ขนมครก
ขนมครกปรุงในกระทะหลุม | |
ประเภท | ของหวาน |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศไทย |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้อง | อาหารไทย |
จานอื่นที่คล้ายกัน | บั๊ญข็อต, โมก หลีน-มะย้า, ทาโกยากิ, เซอราบี |
ขนมครก เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งน้ำตาลและกะทิ แล้วเทลงบนเตาหลุม เวลาจะรับประทานต้องแคะออกมาเป็นแผ่นวงกลม แล้วมักวางประกบกันตอนรับประทาน เป็นขนมของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ อาหารที่คล้ายกันนี้ยังพบในพม่า (เรียกว่า โมก หลีน-มะย้า แปลว่า ขนมผัว-เมีย), ลาว (เรียกว่า ขนมคก)[1], บังคลาเทศ, อินเดียใต้ (เรียกว่า ปัดดูหรือปานิยาราม) และอินโดนีเซีย (เรียกว่า เซอราบี)
ประวัติ
มีหลักฐานว่าขนมครกเป็นที่นิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา[2] เข้าใจว่าจะเป็นแบบง่าย ๆ ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างปัจจุบัน กล่าวคือยังทำตามหลักขนมไทยโดยใช้ข้าวโม่ให้เป็นแป้ง แล้วนำไปผสมน้ำตาลกับมะพร้าว[3] มีหลักฐานการทำเตาขนมครกบริเวณชุมชนบ้านหม้อย่านทุ่งขวัญด้านตะวันตกของคลองสระบัวในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผา[4] ปรากฏใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ว่า :-
บ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่เล็ก และกระทะเตาขนมครก ขนมเบื้อง[5][6]
ขนมครกยังปรากฏในวรรณคดีไทย เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ[7]
๏ ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย | แผ่นผ้อยมันกะไรดังต้มกบ | |
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ | พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป |
ฝ่ายนางศรีมาลาชายตาดู | ทั้งข้าไทยิ้มอยู่ไม่นิ่งได้ | |
อีไหมร้องว้ายข้อยอายใจ | ลืมไปคิดว่าทำขนมครก | |
— ขุนช้างขุนแผน ตอนนางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ |
ส่วนเตากระทะที่ใช้ทำขนมครกเชื่อว่าเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[8] จากการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกส และริเริ่มการใช้ไข่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำขนมรวมทั้งยังคล้ายคลึงกับกระทะทำแพนเค้กพัฟสไตล์เดนมาร์ค (Aebelskiver)
ขนมครกแต่เดิมใช้ข้าวเจ้าแช่น้ำ โม่รวมกับหางกะทิ ข้าวสวย และมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย ผสมเกลือเล็กน้อยใช้เป็นตัวขนม ส่วนหน้าของขนมครกเป็นหัวกะทิ ขนมครกชาววังจะมีการดัดแปลงหน้าขนมครกให้แปลกไปอีก เช่น หน้ากุ้ง (แบบเดียวกับข้าวเหนียวหน้ากุ้ง) หน้าไข่ หน้าหมู (แบบเดียวกับไส้ปั้นสิบ) หน้าเผือก หน้าข้าวโพด หน้าต้นหอม
ประเภทของขนมครก
ขนมครกมอญ
เป็นขนมเก่าแก่ของชาวมอญ ปัจจุบันเหลือที่ชุมชนมอญตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีเพียงแห่งเดียว ใช้ข้าวเหนียวดิบแช่น้ำจนชุ่มมาละเลงในเบ้าขนมครก ไส้เป็นมะพร้าวทึนทึกขูด น้ำตาลทรายและงาคั่ว เคล้าให้เข้ากัน
ขนมครกชาววัง
เป็นขนมครกที่เทแป้งลงในเบ้าให้ติด ๆ กัน และมีหน้าหยอด หลากหลาย เช่น เผือก มัน ฝอยทอง ฯลฯ เวลาสุกจะร่อนออกมา แล้วจึงตัดแบ่งออกรับประทาน[9] ขนมครกชาววังจะมีความพิเศษแตกต่างจากขนมครกชาวบ้าน คือ เน้นความสวยงาม ไม่มีขอบไหม้เกรียม และทำอย่างประณีต นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังต้องงามตาแตกต่างจากขนมชาวบ้านทั่วไป โดยหลังจากตักขนมครกขึ้นจากเบ้าแล้วจะมีการตัดริมขอบที่ไหม้เกรียมด้วยกรรไกรทิ้งให้หมดให้เหลือเฉพาะส่วนนิ่ม ๆ[10][11]
ขนมครกแป้ง
ขนมครกที่ทำจากข้าวโม่ผสมแป้งแต่ไม่มีหน้าหยอด[12]: 11
ขนมครกประยุกต์
เป็นขนมครกสมัยปัจจุบันที่มีการประยุกต์สูตรโดยการเพิ่มส่วนผสมลงในแป้ง เช่น
- ขนมครกไข่ ใส่ไข่ไก่ทั้งไข่ขาวและไข่แดงแต่ไม่มีหน้าหยอด เวลาสุกจะมีสีเหลืองนวล
- ขนมครกกล้วย ใส่กล้วยหอมหรือกล้วยไข่ อาจใช้กล้วยเป็นหน้าหยอด
- ขนมครกแป้งหน้ากะทิ ใช้กะทิเป็นหน้าหยอด รสออกหวานเค็ม[13]
- ขนมครกแป้งสีต่างๆ ใส่สีผสมอาหารหรือสีที่ได้จากธรรมชาติ
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ หน้า 20 เยาวชน, ขนมครก. #อาเซียน Asean. ข่าวสด ปีที่ 28 ฉบับที่ 10,264: วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 แรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ
- ↑ กองวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. "ขนมหม้อแกง-แชงมา," วารสารวัฒนธรรมไทย, 19 (7). (กรกฎาคม 2523) : 30-31.
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. (2554). ขนมแม่เอ๊ย. นนทบุรี: สารคดี. 160 หน้า. หน้า 10. ISBN 978-974-4-84336-4
- ↑ เทพมนตรี ลิมปพยอม. (2546). "อยุธยา...ในย่างก้าวของกาลเวลา," ใน ลอกคราบโบราณคดี. กรุงเทพฯ: บานชื่น. 198 หน้า. หน้า 141.
- ↑ ดาวรัตน์ ชูทรัพย์. (2545). หมื่น ร้อย พัน ผสาน เล่ม 1 : บันทึกสิ่งดีวัฒนธรรมประเพณีวิถีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร. 314 หน้า. หน้า 102. ISBN 974-952-719-4
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2544). อยุธยายศยิ่งฟ้า: ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. 268 หน้า. หน้า 122. ISBN 978-974-3-22526-0
- ↑ :- เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. หอพระสมุดวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567.
- ↑ Granger, B. and Tang, P. (2015). "Khanom Krok THAILAND", Lonely Planet the world's best brunches where to find them & how to make them (eBook). Lagos: Lonely Planet Global Limited. ISBN 978-174-3-60881-4
- ↑ เส้นทางขนมไทย. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 18, 157-160
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2553). หอมติดกระดาน : เรื่องเล่าชีวิตสาวชาววัง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มติชน. 240 หน้า. หน้า 15. ISBN 978-974-0-20643-9
- ↑ กรรณิการ์ พรมเสาร์ และนันทนา เบญจศิลารักษ์. (2542). แกะรอยสำรับไทย. กรุงเทพฯ: วรรณรักษ์. 175 หน้า. หน้า 21. ISBN 974-853-033-7
- ↑ นพพร สุวรรณพานิช. (2544). พจนานุกรมขนมนมเนยและไอศกรีม อังกฤษ-ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก. 142 หน้า. ISBN 978-9-747-83416-1
- ↑ นิตยสารสกุลไทย, 54 (279) ; (พฤษภาคม 2551) : 114.