สภาผู้แทนราษฎรไทย
สภาผู้แทนราษฎรแห่งราชอาณาจักรไทย | |
---|---|
สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 | |
ตรารัฐสภาไทย | |
ประเภท | |
ประเภท | |
ผู้บริหาร | |
รองประธานคนที่ 1 | |
รองประธานคนที่ 2 | |
ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล | |
ประธานวิปฝ่ายค้าน | |
โครงสร้าง | |
สมาชิก | 500 |
กลุ่มการเมือง | ฝ่ายรัฐบาล
|
คณะกรรมาธิการ | 35 คณะ |
ระยะวาระ | ไม่เกิน 4 ปี |
การเลือกตั้ง | |
แบบคู่ขนาน แบ่งเขตเลือกตั้ง (400) บัญชีรายชื่อ (100) | |
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด | 14 พฤษภาคม 2566 |
การเลือกตั้งครั้งหน้า | ไม่ช้ากว่า 27 มิถุนายน 2570 |
ที่ประชุม | |
ห้องประชุมพระสุริยัน สัปปายะสภาสถาน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย | |
เว็บไซต์ | |
เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความว่าด้วย |
การเมืองไทย |
---|
สถานีย่อยประเทศไทย |
สภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นสภาล่างของรัฐสภาไทย และเป็นสภานิติบัญญัติของรัฐบาลไทย ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 500 คน แบ่งการได้มาออกเป็น 2 แบบ ได้แก่แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยให้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน ทั้งนี้อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่โดยตรงในทางนิติบัญญัติ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การตั้งกระทู้ถาม และการเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
อำนาจหน้าที่
การตรากฎหมาย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
- ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย (ตามมาตรา 131 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
- คณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
- การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
- การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131
- ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
- ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าวในการนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
พระราชบัญญัติ
- ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย (ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
- คณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 4 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอที่มิใช่คณะรัฐมนตรีเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
- การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (ตามมาตรา 134 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
- เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน ทั้งนี้เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา
คุณสมบัติ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 97 บัญญัติให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
- เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
- ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
- เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
- เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
- เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
ลักษณะต้องห้าม
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 98 บัญญัติให้บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
- เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
- อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
- เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม
ลำดับชุดสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ | จำนวนสมาชิก | ระยะการดำรงตำแหน่ง | การสิ้นสุดสมาชิกสภาพ | รัฐธรรมนูญ | หมายเหตุ (เลือกตั้ง/ครม.) |
---|---|---|---|---|---|
ชั่วคราว | 70 | 28 มิถุนายน 2475 – 6 ธันวาคม 2476 | มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก | พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 | มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดคณะทหาร |
1 | 156 | 15 พฤศจิกายน 2476 – 10 กันยายน 2480 | ครบวาระ | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมและมี ส.ส. จากการแต่งตั้งด้วย ครม. 4 ครม. 5 ครม. 6 ครม. 7 |
2 | 156 | 7 พฤศจิกายน 2480 – 11 กันยายน 2481 | ยุบสภา | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 2 ครม. 8 |
3 | 182 | 12 พฤศจิกายน 2481 – 15 ตุลาคม 2488 | ยุบสภา | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 3/สภาต่อวาระออกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง ครม. 9 ครม. 10 ครม. 11 ครม. 12 ครม. 13 |
4 | 274 | 6 มกราคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490 | รัฐประหาร | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 และการเลือกตั้งเพิ่มเติม เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ครม. 14 ครม. 15 ครม. 16 ครม. 17 ครม. 18 |
5 | 219 | 29 มกราคม 2491 – 29 พฤศจิกายน 2494 | รัฐประหาร | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490 (5 ธันวาคม 2490) | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 5 และการเลือกตั้งเพิ่มเติม ครม. 21 ครม. 22 ครม. 23 |
6 | 246 | 29 พฤศจิกายน 2494 – 26 กุมภาพันธ์ 2495 | เลือกตั้ง | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรไปพลางก่อน ครม. 24 |
7 | 246 | 26 กุมภาพันธ์ 2495 – 25 กุมภาพันธ์ 2500 | ครบวาระ | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 ครม. 25 |
8 | 283 | 26 กุมภาพันธ์ 2500 – 16 กันยายน 2500 | รัฐประหาร | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 ครม. 26 |
9 | 281 | 15 ธันวาคม 2500 – 20 ตุลาคม 2501 | รัฐประหาร | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 8 ครม. 28 |
10 | 219 | 17 กุมภาพันธ์ 2512 – 17 พฤศจิกายน 2514 | รัฐประหาร | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 9 ครม. 31 |
11 | 269 | 26 มกราคม 2518 – 12 มกราคม 2519 | ยุบสภา [1] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 10 ครม. 35 ครม. 36 |
12 | 279 | 4 เมษายน 2519 – 5 ตุลาคม 2519 | รัฐประหาร | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 11 ครม. 37 ครม. 38 |
13 | 301 | 22 เมษายน 2522 – 19 มีนาคม 2526 | ยุบสภา [2] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 12 ครม. 41 ครม. 42 |
14 | 324 | 18 เมษายน 2526 – 2 พฤษภาคม 2529 | ยุบสภา [3] | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 13 ครม. 43 |
15 | 347 | 27 กรกฎาคม 2529 – 29 เมษายน 2531 | ยุบสภา [4] | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 14 ครม. 44 |
16 | 357 | 24 กรกฎาคม 2531 – 23 กุมภาพันธ์ 2534 | รัฐประหาร | " | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 15 ครม. 45 ครม. 46 |
17 | 360 | 22 มีนาคม 2535 – 30 มิถุนายน 2535 | ยุบสภา [5] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 16 ครม. 48 ครม. 49 |
18 | 360 | 13 กันยายน 2535 – 19 พฤษภาคม 2538 | ยุบสภา [6] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2535 (10 กันยายน พ.ศ. 2535) | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 17 ครม. 50 |
19 | 391 | 2 กรกฎาคม 2538 – 28 กันยายน 2539 | ยุบสภา [7] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2535 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 18 ครม. 51 |
20 | 393 | 17 พฤศจิกายน 2539 – 9 พฤศจิกายน 2543 | ยุบสภา [8] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2535 (27 กันยายน พ.ศ. 2539) | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 19 ครม. 52 ครม. 53 |
21 | 500 | 6 มกราคม 2544 – 5 มกราคม 2548 | ครบวาระ [9] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 20 เริ่มมี 2 แบบ คือ แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ครม. 54 |
22 | 500 | 6 กุมภาพันธ์ 2548 – 24 กุมภาพันธ์ 2549 | ยุบสภา[10] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2548 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 21 ครม. 55 |
23 | 480 | 23 ธันวาคม 2550 – 10 พฤษภาคม 2554 | ยุบสภา [11] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 23 ครม. 57 ครม. 58 ครม. 59 |
24 | 500 | 3 กรกฎาคม 2554 – 9 ธันวาคม 2556 | ยุบสภา [12] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554 (3 มีนาคม พ.ศ. 2554) | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 24 ครม. 60 |
25 | 500 | 24 มีนาคม 2562 – 20 มีนาคม 2566 | ยุบสภา [13] | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 26 ครม. 62 |
26 | 500 | 14 พฤษภาคม 2566 – ปัจจุบัน | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 | เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 27 ครม. 63 ครม. 64 |
อ้างอิง
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2519
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2526
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539
- ↑ "พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2543" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-12. สืบค้นเมื่อ 2011-08-06.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
เชิงอรรถ
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยเก็บถาวร 2012-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน