ชิงกันเซ็ง
ชิงกันเซ็ง (ญี่ปุ่น: 新幹線; โรมาจิ: shinkansen, แปล: สายทางไกลสายใหม่) เป็นชื่อเรียกเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่นซึ่งดำเนินงานโดย 4 กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น สายแรกที่เปิดใช้งานคือ โทไกโดชิงกันเซ็ง (515.4 กม.) ในปี ค.ศ. 1964 จากนั้นเป็นต้นมา เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซ็งก็ได้ถูกขยายออกไปทั่วประเทศ ด้วยระยะทางรวมกว่า 2,951.3 กม. และวิ่งด้วยความเร็ว 240–320 กม./ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีสาย มินิชิงกันเซ็ง สั้น ๆ ความยาว 10.3 กม. ที่วิ่งด้วยความเร็ว 130 กม./ชั่วโมง
รถไฟชิงกันเซ็งให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วยความเร็วสูงสุด 320 กม./ชั่วโมง แม้ว่าจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 443 กม./ชั่วโมงในการทดสอบเมื่อ ค.ศ. 1996 และรถไฟชิงกันเซ็งยังทำลายสถิติรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกด้วยความเร็วถึง 603 กม./ชั่วโมง ในการทดสอบขบวนแม็กเลฟ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2015
ประวัติ
ชิงกันเซ็งได้ต้นแบบการพัฒนามาจากรถไฟความเร็วสูง ซีเมนส์ ของ เยอรมนี ญี่ปุ่นมีความต้องการสร้างรางรถไฟที่รองรับรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูง เนื่องจากภูมิประเทศของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยภูเขาเป็นจำนวนมาก การสร้างเส้นทางรถไฟปกติจึงมีความคดเคี้ยว นอกจากนั้นเส้นทางรถไฟที่มีอยู่ในขณะนั้นมีความกว้างแบบแคบ คือ 1,067 มิลลิเมตร (แนร์โรว์เกจ) ทำให้รถไฟไม่สามารถเร่งให้มีความเร็วสูงกว่านี้ได้ จึงได้สร้างทางรถไฟความเร็วสูงขึ้นมาอย่างจริงจังเป็นประเทศแรกในโลก ต่อมา ญี่ปุ่นมีความต้องการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงมากกว่าความต้องการสร้างของประเทศที่มีระบบรางรถไฟความกว้างมาตรฐานอยู่แล้วและญี่ปุ่นนั้นก็มีศักยภาพในการปรับปรุงระบบรถไฟให้ทันสมัยมากกว่าอีก
จุดประสงค์แรก
ชื่อเรียกอีกชื่อที่คุ้นหูกันดีสำหรับชิงกันเซ็งนี้คือ รถไฟหัวกระสุน (bullet train) ซึ่งเป็นความหมายของคำในภาษาญี่ปุ่นว่า ดังงัง เร็ชชะ (弾丸列車) ต่อมาชื่อนี้ได้นำมาเรียกเป็นชื่อเล่นของโครงการตั้งแต่ตอนเริ่มต้นปรึกษาหารือความเป็นไปได้ของโครงการในราวทศวรรษที่ 1930 ชื่อนี้ได้มาจากลักษณะของหัวรถจักรที่มีลักษณะคล้ายกับหัวกระสุนปืนและยังมีความเร็วสูงเหมือนกระสุนปืน
คำว่า "ชิงกันเซ็ง" มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1940 เพื่อใช้เรียกเส้นทางที่สร้างขึ้นเพื่อเดินรถไฟโดยสาร/สินค้าจากกรุงโตเกียวไปยังชิโมะโนะเซะกิ โดยการใช้พลังงานไอน้ำและหัวรถจักรไฟฟ้าที่สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นสามปีต่อมา รัฐมนตรีรถไฟได้ผลักดันให้เกิดโครงการขยายทางรถไฟไปสู่กรุงปักกิ่ง (โดยการเจาะอุโมงค์ผ่านคาบสมุทรเกาหลี) หรือยาวไปจนถึงสิงคโปร์ ไปจนถึงการสร้างทางรถไฟเชื่อมกับทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียและทางรถไฟสายอื่น ๆ ของเอเชีย แต่แผนดังกล่าวได้มีการยกเลิกในปี ค.ศ. 1943 และสภาวะของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างบางส่วนก็ได้รับการพัฒนาต่อ เช่น อุโมงค์บางส่วนได้มาการนำมาใช้สำหรับชิงกันเซ็งในปัจจุบันนับตั้งแต่มีการสร้างครั้งแรกในช่วงสงคราม
การก่อสร้าง
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง รถไฟความเร็วสูงก็ได้เลือนหายไปจากความทรงจำของคนญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปี ต่อมากลางทศวรรษที่ 1950 ทางรถไฟสายหลักโทไกโดะก็ถูกใช้งานมาจนเต็มขีดความสามารถแล้ว รัฐมนตรีรถไฟของญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจกลับมาทบทวนโครงการชิงกันเซ็งอีกครั้ง รัฐบาลได้อนุมัติโครงการเมื่อปี 1958 การก่อสร้างทางรถไฟส่วนแรกของ โทไกโดชิงกันเซ็ง ระหว่างกรุงโตเกียวไปยังโอซากะก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 การก่อสร้างทางรถไฟครั้งนี้ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารโลกเป็นจำนวนเงิน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 1962 ได้มีพิธีเปิดการทดสอบระบบเพื่อการขนสินค้าเป็นครั้งแรกในบางส่วนของเส้นทางนี้ ที่เมืองโอดาวาระ จังหวัดคะนะงะวะ
โทไกโดชิงกันเซ็ง ได้เปิดใช้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ซึ่งทันเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ณ กรุงโตเกียวพอดี ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จทันทีทีเปิดใช้บริการ โดยมีจำนวนผู้โดยสารถึง 100 ล้านคนในเวลาน้อยกว่า 3 ปีคือวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) และยอดผู้โดยสารรวมมีจำนวนถึง 1,000 ล้านคนในปี 1976 และรถไฟขบวนโดยสาร 16 ตู้ก็ได้นำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการปี 70 ที่โอซากะ
รถไฟชิงกันเซ็งขบวนแรกวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[1] หลังจากนั้นก็เพิ่มเป็น 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟบางขบวนที่มีรูปร่างเป็นหัวกระสุนนั้นยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และหัวรถจักรคันหนึ่งในจำนวนนี้ปัจจุบันได้นำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติ ที่เมืองยอร์ค สหราชอาณาจักร
การต่อขยายเส้นทาง
หลังจากในช่วงแรกประสบความสำเร็จ จึงพร้อมที่จะต่อขยายเส้นทางเดินรถไฟออกไปทางตะวันตก โดยมีจุดหมายไปยังฮิโระชิมะและฟุกุโอะกะ (ซันโยชิงกันเซ็ง) จนแล้วเสร็จในปี 1975
คาคุเออิ ทานากะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างมาก รัฐบาลชุดนี้ตั้งเป้าว่าจะต่อขยายรางรถไฟที่มีอยู่ให้กลายเป็นรางรถไฟรางคู่ขนานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เส้นทางใหม่ 2 แห่งแรกคือ โทโฮกุ ชิงกันเซ็ง และโจเอสึ ชิงกันเซ็ง ทั้งสองเส้นทางนี้สร้างขึ้นตามแผนการของรัฐบาลชุดนี้ หลังจากนั้นแผนการต่อขยายในเส้นทางอื่น ๆ ก็ถูกระงับชั่วคราวหรือถูกยกเลิกไปทั้งหมดขณะที่กิจการรถไฟแห่งชาติเริ่มเข้าสู่ภาวะเป็นหนี้มหาศาลเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเครือข่ายชิงกันเซ็งทั่วประเทศนั้นเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว ในราวทศวรรษที่ 1980 การรถไฟญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเกือบจะล้มละลาย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นหน่วยงานเอกชนในที่สุด เมื่อปี 1987
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนารถไฟชิงกันเซ็งก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอด มีต้นแบบรถที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละรุ่นออกมาเสมอ ตอนนี้ รถไฟชิงกันเซ็งสามารถทำความเร็วได้ถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก้าวขึ้นมาเทียบเท่ารถไฟความเร็วสูงระดับโลกไม่ว่าจะเป็น TGV ของฝรั่งเศส, TAV ของอิตาลี, AVE ของอิตาลี และ ICE ของเยอรมนี
นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 1970 ญี่ปุ่นยังได้พัฒนาชุโอะ ชิงกันเซ็ง ซึ่งเป็นรถไฟพลังแม่เหล็ก (แม็กเลฟ) ที่พัฒนามาจากรถไฟความเร็วสูงพลังแม่เหล็ก (Maglev) ของเยอรมนี โดยกำหนดว่าจะวิ่งจากโตเกียวไปยังโอซากะ ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2003 รถไฟพลังแม่เหล็กขนาดสามตู้รถไฟ ชื่อ JR-Maglev MLX01
สถิติด้านความปลอดภัย
ระหว่างการใช้งานกว่า 40 ปีเต็ม จำนวนยอดผู้โดยสารกว่า 6 ล้านคนมาแล้ว ชิงกันเซ็งก็ไม่เคยมีประวัติว่ามีผู้โดยสารเสียชีวิตเนื่องจากรถไฟตกรางหรือรถไฟชนกัน(รวมไปถึงอุบัติเหตุแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่น) มีเพียงการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากประตูรถไฟงับผู้โดยสารหรือสัมภาระของผู้โดยสารเท่านั้น เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สถานีเพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็เคยมีประวัติผู้โดยสารฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในรางขณะที่รถไฟกำลังเทียบชานชาลาหรือกระโดดออกจากรถไฟก่อนที่รถไฟจะจอด
ชิงกันเซ็งช่วงที่กำลังรับส่งผู้โดยสารนั้นเคยตกรางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในชูเอะสึ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2004 ตอนโดยสารจำนวน 8 ตอนจากทั้งหมด 10 ตอนของรถไฟหมายเลข 325 สาย โจเอ็ทสุ ชิงกันเซ็ง ตกรางใกล้ ๆ กับสถานีนะงะโอะกะ ในเมืองนะงะโอะกะ จังหวัดนีงาตะ แต่ผู้โดยสารทั้ง 154 คนไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด[1]PDF (43.8 KiB) ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวสามารถสั่งการให้รถไฟหยุดได้อย่างรวดเร็ว
ชิงกันเซ็งในอนาคต
ปัญหาอย่างหนึ่งของชิงกันเซ็งคือ ยิ่งเพิ่มความเร็วมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มีมลพิษทางเสียงมากขึ้นและแก้ไขได้ยากขึ้นอีกด้วย การศึกษาวิจัยในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นในเรื่องการลดเสียงดังที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงที่เกิดขึ้นในอุโมงค์ หรือ tunnel boom อันเกิดจากการที่รถไฟวิ่งออกจากอุโมงค์ด้วยความเร็วสูง
บริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออกได้ประกาศว่ารถไฟขบวนใหม่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะนำมาใช้ในการเปิดตัวโทโฮกุชิงกันเซ็ง ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากฮะชิโนะเฮะไปยังอาโอโมริในช่วงต้นปี 2011 แต่จากการทดลองวิ่งรถไฟ Fastech 360 พบว่า ที่ความเร็ว 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นยังมีปัญหาอยู่ที่มลพิษทางเสียง สายส่งเหนือรถไฟ และระยะหยุดรถ ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดของการเทคโนโลยีชิงกันเซ็งในปัจจุบันก็ว่าได้ ในที่สุด ก็มีการนำเอาเทคโนโลยีรถไฟพลังแม่เหล็กหรือเทคโนโลยีอื่นมาทดแทน หากสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจากอุตสึโนะมิยะไปยังอาโอโมริแล้วก็จะทำให้สามารถเดินทางจากโตเกียวไปยังอาโอโมริได้โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น (ระยะทางประมาณ 675 กิโลเมตรหรือ 419 ไมล์)
นอกจากนั้น ผู้บริหารของการรถไฟแห่งญี่ปุ่นสายกลางก็ได้ประกาศแผนการที่จะสร้างรถไฟพลังแม่เหล็ก ชูโอะ ชิงกันเซ็ง ให้สามารถเดินทางจากโตเกียวไปยังนาโกย่าภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงให้ได้ (ระยะทางประมาณ 366 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ภายในปี 2027
รายชื่อเส้นทางชิงกันเซ็ง
สาย | ต้นทาง | ปลายทาง | ระยะทาง | ผู้ให้บริการ | เปิดให้บริการ | ผู้โดยสารต่อปี (2018) [2] | |
---|---|---|---|---|---|---|---|
km | mi | ||||||
โทไกโดชิงกันเซ็ง | โตเกียว | ชินโอซากะ | 515.4 | 320.3 | JR ตอนกลาง | 1964 | 174,171,000 |
ซันโยชิงกันเซ็ง | ชินโอซากะ | ฮากาตะ | 553.7 | 344.1 | เจอาร์เวสต์ | 1972–1975 | 76,007,000 |
โทโฮกุชิงกันเซ็ง | โตเกียว | ชินอาโอโมริ | 674.9 | 419.4 | เจอาร์ตะวันออก | 1982–2010 | 93,489,000 |
โจเอ็ตสึชิงกันเซ็ง | โอมิยะ | นีงาตะ | 269.5 | 167.5 | 1982 | 44,452,000 | |
โฮกูริกุชิงกันเซ็ง | ทะกะซะกิ | สึรูงะ | 470.6 | 292.4 | เจอาร์ตะวันออก เจอาร์เวสต์ |
1997–2024 | 31,670,000 |
คีวชูชิงกันเซ็ง | ฮากาตะ | คาโงชิมะชูโอ | 256.8 | 159.6 | JR คีวชู | 2004–2011 | 14,488,000 |
นิชิคีวชูชิงกันเซ็ง | ทาเกโอะ-อนเซ็ง | นางาซากิ | 66.0 | 41.0 | 2022 | ||
ฮกไกโดชิงกันเซ็ง | ชินอาโอโมริ | ชินฮาโกดาเตะโฮกูโตะ | 148.8 | 92.5 | เจอาร์ฮกไกโด | 2016 | 1,601,000 |
ในทางปฏิบัติ ทางรถไฟสายโทไกโด ซันโย และคิวชู เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกันระหว่างทิศตะวันตก/ทิศใต้จากโตเกียว ขบวนที่วิ่งระหว่างสายโทไกโดและซันโย และขบวนระหว่างสายซันโยและคิวชู แม้ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรถไฟคนละบริษัทก็ตาม
ทางรถไฟสายโทไกโดชิงกันเซ็งไม่ได้เชื่อมต่อกับสายของโทโฮกุชิงกันเซ็งที่สถานีโตเกียว เนื่องจากใช้มาตรฐานการจ่ายไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีขบวนผ่านระหว่างสายเหล่านั้น ขบวนที่มุ่งหน้าไปทางเหนือทั้งหมดจากโตเกียว จะเดินทางไปตามเส้นทางโทไกโดชิงกันเซ็งจนถึงโอมิยะเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟที่มีการเปลี่ยนขนาดรางจาก 1.067 เมตร เป็น 1.435 เมตร เพื่อให้รถไฟชิงกันเซ็งสามารถวิ่งได้เรียกว่า มินิชิงกันเซ็ง มีทั้งหมด 2 สาย ได้แก่
- สายยามางาตะ ชิงกันเซ็ง (ฟูกูชิมะ – ชินโจ)
- สายอากิตะ ชิงกันเซ็ง (โมริโอกะ – อากิตะ)
และยังมีเส้นทางรถไฟอีกสองสายที่มีรางขนาดมาตรฐาน แต่ไม่จัดว่าเป็นเส้นทางของชิงกันเซ็งแต่ก็มีการให้บริการชิงกันเซ็งอยู่ ได้แก่
- สายฮากาตะ มินะมิ (ฮากาตะ - ฮากาตะ-มินะมิ)
- สายกาลายุซะวะ เป็นสาขาของสายโจเอะสึ (เอะชิโกะยูซะวะ - กาลายูซะวะ)
เส้นทางที่กำลังก่อสร้าง
เส้นทางเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า เซะอิบิ ชิงกันเซ็ง (整備新幹線) หรือ "ชิงกันเซ็งที่วางโครงการไว้แล้ว" (planned Shinkansen) กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ได้แก่
- ฮกไกโด ชิงกันเซ็ง เชื่อมต่อจากฮาโกดาเตะไปยังซัปโปะโระ กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดใช้บริการในปี ค.ศ. 2030
- ชูโอ ชิงกันเซ็ง เป็นทางรถไฟประเภทแม็กเลฟ เส้นทางระหว่างโตเกียว–โอซากะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงที่ 1 ระหว่างโตเกียว–นาโงยะ โดยบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตอนกลาง ประกาศตั้งเป้าจะเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 2027
เส้นทางในอนาคต
- ส่วนต่อขยายของโฮะกุริกุ ชิงกันเซ็ง จากสึรุงะผ่านโอบามะ–เกียวโต–โอซากะ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 2030
- นิชิคีวชู ชิงกันเซ็ง ช่วงที่ 2 ระหว่างทาเกโอะ–ออนเซ็น ไปยังฮากาตะ ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนที่จะกำหนดการก่อสร้างและเปิดใช้งาน
- ชูโอ ชิงกันเซ็ง ส่วนต่อขยายระหว่างนาโงยะ–โอซากะ ตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 2037
เส้นทางที่ยกเลิกไปแล้ว
ในช่วงทศวรรษ 1970 มีแผนที่จะสร้างนาริตะ ชิงกันเซ็ง เพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ต่อมาได้ยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1983 หลังจากมีการชุมนุมประท้วงของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่
ชิงกันเซ็งรุ่นต่าง ๆ
รถไฟชิงกันเซ็งสามารถพ่วงได้ยาวถึง 16 ตอน แต่ละตอนมีความยาว 25 เมตร และรถไฟชิงกันเซ็งที่ยาวที่สุดมีความยาว 400 เมตรวัดจากหัวขบวนถึงท้ายขบวน สถานีรถไฟจึงต้องมีความยาวเพียงพอสำหรับรถไฟชิงกันเซ็งเหล่านี้ด้วย
- รถไฟโดยสาร
- 0 ซีรีส์
- 100 ซีรีส์
- 200 ซีรีส์
- 300 ซีรีส์
- 400 ซีรีส์ (มินิชิงกันเซ็ง)
- 500 ซีรีส์
- 700 ซีรีส์
- 700T ซีรีส์ (รถไฟความเร็วสูงของไต้หวัน หรือ ไต้หวัน ชิงกันเซ็ง)
- N700 ซีรีส์
- 800 ซีรีส์
- E1 ซีรีส์
- E2 ซีรีส์
- E3 ซีรีส์ (มินิชิงกันเซ็ง)
- E4 ซีรีส์
- E5 ซีรีส์
- E6 ซีรีส์ (มินิชิงกันเซ็ง)
- W7/E7 ซีรีส์
- รถไฟทดลองวิ่ง
- คลาส 1000
- คลาส 951
- คลาส 961
- คลาส 962
- คลาส 500-900 (WIN 350)
- คลาส 952/953 (STAR 21)
- คลาส 955 (300X)
- คลาส E954 (FASTECH 360 S)
- คลาส E955 (FASTECH 360 Z) (มินิชิงกันเซ็ง)
- รถไฟพลังแม่เหล็ก
- LSM200 - 1972
- ML100 - 1972
- ML100A - 1975
- ML-500 - 1977
- ML-500R - 1979
- MLU001 - 1981
- MLU002 - 1987
- MLU002N - 1993
- MLX01 - 1996
เทคโนโลยีชิงกันเซ็งในต่างประเทศ
รถไฟที่ใช้เทคโนโลยีของชิงกันเซ็งไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น
- รถไฟความเร็วสูงไต้หวัน วิ่งด้วยรถไฟซีรีส์ 700T ดำเนินการโดยบริษัทอุตสาหกรรมหนักคาวาซากิ
- รถไฟความเร็วสูงจีน นำเข้ารถไฟที่มีความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขนาด 8 ตอนจำนวน 60 ขบวน ซึ่งเป็นรถไฟซีรีส์ E2-1000 ชื่อว่า CRH -2
- Class 395 สร้างด้วยเทคโนโลยีของชิงกันเซ็งโดยบริษัทฮิตาชิ นำไปให้บริการเป็นรถไฟความเร็วสูงสาย 1 ในสหราชอาณาจักร
สถิติความเร็ว
กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ไมล์ต่อชั่วโมง) |
รถไฟ | สถานที่ | วันที่ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
200 (124.3) | ชิงกันเซ็ง คลาส 1000 | รางทดสอบโอดาวาระ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโทไกโดชิงกันเซ็ง | 31 ตุลาคม ค.ศ. 1962 | |
256 (159.1) | ชิงกันเซ็ง คลาส 1000 | รางทดสอบโอดาวาระ | 30 มีนาคม ค.ศ. 1963 | เคยเป็นสถิติโลก |
286 (177.7) | ชิงกันเซ็ง คลาส 951 | ซันโยชิงกันเซ็ง | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 | เคยเป็นสถิติโลก |
319.0 (198.2) | ชิงกันเซ็ง คลาส 961 | รางทดสอบโอยะมะ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ โทโฮกุ ชิงกันเซ็ง | 7 ธันวาคม ค.ศ. 1979 | เคยเป็นสถิติโลก |
325.7 (202.4) | ชิงกันเซ็ง ซีรีส์ 300 รุ่นทดสอบ | โทไกโดชิงกันเซ็ง | 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 | |
352.0 (218.7) | คลาส 952/953 รุ่นทดสอบ | โจเอะสึชิงกันเซ็ง | 30 ตุลาคม ค.ศ. 1992 | |
425.0 (264.1) | คลาส 952/953 รุ่นทดสอบ | โจเอะสึชิงกันเซ็ง | 21 ธันวาคม ค.ศ. 1993 | |
426.6 (265.1) | คลาส 955 (300X) รุ่นทดสอบ | โทไกโดชิงกันเซ็ง | 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1996 | |
443.0 (275.3) | คลาส 955 (300X) รุ่นทดสอบ | โทไกโดชิงกันเซ็ง | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1996 |
รวมภาพชิงกันเซ็ง
-
ซีรีส์ 100
-
ซีรีส์ 200
-
ซีรีส์ 300
-
ซีรีส์ 400
-
ซีรีส์ 500
-
ซีรีส์ N700
-
ซีรีส์ E1
-
Doctor-Yellow
-
Fastech 360S
-
ซีรีส์ W7/E7
-
ภายใน ซีรีส์ 500 ordinary class
-
ภายใน ซีรีส์ N700 Green class
-
ภายใน ซีรีส์ 800 ordinary class
อ้างอิง
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-22. สืบค้นเมื่อ 2008-02-09.
- ↑ "鉄道輸送統計調査(平成30年度、国土交通省) Rail Transport Statistics (2018, Ministry of Land, Infrastructure and Transport) (Japanese)". Mlit.go.jp. สืบค้นเมื่อ 11 August 2022.
- Hood, Christopher P. (2006). Shinkansen – From Bullet Train to Symbol of Modern Japan. London: Routledge. ISBN 0-415-32052-6 (hb) or ISBN 0415444098. (pb)
- Hood, Christopher P. (2007). Shinkansen – From Bullet Train to Symbol of Modern Japan. Routledge, London. pp. 18–43. ISBN 9-78-0-415-32052-8.
- Semmens, Peter (1997). High Speed in Japan: Shinkansen - The World's Busiest High-speed Railway. Sheffield, UK: Platform 5 Publishing. ISBN 1-872524-88-5.