลาง

สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ผู้ก่อตั้ง และพระประมุขแห่งสหภาพคาลมาร์

พบหลักฐานเพียงเล็กน้อยในการตั้งรกรากของมนุษย์ในดินแดนของกลุ่มประเทศนอร์ดิกในอดีตกาล รวมถึงยุคหิน ยุคสัมฤทธิ์ หรือยุคเหล็ก หลักฐานที่พบมีเพียงเครื่องมือจำนวนหนึ่งที่สร้างขึ้นจากหิน ทองแดง และเหล็ก รวมถึงเครื่องประดับบางชนิด และแท่นหินฝังศพ อย่างไรก็ตาม หลักฐานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งที่หลงเหลืออยู่คือชุดภาพวาดหินที่เรียกว่า petroglyphs ที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ ชาวกอทซึ่งมีต้นกำเนิดทางตอนใต้ของสแกนดิเนเวีย และต่อมาได้แบ่งแยกออกเป็นชาววิซิกอทและออสโตรกอ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในชนกลุ่มดั้งเดิมซึ่งเข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ และต่อมาได้เกี่ยวข้องกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก และการเกิดขึ้นของภูมิภาคต่าง ๆ ในยุโรปในสมัยกลางซึ่งทั้งหมดได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจักรวรรดิโรมันตะวันตก[10]

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกเริ่มมีการติดต่อกับดินแดนอื่น ๆ ของยุโรปมากขึ้นในช่วงยุคไวกิง บริเวณฟินแลนด์ตอนใต้ และทางตอนเหนือของสวีเดนและนอร์เวย์เป็นพื้นที่ที่ชาวไวกิงส่วนใหญ่ทำการค้าขายและเป็นฐานที่มั่นสำหรับโจมตีผู้บุกรุก ในขณะที่การตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวไวกิงในภูมิภาคนอร์ดิกอยู่ทางตอนใต้ของนอร์เวย์และสวีเดน เดนมาร์กและแฟโร รวมถึงบางส่วนของไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์ และเอสโตเนีย คริสตศาสนิกชนในทวีปยุโรปตอบโต้การโจมตีและพิชิตชาวไวกิงด้วยการเผยแผ่อิทธิพลทางศาสนาอย่างเข้มข้น มิชชันนารีในสมัยนั้นต้องการให้ดินแดนใหม่ถูกปกครองโดยกษัตริย์ชาวคริสเตียนซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่คริสตจักร หลังจากเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 11 อาณาจักรทั้งสามทางตอนเหนือก็ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ได้แก่: อาณาจักรเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ไอซ์แลนด์มีสถานะเป็นเครือจักรภพเป็นครั้งแรกก่อนที่จะมาอยู่ภายใต้การปกครองของนอร์เวย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 13

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีชาติอำนาจหลายแห่งมุ่งหวังที่จะนำฟินแลนด์มาอยู่ใต้การปกครองของตน โดยผ่านสงครามครูเสดสวีเดนครั้งที่สองและครั้งที่สามในช่วงหลังครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 13 และผ่านการตั้งอาณานิคมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางแห่งของฟินแลนด์ ร่วมมือกับชาวสวีเดนที่นับถือศาสนาคริสต์ การปกครองของสวีเดนจึงค่อย ๆ สถาปนาขึ้นและเรืองอำนาจในภูมิภาค[11] ดินแดนต่าง ๆ เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้นในยุคกลาง สังคมชาวนอร์ดิกมีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรมกับภูมิภาคอื่นในยุโรปมากขึ้น สถาบันกษัตริย์ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองในช่วงศตวรรษที่ 12 และ 13 จากการเก็บภาษีจากชาวนาและชนชั้นกลาง และชนชั้นขุนนางก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เมื่อถึงยุคกลางตอนปลาย ภูมิภาคนอร์ดิกทั้งหมดได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันทางการเมืองภายใต้สหภาพคาลมาร์ แม้จะยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการครอบงำในภูมิภาคของเดนมาร์กสร้างความไม่พอใจให้แก่สวีเดน นำไปสู่การขอแยกตัวจากสหภาพตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1430 เป็นต้นไป จนกระทั่งการล่มสลายครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1523[12]

สมัยใหม่ตอนต้น

หลังจากการล่มสลายของเดนมาร์กและนอร์เวย์ รวมถึงไอซ์แลนด์ ได้ก่อตั้งรัฐร่วมประมุขเป็นตัวแทนสองอาณาจักรที่เรียกว่า เดนมาร์ก–นอร์เวย์ โดยอยู่ภายใต้กษัตริย์พระองค์เดียวกัน ในขณะที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของ วาซา คิงส์ เริ่มต้นขึ้นในสวีเดนและฟินแลนด์ การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ มีบทบาทสำคัญในการสถาปนารัฐสมัยใหม่ยุคแรกในเดนมาร์ก–นอร์เวย์และสวีเดน สวีเดนประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงสงครามสามสิบปี ในขณะที่เดนมาร์กประสบความล้มเหลว สวีเดนมองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในภูมิภาค โดยที่เดนมาร์กและนอร์เวย์ยังคุกคามสวีเดนอยู่เนือง ๆ เนื่องจากยังไม่ยอมรับการที่สวีเดนแยกตัวออกจากสหภาพ ใน ค.ศ. 1643 สภาองคมนตรีสวีเดนกำหนดให้สวีเดนมีสิทธิโดยชอบธรรมในการทำสงครามกับเดนมาร์ก-นอร์เวย์ และไม่นานหลังจากนั้น สวีเดนได้บุกโจมตีเดนมาร์ก–นอร์เวย์[13][14] สงครามสิ้นสุดลงตามที่คาดการณ์ไว้ด้วยชัยชนะของสวีเดน และสนธิสัญญาเบริมเซโบรได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1645 เดนมาร์ก–นอร์เวย์ต้องเสียดินแดนบางส่วนของตนรวมถึงดินแดน เจมต์ลันด์, เฮอร์เยดาเลน, และอิเดร และเซอร์นา เช่นเดียวกับหมู่เกาะก็อทลันด์และเออเซลในทะเลบอลติกของเดนมาร์ก สงครามสามสิบปีจึงเป็นการเริ่มต้นการผงาดขึ้นของสวีเดนในฐานะมหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของชาวเดนมาร์ก[15]

ในศตวรรษที่ 16 และ 17 ภูมิภาคนอร์ดิกมีบทบาทสำคัญในการเมืองระดับทวีป การต่อสู้เพื่อครอบครองดินแดนทะเลบอลติก และโอกาสทางการค้าระหว่างเดนมาร์ก–นอร์เวย์และสวีเดนเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ความขัดแย้งดังกล่าวเรื้อรังหลายปีและจบลงด้วยชัยชนะของสวีเดนซึ่งแผ่อาณาเขตและอำนาจเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลในรัสเซีย เอสโตเนีย และดินแดนของลัตเวียในยุคปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ทางตอนเหนือของเยอรมนีเหนือด้วย สวีเดนยังพิชิตพื้นที่อันกว้างใหญ่จากเดนมาร์ก–นอร์เวย์ในช่วงสงครามเหนือในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 สวีเดนยังมีข้อพิพาทหลายประการกับรัสเซียกรณีอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของฟินแลนด์ และพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ และหลังสิ้นสุดสงครามเหนือ (ค.ศ. 1700–1721) สวีเดนสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่นอกชายแดนให้แก่รัสเซีย ซึ่งต่อมากลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาคยุโรปเหนือ

ภาพเหตุการณ์ความขัดแย้งในสงครามฟินแลนด์

สงครามนโปเลียนกินเวลายาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ ผลของสงครามจบลงด้วยชัยของฝ่ายสัมพันธมิตร และนำไปสู่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา แผนที่การเมืองของกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1809 เมื่อฟินแลนด์ถูกจักรวรรดิรัสเซียพิชิตในสงครามฟินแลนด์ หลังจากนั้นฟินแลนด์ก็กลายเป็นราชรัฐปกครองตนเอง ในทางกลับกัน สวีเดนยึดดินแดนส่วนใหญ่จากเดนมาร์กในปี 1814 จากสงครามสวีเดน-นอร์เวย์อันเป็นจุดเริ่มต้นของสหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ (ค.ศ. 1814 – ค.ศ. 1905) มีฐานะเป็นรัฐร่วมประมุขระหว่างสวีเดนและนอร์เวย์ภายใต้การปกครองของราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ ในขณะที่ไอซ์แลนด์, หมู่เกาะแฟโร และเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งได้รับการตั้งอาณานิคมขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 18 ได้กลายเป็นดินแดนของเดนมาร์ก การเติบโตของประชากรและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาสู่กลุ่มประเทศนอร์ดิกในช่วงศตวรรษที่ 19 และชนชั้นทางสังคมใหม่ ๆ ได้นำพาระบบการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย กิจกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศ และลัทธิชาตินิยมยังสร้างเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับเอกราชในเวลาต่อมาของนอร์เวย์ในปี ค.ศ. 1905 ตามด้วยฟินแลนด์ในปี 1917 และไอซ์แลนด์ในปี 1944 แม้จะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง

สมัยใหม่ตอนปลายถึงสมัยปัจจุบัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น รัฐนอร์ดิกขนาดเล็กทั้งห้าถูกบีบบังคับจากชาติมหาอำนาจ แต่ยังคงรักษาเอกราชและการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐนอร์ดิกแสดงจุดยืนเป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง การโจมตีฟินแลนด์โดยสภาพโซเวียตนำสู่การเสียดินแดนครั้งสำคัญ สงครามต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ถึง ค.ศ. 1944 ทำให้ฟินแลนด์เปิดฉากโจมตีตอบโต้ร่วมกับการโจมตีของเยอรมนีต่อสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ต้องเสียดินแดนมากขึ้น หลายปีต่อมา นโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศของฟินแลนด์ล้วนมีพื้นฐานอยู่บนการคล้อยตามสหภาพโซเวียต แม้ว่าฟินแลนด์จะสามารถรักษารูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยไว้ได้ ในขณะที่ดินแดนของเดนมาร์กและนอร์เวย์ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมนีใน ค.ศ. 1940 ตามมาด้วยการตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการยึดครองดินแดนไอซ์แลนด์ หมู่เกาะแฟโร และกรีนแลนด์

นายกรัฐมนตรีทั้งห้าประเทศ ในการประชุมปี 2014

สวีเดนสามารถรักษาความเป็นกลางทางการเมืองอย่างมั่นคงในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอักษะ และสัมพันธมิตร และหลีกเลี่ยงการสู้รบโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติแล้วสวีเดนได้ปรับตัวโดยอิงตามชาติมหาอำนาจที่ได้เปรียบในช่วงเวลานั้น ๆ - เริ่มจากการสนับสนุนนาซีเยอรมนีอย่างไม่เปิดเผย ตามมาด้วยการเอนเอียงไปทางฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ระหว่างสงครามฤดูหนาวระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย สวีเดนประกาศสนับสนุนฟินแลนด์อย่างเปิดเผย เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป ภูมิภาคนอร์ดิกเริ่มฟื้นตัวเล็กน้อยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางส่วนอธิบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งภายหลังสงคราม ว่าเกิดจากแรงงานที่เข้มแข็ง ทั้งจากสหภาพแรงงาน และนโยบายพรรคการเมือง อันถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญทั่วทั้งกลุ่มประเทศนอร์ดิกตลอดศตวรรษที่ 20 และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกเริ่มทำหน้าที่เป็นต้นแบบในด้านรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ แม้ประเทศนอร์ดิกทั้งห้าประเทศต้องพึ่งพาการค้าต่างประเทศอย่างมาก เดนมาร์กและกรีนแลนด์เข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (1972) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสหภาพยุโรป (EU) ใน ค.ศ. 1993 ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมในปี 1995 ในขณะที่นอร์เวย์และไอซ์แลนด์มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสมาคมการค้าเสรียุโรป ร่วมกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ และทั้งห้าประเทศล้วนแต่เป็นสมาชิกของเขตเศรษฐกิจยุโรป

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้ประเทศกลุ่มนอร์ดิกเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศกลุ่มรัฐบอลติกเพื่อนบ้านที่เพิ่งได้รับเอกราช ประกอบไปด้วย เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ด้วยการเปิดสำนักงานสภารัฐมนตรีนอร์ดิกในทั้งสามประเทศ ในขณะที่บริษัทใหญ่ในบริเวณทะเลบอลติก ถูกซื้อกิจการโดยบริษัทจากประเทศนอร์ดิกในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การธนาคารหรือโทรคมนาคม ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกของเนโทในปี 2023 ตามมาด้วยสวีเดนในปีต่อมา[16]

ภูมิศาสตร์

เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในกลุ่มสมาชิก ในขณะที่สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์มีประชากรต่ำกว่า และไอซ์แลนด์มีทั้งประชากรน้อยที่สุดและมีความหนาแน่นของประชากรต่ำที่สุด นอกจากนี้ พื้นที่ขนาดใหญ่ในประเทศฟินแลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไอซ์แลนด์ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวไม่พบในเดนมาร์ก เดนมาร์กมีความหนาแน่นของประชากรเท่ากับประมาณค่าเฉลี่ยในทวีป โดยสูงกว่าฝรั่งเศสและโปแลนด์เล็กน้อย แต่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักร อิตาลี หรือเยอรมนี ในขณะที่ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดนมีความหนาแน่นของประชากรที่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาเล็กน้อย แต่ถือว่าสูงกว่าแคนาดา

สภาพอากาศ

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นสภาพอากาศในฤดูหนาวของประเทศกลุ่มนอร์ดิก

แม้จะตั้งอยู่ในภูมิภาคเกือบเหนือสุดของโลก แต่โดยทั่วไปประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีสภาพอากาศไม่รุนแรงนักเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีละติจูดเดียวกันทั่วโลก สภาพภูมิอากาศในประเทศนอร์ดิกส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากสภาพที่ตั้งทางตอนเหนือ แต่มีความสมดุลโดยอาศัยที่ตั้งบริเวณใกล้กับมหาสมุทรและกัลฟ์สตรีม ซึ่งนำกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรมาจากปลายรัฐฟลอริดา ฤดูหนาวอากาศค่อนข้างอบอุ่น แม้ว่าทางตอนเหนือนั้นภูมิอากาศส่วนใหญ่จะเป็นแบบกึ่งอาร์กติก โดยมีฤดูหนาวที่ยาวนานและฤดูร้อนที่สั้นในกรีนแลนด์และสฟาลบาร์ด สภาพอากาศเป็นแบบขั้วโลก ทะเลมีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาพอากาศในเขตชายฝั่งตะวันตกของทั้งประเทศไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงและหิมะปกคลุมในช่วงฤดูหนาวในขณะที่ฤดูร้อนโดยทั่วไปอากาศจะเย็นสบาย

ประเทศที่ยิ่งอยู่ห่างจากมหาสมุทรแอตแลนติกและกัลฟ์สตรีมมาก ในฤดูหนาวก็จะยิ่งมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้นโดยเฉพาะฟินแลนด์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวีเดนและทางตะวันออกเฉียงใต้ของนอร์เวย์ได้รับอิทธิพลจากแผ่นดินทวีปอันกว้างใหญ่ ส่งผลให้มีฤดูร้อนที่อบอุ่นและยาวนานกว่า และฤดูหนาวมีอากาศแจ่มใส และมักมีหิมะตก เช่น เมืองบาร์เกินซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของนอร์เวย์ โดยปกติจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 0 องศาในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่เมืองเฮลซิงกิในฟินแลนด์โดยปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ 7-8 °C ในช่วงเวลาเดียวกัน[17]

สภาพภูมิอากาศและคุณภาพของดินเป็นตัวกำหนดปริมาณดินในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ในเดนมาร์กแผ่นดินใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น แทบจะไม่มีธรรมชาติที่เป็นป่าหลงเหลืออยู่เลย ป่าที่หายากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก และเกือบร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมดของเดนมาร์กได้รับการแบ่งเขตเป็นสวนหรือสวนสาธารณะ ในทางกลับกัน ในประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ ยังมีธรรมชาติป่าหลงเหลืออยู่มากกว่า พบว่ามีการเพาะปลูกเพียงร้อยละ 0 ถึง 9 ของพื้นที่ประเทศอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 17 ของพื้นที่ป่าไม้ในไอซ์แลนด์ถูกใช้เป็นทุ่งหญ้าและทุ่งเลี้ยงสัตว์ถาวร นอกจากนี้ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดนล้วนแต่มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่

การเมืองการปกครอง

ภาพการลงนามสนธิสัญญาเฮลซิงกิ วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1962

การบริหาร

ภูมิภาคนอร์ดิกมีมิติทางการเมืองในหน่วยงานร่วมอย่างเป็นทางการที่เรียกว่าคณะมนตรีนอร์ดิกและสภารัฐมนตรีแห่งนอร์ดิก สนธิสัญญาเฮลซิงกิ ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1962 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมปีเดียวกัน และเป็นข้อตกลงทางการเมืองที่กำหนดกรอบความร่วมมือสำหรับความร่วมมือของชาวนอร์ดิกโดยมีวันที่ 23 มีนาคมของทุกปีมีการเฉลิมฉลองเป็น "วันนอร์ดิก" สนธิสัญญาดังกล่าวบางครั้งยังถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญแห่งความร่วมมือนอร์ดิก[18][19]

การค้าภายในกลุ่มประเทศนอร์ดิกไม่ครอบคลุมอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาสำหรับการขายสินค้าระหว่างประเทศ (CISG) แต่อยู่ภายใต้กฎหมายท้องถิ่น ประเทศนอร์ดิกได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านการบริหารและการทูตนับตั้งแต่มีการจัดตั้งสหภาพหนังสือเดินทางนอร์ดิกและสนธิสัญญาเฮลซิงกิได้สิ้นสุดลง ตามสนธิสัญญานั้นระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในการให้บริการด้านการต่างประเทศของประเทศนอร์ดิกใด ๆ จะต้องให้ความช่วยเหลือพลเมืองของประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ หากประเทศนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนในดินแดนที่เกี่ยวข้อง

ความร่วมมือในกลุ่มนอร์ดิกมีพื้นฐานอยู่บนสนธิสัญญาเฮลซิงกิ ในทางรัฐศาสตร์ประเทศนอร์ดิกไม่ได้จัดตั้งหน่วยงานสำหรับบริหารแยกต่างหาก หากแต่ให้ความร่วมมือในสภานอร์ดิกและสภารัฐมนตรีแห่งนอร์ดิกเท่านั้น สภานอร์ดิกก่อตั้งขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และมีผลงานแรกคือการใช้สหภาพหนังสือเดินทางนอร์ดิกในปี 1952 ส่งผลให้เกิดตลาดแรงงานร่วมกันและการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีข้ามพรมแดน แม้ปราศจากหนังสือเดินทางสำหรับพลเมืองของประเทศ ในปี 1971 สภารัฐมนตรีกลุ่มนอร์ดิกซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอำนาจสภา สภานอร์ดิกและคณะรัฐมนตรีมีสำนักงานใหญ่ในกรุงโคเปนเฮเกน และมีสาขาย่อยในเมืองสำคัญต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ รวมถึงสำนักงานหลายแห่งในประเทศเพื่อนบ้าน

สภานอร์ดิกประกอบด้วยผู้แทนจำนวน 87 คน ซึ่งได้รับเลือกจากสมาชิกรัฐสภา และสะท้อนถึงการเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองในรัฐสภาเหล่านั้น โดยจะจัดให้มีการคัดเลือกในฤดูใบไม้ร่วง คณะผู้แทนระดับชาติแต่ละคณะจะมีสำนักเลขาธิการของตนเองในรัฐสภาแห่งชาติ เขตปกครองตนเอง ได้แก่ กรีนแลนด์ หมู่เกาะแฟโร และโอลันด์ ยังมีสำนักเลขาธิการนอร์ดิกเป็นของตนเองด้วย[20] อย่างไรก็ตาม สภานอร์ดิกไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง หากแต่รัฐบาลแต่ละแห่งจะต้องดำเนินการตัดสินใจผ่านสภานิติบัญญัติของตนเอง ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกทั้งหมดเป็นสมาชิกของเนโท ความร่วมมือด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของชาวนอร์ดิกเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัฐ และขยายออกไปในปี 2014 สภารัฐมนตรีนอร์ดิกมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในความร่วมมือระหว่างรัฐบาล นายกรัฐมนตรีแต่ละประเทศสมาชิกมีอำนาจบริหารสูงสุด แต่โดยปกติแล้วจะมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือนอร์ดิก และคณะกรรมการความร่วมมือนอร์ดิกทำหน้าที่เสมือนผู้ประสานงาน เขตปกครองตนเองล้วนมีตัวแทนดังกล่าวเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ[21]

ตัวแบบนอร์ดิก

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีโมเดลทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน และยึดตัวแบบนอร์ดิกซึ่งเกี่ยวข้องกับการผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดกับรัฐสวัสดิการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาษีจำนวนมาก รัฐสวัสดิการส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาโดยพรรคการเมืองตามประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แม้ว่าข้อมูลเฉพาะจะแตกต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ และมีข้อโต้แย้งทางการเมืองอยู่เนือง ๆ ทว่าก็มีความเห็นพ้องต้องในอุดมการณ์ดังกล่าว

สาระสำคัญของตัวแบบที่ว่านี้คือการเป็นรัฐสวัสดิการ "สากลนิยม" ที่มุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างเสรีภาพบุคคุล ส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางสังคม และประกันการจัดหาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับสากล เช่นเดียวกับการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ในตัวแบบนี้ สวัสดิการมิได้เป็นเพียงแต่เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของชีวิตพลเมืองทุกคนทั้งในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลโดยไม่มีค่าธรรมเนียม รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ เช่นการดูแลประชากรเด็ก สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างตัวแบบนอร์ดิกและตัวแบบการพัฒนาประเทศรูปแบบอื่นคือ เน้นการมีส่วนร่วมของแรงงาน การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ และการกระจายรายได้มหาศาลรวมถึงส่งเสริมศักยภาพสหภาพแรงงานในประเทศ

จากการยึดตัวแบบดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศสมาชิกล้วนแต่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในดัชนีการพัฒนานานาชาติในทุกด้าน โดยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง ในขณะที่อัตราการว่างงานและการก่ออาชญากรรมพบได้น้อยกว่าประเทศอื่นในยุโรป และอยู่ในอันดับ 1–5 ในด้านสวัสดิการแม่และเด็ก[22].(จากการจัดอันดับ 179 ประเทศทั่วโลก)

สหภาพหนังสือเดินทางนอร์ดิก

สหภาพหนังสือเดินทางนอร์ดิก (อังกฤษ: Nordic Passport Union) เริ่มตั้งในปีพ.ศ. 2497 และมีผลบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2501 อนุญาตให้พลเมืองของประเทศกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก (หมู่เกาะแฟโรเข้าร่วมปีพ.ศ. 2509 ไม่รวมกรีนแลนด์) สวีเดน นอร์เวย์ (ไม่รวมสฟาลบาร์ ยานไมเอน บูเวต ดรอนนิงเมาด์ลันด์) ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ (เข้าร่วมพ.ศ. 2508) ข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องพกหรือตรวจหนังสือเดินทาง พลเมืองชาติอื่น ๆ สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องตรวจหนังสือเดินทาง แต่ต้องพกพาหนังสือเดินทางหรือเอกสารอนุญาตอื่น ๆ

ธงนอร์ดิก

ธงของประเทศในกลุ่มนอร์ดิก

ประเทศทั้งหมดในกลุ่มนอร์ดิก รวมถึงสองดินแดนปกครองตนเองอย่างหมู่เกาะแฟโรและหมู่เกาะโอลันด์ มีลักษณะธงที่ใกล้เคียงกัน คือเป็นธงที่มีรูปกากบาทที่มีจุดตัดเยื้องไปทางด้านเสาธง ที่เรียกว่าธงกากบาทแบบนอร์ดิก (หรือแบบสแกนดิเนเวีย) ธงของกรีนแลนด์และชาวซามิ (ชนพื้นเมืองในแลปแลนด์) ไม่ได้เป็นรูปกากบาท แต่เป็นรูปวงกลม

เดนมาร์ก หมู่เกาะแฟโร ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน หมู่เกาะโอลันด์ นอร์เวย์
เดนมาร์ก หมู่เกาะแฟโร ฟินแลนด์ (ธง) ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน โอลันด์ สฟาลบาร์
กรีนแลนด์ ชาวซามิ

ผู้นำประเทศ

ประเทศนอร์ดิกทั้งหมดเป็นประเทศประชาธิปไตยพร้อมระบบรัฐสภาที่มีมายาวนาน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดนมีระบบการเมืองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ โดยที่พระมหากษัตริย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ และอำนาจบริหารโดยพฤตินัยถูกใช้โดยคณะรัฐมนตรีที่นำโดยนายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดนเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1973, สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1991 ในฐานะพระปนัดดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร และสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 แห่งเดนมาร์ก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก พระองค์ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2024

ในขณะที่ฟินแลนด์และไอซ์แลนด์ปกครองแบบสาธารณรัฐระบบรัฐสภา โดยหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้ครองอำนาจที่แท้จริง ทั้งสองประเทศมีการบริหารนำโดยนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐในพิธีการสำคัฐโดยถืออำนาจนิติบัญญัติอยู่บ้าง ฟินแลนด์มีประเพณีอันยาวนานในการมีระบบประธานาธิบดีที่เข้มแข็ง เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นของอิสรภาพ เจ้าชายฟรีดริช คาร์ล แห่งเฮ็สเซิน ได้รับเลือกขึ้นครองบัลลังก์แห่งฟินแลนด์ ทำให้ฟินแลนด์มีสถาบันกษัตริย์มานับตั้งแต่นั้น ครั้งหนึ่งอำนาจของประธานาธิบดีเคยกว้างขวางมาก จนกล่าวกันว่าฟินแลนด์เป็นเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ "แท้จริง" เพียงแห่งเดียวในภูมิภาคยุโรปเหนือ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขที่ผ่านในปี ค.ศ. 1999 ทำให้อำนาจของกษัตริย์ลดลง และขณะนี้ประธานาธิบดีก็แบ่งปันอำนาจบริหารกับนายกรัฐมนตรี[23]

เศรษฐกิจ

ภาพรวม

สถานีรถไฟในกรุงโคเปนเฮเกนซึ่งให้บริการเอ็ส-บาน

เศรษฐกิจกลุ่มนอร์ดิกเป็นหนึ่งในประเทศในโลกตะวันตกที่มีผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจมหภาคที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แม้ประเทศอย่าง เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดนจะประสบกับภาวะการส่งออกเกินดุลการค้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ไอซ์แลนด์เป็นประเทศเดียวที่มีการขาดดุลการค้า ณ ปี 2011 ในขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานในประเทศนอร์ดิกส่วนใหญ่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าสมาชิกในยูโรโซน เมื่อวัดจากอัตราจีดีพีเฉลี่ยต่อหัว ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีรายได้สูงกว่ากลุ่มประเทศยูโรโซน โดยอัตราจีดีพีของนอร์เวย์สูงกว่าค่าเฉลี่ย EA17 ถึงร้อยละ 80 และนอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงที่สุดในโลก[24]

อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550-2551 และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกทั้งหมดได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โลกในระดับที่แตกต่างกันไป ไอซ์แลนด์ได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2011 รวมถึงประสบภาวะอัตราจีดีพีติดลบในประเทศนอร์ดิกทั้งหมดในปี 2008 และ 2009 ตั้งแต่ปี 2009 ประเทศนอร์ดิกส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง สภานอร์ดิกได้กำหนดเป้าหมายสำหรับความร่วมมือของชาวนอร์ดิกเพื่อให้บรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบสวัสดิการของชาวนอร์ดิก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนอร์ดิก และการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมของชาวนอร์ดิกในระดับนานาชาติ

อัตราการบริโภคภาคเอกชนลดลงในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว ก่อนจะก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป การลดลงดังกล่าวรุนแรงที่สุดในเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ในทางกลับกัน การบริโภคสาธารณะมีอัตราการเติบโตในเชิงบวก ยกเว้นไอซ์แลนด์ตั้งแต่ปี 2008 และเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2010 การเพิ่มขึ้นโดยทั่วไปเกิดจากการสนับสนุนโดยรัฐบาลนอร์ดิกเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2006 ไอซ์แลนด์ประสบปัญหาการสะสมทุนต้นทุนขั้นต้นลดลง หลังจากหลายปีผ่านไป การเติบโตทางเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ไอซ์แลนด์ยังเป็นประเทศผู้นำเมื่อเทียบกับประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ ในแง่การเติบโตของการบริโภคสาธารณะในช่วง ค.ศ. 2000 ถึง 2008[25]

อุตสาหกรรม

แท่นขุดเจาะน้ำมัน Stafjord ในนอร์เวย์ ดำเนินการโดย Equinor ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก

นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมการผลิตของชาวนอร์ดิกมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงเล็กน้อย โดยมีนอร์เวย์เป็นข้อยกเว้นที่ชัดเจน ซึ่งมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของอุตสาหกรรมการผลิตในระดับสูงประมาณร้อยละ 35 เนื่องจากการมีอุตสาหกรรมน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติขนาดใหญ่ ในประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มนอร์ดิก สัดส่วนดังกล่าวอยู่ระหว่างร้อยละ 15 ถึง 20 แม้จำนวนการผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมการผลิตเมื่อเทียบกับสัดส่วนการจ้างงานทั้งหมดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังลดลง ในบรรดาประเทศสมาชิก ปัจจุบันฟินแลนด์เป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับหนึ่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตในฟินแลนด์มีสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุดประมาณร้อยละ 16 หากเปรียบเทียบกับเดนมาร์ก นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ มีการจ้างงานเพียงไม่ถึงร้อยละ 13 ของการจ้างงานทั้งหมด

อัตราการเติบโตของภาคบริการได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศนอร์ดิกตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันคิดเป็นอัตราส่วนถึงประมาณสามในสี่ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน ต่างมีสัดส่วนการจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดในภาคบริการอยู่ระหว่าง 75 ถึงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ตัวเลขที่สอดคล้องกันคือ 72 เปอร์เซ็นต์ในฟินแลนด์และ 70 เปอร์เซ็นต์ในไอซ์แลนด์ ตัวเลขในภาคบริการเล็กลงเล็กน้อยหากวัดสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด เทียบกับส่วนแบ่งการจ้างงาน โดยในนอร์เวย์รายได้จากภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 57 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในขณะที่ตัวเลขในไอซ์แลนด์อยู่ร้อยละ 66, ในฟินแลนด์ร้อยละ 69, ในสวีเดนร้อยละ 72 และในเดนมาร์กร้อยละ 78 ภาคบริการประกอบด้วยการขายปลีกและขายส่ง, โรงแรม, ร้านอาหาร, การขนส่ง, การสื่อสาร, บริการทางการเงิน, การขายอสังหาริมทรัพย์, การเช่า, บริการทางธุรกิจ และบริการอื่น ๆ เช่น การดูแลเด็ก คนป่วย และผู้สูงอายุ การบริการซึ่งโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในกลุ่มประเทศนอร์ดิก[26]

การลงทุนต่างประเทศ

ไอซ์แลนด์และสวีเดนมีอัตราการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงที่สุด ทั้งในด้านบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศ และในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามในปี 2011 เดนมาร์กเข้ามาแทนที่สวีเดนในด้านจำนวนเงินการลงทุนภายนอก เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาสิบปีต่อมา ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกส่วนใหญ่มีการเติบโตในด้านการลงทุนทั้งภายในและภายนอก

การลงทุนจากต่างประเทศจากไอซ์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะระหว่างปี 2003 ถึง 2007 จาก 16 เป็น 123 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ การขยายบริษัทในไอซ์แลนด์ไปสู่ตลาดต่างประเทศเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นรวดเร็ว กองทุนบำเหน็จและบำนาญที่แข็งแกร่งถือเป็นเงินทุนสำคัญสำหรับการลงทุน และการปฏิรูประบบธนาคารทำให้มีแหล่งเงินทุนใหม่สำหรับบริษัทที่ต้องการขยายการดำเนินงาน การลงทุนภายในประเทศในไอซ์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2003 แต่ยังยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

พลังงาน

กังหันลมในเวนด์ซิสเซล ประเทศเดนมาร์ก

ภูมิภาคนอร์ดิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีแหล่งพลังงานอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก นอกเหนือจากการเกิดขึ้นตามธรรมชาติของเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ เช่น น้ำมันและก๊าซ ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังมีโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่ดีเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น น้ำ ลม พลังงานชีวภาพ และความร้อนใต้พิภพ โดยเฉพาะไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดน มีการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากจากพลังงานน้ำ การผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดในไอซ์แลนด์ ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ผลิตได้ทั้งในฟินแลนด์และสวีเดน การผลิตพลังงานของกลุ่มประเทศนอร์ดิกได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดนมาร์กและนอร์เวย์เนื่องจากการสะสมของปริมาณน้ำมันสำรองที่พบได้ในทะเลเหนือ[27]

แหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดในประเทศนอร์ดิกเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน เชื้อเพลิงแข็ง (เช่น ถ่านหินและไม้) พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำ และความร้อนใต้พิภพ และพลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊ส ในสหภาพยุโรปแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำมันเช่นกัน ตามด้วยแก๊สธรรมชาติในอันดับสอง พลังงานน้ำและความร้อนใต้พิภพและแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เป็นแหล่งพลังงานหลักในประเทศนอร์ดิกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ พลังงานน้ำและความร้อนใต้พิภพถือเป็นสัดส่วนหลักของการจัดหาพลังงานโดยรวม เดนมาร์กพึ่งพาพลังงานความร้อนเกือบทั้งหมดจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ในขณะที่ไอซ์แลนด์ได้รับพลังงานจำนวนมากจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ และพึ่งพาทรัพยากรพลังงานน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า

ประชากรศาสตร์

แผนที่แสดงอัตราความหนาแน่นของประชากรในกลุ่มประเทศนอร์ดิก

ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ผู้คนเกือบ 12 ล้านคนอาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ปัจจุบันประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำที่สุดในโลก ความหนาแน่นต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศในกลุ่มนอร์ดิกเป็นพื้นที่ชายขอบซึ่งมีข้อจำกัดในการตั้งถิ่นฐานจากสภาพภูมิประเทศ ในสี่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกทั้งห้า ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรอาศัยในบริเวณใกล้เคียงเมืองหลวง โดยเฉพาะชาวไอซ์แลนด์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงหรือใกล้กับเมืองหลวงอย่างเรคยาวิก[28] ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าจากจำนวน 12,000 คนเป็น 56,000 คน ในขณะที่ในไอซ์แลนด์อัตราการเพิ่มขึ้นจาก 78,000 เป็น 322,000 คน และในหมู่เกาะแฟโรเพิ่มมากกว่าสามเท่าจาก 15,000 เป็น 48,000 คน และประชากรสวีเดนและโอลันด์เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีอัตราการเติบโตไม่ถึงสองเท่า

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จำนวนประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2.8 ล้านคน (ร้อยละ 12) ซึ่งมากที่สุดในไอซ์แลนด์ (ร้อยละ 27) และในนอร์เวย์และโอลันด์เพิ่มขึ้น 19 คน คิดเป็นเกือบเกือบ 18 เปอร์เซ็นต์ บางภูมิภาคในฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงเนื่องจากการขยายตัวของเมือง แต่ในภาพรวมระดับประเทศนั้น ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกทั้งหมดกลับประสบปัญหาการเติบโตเมื่อเทียบกับปี 2005 พบว่าทั้งหมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์มีการลดลงเล็กน้อย ในไอซ์แลนด์ยังมีจำนวนประชากรที่ลดลง ในขณะที่ประชากรเดนมาร์กคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จนถึงปี 2035 ในขณะที่ฟินแลนด์และสวีเดนคาดว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 และเกือบร้อยละ 16 ตามลำดับ[29]

กราฟแสดงพัฒนาการ อัตราการคาดหมายคงชีพของประชากรกลุ่มนอร์ดิก

การคาดหมายคงชีพกำลังเพิ่มขึ้นในทุกประเทศในกลุ่มนอร์ดิก แม้ว่าจะแตกต่างกันมากก็ตาม อายุขัยเฉลี่ยของเพศชายในเกาะกรีนแลนด์คือ 68.3 ปี (ค.ศ. 2011) เทียบกับ 80.8 ปีสำหรับผู้ชายในไอซ์แลนด์ และประชากรหญิงในหมู่เกาะแฟโรและโอลันด์คาดว่าจะมีอายุยืนที่สุดโดยมากกว่า 84 ปี ประชากรในกลุ่มประเทศนอร์ดิกกำลังมีอัตราการคาดหมายคงชีพมากขึ้นจากการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และภูมิอากาศที่เอื้ออำนาย และตามการคาดการณ์จำนวนประชากรของกลุ่มประเทศนอร์ดิกโดยรวม สัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปีจะสูงถึงร้อยละ 8.4 ในปี ค.ศ. 2040 เทียบกับระดับปี ค.ศ. 2013 ที่่ร้อยละ 4.7 ส่วนแบ่งของประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ถึง 2013

การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งของผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงในเกือบทุกกลุ่มอายุ และส่วนหนึ่่งเกิดจสกอัตราการเกิดน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นที่คาดหมายว่าอีกประมาณ 25 ปีข้างหน้า อัตราส่วนการพึ่งพาทางประชากรคาดว่าจะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดในฟินแลนด์และเกาะโอลันด์ ตามการคาดการณ์ประชากรล่าสุดในฟินแลนด์และโอลันด์ คาดว่าในปี 2030 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะคิดสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของประชากรผู้ใหญ่ ในขณะที่รัฐบาลสวีเดนและเดนมาร์กคาดว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทศวรรษต่อไป ไอซ์แลนด์และนอร์เวย์มีแนวโน้มรักษาอันดับของตนโดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่ำที่สุดในกลุ่มนอร์ดิก[30]

ภาษา

พิธีแต่งงานในเขตโจมาลา ประเทศฟินแลนด์

ภาษานอร์ดิกส่วนใหญ่จัดอยู่ในหนึ่งในสามตระกูลภาษา ได้แก่ ภาษาเจอร์แมนิกเหนือ, กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก และตระกูลภาษาเอสกิโม–อะลิวต์ แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีความหลากหลายทางภาษา โดยมีกลุ่มภาษาสามกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มรดกทางภาษาที่มีร่วมกันก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ประกอบขึ้นเป็นอัตลักษณ์ของชาวนอร์ดิก

ภาษาเดนมาร์ก หมู่เกาะแฟโร ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน จัดอยู่ในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน ภาษาเหล่านี้ล้วนพัฒนามาจากภาษานอร์ดิกทั่วไป แต่ได้แยกกันไปในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้พูดภาษาเดนมาร์ก ภาษานอร์เวย์ และภาษาสวีเดนที่จะเข้าใจร่วมกันได้ ภาษาเหล่านี้ได้รับการสอนในโรงเรียนทั่วกลุ่มประเทศนอร์ดิก ตัวอย่างเช่น ภาษาสวีเดนเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนฟินแลนด์ และภาษาเดนมาร์กเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนภาษาไอซ์แลนด์และแฟโร ประมาณร้อยละ 5.3 ของประชากรฟินแลนด์พูดภาษาสวีเดนเป็นภาษาแม่[31] ในกลุ่มภาษาฟินแลนด์-ซามิของภาษาฟินโน-อูกริก ภาษาฟินแลนด์เป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก อย่างไรก็ตาม ภาษาอื่น ๆ ในตระกูลก็พูดกันในภูมิภาคนี้เช่นกัน ชาวฟินน์ยังเป็นกลุ่มผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน ประมาณร้อยละ 4.46 ของประชากรทั้งหมด และภาษาฟินแลนด์เป็นภาษาชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นทางการของสวีเดน[32]

ภาษากรีนแลนด์ ถือเป็นภาษาในตระกูลกลุ่มภาษาอินูอิต และมีการพูดกันในกรีนแลนด์ ภาษานี้เกี่ยวข้องกับภาษาหลายภาษาที่พูดในแคนาดาตอนเหนือและรัฐอะแลสกา ในปี ค.ศ. 2009 กฎหมายปกครองตรเองของกรีนแลนด์มิได้กำหนดให้สถานศึกษาต้องสอนภาษาเดนมาร์ก หรือใช้ภาษาเดนมาร์กเพื่อวัตถุประสงค์ทางการ[33] ยังมีภาษาชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งในภูมิภาคนี้ ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดของชนกลุ่มน้อยในจัตแลนด์ตอนใต้ และสิทธิทางวัฒนธรรมและภาษาของพวกเขาได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาล ภาษายิดดิชเป็นภาษาชนกลุ่มน้อยทางการในสวีเดน นอกจากภาษาที่เรียกว่า "ธรรมชาติ" แล้ว ยังมีการใช้ภาษามือแบบต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคด้วย ภาษามือในไอซ์แลนด์ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเดนมาร์ก ในขณะที่ภาษามือในฟินแลนด์ได้รับการพัฒนาโดยใช้ภาษาสวีเดนเป็นหลัก สิทธิในการใช้ภาษามือถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษาฟินแลนด์ และในสวีเดน ภาษามือสวีเดนเป็นภาษาที่ใช้แพร่พลายในชนกลุ่มน้อย

ชาวซามี

ชาวซามีในฮ็อนนิงส์โวก ประเทศนอร์เวย์ในเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม

ชาวซามี (Sami) ซึ่งบางครั้งสะกดว่า Sámi หรือ Saami เป็นกลุ่มชาวฟินโน-อูกริก ซึ่งมีพื้นที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมทางตอนเหนือของฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และรัสเซียตะวันตก ชาวซามีใหญ่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์ รองลงมาคือสวีเดนและฟินแลนด์ ในขณะที่จำนวนประชากรพบได้น้อยที่สุดในรัสเซีย และเนื่องจากประเทศต่าง ๆ ไม่ได้มีการบันทึกหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวซามีอย่างเป็นทางการ[34] ส่งผลให้การสืบประวัติการตั้งรกรากหรือภูมิหลังของประชากรกลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด และไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนในสแกนดิเนเวีย[35] ชาวซามีถือเป็นชาวพื้นเมืองเพียงกลุ่มเดียวในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ไม่นับกรีนแลนด์ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศของชนเผ่าพื้นเมือง) ชาวซามีจึงมีสถานะเป็นชาวพื้นเมืองที่มีถิ่นอาศัยตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของทวีปยุโรป มีภาษาหลายภาษาถูกใช้ในหมู่ชาวซามี[36]

โดยทั่วไปแล้ว ชาวซามีประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น เกษตรกรรม, ประมง, การล่าสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์ อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของชาวซามีที่รู้จักกันดีที่สุดคือการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ ด้วยเหตุผลด้านประเพณี สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเมือง การเลี้ยงกวางเรนเดียร์จึงสงวนไว้ตามกฎหมายสำหรับชาวซามีในบางภูมิภาคของกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยในปัจจุบัน ชาวซามีเป็นแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศ แม้ว่าอุตสาหกรรมหลักยังคงเป็นผู้ถือครองวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวซามีก็ตาม[37]

วัฒนธรรม

ชุดแต่งกายประจำชาติของนักเต้นในหมู่เกาะแฟโร

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกล้วนมีวัฒนธรรมที่สะท้อนก้าวหน้าทางสังคมมากที่สุดมาตั้งแต่อดีต และวัฒนธรรมล้วนเป็นหนึ่งในรากฐานหลักของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก นโยบายของประเทศในกลุ่มนอร์ดิกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน และศาสนา มีค่านิยมและลักษณะร่วมกันหลายประการ อย่างไรก็ตาม อาจำบเห็นความแตกต่างบางประการได้ เช่น ประวัติศาสตร์ทั้งในเดนมาร์กและสวีเดน มีสถาบันทางวัฒนธรรมที่มีรากฐานมาจากประเพณีของราชสำนัก ในประเทศเหล่านี้ สถาบันระดับชาติเป็นรากฐานของชีวิตทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่แรกเริ่ม ในขณะที่สถาบันวัฒนธรรมในประเทศนอร์เวย์เริ่มก่อตั้งในเวลาต่อมา[38]

ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านวัฒนธรรมของรัฐบาลสูงที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 3.3 ของผลิตภันฑ์มวลรวมใน ค.ศ. 2011 ตามมาด้วยเดนมาร์กด้วยยอดรวม 1.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2011 ในขณะที่สวีเดนมีการใช้จ่ายน้อยที่สุดในอัตราเพียงร้อยละ 1.1 หากเทียบตามค่าใช้จ่ายต่อหัว ไอซ์แลนด์ก็ยังถือเป็นประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงสุด ตามมาด้วยนอร์เวย์ และเกาะกรีนแลนด์เป็นอันดับสาม โดยข้อมูลในไอซ์แลนด์และนอร์เวย์พบว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่านับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ในขณะที่ประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นระหว่าง 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน

เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุด รวมทั้งสิ้น 274 แห่ง ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ในหมู่เกาะโอลันด์และไอซ์แลนด์มีผู้เข้าชมมากที่สุด โรงละครหลายแห่งในประเทศนอร์ดิกได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสาธารณะ เงินทุนสำหรับโรงละครถือเป็นส่วนแบ่งหลักของการจัดสรรค่าใช้จ่ายเชิงวัฒนธรรมในทุกประเทศ ทุกประเทศมีโรงละครแห่งชาติซึ่งมีการแสดงละคร บัลเลต์ และอุปรากร นอกจากโรงละครแห่งชาติแล้ว ยังมีโรงละครระดับภูมิภาคในระดับมืออาชีพซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เทศมณฑล หรือเทศบาลอีกด้วย ประเทศส่วนใหญ่มีโรงละครส่วนตัวบางแห่ง และวงดนตรีสมัครเล่นจำนวนมากซึ่งอาจได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลบางส่วน

กองทุนวัฒนธรรมนอร์ดิกซึ่งก่อตั้งขึ้นใน 1966 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวัฒนธรรมในวงกว้างระหว่างประเทศสมาชิก จุดมุ่งหมายของกองทุนคือการช่วยให้ศิลปินที่มีความสามารถ ทั้งมืออาชีพและระดับมือสมัครเล่น สามารถสร้างคุณค่าทางผลงานผ่านความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในหมู่ประชากรราว 26 ล้านคนหรือมากกว่านั้นในภูมิภาค กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศนอร์ดิกซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 1967 กองทุนได้รับเงินในรูปแบบของเงินช่วยเหลือประจำปีจากสภารัฐมนตรีนอร์ดิก

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก รวมถึงเขตปกครองตนเองของหมู่เกาะแฟโรและหมู่เกาะโอลันด์ มีการออกแบบธงชาติที่คล้ายคลึงกัน โดยทั้งหมดมีพื้นฐานมาจากธงชาติเดนมาร์ก

ดนตรี

ร็อกเซ็ตต์ ประสบความสำเร็จทั่วโลกในช่วงปลายทศวรรษ 1980
แอ็บบา วงดนตรีป็อปสัญชาติสวีเดน หนึ่งในวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเชิงพาณิชย์ในประวัติศาสตร์ดนตรีป็อป

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีประเพณีทางดนตรีร่วมกัน แม้หลายประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก ในรูปแบบดนตรีโฟล์กของเดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน และหมู่เกาะแฟโรมีแง่มุมที่คล้ายกันหลายประการ วัฒนธรรมชาวเอสกิโมของกรีนแลนด์มีปอัตลักษณ์ประเพณีทางดนตรีเป็นของตนเอง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมสแกนดิเนเวีย ฟินแลนด์มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมหลายประการกับประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ และเอสโตเนีย และชาวซามีมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีของตนเอง โดยมีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้างเคียง

ดนตรีเป็นเครื่องมือสะท้อนวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งในประเทศนอร์ดิก นอกจากโรงอุปรากรที่ดำเนินการโดยรัฐแล้ว ยังมีการแสดงออร์เคสตราในเมืองใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่อีกด้วย นักประพันธ์เพลงตามประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดจากประเทศนอร์ดิก ได้แก่ จีน ซิเบลิอุส (ฟินแลนด์), คาร์ล นีลเซน (เดนมาร์ก), เอ็ดวัด กริกก์ (นอร์เวย์) ในขณะที่นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง เช่น แมกนัส ลินด์เบิร์ก (ฟินแลนด์), ไคยา ซาเรียโฮ และอีซา-เพ็คกา ซาโลเนน มีผลงานการขึ้นแสดงในเวทีระดับโลกหลายครั้ง

ความนิยมในดนตรีร็อกได้รับอิทธิพลจาสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร และถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงการป็อปนอร์ดิก แต่อิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้านนอร์ดิกยังคงพบเห็นได้ในเพลงยอดนิยมในปัจจุบัน ลักษณะทั่วไปในเพลงป็อปนอร์ดิกคือ อาจเป็นได้ทั้งเพลงป๊อปที่มีเนื้อหา่อนคลาย หรือเพลงเมทัลที่เข้มข้น วงดนตรีที่มีชื่อเสียง เช่น เอซออฟเบส, ร็อกเซ็ตต์ (สวีเดน) และอควา (เดนมาร์ก) สวีเดนและฟินแลนด์อาจถือได้ว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพลงที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะสวีเดนซึ่งเป็นผู้ส่งออกเพลงป็อปรายใหญ่ที่สุดเทียบอัตราเฉลี่ยต่อหัว และใหญ่เป็นอันดับสามโดยรวมรองจากสหรัฐ และสหราชอาณาจักร ในขณะที่นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และเดนมาร์กก็ล้วนมีอุตสาหกรรมเพลงในประเทศที่ประสบความสำเร็จหลายปี

วงดนตรีนอร์ดิกเมทัลมีอิทธิพลยาวนานต่อวัฒนธรรมของเฮฟวีเมทัลควบคู่ไปกับวงดนตรีในสหราชอาณาจักรและสหรัฐ แบล็กเมทัลได้รับการพัฒนาในประเทศนอร์เวย์โดยวงดนตรีเช่นเมย์เฮม, เบอร์ซัม และ อิมมอร์ทัล แนวเพลงเฮฟวีเมทัลซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชาวไวกิงได้รับการพัฒนาในบางประเทศ

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ยอดขายรวมของเพลงในประเทศลดลงเกือบร้อยละ 50 ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกทั้งหมด และในขณะเดียวกันยอดขายทางดิจิทัลก็เพิ่มขึ้น (รับรวมทั้งการดาวน์โหลดออนไลน์ และสตรีมมิง) ในเดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ยอดขายเพลงดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 400 ตั้งแต่ปี 2006 และปัจจุบันอยู่ที่ 39, 27 และ 25 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมในปี 2010/2011 ในเดนมาร์กและสวีเดน ยอดขายเพลงดิจิทัลเพิ่มขึ้นเกือบแปดเท่าในช่วงเวลาเดียวกันและปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 51 ของยอดขายทั้งหมด ในขณะยอดขายทางช่องทางดิจิทัลยังคงมีเพียงสามเปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมดในประเทศไอซ์แลนด์[39]

กีฬา

ฟุตบอลทีมชาติสวีเดนในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 รอบคัดเลือก

กีฬาในประเทศนอร์ดิกได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศหนาวเย็น กีฬาอย่างฮอกกี้ รวมถึงกีฬาทางน้ำเป็นที่นิยมทั่วไปในทุกประเทศ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมโดยทั้งห้าประเทศมีลีกการแข่งขันอาชีพเป็นของตนเอง ทีมชาติเดนมาร์ก และสวีเดนมีส่วนร่วมในฟุตบอลโลกและฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหลายครั้ง นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงเป็นที่จดจำเช่น พีเตอร์ สไมเกิล และซลาตัน อิบราฮีมอวิช ประเทศในสแกนดิเนเวียยังประสบความสำเร็จในกีฬาท้าความเร็ว กีฬาอื่น ๆ เช่น เทนนิส และแบตมินตันเป็นที่นิมยมมากขึ้นตลอดหลายทศวรรษ นักเทนนิสที่มีชื่อเสียง เช่น คัสเปอร์ รืด (นอร์เวย์) และ คาโรลีเนอ วอสนีอากี (เดนมาร์ก) อดีตมือวางอันดับ 1 ของโลกในประเภทหญิงเดี่ยว

ศิลปะ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "Report for Selected Countries and Subjects". www.imf.org.
  2. "The next supermodel". The Economist. 2 February 2013. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 15 October 2016.
  3. "Definition of SCANDINAVIA". www.merriam-webster.com (ภาษาอังกฤษ).
  4. Nordic FAQ - 2 of 7 - NORDEN (อังกฤษ)
  5. Andrew Cave, Finding a Role in an Enlarged EU เก็บถาวร 2007-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Central Europe Review (อังกฤษ)
  6. Nordic Statistical Yearbook 2013 : Nordisk statistisk årsbok 2013. Nordic Council of Ministers. 2013.
  7. Kenworthy, Lane (2014-02). Social Democratic America (ภาษาอังกฤษ). OUP USA. ISBN 978-0-19-932251-0. {cite book}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  8. Sandbu, Martin (2018-08-28). "What the Nordic mixed economy can teach today's new left". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 2024-11-10.
  9. "Protestantismin the Scandinavian countries". museeprotestant.org.
  10. "Goth". Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica, Inc. 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 November 2021. สืบค้นเมื่อ 31 March 2020.
  11. Tarkiainen, Kari (2010). Ruotsin itämaa. Porvoo: Svenska litteratussällskapet i Finland. pp. 122–125. ISBN 9789515832122.
  12. "Kalmar War | Scandinavian Conflict, Union of Kalmar & Baltic Sea | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  13. "The Norwegian-Swedish War of 1814". www.napoleon-series.org.
  14. "Independence and union with Sweden in 1814". www.royalcourt.no (ภาษาอังกฤษ).
  15. "Second Northern War | Summary, Combatants, & Results | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). 2024-10-04.
  16. Kiderlin, Sophie (2024-03-07). "Sweden formally joins NATO military alliance, ending centuries of neutrality". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
  17. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. pp. 23–26. ISBN 978-92-893-2481-6.
  18. "Nordens dag". www.norden.no (ภาษานอร์เวย์).
  19. Tromsø, Av Odd Gaare, avdelingsleder for norsk og samfunnsfag, Kongsbakken vgs (2012-03-22). "50 år med «Nordens grunnlov»". Nordlys (ภาษานอร์เวย์).
  20. "About the Nordic Council — Nordic cooperation". web.archive.org. 2014-10-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-24. สืบค้นเมื่อ 2024-11-10.{cite web}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  21. "About the Nordic Council of Ministers — Nordic cooperation". web.archive.org. 2017-09-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-30. สืบค้นเมื่อ 2024-11-10.{cite web}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  22. Save the Children: State of the World's Mothers 2015. ISBN 1-888393-30-0
  23. Thompson, Wayne C. (2008). The World Today Series: Nordic, Central and Southeastern Europe 2008. Harpers Ferry, West Virginia: Stryker-Post Publications. ISBN 978-1-887985-95-6.
  24. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. p. 99. ISBN 978-92-893-2481-6.
  25. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. p. 101. ISBN 978-92-893-2481-6.
  26. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. p. 107. ISBN 978-92-893-2481-6.
  27. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. p. 35. ISBN 978-92-893-2481-6.
  28. Nordic statistical yearbook. 51.2013. NORD. Copenhagen: Nordic Council of Ministers. 2013. ISBN 978-92-893-2481-6.
  29. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. pp. 37–38. ISBN 978-92-893-2481-6.
  30. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. pp. 39–43. ISBN 978-92-893-2481-6.
  31. Tilastokeskus. "Statistics Finland". stat.fi (ภาษาอังกฤษ).
  32. "BBC - Languages - Languages". www.bbc.co.uk.
  33. "Language — Nordic cooperation". web.archive.org. 2014-07-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-21. สืบค้นเมื่อ 2024-11-10.{cite web}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  34. "About the indigenous Sami". Sanningskommissionen samer (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  35. "Experience Sami culture". www.visitnorway.com.
  36. "The Sami". Visit Northern Norway (ภาษาอังกฤษ).
  37. "Sami | People, History, & Lifestyle | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). 2024-10-23.
  38. Haagensen, Klaus Munch (2013). Nordic Statistical Yearbook. Nordic Council. p. 94. ISBN 978-92-893-2481-6.
  39. Nordic statistical yearbook. 51.2013. NORD. Copenhagen: Nordic Council of Ministers. 2013. ISBN 978-92-893-2481-6.

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

64°00′N 10°00′E / 64.000°N 10.000°E / 64.000; 10.000