ไข่มดแดง

ไข่มดแดง
ไข่มดแดงวางจำหน่ายอยู่ในตลาด
ประเภทวัตถุดิบ
แหล่งกำเนิดประเทศลาว · ประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไข่มดแดง หมายถึงไข่และดักแด้ของมดแดง (Oecophylla smaragdina) โดยจะนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย และประเทศลาว เพราะให้โปรตีนสูง ให้รสชาติมันและเปรี้ยว สัมผัสแตกดังเป๊าะในปาก นิยมใช้เป็นส่วนประกอบของแกง ไข่เจียว ยำ หรือนำไปคั่ว[1][2][3]

นอกจากนี้ยังมีไข่มดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถบริโภคได้ เรียกว่า แมงมัน โดยไข่ของแมงมันนี้จะอยู่ใต้พื้นดิน และเป็นที่นิยมในแถบภาคเหนือของประเทศไทย[4]

สารอาหาร

ไข่มดแดงนั้นให้โปรตีนสูง ไข่มดแดง 100 กรัม มีโปรตีนมากถึง 8.2 กรัม มีไขมันและแคลอรีน้อยกว่าไข่ไก่ เพราะมีแคลอรีเพียง 2.6 กรัม ขณะที่ไข่ไก่มีมากถึง 11.7 กรัม[5] นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ อีก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โซเดียม โพแทสเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และไนอะซีน[6]

การบริโภค

ไข่มดแดงสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง มีกรดแอซีติกให้รสเปรี้ยวแทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชู ในประเทศไทยจะนำไข่มดแดง มาทำแกงผักหวานไข่มดแดง แกงเห็ดไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง และยำไข่มดแดง เป็นอาทิ[7] ส่วนภาคเหนือ จะมีตำไข่มดแดง ซึ่งประกอบด้วยพริก กระเทียม ดีปลี สะระแหน่ ผักไผ่ และเกลือ[8]

แกงไข่มดแดงเป็นที่นิยมในประชากรผู้สูงวัยในประเทศลาว แต่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมรับประทานเท่าใด[3]

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า ควรนำไข่มดแดงมาล้างสะอาดอย่างน้อยสามครั้งด้วยน้ำสะอาด หรือการเปิดน้ำไหลอย่างน้อยสองนาที หรือแช่น้ำเกลือ น้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดาหรือผงฟู แล้วค่อยล้างด้วยน้ำสะอาด และนำมาปรุงให้สุกทุกครั้ง ไม่ควรกินแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ รวมทั้งไม่ควรเก็บไว้ค้างมื้อ เพราะบูดเสียได้ง่าย อาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการปวดท้องและโรคอุจจาระร่วง[7]

การเพาะเลี้ยง

การเพาะเลี้ยงไข่มดแดง ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ดี และมีต้นทุนต่ำ สำหรับผู้คนที่ขาดทุนทรัพย์[9] มดแดงหลายรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ต้นเดียว เช่น ต้นมะม่วง หรือต้นปาล์ม โดยมดแดงเหล่านี้จะได้รับน้ำหวานและอาหารเสริมจนกว่าจะถึงช่วงเวลาเก็บไข่ได้ ฤดูวางไข่จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนธันวาคม และอีกช่วงคือเดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน จากนั้นจะสามารถเก็บไข่ได้ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้รังที่เหลือเสียหาย หรือฆ่ามดที่เหลือ[10]

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ไข่มดแดงบรรจุกระป๋องวางจำหน่าย[11]

อ้างอิง

  1. "ประโยชน์ของไข่มดแดง". clipmass.com.
  2. Mishan, Ligaya (2018-09-07). "Why Aren't We Eating More Insects?". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-09-21.
  3. 3.0 3.1 "Urban Laotians pay handsomely for ant-egg soup". The Economist. 2020-08-13. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2021-09-21.
  4. Limited, Bangkok Post Public Company. "Hunting for Ants as food". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-09-21.
  5. https://web.archive.org/web/20141129095755/http://health.kapook.com/view82796.htm. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2014. สืบค้นเมื่อ November 23, 2014. {cite web}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  6. "ไข่มดแดง". gotoknow.org.
  7. 7.0 7.1 "คุณค่า 'ไข่มดแดง' โปรตีนสูง-ไขมันต่ำ เลี่ยงกินสุก ๆ ดิบ ๆ". กรุงเทพธุรกิจ. 26 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565. {cite web}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "ตำไข่มดแดง". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565. {cite web}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "Edible insects a boon to Thailand's farmers". phys.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-09-21.
  10. "The Making Red Ant Farm for Commerce". ku.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-24. สืบค้นเมื่อ 2014-11-23.
  11. "Two guys, a girl and a blindfold: Ant egg edition". Food (ภาษาอังกฤษ). 10 August 2018. สืบค้นเมื่อ 2021-09-21.