ห่อหมก
ห่อหมกปลาในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย | |
แหล่งกำเนิด | ประเทศไทย[1] |
---|---|
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้อง | ไทย ลาว กัมพูชา |
ส่วนผสมหลัก | พริกแกง, หัวกะทิหรือกะทิ |
ห่อหมก เป็นอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย สมัยก่อนจะใช้วิธีการห่อใบตองแล้วนำมาใส่ใต้เตาที่มีขี้เถ้าใส่ลงไปให้มีขี้เถ้าอยู่รอบ ๆ ห่อ โดยเรียกวิธีนี้ว่า หมก อาศัยความร้อนจากถ่านด้านบน โดยด้านบนสามารถปรุงอาหารได้ตามปกติซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนานสำหรับการหมกเนื่องจากไม่ได้สัมผัสไฟโดยตรง ต่อมาพัฒนาเป็นการย่างบนเตา จนกระทั่งลังถึงของจีนเข้ามาจึงเปลี่ยนเป็นการนึ่งแทน แต่กระนั้นก็ยังใช้คำว่า ห่อหมก อยู่เหมือนเดิมทั้งที่ไม่ได้ทำให้สุกโดยการหมกอีก
การหมกในช่วงก่อนการมาถึงของชาวโปรตุเกสเป็นการเพียงการปรุงอาหารโดยใช้ใบตองห่อ แต่ในช่วงหลังจากกรุงศรีอยุธยาได้ติดต่อค้าขาย เมื่อมีการนำพริกจากอเมริกาเข้ามา[2] ห่อหมกจึงได้กำเนิดเป็นการนำเนื้อสัตว์และผักมาเคล้ากับน้ำพริกแกงจากโลกใหม่และกะทิซึ่งเป็นวัตถุพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3] มาปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น เกลือ น้ำปลา หรือปลาร้า ห่อด้วยใบตอง นำไปหมกนึ่งหรือย่างให้สุก
สำหรับห่อหมกในปัจจุบัน ต้นหอมและใบแมงลักเป็นเครื่องปรุงสำคัญ บางถิ่นใส่ผักชี ตัวอย่างอาหารประเภทหมก ได้แก่ หมกหน่อไม้ หมกไข่ปลา หมกหัวปลี หมกไข่มดแดง หมกปลา หมกเห็ด หมกฮวก เครื่องแกงส่วนใหญ่ประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ตะไคร้ซอย ใบมะกรูด บางถิ่นใส่กระชายหรือข่าด้วย
หมกในอาหารของภาคอีสานของประเทศไทยต่างจากหมกในอาหารลาว โดยในอาหารอีสาน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่นำไปเคล้ากับเครื่องแกง ปรุงรสและทำให้สุกไม่ว่าจะย่างหรือนึ่งจะเรียกว่าหมกทั้งสิ้น ส่วนในอาหารลาวหลวงพระบางนั้น ถ้าห่อใบตองทรงสูงนำไปย่างเรียกหมก นำไปนึ่งเรียกมอกหรือเมาะ ถ้าห่อใบตองทรงแบนนำไปย่างเรียกขนาบ
ศัพทมูลวิทยา
คำว่า ห่อหมก (ภาษาไทยถิ่นเหนือ เรียกว่า ห่อหนึ้ง ห่อนึ่ง)[4] เป็นคำลักษณะนามบอกอาการและเป็นคำประสม ห่อ + หมก[5] ดังนี้
- ห่อ (hô, haw) เป็นคำไทยถิ่นเหนือ ไทใหญ่ ลาว ร่วมสายกับกลุ่มภาษากัม-ไท แปลว่า หุ้ม พัน[6]
- หมก (mŏk, mok) เป็นคำไทยถิ่นเหนือร่วมสายกับกลุ่มภาษากัม-ไท[7][8] แปลว่า ซุกไว้ใต้[7] (หมกดิน หมกไฟ หมกเม็ด) เรียกวิธีทำอาหารให้สุกด้วยการหมกถ่านไฟหรือขี้เถ้าร้อน[7] ปุ่มที่นูนขึ้น[7] (ปุ่มไม้ ปุ่มฆ้อง) เรียกคนที่จมูกโต[7] (คนดั้งหมก)
หมก ยังมีความหมายอื่นแปลว่า เหง้า[9] เช่น ขุดขึ้นมาทั้งหมก หมายถึง เอาขึ้นมาทั้งเหง้า (ระวังสับสนกับสำเนียงอื่นของคำว่า หมด)
คำสแลงในภาษาไทยของคำ ห่อหมก หมายถึง เป้ากางเกงผู้ชายที่นูนออกมา[10] อวัยวะเพศของสตรี (บทสักวา)[11] และสำนวนไทย เออออห่อหมก หมายถึง เห็นดีเห็นงามด้วย ว่ากันตามไป เห็นด้วยกับเขาเสมอไป[12] (ตรงสำนวนปักษ์ใต้ ลอยช้อนตามเปียก)[13]
คำว่า ม่ก มอก[14] ในภาษาลาวเป็นคำไวพจน์ที่คล้ายกับคำว่า หมก ในภาษาไทย ส่วน หมก ตามสำเนียงกวางตุ้ง แปลว่า ไม้ ลูกไม้[15] (เทียบคำว่า บัก หมาก) ใช้นำหน้าคำที่เป็นชื่อลูกไม้ เช่น หมกซาหลี หมายถึง ลูกสาลี่เนื้อทราย
คำในภาษาอื่น
ในภาษาเขมรเรียกห่อหมกว่า อามก[16]: 94 (amok) เป็นคำยืมมาจากภาษามลายูว่า อาหมุก อามก[17][18] (amok ← amuk, amok) แปลว่า อาละวาด ไม่สมเหตุสมผล พฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้[19][20] ทั้งนี้ พจนานุกรมภาษาเขมรฉบับสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) บรรจุคำว่า ห่อหมก ว่ามาจากภาษาไทยและยังระบุว่าคำว่า อามก (amok) มีความหมายไม่ดีจึงควรใช้คำว่า ขจ็อบ-ก็อบ (khchab kab) แทน[21][22]
ชาวมลายูและอินโดนีเซียเรียกว่า โอตะก์-โอตะก์ ชาวซุนดาเรียกว่า เปเปส สิงคโปร์เรียกว่า โอตัก-โอตัก[16]: 209 ชาวมูเซอ (ลาหู่) เรียกว่า ส่าเป๊อะ[23] ชาวขมุเรียกว่า ก๊ะกูบ[23] ชวาเรียกว่า บอต็อก ชาวลาวเรียกว่า หมก (ม่ก) มอก หรือ เมาะ (เช่น เรียกห่อหมกปลาว่า หมกใส่ปา) ชาวไทลื้อในประเทศไทยและสิบสองปันนา ชาวไทในเชียงตุง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้กลุ่มภาษาไทเรียกว่า ห่อนึ่ง[24]
ประวัติ
ห่อหมกมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมพบว่ามีชาวญี่ปุ่นได้รับเอาห่อหมกจากคณะทูตกรุงศรีอยุธยาไปเป็นอาหารของตนเมื่อคราวเดินทางไปเมืองนางาซากิเมื่อปี ค.ศ. 1624 และยังพบว่าออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นก็รับไปตั้งแต่สมัยนั้น[25] เช่น โฮโมกุ (โฮโมคุ) ซึ่งรับมาจากห่อหมกของไทย ปัจจุบันพบว่ามีร้านอาหารบางแห่งที่โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น มีเมนูชื่อโฮโมกุวางจำหน่ายและอวดว่าเป็นอาหารที่ได้มาจากเมืองไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว[26]
ห่อหมกยังถูกพรรณาไว้ในวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ[27][28] ว่า :-
๏ นิมนต์สงฆ์สวดมนต์เวลาบ่าย | ต่างฉลองพระทรายอยู่อึงมี่ | |
แล้วกลับบ้านเตรียมการเลี้ยงเจ้าชี | ปิ้งจี่สารพัดจัดแจงไว้ |
ทำน้ำยาแกงขมต้มแกง | ผ่าฟักจักแฟงพะแนงไก่ | |
บ้างทำห่อหมกปกปิดไว้ | ต้มไข่ผัดปลาแห้งทั้งแกงบวน | |
— ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วบวชเณร |
วรรณคดีไทยเรื่อง พระอภัยมณี แต่งโดยพระสุนทรโวหาร (ภู่) มีการพรรณาถึงอาหารการกินของไทยอาจแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ในตอนที่ 52 พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์ กล่าวถึงนางสร้อยสุวรรณ นางจันทร์สุดา พระธิดาฝาแฝดของพระอภัยมณีกับนางสุวรรณมาลี จัดเตรียมเครื่องเสวยหลายอย่างถวายพระหัสไชย หนึ่งในนั้นมีเมนูห่อหมกอยู่ด้วย[29] ความว่า:—
ไก่พะแนงแกงเผ็ดกับเป็ดหั่น | ห่อหมกมันจันลอนสุกรหัน | |
ทั้งแกงส้มต้มขิงทุกสิ่งอัน | กุ้งทอดมันม้าอ้วนแกงบวนเนื้อ[30] | |
— พระอภัยมณี ตอนพระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์ |
ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า :-
ทั้งห่อหมกและปลาเห็ดน่าจะเป็นอาหารที่มีชื่อเก่าแก่ของอยุธยา เพราะที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีตำบลแห่งหนึ่งเรียกว่า ตำบลห่อหมก จะมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับห่อหมกอย่างไรบ้างยังไม่มีโอกาสสอบค้น แต่ชวนให้เดาว่าน่าจะเป็นแหล่งที่ทําห่อหมกมีชื่อเสียง[31]: 80
ตำบลห่อหมกเดิมคือ บ้านห่อหมก[32] ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง พระมะเหลเถไถ ประพันธ์โดยคุณสุวรรณสมัยรัชกาลที่ 4 และนิราศมะเหลเถไถ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะห่อหมกสมัยโบราณแตกต่างจากสมัยนี้ กล่าวคือ สมัยโบราณจะใช้เนื้อปลาเป็นหลัก สับเนื้อปลาเป็นชิ้นๆ หมกไว้ข้างใน หัวปลาก็มีแก้มทั้งสองข้าง หรือถ้าเป็นไข่ปลาก็ครบชุด ส่วนผักที่ใช้รองมีเพียงใบยอกับโหระพาเท่านั้น[31]: 78
นอกจากนี้ยังมีอาหารที่มีรสชาติคล้ายห่อหมกผสมทอดมันคือ แจงลอน[29] (ภาคกลางเรียกว่า จับหลัก) พบที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี ใช้เนื้อปลาขูดผสมกับพริกแกง กะทิ และใบโหระพาคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ หรือรีพอกกับไม้ นำไปย่างบนเตาจนแห้ง เมื่อสุกดีแล้วนำไปคั่วกับกะทิทำให้มีรสอร่อยมากยิ่งขึ้น[29]
ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทย ห่อหมกถูกใช้ในการจัดเตียบในงานขันหมากจะต้องมีห่อหมกปลา 3 ท่อนซึ่งเป็นแบบแผนมาแต่โบราณ แม้แต่การสังเวยเทวดา เซ่นผีไหว้เจ้า รวมทั้งการเลี้ยงคนก็ต้องมีการจัดห่อหมก ด้านภาษาห่อหมกถูกใช้เป็นสำนวน เช่น เออออห่อหมก หรือบทสักวาล้อเลียนหญิงโสเภณี เช่น สักวาเดือนหงายขายห่อหมก พอเดือนตกเจ๊กต่อน่อจี๊ แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างห่อหมกกับวิถีชีวิตสังคมไทยมาแต่สมัยโบราณ[31]: 79
ชาวล้านนารวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้กลุ่มภาษาไท เช่น ไทลื้อที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและสิบสองปันนา ชาวไทในเชียงตุงมีอาหารพื้นเมืองประจำถิ่นอย่างห่อหมกเรียกว่า ห่อนึ่ง เช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งปลา ห่อนึ่งแค ห่อนึ่งปลีใส่งุ้น (วุ้นเส้น) ห่อนึ่งจิ้นไก่ ห่อนึ่งเห็ด[33] รวมถึงเครื่องปรุงชนิดอื่นอาจใช้ไก่ หมู ปลา นก ปลี เครื่องในวัว หรือสัตว์ป่าที่หามาได้[34] มีความเชื่อว่าใบยอเป็นยาระบายจึงนิยมใช้ใบยอมารองห่อนึ่งมาแต่ครั้งโบราณและจะฉีกใบยอที่ใช้รองรับประทานเข้าไปด้วย[35] เมื่อถึงวันประเพณีปีใหม่สงกรานต์ล่อง (สังขารล่อง หรือจั๋งขารลอง) มีการประกอบพิธีทั้งหมดรวม 6 วัน มีการเตรียมขนมและทำอาหารหลายอย่างรวมทั้งห่อนึ่งในช่วงเทศกาลงานบุญไปวัดจะต้องมีการประกอบอาหารประเภทห่อนึ่งสำหรับทำบุญทำทานแทบทุกครั้ง[36]
ห่อหมกยังเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมแต่งงาน ไหว้ผี งานศพ และประเพณีตามความเชื่อของชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) กล่าวว่า "ถ้าเลี้ยงกันในสมัยก่อนก็ต้องมีไก่ หมู ห่อหมก และขนมจีนน้ำยาเป็นพื้น จึงได้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในเตียบที่จัดไป"[37] ห่อหมก (ห่อนึ่ง) ยังเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบตามความเชื่อเรื่องคาถาอาคมและหนึ่งในเครื่องบัตรพลี (สะตวง) สำหรับบูชาผีของชาวล้านนา พบในพับสา (สมุดบันทึกโบราณ) และใบลานจารด้วยอักษรธรรมล้านนา[38]
ประเทศกัมพูชารับห่อหมกจากสยามไปเป็นอาหารประจำชาติเขมรเรียกว่า อามก (amok)[39] สมัยหลังสยามแผ่อำนาจสู่ดินแดนกัมพูชาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13–14 และเขมรจะใช้เกรือง ซึ่งไม่มีพริกเป็นส่วนประกอบหลักอย่างห่อหมกของไทย แต่ระยะหลังชาวเขมรเริ่มมีการใส่พริกแห้งลงไปด้วย แต่ก็น้อยมากหากเทียบกับการกินพริกของคนไทย[40]
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ Lees, Phil (May 25, 2007). "The Dish: Fish Amok". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 7 October 2019.
The origins of fish amok are a source of regional debate. Dishes of this kind aren't unique to Cambodia. Malaysia and Indonesia boast the similar otak otak and Thailand cooks a spicier hor mok but neither nation embraces them with the passion of Cambodia. "Amok" in the Cambodian language, Khmer, only refers to the dish whereas in Thai, "hor mok" translates as "bury wrap," suggesting amok may have come from Cambodia's neighbor.
- ↑ Collingham, Lizzie (2006). "Vindaloo: the Portuguese and the chili pepper". Curry: A Tale of Cooks and Conquerors. Oxford: Oxford University Press. pp. 47–73. ISBN 978-0-19-988381-3.
- ↑ Bee F. Gunn, Luc Baudouin, Kenneth M. Olsen. Independent Origins of Cultivated Coconut (Cocos nucifera L.) in the Old World Tropics. PLoS ONE, 2011; 6 (6): e21143 DOI: 10.1371/journal.pone.0021143
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- มาลา คําจันทร์. (2549). องค์ความรู้ประเพณีปีใหม่เมือง. เชียงใหม่: โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา. หน้า 23.
- มณี พยอมยงค์. (2529). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย เล่ม 1-2. เชียงใหม่: โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 232.
- ↑ บุญยงค์ เกศเทศ. (2532). คำไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 63. ISBN 978-974-2-76528-6
- ↑ Guoyan Zhou and Somsonge Burusphat. (1996). Languages and Cultures of The Kam-Tai (Zhuang-Dong) Group: A Word List (English-Thai version) [ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนกัม-ไท (จ้วง-ต้ง): รายการคําศัพท์ (อังกฤษ-ไทย)]. Nakhon Pathom: Institute of Language and Culture for Rural Development, Mahidol University. p. 401. ISBN 978-974-5-88596-7
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 อุดม รุ่งเรืองศรี. (2547). พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง. เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 784. ISBN 978-974-6-85175-6
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- กันทิมา วัฒนะประเสริฐ และสุวัฒนา เลี่ยมประวัติ. (2531). รายงานการวิจัยเรื่อง ระบบเสียงภาษาลาวของลุ่มน้ำท่าจีน (The Phonology of Lao Dialects in Thachin River Basin). นครปฐม: ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 280. ISBN 978-974-6-00371-1
- Michell, Edward Blair. (1891). ลิปิกรมายน ภาษาไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษ A Siamese-English Dictionary: For the Use of Students in Both Languages. Bangkok: [n.p.]. p. 191.
- ↑ กองวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ. วารสารวัฒนธรรมไทย 6(2509): 9.
- ↑ นายไข่น้ำ. (2554). "ห. ห่อหมก," ศัพท์วัยรุ่นฮอตฮิต มุกแนว & เกรียน. กรุงเทพฯ: เพชรน้ำเงิน. หน้า 27. ISBN 978-616-5-23174-9
- ↑ วิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์), ขุน. (2542). กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: สารคดี. หน้า 79. ISBN 978-974-8-21202-9
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- มัทนี ตุลยาทร. (2533). ๗๑๖ สำนวนไทย. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น. หน้า 63.
- ภิญโญ จิตต์ธรรม. (2517). ภาษิตชาวบ้าน: คติชาวบ้านอันดับ 3. สงขลา: วิทยาลัยครูสงขลา. หน้า 115.
- ↑ จวน ชูส่งแสง. "ภาษิตชาวบ้านปักษ์ใต้บ้านเรา," สารนครศรีธรรมราช 51(2)(พฤศจิกายน 2563): 73
- ↑ นิตยสารพลอยแกมเพชร 19(2553): 299.
- ↑ อนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), พระยา. (2515). ค่าของวรรณคดี. พระนคร: คลังวิทยา. หน้า 289.
- ↑ 16.0 16.1 องค์ บรรจุน. (2567). ข้างสำรับอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 94, 209. ISBN 978-974-0-21908-8
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- Ooi, Vincent B. Y. (2001). Evolving Identities: The English Language in Singapore and Malaysia. Singapore: Times Academic Press. p. 149. ISBN 978-981-2-10156-3 :— "Many of the words borrowed from Malay mentioned above were borrowed before the new standard spelling was available. Item amok, kampong and sarong reflect the old Malaysian spelling (and pronunciation), whereas batik was borrowed from Indonesian Malay (where the Indonesian spelling was identical to the new 'perfected spelling')".
- Winchester, Simon. (2003). The Meaning of Everything: The Story of the Oxford English Dictionary. Oxford, Oxford University Press. p. 16. ISBN 0-19-280576-2 :— "... and a gallimaufry of delights from some 50 other contributing tongues, including amok, paddy, and sago (from Malay), caravan4 and turban (Persian), ..."
- Scott, Charles Payson Gurley. "ARTICLE III: THE MALAYAN WORDS IN ENGLISH (First Part)," Journal of The American Oriental Society 17(July-December, 1896): 108. :— "The Malay word is amuk, amok (pronounce â'muk, â'mok, or â'mu, â'mo); Lampong amug, Javanese hamuk, Sundanese amuk, Dayak amok. It means ‘furious, frenzied, raging, attacking with blind frenzy’; as a noun, ‘rage, homicidal frenzy, a course of indiscriminate murder’; as a verb, mengâmuk, ‘to run amuck,’ ‘to make amok’ (Dutch amok maken, or amokken)."
- ↑ McFarland, Joanna Rose. "Language Contact and Lexical Changes in Khmer and Teochew in Cambodia and Beyond," in Chia, Caroline and Hoogervorst, Tom. (2022). Sinophone Southeast Asia Sinitic Voices Across the Southern Seas. Leiden; Boston, NY: Koninklijke Bril NV. ISBN 978-900-4-47326-3 LCCN 2021-32807
- Ibid. p. 113. :— "TABLE 3.3 Breakdown of the Breakdown of the count of speakers using each word (cont.) English gloss amok, Word used '9 a11mɔk5', '2 unknown' Count, generation, gender '4G1F, G2F, 2G2M, 2G3F', 'G1M, G3F'."
- Ibid. p. 114. :— "Expansive vocabulary would be terms for local dishes like ‘papaya salad’, ‘Cambodian crepe’, ‘prahok’, ‘kralan’, ‘amok’, and ‘lok lak’ that likely did not exist in the language of the historic Teochew settlers in Cambodia. The Khmer word may have been adopted out of necessity and/or convenience. ‘Papaya salad’, ‘Cambodian crepe’, ‘prahok’, ‘amok’, and ‘lok lak’ were strongly attested in the data (by nine or more speakers), and no other words were provided as alternatives to the Khmer loanword."
- ↑ Marlay, Ross and Neher, Clark D. (1999). Patriots and Tyrants: Ten Asian Leaders. Lanham, ML; Oxford: Rowman & Littlefield Publishers, Inc. p. 339. ISBN 0-8476-8442-3 "Glossary amok: Malay word for irrational behavior."
- ↑ Isaacs, Arnold R. (2022). "Chapter 7. Cambodia: "The land is broken," Without Honor: Defeat in Vietnam and Cambodia. (Updated ed.). Jefferson, NC: McFarland & Company, Inc., Publishers. p. 182. ISBN 978-1-4766-8635-6 LCCN 2022-28158 "Khmer culture is one of those that traditionally permits little outward expression of hostility, and thus does not teach its people to control aggressive drives when customary restraints are loosened. It is for that reason, perhaps, that “smiling peoples” like the Khmer often turn savagely cruel when they do become violent. The phrase “running amok” was contributed to our language by the Malays, a people culturally akin to the Khmer and similarly nonaggressive: “amok” is a Malay word for someone in the grip of uncontrollable bloodlust."
- ↑ Chuon, Nath (1967). វចនានុក្រមខ្មែរ [Khmer Dictionary]. Buddhist Institute.
ហហ្មុក (ហ៏-ហ្ម៉ុក) ន. (ស. ห่อหมก អ. ថ. ហ-ហ្មុក “ខ្ចប់-កប់” ឈ្មោះម្ហូបមួយប្រភេទ ធ្វើដោយត្រីស្រស់ផ្សំគ្រឿងមានកាពិបុកនិងខ្ទិះដូងជាដើម ខ្ចប់ចំហុយ: ហហ្មុកត្រីរ៉ស់, ហហ្មុកត្រីអណ្ដែងដាក់ស្លឹកញ (គួរកុំច្រឡំហៅ អាម៉ុក ព្រោះជាសម្ដីពុំគួរសោះឡើយ)។
- ↑ "ហហ្មុក". KhmerDict.com. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2567.
- ↑ 23.0 23.1 องค์ บรรจุน. "ข้างสำรับเมียนมา: อาหารพม่ามีสีสันเพราะพม่ามีชนกลุ่มน้อยผู้ยิ่งใหญ่," ศิลปวัฒนธรรม 42(8)(มิถุนายน 2564): 27–30.
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- บุญยงค์ เกศเทศ. (2546). สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์-ไท สายใยจิตวิญญาณลุ่มน้ำดำ-แดง. กรุงเทพฯ: หลักพิมพ์. หน้า 113. ISBN 978-974-9-13229-6
- สุพิน ฤทธิ์เพ็ญ และอนาโตล-โรเจอร์ แป็ลติเยร์. (2541). เขมรัฐนครเชียงตุง. เชียงใหม่: วัดท่ากระดาษ. หน้า 108. ISBN 978-974-8-62525-6
- มณี พยอมยงค์. (2529). วัฒนธรรมล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. หน้า 70. ISBN 974-075-512-7
- ↑ ลาวัณย์ โชตามระ. (2536). มรดกไทย. กรุงเทพฯ: ราชาวดี. 205 หน้า. หน้า 106. ISBN 978-974-8-06001-9 :— "ห่อหมกดูจะมีบทบาทมากกว่าอื่นใดทั้งหมดเลย ขนาดต่างชาติรับเอาไปเป็นอาหารของตนเลยคือ โฮโมดุ นั่นแหละ คุณยุ่นปี่ ญี่ปุ่น พวกยามาดา พระยาเสนาภิมุขรับไปจากเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั่นแน่ะ".
- ↑ มณเฑียร ศุภลักษณ์. (2541). ขนมไทย. กรุงเทพฯ: เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย. หน้า 70. ISBN 978-974-8-65842-1 :— "ส่วนต่างชาติก็รับเอาอาหารไทยไปทําเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น โฮโมกุ ก็เอามาจากห่อหมกของไทยนั่นเอง คงจะเป็นพวกญี่ปุ่นที่มาอยู่บ้านเมืองไทยรุ่นยามาดาซึ่งเป็นขุนนาง ไทยมีบรรดาศักดิ์เป็นออกญา (เท่ากับพระยา) เสนาภิมุข ร้านอาหารบางแห่งในเมืองโอซากามีโฮโมกุขายและอวดว่าเป็นอาหารที่ได้ตํารามาจากเมืองไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว"
- ↑ สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์. (2557). "พระอภัยไม่เคยเสวยเหล้า อาหารการกินกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรม," ใน ภาษา-จารึก ๑๐. ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. อ้างใน ประชุมวิชาการเรื่อง วรรณคดีมรดก : การอนุรักษ์ด้วยการศึกษาและวิจัย หน้า 133-150. และ ธเนศ เวศร์ภาดา. "รักร้อย ประชุมงานเขียน ๑๒ นายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ," วารสารภาษาและหนังสือ, 39(2551):95-118.
- ↑ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. หอพระสมุดวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 มาลิทัต พรหมทัตตเวที. "อาหารการกินในวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี," วารสารราชบัณฑิตยสถาน 37(2)(ม.ย.-มิ.ย. 2555): 130–31.
- ↑ พระอภัยมณี ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์. หอพระสมุดวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2567.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 ส.พลายน้อย. (2548). "ทอดมันกับห่อหมก," ใน กระยานิยาย เรื่องน่ารู้สารพัดจากรอบๆ สำรับ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. 190 หน้า. ISBN 974-323-553-1
- ↑ Chutintaranond, Sunait et al, Tourism Authority of Thailand. (1996). Ayutthaya the Portraits of the Living Legends. Bangkok: Plan Motif Publishers. p. 117. ISBN 974-898-014-6 :— "The lifestyle of Ayutthaya people has been tied with water from the old days. Imprints of the early settlement of water-based lifestyles may still be seen through sets of houses which are called Ban Sao Kradong, Ban Paeng, Ban Ho Mok, Ban Khanom Chin, ..."
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- สุพิน ฤทธิ์เพ็ญ. (2540). โครงการจัดสร้างคัมภีร์ใบลานวัดท่ากระดาษ เรื่อง วรรณกรรมจากพับสาและใบลาน เล่ม 2. ที่ระลึกในงานประเพณีทอดกฐินวัดท่ากระดาษ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 9 พฤศจิกายน 2540. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก. หน้า 89.
- พรสวรรค์ จันทะวงศ์. (2561). รายงานวิจัยเรื่อง แนวทางการฟื้นฟูวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์ไทลื้อ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ (The Restoration of Thai Lue the Ethnic Music Culture, Samoeng Tai Subdistrict, Samoeng District Chiang Mai Province). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. หน้า 74.
- ↑ สงวน โชติสุขรัตน์. (2514). นำเที่ยวเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 393.
- ↑ พรรณเพ็ญ เครือไทย. (2552). ข่วงพญาสุขภาพล้านนา. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก. ไม่ปรากฏเลขหน้า. :— "ตั้งแต่ครั้งโบราณมาจนถึงปัจจุบันนิยมเอาใบยอมารองห่อนึ่ง (ห่อหมก) ไม่ว่าจะเป็นห่อนึ่งไก่ หรือห่อ นึ่งปลา เมื่อกินห่อนึ่งจะฉีกใบยอที่ใช้รองกินเข้าไปด้วย [...] และเชื่อว่าใบยอที่กินเป็นอาหารช่วยเป็นยาระบาย"
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2551). ไทลื้อ: อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ไท. เชียงใหม่: โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 116.
- ประชัน รักพงษ์ แลคณะ. (2535). การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อในจังหวัดลำปาง. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง วิทยาลัยครูลำปาง สหวิทยาลัยล้านนา. หน้า 45-56.
- ยศ สันตสมบัติ. (2547). นิเวศวิทยาชาติพันธุ์ ทรัพยากรชีวภาพ และสิทธิชุมชน. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท่องถิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 374. ISBN 978-974-6-58245-2
- ↑ อนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), พระยา. (2551). ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต. กรุงเทพฯ: ศยาม. หน้า 424. ISBN 978-974-7-23690-3
- ↑ มาลา คําจันทร์ (เจริญ มาลาโรจน์). (2551). ผีในล้านนา. กรุงเทพฯ: แฮปปี้ บุคส์. หน้า 65. ISBN 978-974-0-96499-5
- ↑ อ้างอิงหลายแหล่ง:
- Dorling Kindersley Limited. (2011). "Phnom Penh Cambodia: The Best Places to Eat Amok," Ultimate Food Journeys: The World's Best Dishes & Where to Eat Them. London: DK Publishing, Inc. p. 225. ISBN 978-0-7566-8600-0
- Thorne, Eva. "Fish Amok, Cambodia’s National Dish." Asia Society: Asia Blog, September 19, 2011. Retrieved on 20 December 2024.
- ↑ "เปิดสูตร 5 อาหารจานเด็ดกัมพูชา ทำกินเองได้ที่บ้าน". Matichon Academy. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2565.
{cite web}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- กานต์ เหมวิหค และ สุปรียา ห้องแซง. อาหารอีสาน.กทม. แสงแดด. 2556