ลักซา

ลักซา
มื้ออาหารกลางวัน
แหล่งกำเนิดมาเลเซีย
ภูมิภาคมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ไทย
ผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมเปอรานากัน
ส่วนผสมหลักเส้นก๋วยเตี๋ยว กะทิ น้ำแกง
รูปแบบอื่นลักซาแกง ลักซาเปรี้ยว

ลักซา (มลายู: laksa) หรือที่ในภาษามลายูปัตตานีเรียกว่า ละซอ (ออกเสียง: [laˀsɔ])[1] เป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวรสเผ็ดของชาวเปอรานากัน[2][3] อันเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับมลายูในประเทศมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย[4] รวมทั้งทางใต้ของประเทศไทย[5]

จุดกำเนิด

ที่มาของคำว่าลักซาไม่เป็นที่ทราบ มีทฤษฎีที่ว่า เป็นคำในภาษาอูรดูหรือเปอร์เซียว่า ลัคชาฮ์ (lakhshah) ที่แปลว่าเส้นแวร์มีเชลลี (Vermicelli; เส้นชนิดหนึ่งที่เล็กกว่าเส้นสปาเกตตี) ชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่ามาจากคำสันสกฤตว่า ลักษะ หรือ ลักขะ (लकशस्; ایک لاکھ) ที่แปลว่า "หนึ่งแสน"[6] บ้างก็ว่ามาจากคำกวางตุ้งว่า หลาดซ้า (辣沙; làːt.sáː) ที่แปลว่า "ทรายเผ็ด"[7]

ชนิด

ลักซาพื้นฐานมีสองชนิดคือลักซาแกงกับลักซาเปรี้ยว ลักซาแกงคือก๋วยเตี๋ยวแกงที่น้ำก๋วยเตี๋ยวเป็นน้ำแกงกะทิ ส่วนลักซาเปรี้ยว น้ำก๋วยเตี๋ยวเป็นซุปปลารสเปรี้ยว

ลักซาแกง

ลักซากาตง และโอตัก-โอตักที่ห่อด้วยใบตอง
ลักซาแกง
ลักซาปีนัง
ลักซายะโฮร์
ลักซาที่ขายในบูกิตเบอโตะก์ ประเทศสิงคโปร์

ลักซาแกง หรือเรียกสั้น ๆ ว่าลักซา เป็นซุปที่มีลักษณะของน้ำแกงกะทิ ใส่ลูกชิ้นปลา กุ้ง และหอยแครง บางท้องที่มีลักซาไก่ บางครั้งกินกับซัมบัล ในปีนังเรียกว่าหมี่แกงเพราะนิยมใช้หมี่เหลืองหรือหมี่ฮุ้นมากกว่า และนิยมใส่เลือดหมู คำว่าลักซาแกงเป็นที่รู้จักทั่วไปในกัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร์ เช่นเดียวกับเย็นตาโฟ ลักซากุ้ง รูปแบบที่หลากหลายของลักซาแกงได้แก่

  • ลักซาเลอมัก (Laksa lemak) หรือ ลักซาย่าหยา (Laksa nyonya) เป็นลักซาที่ใส่กะทิมาก มีรสหวานอ่อนและเผ็ดมาก ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากลักซาไทย (Laksa Thai)
  • ลักซัม (Laksam) เป็นชนิดที่พบเป็นพิเศษทางตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะที่ตรังกานูและกลันตัน รวมทั้งในเกอดะฮ์ ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากข้าวที่ขนาดแบนใหญ่ ใส่ปลาและกะทิ บางครั้งทำจากเนื้อปลา เช่นปลาไหล แต่เดิมต้องรับประทานด้วยมือเพื่อจิ้มน้ำแกง[8] ในภาษามลายูปัตตานีจะเรียกลักซัมว่า "ละแซ"[9]
  • ลักซากาตง (Laksa Katong) เป็นลักซาเลอมักที่พบในกาตง ประเทศสิงคโปร์ เส้นก๋วยเตี๋ยวถูกตัดสั้นจนสามารถตักรับประทานด้วยช้อนได้ เป็นอาหารที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอาหารประจำชาติของสิงคโปร์

ลักซาเปรี้ยว

ลักซาเบอตาวี

ลักซาเปรี้ยว เป็นลักซาที่ใช้น้ำซุปรสเปรี้ยว นิยมใช้มะขามเปียก หรือส้มแขก ส่วนผสมหลักเป็นปลาเช่นปลาแมกเคอเรล ผักหั่นชิ้น เช่น แตงกวา หอมใหญ่ พริกขี้หนู สับปะรด ผักกาดหอม สะระแหน่ ขิงอ่อน ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากข้าว ใส่ลูกชิ้นกุ้งที่เรียกแฮโก (蝦羔) ลักซาเปรี้ยวชนิดต่าง ๆ ได้แก่

  • ลักซาเกาะปีนัง (Laksa Pulau Pinang) เป็นอาหารของเกาะปีนัง ทำจากปลาแมกเคอเรล เปรี้ยวด้วยมะขาม ใส่ตะไคร้ ข่า และพริก ใส่ใบสะระแหน่ สับปะรดหั่น หอมใหญ่หั่น ลักซาชนิดนี้ต่างจากแกงหมี่ในปีนัง
  • ลักซาปะลิส (Laksa Perlis) คล้ายกับลักซาปีนัง แต่ต่างกันที่เครื่องปรุง เช่นปลาดุกและปลาไหล
  • ลักซาเกอดะฮ์ (Laksa Kedah) คล้ายกับลักซาปีนัง แต่ต่างที่เครื่องปรุง นิยมใส่ไข่ต้มฝาน และเส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าว
  • ลักซาอีโปะฮ์ (Laksa Ipoh) เป็นลักซาของเมืองอีโปะห์ในมาเลเซีย คล้ายลักซาเกาะปีนัง แต่รสเปรี้ยวกว่า
  • ลักซากัวลากังซาร์ (Laksa Kuala Kangsar) เส้นทำเองจากแป้งสาลี รสอ่อนกว่าลักซาอีโปะฮ์

ชนิดอื่น ๆ

มีลักซาหลายชนิดที่ก้ำกึ่งระหว่างลักซาแกงกับลักซาเปรี้ยว ได้แก่

  • ลักซายะโฮร์ (Laksa Johor) มีลักษณะที่คล้ายลักซาปีนังเฉพาะเนื้อปลาที่ใช้ ส่วนที่ต่างไปคือใส่กะทิ ตะไคร้ ข่า มีรสเผ็ดคล้ายแกง ใส่หอมใหญ่หั่น ถั่วงอก ใบสะระแหน่ แตงกวาและหัวไชเท้า ปรุงรสด้วยซัมบัล เบอลาจัน ก่อนรับประทานจะบีบมะนาวลงไป บางครั้งใช้สปาเกตตีแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว
  • ลักซาซาราวัก (Laksa Sarawak) พบในรัฐซาราวัก เครื่องปรุงประกอบด้วยซัมบัลเบอลาจัน มะขามเปรี้ยว กระเทียม ข่า ตะไคร้ และกะทิ ใส่ไข่เจียว เนื้อไก่ มะนาว เต้าหู้ทอด หรืออาหารทะเล
  • ลักซากลันตัน (Laksa Kelantan) เป็นอาหารง่าย ๆ ที่เป็นที่นิยมในโกตาบารู รัฐกลันตัน ใส่ปลาแมกเคอเรลต้มและสับ ปลาสับนั้นจะนำไปทอดกับหัวหอม กระเทียม ขิง พริก กะปิ ตะไคร้และมะขามเปียก ใส่กะทิในตอนสุดท้าย คนให้ข้น ใส่ผักสด และพริกบดข้าง ๆ
  • ลักซาโบโกร์ (Laksa Bogor) เป็นลักซาที่มีชื่อเสียงมากในอินโดนีเซีย อยู่ที่เมืองโบโกร์ ชวาตะวันตก น้ำแกงสีเหลืองข้น ซึ่งเป็นส่วนผสมของหอมแดง กระเทียม ผักชี ขมิ้น ตะไคร้และเกลือ เครื่องปรุงที่ใส่ลงในชาม ได้แก่ เส้นก๋วยเตี่ยวจากข้าว ข้าวเหนียวนึ่ง ถั่วงอก ใบโหระพา อนจม (คล้ายเต็มเป) เนื้อไก่ ไข่ต้ม รับประทานกับซัมบัลจูกา
  • ลักซาเบอตาวี (Laksa Betawi) เป็นลักซาที่มาจากจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย น้ำแกงสีเหลืองข้น ใส่กะทิ ส่วนผสมน้ำพริกแกงประกอบด้วย หอมแดง กระเทียม ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ใบซาลาม ใบมะกรูด ขิง พริกไทย กุ้งแห้ง เครื่องปรุงในชามประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง ถั่วงอก ใบโหระพา และไข่ต้ม
  • ลักซาปาเล็มบัง มีสองแบบคือแบบที่เรียก ลักโซปาเล็มบัง (Lakso Palembang) ใส่สาคูนึ่งที่ฝานเป็นชิ้น น้ำแกงใส่กะทิ และเครื่องปรุงต่าง ๆ ได้แก่น้ำตาลมะพร้าว พริกไทยดำ ขมิ้น ผักชี โรยหอมแดงเจียว อีกแบบหนึ่งเรียก ลักซันปาเล็มบัง (Laksan Palembang) เป็นการนำลูกชิ้นปลามารับประทานกับน้ำซุปของลักซา พบเฉพาะทางใต้ของสุมาตรา น้ำแกงใส่กะทิ รับประทานคู่กับกุ้งทอด

อ้างอิง

  1. นูรีดา หะยียะโกะ. พจนานุกรมภาพ ภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย, 2556, หน้า 109.
  2. "CITURS AND CANDY ASSAM LAKSA". January 24, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2015-06-24.
  3. "Laksa Lemak Recipe - Malaysia (Gordon's Great Escape)". May 23, 2011.
  4. Lara Dunston (October 24, 2012). "Laksa: Discovering Malaysia's signature dish". Asian Correspondent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-15. สืบค้นเมื่อ 2015-06-24.
  5. คำเตือนการอ้างอิง: <ref> tag with name ไทยรัฐ cannot be previewed because it is defined outside the current section or not defined at all.
  6. Winstedt, Sir Richard (Olaf), An Unabridged Malay–English Dictionary (5th ed., enlarged) (Kuala Lumpur: Marican & Sons, 1963)
  7. Hutton, Wendy, Singapore Food (Marshall Cavendish, 2007) [Wendy-Hutton]
  8. "Terengganu government tourism – Laksam". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-17. สืบค้นเมื่อ 2015-06-24.
  9. นูรีดา หะยียะโกะ. พจนานุกรมภาพ ภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย, 2556, หน้า 115.

แหล่งข้อมูลอื่น

วิธีทำ