ฮิปโปโปเตมัสแคระ

ฮิปโปโปเตมัสแคระ
ฮิปโปโปเตมัสแคระในสวนสัตว์เอดินบาระ
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix II (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กีบคู่
วงศ์: ฮิปโปโปเตมิดี
วงศ์ย่อย: ฮิปโปโปเตมินี

Leidy, 1853
สกุล: ฮิปโปโปเตมัสแคระ

(Morton, 1849)[3]
สปีชีส์: Choeropsis liberiensis
ชื่อทวินาม
Choeropsis liberiensis
(Morton, 1849)[3]
Subspecies
  • C. l. liberiensis
  • C. l. heslopi
Range map[1]
ชื่อพ้อง[1]
  • Hexaprotodon liberiensis

ฮิปโปโปเตมัสแคระ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ฮิปโปแคระ (อังกฤษ: Pygmy hippopotamus; ชื่อวิทยาศาสตร์: Choeropsis liberiensis) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินพืชชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamidae)

ฮิปโปโปเตมัสแคระ จัดเป็นสัตว์เพียง 1 ใน 2 ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์นี้ ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน อีกชนิดหนึ่งนั้นคือ ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus amphibius) ซึ่งถือเป็นญาติสนิท[4] โดยทั้ง 2 ชนิดนั้นแยกออกจากกันเมื่อราว 1–2 ล้านปีก่อน[5]

ฮิปโปโปเตมัสแคระมีรูปร่างทั่วไปคล้ายฮิปโปโปเตมัส แต่ว่ามีรูปร่างแตกต่างกันมากทีเดียว โดยมีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของฮิปโปโปเตมัสเท่านั้น มีความสูงจากกีบเท้าจนถึงหัวไหล่ไม่เกิน 1 เมตร (3 ฟุต) มีความยาวลำตัวประมาณ 75–100 เซนติเมตร (2.46–3.28 ฟุต) และน้ำหนักประมาณ 180–275 กิโลกรัม (397–606 ปอนด์[6]) ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่านี่เป็นผลมาจากการวิวัฒนาการเพื่อให้ฮิปโปโปเตมัสแคระมีความเหมาะสมกับการอาศัยหรือหากินบนบกมากกว่า[5] อายุขัยไม่เป็นที่ทราแน่นอน แต่อายุในที่เลี้ยงสูงสุด 30–55 ปี เชื่อว่าในธรรมชาติไม่น่าจะมีอายุได้ยาวนานขนาดนี้[7]

มีสีผิวที่เข้มกว่าฮิปโปโปเตมัส คือ มีสีเขียวเข้มหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนหัวกลมกว่าฮิปโปโปเตมัส ส่วนหลังโค้งขึ้นและลาดต่ำลงมาทางก้น ผิวหนังเรียบลื่น ตามลำตัวแทบไม่มีขน ยกเว้นขนเพียงไม่กี่เส้น ที่บริเวณริมฝีปากและหาง เบ้าตาอยู่ด้านข้างของหัว ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า ฮิปโปโปเตมัสแคระมีเหงื่อใส ไม่เข้มเป็นสีแดงเหมือนเลือดแบบฮิปโปโปเตมัส[8] แต่ความจริงแล้ว ฮิปโปโปเตมัสแคระก็มีเหงื่อเป็นสีแดงเหมือนเลือดแบบฮิปโปโปเตมัส นั่นคือ สารคัดหลั่งสีเข้มที่ร่างกายฮิปโปโปเตมัสผลิตออกมาจากต่อมใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันแสงแดดและรังสียูวี เนื่องจากผิวหนังของฮิปโปโปเตมัสนั้นบอบบางมาก[9]

นอกจากนี้แล้ว ฮิปโปโปเตมัสแคระ ยังมีอุปนิสัยและพฤติกรรมต่างจากฮิปโปโปเตมัสอีกด้วย กล่าวคือ เป็นสัตว์ที่รักสันโดษ อยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว ขี้อาย และหวาดกลัวมนุษย์ เป็นสัตว์ที่แม้ประสาทการมองเห็นไม่ดี แต่ประสาทการดมกลิ่นนั้นดีเยี่ยม กินอาหารจำพวก พืชผักชนิดต่าง ๆ เช่น มันเทศ, ผลไม้ที่หล่นตามพื้น, หญ้า รวมถึงกินดินโป่งเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ร่างกายเหมือนกับสัตว์กินพืชชนิดอื่นด้วย[10] โดยจะพบกระจายพันธุ์ได้เฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำในป่าดิบชื้นของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น คือ แถบประเทศไลบีเรีย, กินี, เซียร์ราลีโอน และโกตดิวัวร์ รวมถึงอาจสูญพันธฺุ์ไปแล้วที่ไนจีเรีย[1] พฤติกรรมโดยทั่วไปยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด รวมถึงมีภาพบันทึกความเป็นอยู่ในธรรมชาติทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น เท่าที่ทราบ คือ เป็นสัตว์หากินกลางคืน ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวหรือแช่น้ำ จะรวมตัวกันเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ มีแหล่งอาศัยโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าที่แหลมยาวขุดโพรงดินริมตลิ่งน้ำใช้เป็นที่อยู่อาศัย ในที่ ๆ มีกิ่งไม้หรือรากไม้หรือวัสดุธรรมชาติต่าง ๆ มาปกปิดไว้ ความยาวของโพรงอาจยาวได้ถึง 9 เมตร นับว่าใหญ่กว่าขนาดตัวของฮิปโปโปเตมัสแคระมาก และอาจมีทางเข้ามากกว่าหนึ่งทาง โดยจะดำน้ำเข้าไป และเชื่อว่าใช้เป็นที่เลี้ยงดูลูกอ่อนด้วย[10]

ลักษณะของหัวกะโหลก
ฮิปโปโปเตมัสแคระคู่

แม้ฮิปโปโปเตมัสแคระจะเป็นสัตว์ที่สันโดษ อยู่อาศัยและหากินเพียงตัวเดียว แต่จากการศึกษาก็พบว่า ฮิปโปโปเตมัสแคระสามารถใช้เส้นทางการหากินร่วมกันมากกว่าหนึ่งตัวได้ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย แม้จะไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ฮิปโปโปเตมัสแคระมีการประกาศอาณาเขตด้วยการถ่ายปัสสาวะและมูลโดยใช้หางสะบัดใส่ตามโคนต้นไม้หรือตามทางเดินหาอาหาร และมีทฤษฎีว่า ฮิปโปโปเตมัสแคระมีพฤติกรรมในการปล่อยฟีโรโมนคล้ายแมว เมื่อฮิปโปโปเตมัสแคระตัวเดิมเดินมาพบกับฟีโรโมนของตัวเอง จะเป็นแรงกระตุ้นให้รู้สึกสดชื่นและคึกคัก[10]

ปัจจุบัน สถานะในธรรมชาติของฮิปโปโปเตมัสแคระจัดว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งยังถูกล่าเพื่อเอาเนื้อมาบริโภค และนำหนังมาทำเป็นแส้ของชาวพื้นเมืองแอฟริกาด้วย โดยฮิปโปโปเตมัสแคระมีการคุ้มครองที่อุทยานแห่งชาติตาอีในโกตดิวัวร์ แต่ในไลบีเรียที่อยู่ติดกันกลับไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เนื้อของฮิปโปโปเตมัสแคระนั้นมีรสชาติอร่อยเหมือนเนื้อหมูป่า จึงนิยมซื้อขายกันในตลาดค้าสัตว์ป่าเถื่อน[10]

ฮิปโปโปเตมัสแคระ ในธรรมชาติปัจจุบันเหลือเพียงไม่เกิน 3,000 ตัว[10] แต่ส่วนที่เลี้ยงในสวนสัตว์ทั่วทั้งโลกมีประมาณ 350 ตัว[10] และมีการคลอดลูก ในประเทศไทยมีเลี้ยงเช่นที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์เชียงใหม่ [11][12] โดยชื่อเรียกสามัญในภาษาอังกฤษคล้ายกับวัว คือ ตัวผู้เรียกว่า bull ตัวเมียเรียกว่า cow ขณะที่ลูกฮิปโปโปเตมัสแคระเรียกว่า calf ส่วนฝูงฮิปโปโปเตมัสแคระเรียกว่า herd หรือ bloa[13]

ฮิปโปโปเตมัสแคระที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยคือ หมูเด้ง อายุ 0 ปี 219 วัน ฮิปโปโปเตมัสแคระเพศเมียมีชื่อเสียงขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 อาศัยอยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีชื่อเสียงจากการที่มีภาพของหมูเด้งเป็นอินเทอร์เน็ตมีม[14]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Ransom, C.; Robinson, P.T.; Collen, B. (2015). "Choeropsis liberiensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T10032A18567171. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-2.RLTS.T10032A18567171.en. สืบค้นเมื่อ 27 August 2021.
  2. "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
  3. คำเตือนการอ้างอิง: <ref> tag with name ASM cannot be previewed because it is defined outside the current section or not defined at all.
  4. Laws, Richard (1984). Macdonald, D. (บ.ก.). The Encyclopedia of Mammals. New York: Facts on File. pp. 506–511. ISBN 0-87196-871-1.
  5. 5.0 5.1 ""เนชันแนล จีโอกราฟฟิก" นิตยสารสารคดีระดับโลก ร่วมเกาะกระแส "หมูเด้ง"". ไทยรัฐ. 2024-09-19. สืบค้นเมื่อ 2024-09-20.
  6. Macdonald, D. (2001). The New Encyclopedia of Mammals. Oxford University Press, Oxford. ISBN 0198508239.
  7. Eltringham, S. Keith (1999). The Hippos. London: Academic Press. ISBN 0-85661-131-X.
  8. "ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน". dictionary.sanook.com/. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  9. ทวีสูงส่ง, จิราภพ (2024-09-20). "รู้ไหม ? "ฮิปโปฯ" มีเหงื่อสีแดง". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 2024-09-13.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 "ท่องโลกกว้าง: ปฏิบัติการฮิปโปแคระ". ไทยพีบีเอส. 19 January 2015. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.[ลิงก์เสีย]
  11. "ลูกฮิปโปแคระ". ไทยรัฐ. 29 September 2014. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  12. "เชียงใหม่เปิดตัวสมาชิกใหม่ ลูกฮิปโปแคระ". ข่าวสด. 28 August 2015. สืบค้นเมื่อ 29 August 2015.
  13. List of animal names
  14. "ต้านไม่ไหวซุปตาร์ "หมูเด้ง" ฮิปโปแคระเขาเขียว". Thai PBS.

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Choeropsis liberiensis ที่วิกิสปีชีส์